โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

เขาเดินเข้ามาอยู่ในวังวนแห่ง DILEMMA ของชาตรี โสภณพนิช อย่างไรไม่ทราบชัด บ้างก็ว่าเพราะ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ บ้างก็ว่า อาสา สารสิน ซึ่งคนหลังนี้เคยเป็นทั้งกรรมการธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการบริหารของบริษัท ผาแดงฯ ในฐานะที่ชักนำให้เขามีประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจครั้งแรกในชีวิต

ประสบการณ์ในตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการบริษัท ผาแดงฯ เพียง 2 ปี ในช่วงปี 2531 เป็นฐานสำคัญอย่างยิ่งกำลังเปล่งรัศมีโอบอุ้มลูกชายคนโตของผู้ถือหุ้นใหญ่ธนาคารกรุงเทพขึ้นสู่ตำแหน่งใหญ่

โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ เป็นประธานคณะทำงานวางระบบของธนาคารใหญ่ที่สุดในอาเซียน เพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจธนาคารในอนาคต ซึ่งถูกตั้งขึ้นใหม่ในปี 2533 ซึ่งถือเป็นการทำงานในจังหวะเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่ง

เป็นภารกิจที่ชาตรี โสภณพนิช คาดหวังมากเหลือเกิน

ด้วยประสบการณ์ในภาคราชการประมาณ 30 ปี ทำให้เขาเป็นคนที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคนหนึ่งในแวดวงวิชาการและเทคโนแครต

ประสบการณ์

คำนิยามนี้เกี่ยวกับตัวเขา ไม่ตรงกับแนวความคิดดั้งเดิมของชาตรี โสภณพนิช ซึ่งถือเป็นการเลือกคนที่มองไปข้างหน้าพอสมควร ในการเข้ามาของโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ในธนาคารกรุงเทพเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

ประสบการณ์ในหน่วยงานวางแผนของรัฐ มีประสบการณ์จากธนาคารโลกและงานพัฒนาชนบท รวมทั้งงานกำหนดนโยบายรัฐบาล ทำให้เขากลายเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มองกว้างระดับมหภาค เข้าใจปัญหาระดับโครงสร้างมากกว่าคนอื่น รวมทั้งสามารถวิพากษ์เศรษฐกิจและธุรกิจฟองสบู่ของไทยในช่วงเกือบ 10 ปีก่อนหน้านี้อย่างถึงแก่น

ว่าไปแล้วงานบริหารที่บริษัท ผาแดง อินดัสตรี ภาคเอกชนกึ่งรัฐวิสาหกิจครั้งแรกในชีวิตธุรกิจของเขาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ดูจะเหมาะกับเขามาก ในฐานะกิจการที่เป็นอุตสาหกรรมรากฐานของประเทศ กระนั้น ตอนนั้นเขาก็คือคนที่ทั้งอาสา สารสิน และประวิทย์ คล่องวัฒนกิจ แห่งบริษัท ผาแดงฯ ให้เวลาพอสมควร โดยตอนแรกดูเหมือนพวกเขาหมายมั่นปั้นมือจะให้โฆสิตเป็นผู้บริหารกิจการที่ดูจะเป็นธุรกิจมากขึ้นทั้งหมดต่อไป แต่ในที่สุดก็ไม่เป็นเช่นนั้น

คนที่เป็น TRAINEE อย่างโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ กลายเป็น TRAINER ของชาติศิริ โสภณพนิช ในช่วงนั้น ทั้งๆ ที่ชาติศิริมีประสบการณ์ในธุรกิจธนาคารมาเกือบ 10 ปี โดยที่ขณะนั้นผู้คนในสังคมธุรกิจไม่เข้าใจเหตุผลที่ดีพอ

แนวความคิดระดับโครงสร้างของเขา ซึ่งชาตรีเห็นว่าเหมาะสมกับบทบาทการปรับโครงสร้างธุรกิจธนาคารในขณะนั้นเป็นคนละเรื่องกับความรุ่งโรจน์อย่างฉาบฉวยของธุรกิจการเงินไทยในช่วงเวลานั้นอย่างยิ่ง โฆสิตในช่วงปี 2533 วิพากษ์วิจารณ์ธุรกิจ "หมุนกระดาษ" คนแรกๆ อย่างมีน้ำหนักทีเดียว

สายสัมพันธ์

เขาเป็นเทคโนแครตที่ได้รับการยอมรับในความสามารถ และมีความสามารถในการประสานความคิดกับฝ่ายต่างๆ ทั้งเป็นนักปฏิบัติที่มีผลงาน ดังนั้นจึงเป็นที่รู้จักของผู้ใหญ่ในวงการการเมือง และหน่วยงานวางแผนของรัฐอย่างกว้างขวาง

คำนิยามของคนที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางกับคนที่มีสายสัมพันธ์นั้น ดูประหนึ่งคล้ายกัน แต่โดยสาระแล้วแตกต่างกัน โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ มิใช่คนที่มีสายสัมพันธ์ในมิติเก่า เป็นคนจัดการหรือประสานผลประโยชน์ไม่ว่าทางการเมือง หรือธุรกิจอย่างแน่นอน

นี่อาจเป็นการเข้าใจที่มองพัฒนาการสายสัมพันธ์ใหม่ของชาตรี โสภณพนิช อีกประการหนึ่ง

ธนาคารกรุงเทพในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา มีความสุขกับสายสัมพันธ์แบบเก่า ไม่ว่าจะผ่านมาทางวิระ รมยรูป ชัยรัตน์ คำนวณ หรือแม้กระทั่ง อำนวย วีรวรรณ ซึ่งล้าสมัยไปแล้วในปัจจุบัน ในช่วงนั้นดูเหมือนชาตรีเชื่อมั่นในแนวทางเก่าเช่นนี้มาก โดยเขาหันไปทุ่มเทในการสร้างอาณาจักรธุรกิจกับแวดวงตนเอง ว่ากันว่าด้วยการอาศัยสายสัมพันธ์แบบเก่ามาเสริมด้วยในช่วงเวลานั้น

โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ มีความมั่นใจตนเองสูง กลายเป็นเทคโนแครตคนล่าสุดที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ของธนาคารใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง

จากยุคนักเทคนิคทางบัญชีที่เข้มข้นในยุคก่อตั้งและพัฒนาธนาคาร ครั้งแรกๆ ของชิน โสภณพนิช ด้วยการมาของทีมบุญชู โรจนเสถียร ในการพัฒนาระบบธนาคารไทยอย่างจริงจังครั้งแรกๆ เมื่อ 40 ปีที่แล้ว มาสู่ยุคของการเสริมสายสัมพันธ์กับอำนาจรัฐในช่วงของการขยายอาณาจักร ธนาคารอย่างกว้างขวาง ในช่วงตลาดการเงินและทุนเปิดกว้างขึ้นครั้งแรก ด้วยการมาของข้าราชการระดับสูงกระทรวงการคลัง นำโดยอำนวย วีรวรรณ

แล้วก็มาสู่การแสวงหาคนที่มองภาพกว้างของระบบเศรษฐกิจไทย ในยุคของการต่อสู้ของธนาคารไทยกับโลกภายนอกอย่างเข้มข้น โลกภายนอกที่มีปัจจัยภายในที่ปฏิกิริยาตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคนี้ ที่สับสนเอาการ

โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ คือสายสัมพันธ์ใหม่ของตระกูลโสภณพนิช ผู้ถือหุ้นธนาคารกรุงเทพในยุคปัจจุบัน

ข้อความข้างต้นยกมาโดยมิได้แก้ไข ตัดทอน เป็นงานที่ผมเขียนขึ้นมาเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว

วันนี้ผมยังเชื่อมั่นว่า บุรุษผู้นี้จะมีส่วนผลักดันความสมดุลให้เกิดขึ้น ใน "ระบบความคิด" บรรดาผู้มีอำนาจในยุค "วิตกกังวล" เช่นปัจจุบัน

หมายเหตุ

2537 กรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ

2542 ประธานคณะกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ

2549 (8 ตุลาคม) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.