|
Brew of Fear
โดย
สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ข่าวการประกาศตัวของ Steel Partners Strategic Fund เพื่อเข้าซื้อหุ้นของ Sapporo Holdings ไม่เพียงแต่กำลังปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางธุรกิจในอุตสาหกรรมเบียร์ของญี่ปุ่นเท่านั้น
หากยังเป็นบททดสอบความสามารถในการแข่งขันและจัดการเพื่อความอยู่รอดของระบบธุรกิจญี่ปุ่นโดยรวมด้วย
Steel Partners Japan Strategic Fund (Offshore) L.P. กองทุนที่จดทะเบียนบนหมู่เกาะ Cayman และเป็นหนึ่งในกองทุนของ Warren G. Lichtenstein นักบริหารกองทุนที่มีบทบาทสูงจากสหรัฐอเมริกา ได้ทยอยเข้าซื้อหุ้นของ Sapporo Holdings ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่อันดับสามของญี่ปุ่น จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ด้วยสัดส่วนมากถึง 18.64% ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ก่อนที่ Steel Partners จะยื่นข้อเสนอ เพื่อการเพิ่มสิทธิในการออกเสียงบริหารใน Sapporo Holdings ด้วยการประกาศจะเข้าถือครองหุ้นมากถึง 66.6% หากได้รับการยินยอมจากคณะกรรมการบริษัทผู้ผลิตเบียร์รายนี้
ประพฤติกรรมของ Steel Partners ที่ระบุว่าจะเข้าครอบครองหุ้นในสัดส่วน 66.6% กลายเป็นการหลีกเลี่ยงข้อบังคับและแสวงประโยชน์จากช่องโหว่ ในเงื่อนไขทางกฎหมายว่าด้วยการครอบงำกิจการของญี่ปุ่น ที่กำหนดให้ผู้ที่จะเข้าครอบงำกิจการ (bidder) ต้องทำการเสนอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายอื่นทั้งหมด หากผู้ที่จะเข้าครอบงำกิจการถือครองหุ้นเกินกว่าสัดส่วน 2 ใน 3 ของหุ้นทั้งหมดหรือ 66.66% อย่างเด่นชัด
เพราะจำนวนหุ้น 66.6% เป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าเงื่อนไขดังกล่าวอย่างฉิวเฉียด
มูลค่าการลงทุนภายใต้ข้อเสนอจาก Steel Partners ดังกล่าว คาดว่าจะมีมูลค่ามากถึง 1.5 แสนล้านเยน หากได้รับการตอบตกลงจาก Sapporo Holdings
ขณะเดียวกัน Steel Partners ได้แสดงท่าทีที่จะดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการครอบงำกิจการแบบ hostile takeover หากคณะกรรมการปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวไปพร้อมกัน
กระนั้นก็ดี ท่าทีของ Sapporo Holdings ดำเนินไปในลักษณะที่ไม่ต้อนรับข้อเสนอของ Steel Partners
โดยก่อนหน้านี้ Sapporo Holdings ซึ่งตระหนักดีถึงการตกเป็นเป้าหมายการถูกครอบกิจการ ได้กำหนดเงื่อนไขด้วยการระบุให้ผู้ที่จะเข้าครอบงำกิจการซึ่งถือครองหุ้นเกินกว่า 20% ต้องนำเสนอแผนทางธุรกิจล่วงหน้า เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการปกป้องการถูกครอบกิจการด้วย
พร้อมกับการระบุว่าวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของ Steel Partners ซึ่งไม่มีความชำนาญการในอุตสาหกรรมเบียร์ ในการเข้าครอบงำกิจการ Sapporo Holdings มิได้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ในการพัฒนากิจการหลักของ Sapporo Holdings หากดำเนินไปเพียงเพื่อการแสวงหาผลกำไรจากการขายหุ้น รวมถึงโอกาสในการตัดแบ่งทรัพย์สินของ Sapporo Holdings เพื่อจำหน่ายให้กับบุคคลที่สาม (third party) เท่านั้น
ข้อกล่าวหาของ Sapporo Holdings เกิดขึ้นจากผลของความเคลื่อนไหวของ Steel Partners ในช่วงปี 2006 ที่ผ่านมา
ในครั้งนั้น Steel Partners พยายามเข้าครอบงำบรรษัทชั้นนำของญี่ปุ่น ด้วยการได้เข้าถือครองหุ้นจำนวนมากใน Myojo Foods Co. บริษัทผู้ผลิตเส้นบะหมี่และอาหาร ก่อนที่ Myojo Foods จะได้รับความช่วยเหลือจาก Nissin Food Products Co. ผู้ผลิตเส้นบะหมี่และอาหารอีกรายหนึ่งของญี่ปุ่น ในการซื้อคืนหุ้นของ Myojo ที่ Steel Partners ครอบครองอยู่ด้วยราคาที่สร้างผลกำไรให้กับ Steel Partners อย่างเป็นกอบเป็นกำ
สถานการณ์ของ Sapporo Holdings ในครั้งนี้ กำลังดำเนินไปในลักษณ์ที่ไม่แตกต่างจากกรณีของ Myojo Foods มากนัก
เมื่อ Asahi Breweries ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่มียอดการจำหน่ายเป็นอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น ยื่นข้อเสนอที่จะผนวกการบริหารจัดการทางธุรกิจ (management integration) ของ Asahi และ Sapporo เข้าด้วยกัน
กรณีดังกล่าว นอกจากจะเป็นการต่อต้านการถูกครอบกิจการจากกองทุนต่างประเทศแล้ว กรณีดังกล่าวจะส่งผลต่อความแข็งแกร่งของ Asahi และ Sapporo ในอุตสาหกรรมเบียร์และเครื่องดื่มไปพร้อมกัน
แม้ว่าอุตสาหกรรมเบียร์ของญี่ปุ่นจะถูกครอบครองโดยบรรษัทชั้นนำ 4 แห่งของญี่ปุ่น (Asahi, Kirin, Sapporo และ Suntory) มายาวนานกว่า 4 ทศวรรษ แต่สถานการณ์ทางธุรกิจของเบียร์มีแนวโน้มจะถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง จากผลของการปรับเปลี่ยนประพฤติกรรมและรสนิยมในการดื่มที่ผู้บริโภคมีสินค้าทางเลือกมากขึ้น ทั้งสาเก วิสกี้ และไวน์ ที่กำลังเติบโตและได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับ
ชาวญี่ปุ่นรู้จักเครื่องดื่มที่เรียกว่า เบียร์ มาตั้งแต่เมื่อครั้งที่ชาวฮอลันดาเข้ามาเปิดโรงเบียร์ (beer hall) เพื่อให้ความสำราญกับบรรดาลูกเรือ ที่เดินเรือติดต่อการค้าจากเมืองท่าในดินแดนภายใต้อาณัติของ Dutch Empire กับเมืองท่าของ Edo ก่อนที่เบียร์จะกลายเป็นประหนึ่งสัญลักษณ์ของการเคลื่อนเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ของญี่ปุ่นด้วย
การก่อร่างสร้างฐานทางธุรกิจอุตสาหกรรมเบียร์ของญี่ปุ่น เริ่มขึ้นอย่างจริงจังนับตั้งแต่ช่วงต้นของยุค Meiji ควบคู่กับการประสานสัมพันธ์กับโลกตะวันตกโดยเฉพาะเยอรมนี ที่กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะ brewer และ brewmaster ให้กับอุตสาหกรรมเบียร์ในญี่ปุ่นในเวลาต่อมา
ความเป็นไปของอุตสาหกรรมเบียร์ในญี่ปุ่น ในด้านหนึ่งได้สะท้อนภาพการพัฒนาและยุคสมัยแห่งการสร้างชาติของญี่ปุ่นไปพร้อมกัน
โดยเฉพาะข้อเท็จจริงที่ว่า ความพยายามที่จะสร้างธุรกิจเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการกระชับอำนาจของ Meiji ใน Hokkaido ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ทางตอนเหนือสุดของประเทศ และถือเป็นดินแดนห่างไกลปืนเที่ยงท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของญี่ปุ่นในขณะนั้น ได้กลายเป็นต้นทางแห่งการกำเนิดของ Sapporo Breweries ที่มีประวัติการณ์ความเป็นไปยาวนานถึง 130 ปีด้วย
ภายใต้แผนพัฒนาพื้นที่ในเขต Hokkaido รัฐบาล Meiji ได้จัดตั้ง Kaitakushi หรือ The National Government of Hokkaido Development Commission เมื่อปี 1869 เพื่อเป็นกลไกในการเร่งระดมความจำเริญทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมให้กับพื้นที่
องค์กรเพื่อการพัฒนาดังกล่าว ดำเนินการจัดตั้งบรรษัททางธุรกิจขึ้นอย่างหลากหลาย ก่อนที่ในปี 1876 โรงงานเบียร์ภายใต้ชื่อ Kaitakushi Brewery จะถือกำเนิดขึ้น โดยมี Seibei Nakagawa ซึ่งสำเร็จการศึกษาวิชาการปรุงเบียร์จากเยอรมันเป็นผู้ดูแลการก่อสร้างและผลิตเบียร์ของโรงงานแห่งนี้
Kaitakushi ผลิตเบียร์ Sapporo Lager ที่ปรุงขึ้นตามแบบฉบับของ German pilsner ออกวางจำหน่ายสู่ตลาดครั้งแรกในปี 1877 ภายใต้เครื่องหมายดวงดาวสีแดง เพื่อเป็นตัวแทนในการสื่อถึงดาวเหนือ (North Star) ที่เป็นสัญลักษณ์ของเมือง Sapporo ไปพร้อมกัน
ก่อนที่วิสาหกิจหลากหลายภายใต้ Kaitakushi จะแปรรูปให้เป็นของเอกชน รวมถึง Kaitakushi Brewery ที่แปลงสภาพเป็น Sapporo Beer Company ในปี 1886
ความตื่นตัวในอุตสาหกรรมเบียร์ญี่ปุ่น ดำเนินไปอย่างคึกคักในเกือบทุกภูมิภาคของญี่ปุ่น โดยในปี 1887 บริษัทเบียร์แห่งใหม่ Japan Beer ได้ถือกำเนิดขึ้นในกรุงโตเกียว โดยมีเบียร์ Yebisu ที่ปรุงตามแบบ Dort-munder เป็นแบรนด์สินค้าหลักมาตั้งแต่ปี 1890
รวมถึงการเกิดขึ้นของ Osaka Beer ในปี 1889 (ปัจจุบันคือ Asahi Breweries) ซึ่งบ่งบอกให้เห็นการแข่งขันในการช่วงชิงฐานลูกค้าและการกระจายความนิยมของเครื่องดื่มเบียร์ในญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี
ขณะเดียวกัน Mitsubishi บรรษัทธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญของญี่ปุ่นได้เข้าซื้อกิจการ Spring Valley Brewery ที่ประสบปัญหาล้มละลายจากนักธุรกิจ Norwegian-American ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น Japan Brewery Company และ Kirin Brewery Company ในเวลาต่อมา
พร้อมกับเริ่มวางจำหน่ายเบียร์ Kirin ในตลาดญี่ปุ่นเมื่อปี 1888 โดยมีโรงงานผลิตเบียร์อยู่ในจังหวัด Yokohama ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญทางตอนใต้ของกรุงโตเกียว
การแข่งขันที่หนักหน่วงส่งผลให้ในปี 1906 บริษัทผู้ผลิตเบียร์สามแห่ง ซึ่งประกอบด้วย Sapporo Beer, Japan Beer และ Osaka Beer ผนวกกิจการเข้าด้วยกัน ภายใต้ชื่อ Dai Nippon Beer Company และทำให้ตลาดเบียร์ของญี่ปุ่นอยู่ในสภาพกึ่งผูกขาดไปโดยปริยาย
ทั้งนี้ Dai Nippon Beer ครอบครองส่วนแบ่งการตลาดเบียร์ญี่ปุ่นมากถึง 70% ซึ่งการผูกขาดดังกล่าวยาวนานถึงกระทั่งเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เลยทีเดียว
หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 บรรษัทธุรกิจอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นถูกทำให้เล็กลง จากผลของนโยบาย decentralizing industry และกฎหมายว่าด้วยการขจัดอำนาจในการครอบงำทางเศรษฐกิจ (Law for Elimination of Excessive Concentration of Economic Power) ซึ่งทำให้กลุ่มบริษัทของญี่ปุ่นต้องแยกธุรกิจออกจากกัน
ความเป็นไปของ Dai Nippon Beer Company ก็มิได้อยู่ในข้อยกเว้น โดยในปี 1949 บริษัทเบียร์แห่งนี้ แยกตัวออกเป็น Nippon Breweries และ Asahi Breweries
อย่างไรก็ดี บริษัท Nippon Breweries ซึ่งได้รับสิทธิในการผลิตเบียร์ภายใต้เครื่องหมายการค้า Sapporo และ Yebisu มิได้ผลิตเบียร์ทั้งสองในทันที หากแต่ Nippon Breweries เลือกที่จะเริ่มต้นธุรกิจครั้งใหม่ด้วยการผลิตเบียร์ภายใต้ชื่อ Nippon Beer แทน
ขณะที่ Asahi Breweries เน้นพัฒนาและผลิตเบียร์ภายใต้เครื่องหมายการค้า Asahi ต่อเนื่องสืบมา
มนต์ขลังของเบียร์ Sapporo ทำให้ Nippon Breweries เริ่มกลับมาผลิตเบียร์ Sapporo อีกครั้งในปี 1956 โดยใช้โรงงานผลิตดั้งเดิมที่เมือง Sapporo จังหวัด Hokkaido เป็นฐานการผลิตเพื่อจำหน่ายทั่วประเทศญี่ปุ่น ก่อนที่ Nippon Breweries จะเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Sapporo Breweries ในปี 1964 และเริ่มผลิต premium beer ในนาม Yebisu อีกครั้งในปี 1971
อาณาจักรทางธุรกิจของ Sapporo Breweries เริ่มขยายขอบเขตออกไปไกลกว่าการผลิตเบียร์ ด้วยการก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมเครื่องดื่มครบวงจร รวมถึงการขยายธุรกิจเข้าสู่การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ พร้อมกับปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารด้วยการจัดตั้ง Sapporo Holdings ขึ้นมาในปี 2003 ท่ามกลางกระแสข่าวการรุกคืบของผู้ประกอบการ และกองทุนจากต่างประเทศ ในการยื่นข้อเสนอและเข้าระดมซื้อหุ้นเพื่อ takeover บรรษัทของญี่ปุ่นที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในห้วงเวลาดังกล่าวด้วย
ความพยายามของ Sapporo Holdings ที่จะหลีกหนีสถานการณ์ไม่พึงประสงค์ของการถูกครอบงำกิจการ เป็นเพียงข้อเท็จจริงหนึ่งของโลกธุรกิจทุนนิยม ที่ดำเนินอยู่ท่ามกลางกระแสธารของการผนวกและควบรวมกิจการ (Merger & Acquisition : M&A) ที่กลายเป็นหัวข้อหลักในวงจรธุรกิจของญี่ปุ่นในปัจจุบัน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|