จุดประกายงานออกแบบเชิงนิเวศยั่งยืน


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

คนที่เคยเดินป่าในเกาะ Tasmania ทางตอนใต้ของออสเตรเลีย จะรู้รสดีว่าสภาพภูมิอากาศแปรปรวนขนาดไหน จู่ๆ อากาศที่ปลอดโปร่งแจ่มใสก็กลับเลวร้ายลงแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย เสื้อผ้าและเครื่องสวมใส่ประเภทให้ความอบอุ่น มีคุณสมบัติกันน้ำได้ รวมทั้งหมวก จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่สามารถป้องกันได้ทั้งฝนและความร้อนจากแสงแดด

เจ้าของบ้านที่ Woodbridge ซึ่งอยู่ห่างจาก Hobart ไปทางใต้ 38 กิโลเมตร ก็รู้ซึ้งแก่ใจในเรื่องนี้ดี จึงเตรียมรับมือกับความรุนแรงและแปรปรวนของภูมิอากาศด้วยแนวคิด ที่คล้ายคลึงกับนักเดินป่าที่ต้องสวมเครื่องป้องกันตัวเองอย่างที่พูดถึงในข้างต้น

ในวันที่อากาศปลอดโปร่งแจ่มใส บ้านหลังนี้จะเปิดรับแสงแดด เต็มที่ รวมทั้งปล่อยให้ลมทะเลพัดเฉื่อยฉิวเข้าไปสร้างความสดชื่นให้ทุกซอกทุกมุมของบ้าน แถมพกด้วย เสียงของสัตว์ป่านานาชนิดแข่งกันร้องเหมือนเพลงประสานเสียงที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ให้ ก่อให้เกิดบรรยากาศน่าอภิรมย์ไม่เบา

ในวันอากาศหนาวเหน็บหรือชุ่มฉ่ำไปด้วยฝน ประตูบ้านจะปิด สนิท มีเสียงปะทุของไฟในเตาผิงดังขึ้นมาแทนที่ และบ้านหลังนี้ก็สวม บทบาทเป็นที่พักพิงแสนสบายและช่วยปกป้องให้ปลอดภัยจากความเลวร้ายของอากาศภายนอกได้โดยสิ้นเชิง

ก่อนจะได้ทำเลทองสำหรับสร้างบ้านหลังนี้ซึ่งหันหน้าออกสู่ช่องแคบ D' Entrecasteaux Channel และ เกาะ Bruny Island เจ้าของต้องคุยเรื่องงานออกแบบกับเพื่อนสถาปนิก Elvio Brianese แห่งบริษัท Design Inc. อยู่เป็นนานสองนาน เพราะต่างเล็งเห็นศักยภาพของที่ดินผืนนี้ว่า สามารถพัฒนาและฟื้นฟูให้เป็นบ้านพักที่เป็นมิตรกับธรรมชาติได้ โดยเฉพาะการสร้างสภาพแวดล้อมให้สามารถดึงดูดนกพันธุ์พื้นเมืองนานาชนิดกลับคืนถิ่นอีกครั้ง

Elvio หยิบยกประเด็นเรื่องงานออกแบบเชิงนิเวศ วิทยายั่งยืน (ecologically sustainable design) ขึ้นมา พูดในมุมมองและความเชี่ยวชาญของสถาปนิกมืออาชีพว่า มีการพูดถึงคำคำนี้บ่อยครั้งมาก ในมากกรณีด้วยกัน ได้นำหลักการออกแบบแนวนี้มาใช้เพื่อก่อให้เกิดความสวยงาม "บ้านหลังนี้เป็นผลงานด้านสถาปัตยกรรมที่ตอบ สนองเกณฑ์เรื่องการออกแบบเชิงนิเวศยั่งยืนในหลายๆ ด้าน แต่ความยั่งยืนนี้เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของการ ออกแบบเท่านั้น"

อิทธิพลสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การที่เจ้าของมีจิตสำนึกเรื่องประโยชน์ใช้สอยสูงมาก "เขาเชื่อมั่นว่าคุณ ไม่จำเป็นต้องให้สิ่งๆ หนึ่งคงอยู่หรือมีอยู่ ยกเว้นสิ่งนั้นจะมีประโยชน์ใช้สอยตามหน้าที่หรือมีเหตุผลของการคงอยู่" Elvio อธิบายแนวคิดของลูกค้าผู้เป็นเจ้าของบ้าน "นั่นก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ลูกค้าสนุกสนานสุดๆ เกี่ยวกับการพูดคุยกับพวกเรา รวมถึงการถกเรื่องกระบวนการออกแบบของเราด้วย เพราะเขาได้มีส่วนร่วมในวิธีการและเหตุผลของการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งลงไปในงานออกแบบซึ่งเป็นบ้านของเขาเอง"

การที่พวกเขาต่างยึดมั่นในปรัชญาการออกแบบดังกล่าว ข้างต้นอย่างเคร่งครัดนี้เองที่ทำให้กระบวนการออกแบบและก่อสร้างเข้มงวดและเข้มข้นจริงๆ โดยใช้เวลานานถึง 3 ปี ผลที่ได้คือ บ้านที่มีรูปทรงแตกต่างอย่างกล้าหาญและโดดเด่นอย่าง ที่สถาปนิกของโครงการสรุปว่า "เมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียดทุกๆ จุดแล้ว จะเห็นได้ชัดเลยว่า ในเรื่องของวิธีการออกแบบแล้วไม่มีจุดไหนที่น่าเบื่อ หรือไร้ประโยชน์เลย เรื่องนี้พูดได้เต็มปากเพราะคุณไม่สามารถซ่อนเร้นรายละเอียดแย่ๆ เอาไว้ได้ ทุกอย่างต้องปรากฏแก่สายตาผู้ที่ได้พบเห็นทันทีที่ย่างก้าวเข้ามาในบ้าน"

แม้ว่าแปลนของบ้านจะเน้นเรื่องความเรียบง่าย โดยให้ส่วนปีกของห้องนั่งเล่นและห้องนอนเป็นส่วนต่อขยายออกมาจาก ลานกลางแจ้งที่อยู่ตรงกึ่งกลางของบ้านก็จริง แต่เมื่อมองดูตัวอาคารโดยรวมแล้วจะเห็นโครงสร้างซับซ้อนที่สะท้อนถึงอิทธิพลจาก อารมณ์ของผู้เป็นเจ้าของและความแปรปรวนของสภาพอากาศอย่าง ชัดเจน อีกทั้งงานออกแบบยังสะท้อนถึงการรู้จักใช้ประโยชน์จากทัศนียภาพโดยรอบ โดยให้ตัวบ้านส่วนที่หันไปทางทิศใต้เป็นจุดชมวิว ขณะที่ตัวบ้านส่วนที่หันไปทางทิศเหนือจะทำหน้าที่รับแสงสว่างเต็มที่

เมื่อต้องการรับหรือกันแสงแดดและกันฝน จะมีประตูบานเลื่อนทั้งที่ทำด้วยกระจกและไม้โอ๊กเนื้อแข็งและฉากแบบเคลื่อนที่ได้ทำหน้าที่อย่างวิเศษ นอกจากนี้การเจาะช่องหน้าต่างยังช่วยเรื่องระบบระบายอากาศได้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อลมทะเลพัดเข้ามาทางช่องระบายอากาศบนเพดานแล้ว จะมีช่องหน้าต่างรองรับและบังคับ ทิศทางของลมให้พัดออกไปอยู่ตลอดเวลา ทำให้ในฤดูร้อนไม่จำเป็น ต้องติดตั้งเครื่องปรับอากาศให้สิ้นเปลืองพลังงาน

ในฤดูหนาวที่ต้องการความอบอุ่น ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ จะทำหน้าที่ได้ดีเยี่ยม เพราะบ้านนี้ปูพื้นด้วยคอนกรีตซึ่งทำงานสอด คล้องกับผนังก่อด้วยอิฐและฉนวนกันความร้อนได้อย่างเหมาะเจาะ เพราะผนังจะเก็บความร้อนในเวลากลางวันและคายความร้อนในเวลากลางคืน ทำให้เกิดความอบอุ่นโดยไม่ต้องพึ่งฮีตเตอร์ แถมยังมีเตาผิงสองหน้าที่หันไปทางห้องนั่งเล่นและลานบ้านกลางแจ้งทำหน้าที่ในส่วนของระบบให้ความร้อนเสริมอีกทางหนึ่งด้วย

การนำองค์ประกอบด้านการออกแบบทั้งหมดนี้มาพิจารณาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของกระบวนการจึงส่งผลเป็นที่น่าพอใจอย่างที่ Elvio ย้ำว่า "ในฐานะที่เป็นสถาปนิก ความพึงพอใจเกิดจากการได้รู้ว่าลูกค้าใช้เวลาส่วนใหญ่ขลุกอยู่ที่นี่ ทั้งๆ ที่ตอนแรกเริ่มเขามีจุดประสงค์สร้างบ้านหลังนี้ไว้เป็นที่พักผ่อนช่วงสุดสัปดาห์ก็ตาม เพราะ สำนักงานใน Hobart ของเขาเป็นบ้านสไตล์อาณานิคม (colonial - style) ดังนั้น การได้มาอยู่ที่บ้านใน Woodbridge จึงเหมือนกับได้เข้ามาอยู่ในอีกโลกหนึ่งซึ่งออกจะตรงกันข้ามกันเลยทีเดียว"

บ้านสงบสันโดษกลางป่าละเมาะหลังนี้มีลานกลางแจ้งกลางบ้านเป็นหัวใจสำคัญ เพราะประโยชน์ใช้สอยสูงมากจากการที่มีหลังคาเปิดโล่ง และมีเตาผิงที่ทำให้สามารถใช้เป็นสถานที่จัดเลี้ยงหรือรับประทานอาหารกลางแจ้งได้สบายๆ แม้ในยามปิดประตูกระจก เพราะไม่ต้องการให้ลมทะเลพัดเข้ามา พวกเขาก็ยังสามารถชื่นชมกับทัศนียภาพสวยงามของทะเลแห่งช่องแคบ D' Entrecasteaux Channel ได้จุใจ เจ้าของจึงโปรดปรานการใช้ลานกลางแจ้งนี้เป็นสถานที่จัดเลี้ยงที่ถูกใจบรรดาแขกผู้มาเยือนเป็นยิ่งนัก

ลานกลางแจ้งจึงมีประโยชน์ใช้สอยหลากหลายตั้งแต่การเป็นที่พักร้อนอันร่มรื่นในฤดูร้อน เป็นสวรรค์สำหรับรับไออุ่นจากแสงแดดในฤดูหนาว หรือเป็นที่อาบแสงจันทร์ยามค่ำคืนได้สุดแสนจะโรแมนติก

"ลูกค้ามีอิทธิพลต่องานออกแบบนี้มาก เพราะเขาเชื่อว่า การทำอาหารและรับประทานอาหารกันกลางแจ้ง เป็นหนึ่งในกิจกรรมสนุกที่สุดเท่าที่จะจินตนาการได้ เขารักในจิตวิญญาณของลานกลางแจ้งที่ได้สร้างสรรค์ให้กับบ้านหลังนี้ซึ่งเป็นตัวแทนแห่งอารมณ์โดยรวมของบริเวณนี้ เพราะ Woodbridge มีสภาพแวดล้อม ของป่าตามธรรมชาติ ขณะที่บ้านหลังนี้ให้ความรู้สึกของการปกป้อง คุ้มครองและหรูหราในเวลาเดียวกัน" Elvio สรุปในตอนท้าย

แปลและเรียบเรียงโดย ดรุณี แซ่ลิ่ว
จากนิตยสาร Inside Out/January-February 2007


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.