|
สวนสปิริต ผลิความคิดแห่งร้านศึกษิตสยาม
โดย
สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
"ศึกษิต หมายถึง ผู้มีการศึกษา เป็นคำของพระองค์เจ้ารัชนี แจ่มจรัส หรือ น.ม.ส. ซึ่งอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ชอบ ก็เลยนำมาตั้งเป็นชื่อร้านหนังสือของตัวเอง ชื่อร้านนี้จึงแปลได้ว่า ปัญญาชนสยาม" วัลลภากล่าว
ร้านศึกษิตสยาม ก่อตั้งเมื่อปี 2510 ซึ่งกลายเป็นร้านหนังสือแห่งอุดมคติของ ส.ศิวรักษ์ที่อยากให้ปัญญาชนและนักอ่านได้มีแหล่งพบปะสังสรรค์ เสวนาทางความคิดร่วมกัน
เดิมร้านนี้ตั้งอยู่แถวสามย่าน ข้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จน 10 กว่าปีก่อน จุฬาฯ ได้ยกเลิกสัญญาเช่ายึดพื้นที่คืนเพื่อสร้างคอมเพล็กซ์ (ซึ่งก็ยังไม่แล้วเสร็จจนวันนี้) จนต้องย้ายมาตั้งอยู่บนถนนเฟื่องนครเช่นปัจจุบัน
ในยุคนั้น ร้านหนังสือแห่งนี้กลายเป็นที่พึ่งพิงของเหล่าปัญญาชน ในแง่ของการเสาะหาความรู้รอบด้าน และการหาทางเลือกทางความคิด หนังสือที่นำมาวางล้วนแต่เป็นหนังสือที่ผ่านการคัดเลือกจากคุณภาพเนื้อหา มีทั้งหนังสือทางเลือก หนังสือหายาก และหนังสือจากเมืองนอก
ในฐานะอดีตลูกค้าตัวยงของร้าน วัลลภากล่าวยกย่องว่า ร้านหนังสือแห่งนี้ได้จุดประกายให้คนในสังคมได้มีทางเลือก ขณะที่ ส.ศิวรักษ์ ก็เป็น "กลุ่มทางเลือก" ของยุคนั้น เพราะเป็นผู้นำพาความคิดและปรัชญาใหม่ๆ มาสู่สังคมไทย
"ร้านศึกษิตสยามเป็นร้านที่มีบรรยากาศแปลกใหม่มากสำหรับยุคนั้น เป็นต้นแบบอะไรหลายๆ อย่าง และกิจกรรมที่วิเศษที่สุดคือ ศึกษิตเสวนา" นิวัติ กองเพียร เคยกล่าวในงานครบรอบกว่า 30 ขวบปีของร้าน
ขณะที่ หรินทร์ สุขวัจน์ ให้คำนิยามว่าเป็น "ป้อมค่ายทางปัญญา"
ช่วงหลังที่ ส.ศิวรักษ์ เริ่มมีเวลาดูแลจัดการร้านน้อยลง ประกอบกับผู้จัดการร้านยุคนั้นขาดความรักและความรู้เรื่องหนังสืออย่างลึกซึ้ง แนวหนังสือในร้านเริ่มกลายเป็นจำพวกคู่มือเตรียมสอบเข้า คู่มือคอมพิวเตอร์ และหนังสือแนวตลาดทั่วไป ความนิยมในร้านจึงตกลง
จนกระทั่งเมื่อ 5 ปีก่อนที่วัลลภาได้กลับมายังร้านแห่งนี้อีกครั้ง แต่เป็นในฐานะเจ้าของร้าน
เธอยอมรับว่า ความศักดิสิทธิ์ในการเป็น "แหล่งรวมตัวของปัญญาชนสยาม" ของร้านศึกษิตสยามเริ่มถดถอยไปมาก
"เราโละแล้วคัดเลือกใหม่ทั้งร้าน เพื่อให้อยู่บนจุดยืนคือ คุณภาพ องค์ความรู้ที่หลากหลาย และการเป็นทางเลือก เพราะเราเชื่อว่าร้านหนังสือเป็นการแสดงปรัชญาว่า เราจะหยัดยืนอยู่เพื่ออะไร"
อีกเสน่ห์ "ศึกษิตสยาม" ที่ยังคงมีให้เห็นเป็นประจำทุกเดือน นั่นก็คือ เสวนาพูดคุยเรื่องหนังสือ
สิ่งที่เปลี่ยนไปก็คือ กลุ่มลูกค้า จากที่มักเป็นคนรุ่นใหม่ ปัญญาชน และผู้แสวงหาจุดยืนหรือทางเลือกของชีวิต มาเป็นลูกค้าวัยกว่า 30-80 ปี ที่ส่วนใหญ่ตามมาจากสามย่านและยังคงแวะเวียนมาเยี่ยมเยือน
แม้ว่าร้านศึกษิตสยามจะยังคงต้องวิ่งอยู่บนถนนที่ขับเคลื่อนโดยทุนนิยม ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ให้ความสนใจในประเด็นของความคิดอ่านและเนื้อหามาก แต่มาถึงวันนี้ วัลลภาก็รู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสกู้คืนและดำรงจิตวิญญาณของร้านหนังสือที่เธอรักเอาไว้ได้ด้วยมือของเธอเอง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|