|
พรานทะเลแดง
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
เพิ่งจะเปิดโรงงานผลิตซูชิที่ร่วมทุนกับเคแอนด์ยู เอ็นเตอร์ไพรซ์ จากญี่ปุ่น เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว มาปีนี้ยูเนี่ยน โฟรเซ่นโปรดักส์ (ยูเอฟพี) เจ้าของแบรนด์ "พรานทะเล" เบนเข็มรุกไปทางตะวันออกกลาง ประเดิมด้วยการใช้ พี.ที.อินเตอร์ฟิชเชอรี่ บริษัทในเครือเข้าร่วมทุนกับชามิ อัล-ฮัสซานิ แอนด์ ซันส์ จากซาอุดีอาระเบีย ตั้งบริษัท สยาม แอนด์ ชามิ เรดซี เพื่อทำธุรกิจประมงน่านน้ำและแปรรูปสัตว์ในน่านน้ำตะวันออกกลาง
บริษัทดังกล่าวมีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนการถือหุ้นฝ่ายละครึ่ง หนึ่ง โดยยูเอฟพีจะใช้ความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ในด้านการจัดหาวัตถุ ดิบและแปรรูปอาหารทะเล ส่วนชามิฯ มีเครือข่ายธุรกิจที่ครอบคลุมหลายด้านและกว้างขวางในซาอุดีอาระเบีย จึงเป็นช่องทางการจำหน่ายที่สำคัญ
ชามิ อัล-ฮัสซานิ แอนด์ ซันส์ เป็นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่จากประเทศซาอุดีอาระเบีย ทำธุรกิจหลายด้านด้วยกัน อาทิ เรียลเอสเตท ก่อสร้าง โรงพยาบาล โรงแรม ฟาร์มปศุสัตว์และสวนมะม่วง เป็นต้น
การร่วมทุนครั้งนี้เป็นการขยายการลงทุนออกต่างประเทศอย่างครบวงจรเป็นครั้งแรกของยูเอฟพี โดยเริ่มต้นจากการทำประมง ซึ่งจะเป็นโครงการเริ่มต้นของสยาม แอนด์ ชามิ เรดซี โดยจะใช้เรือ ประมงขนาด 300 ตัน จำนวน 2 ลำ และเรือประมงขนาด 60 ตันอีก 6 ลำ ทำการประมงในน่านน้ำทะเลแดงและบริเวณใกล้เคียง ผลผลิตที่ได้จะจำหน่ายในประเทศซาอุดีอาระเบียและส่งออกไปยังประเทศต่างๆ รวมถึงส่งกลับมาประเทศไทย โดยคาดว่าจะสามารถ จับผลผลิตได้ประมาณปีละ 8,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 280 ล้านบาท
โครงการขั้นต่อไปจะเป็นการเข้าสู่ธุรกิจแปรรูปสัตว์น้ำ ซึ่งจะเริ่มทำการผลิตได้ประมาณปลายปีนี้ โดยในระหว่างนี้จะมีการศึกษาพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ตรงกับความต้องการของตลาดมากที่สุด หลังจากนั้นจะรุกเข้าสู่ธุรกิจภัตตาคารอาหารทะเล โดยนำเอาประสบการณ์จากร้านพรานทะเลฟาสต์ซีฟู้ดเป็นต้นแบบ เริ่มต้นที่ซาอุดีอาระเบียและขยายออกสู่ประเทศอื่นๆ ในแถบตะวันออกกลาง โครงการสุดท้ายจะเป็นการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เพื่อทดแทนจำนวนสัตว์น้ำที่ลดจำนวนลง อีกทั้งยังช่วยรองรับความต้องการของผู้บริโภคอาหารทะเลที่มีเพิ่มขึ้นได้อีกทางหนึ่ง โดยทางชามิฯ เตรียมพื้นที่สำหรับโครงการนี้เอาไว้แล้วถึง 3,000 ไร่
การร่วมทุนครั้งนี้นอกจากจะทำให้สินค้าของพรานทะเลได้โอกาสวางขายในตะวันออกกลางแล้ว การได้พันธมิตรจากซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกยังช่วยลดต้นทุนค่าน้ำมันลงได้อีกกว่าครึ่งเลยทีเดียว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|