|
และแล้วก็มี "true" นำหน้า
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
"การทำ convergence ไม่ได้ทำง่ายๆ แค่เพียงควบรวมกิจการ หรือเปลี่ยนชื่อใหม่ที่ดูสวยหรูเพียงเท่านั้น เพราะตั้งแต่กลางปีที่แล้วจนถึงวันนี้ ทรูค่อนข้างชัดเจนว่าอย่างไรก็จะนำเสนอภาพของการรวมเข้าด้วยกันของเทคโนโลยีต่อลูกค้าและผู้ใช้งาน การเปลี่ยนชื่อเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จับต้องได้ และพยายามจะบอกว่าต่อไปนี้ยูบีซี จะให้อะไรมากกว่าที่เคยให้และเคยเป็นก่อนหน้านี้"
ประโยคหนึ่งของศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งรั้งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ที่กล่าวในงานแถลงข่าวประกาศเปลี่ยนแบรนด์จากยูบีซี มาเป็นทรู วิชั่นส์ บอกความหมายที่แท้จริงของการเปลี่ยนชื่อยี่ห้อของเคเบิลทีวีของตนที่มีตำนานยาวนานได้เป็นอย่างดี
นับจนถึงวันนี้ ทรู วิชั่นส์ เป็นชื่อที่ 3 ของบริษัทนี้นับตั้งแต่ก่อนหน้านี้ที่ใช้ชื่อ ยูไนเต็ด บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือยูบีซี และยูทีวี เคเบิล เน็ตเวิร์ค จำกัด (ยูทีวี) ซึ่งเป็น ชื่อที่ใช้ตั้งแต่ก่อนหน้าการรวมกิจการกับบริษัท บริษัท อินเตอร์ เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (ไอบีซี)
ทรู วิชั่นส์ ถือเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ของธุรกิจเคเบิลทีวีของไทยมานานหลายปี หากเท้าความกลับไปตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นยูทีวี ที่ขณะนั้นเป็นบริษัทลูกในเครือของบริษัทเทเลคอมเอเชีย ก่อนเปลี่ยนชื่อมาเป็นทรู คอร์ปอเรชั่น โดยมีบริษัทแม่อย่าง ซี.พี. คลุมร่ม บังฝนให้อีกต่อหนึ่ง
ธุรกิจเคเบิลทีวีเป็นสินทรัพย์ในมือของผู้เป็นพ่อของศุภชัย อย่างธนินท์ เจียรวนนท์ แห่ง ซี.พี.ที่ตลอดระยะเวลาที่ให้ความสำคัญ กับธุรกิจเคเบิลทีวีก็พยายามปกปักรักษาเคเบิลทีวีมาตลอด แม้ต้องใช้ทั้งแรงเงิน และทุนทางใจอย่างหนักในการห้ำหั่นกับคู่แข่งอย่างไอบีซี ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับบริษัท Clearview Wireless ของวิลเลียม ไลล์ มอนซัน นักธุรกิจ ชาวอเมริกัน
ไม่นานการห้ำหั่นก็มาถึงจุดแตกหัก เกิดภาพการล่าถอยของกลุ่มไอบีซี ซึ่งตัดสินใจที่จะควบรวมกิจการกับยูทีวี เข้าตำรารวมกันเราอยู่ แยกหมู่เราตาย และต่อมากลุ่มของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งด้วยการขายหุ้นทั้งหมดของตนในยูบีซี ให้กับกลุ่ม ซี.พี. เป็นที่มาของการประกาศใช้ชื่อใหม่อย่าง "ยูบีซี" นับตั้งแต่นั้นมา
ปรากฏการณ์การแข่งขันในตลาด เป็นสิ่งบ่งบอกชัดเจนอยู่เสมอถึงการรุกมาปรับกิจการของตนเอง ยูบีซี หรือทรู วิชั่นส์ ทั้งก่อน หน้าการเปลี่ยนชื่อ ที่ตัดสินใจปรับผังรายการครั้งใหญ่ บริษัทต้องใช้ เวลาหลายวันในการแจ้งลูกค้าในการปรับช่องรายการแบบอัตโนมัติผ่านโครงข่ายใยแก้ว มีการจัดกลุ่มสินค้าที่เป็นรายการทีวีของตนทั้งหมดให้เป็นหมวดหมู่ยิ่งขึ้น และที่สำคัญนำเสนอแพ็กเกจทางเลือก ที่ผู้บริหารบอกว่า จับกลุ่มเป้าหมายได้ครอบคลุมมากที่สุด
เช่นเดียวกับการปรับตัวเพื่อรับกับการเข้ามาของธุรกิจเคเบิล ทีวีท้องถิ่นเป็นหนามยอกอกของทรู วิชั่นส์มานานหลายปี เพราะเคเบิล ทีวีท้องถิ่นเป็นจุดเปลี่ยนอีกอย่างของวงการเคเบิลทีวีไทย เมื่อจานดาวเทียม ไม่ใช่สิ่งบ่งบอกฐานะของคนต่างจังหวัดไกลๆ ดังแต่ก่อนแต่เป็นของหาซื้อง่ายและใช้เงินไม่กี่พันบาทก็แลกมาด้วยช่องทีวีที่มากมายและสัญญาณชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้ความนิยมเคเบิล ทีวีท้องถิ่นมีเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และนั่นก็กระทบกับการดำเนินธุรกิจของทรู วิชั่นส์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทรู วิชั่นส์จำเป็นที่ต้องบุกตลาดไปยังต่างจังหวัด มากขึ้น ตามคำบอกเล่าของผู้บริหาร นับจากนี้รายการทีวีของทรู วิชั่นส์จะเปลี่ยนไปเป็นรายการทีวีภาษาไทย หรือที่เรียกว่า local content มากยิ่งขึ้น จากเดิมรายการ เนื้อหามาจากต่างประเทศมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ และรายการ local content มีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องปรับเป็น 50 : 50
การปรับภาพลักษณ์ของตนเสียก่อนเป็นการเตรียม ความพร้อมที่จับต้องได้ อย่างที่ศุภชัยบอก ก่อนที่จะรุกตลาดในต่างจังหวัดและพื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่เหลืออย่างจริงจังนับจากนี้ และการเปลี่ยนชื่อก็เป็นหนึ่ง ในกลยุทธ์นั้น แม้จะเป็นเพียงเศษเสี้ยวก็ตามที เพราะสุดท้ายหัวใจสำคัญก็ยังอยู่ที่เรื่องคอนเทนต์ หรือรายการ ที่จะสรรหามาให้ถูกใจผู้ชมมากที่สุดนั่นเอง
ศุภชัยบอกกับสื่อมวลชนทั้งในวันงานแถลงข่าวเปลี่ยนแบรนด์ ยูบีซี และอีกไม่กี่วันถัดมาในวันแถลงทิศทางการดำเนินกิจการของกลุ่มทรูทั้งหมดในปี 2550 ที่โรงแรมเดอะแกรนด์ บนถนนรัชดาภิเษกว่า สิ่งที่ทรูพยายามจะบอกมาตลอดก็คือคำพูดที่ว่า "Better Together" หรือที่แปลเป็นไทยแล้วให้ใจความที่ว่า "ยิ่งรวมกันชีวิตยิ่งดีขึ้น" ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นคอนเซ็ปต์ของการทำงานของทรูมาตลอดระยะ 3 ปีของการเปลี่ยนชื่อทีเอ มาเป็นทรู และคอนเซ็ปต์ของการดำเนินกิจการ ของทรูที่นำเสนอไปสู่ลูกค้าด้วยเช่นกัน
เห็นได้ชัดว่า สินค้าของทรูเข้าสู่ยุคที่เรียกว่ารวมเข้าด้วยกันแทบ จะทุกกลุ่ม หมวดหมู่ ทั้ง true money, true online, true life, true move และเพิ่งจะเติมเต็มในหมวดสุดท้ายจากการเปลี่ยนชื่อ นั่นก็คือ true visions
ถึงแม้ว่าการรวมเข้าด้วยกันของเทคโนโลยี จะเป็นตัวตนที่แท้ จริงของสินค้า ซึ่งทรูต้องการจะขยายออกไปสู่ลูกค้าของตน แต่ในเวลา เดียวกันการรวมเข้าด้วยกันของบริษัทที่อยู่ภายใต้ร่มของทรู ที่ต้องมี ชื่อนำหน้าด้วย true แทบทั้งหมด ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทั้งศุภชัย หรือทรูเองก็ต้องการที่ขยายออกไปสู่สาธารณชนด้วยเช่นกัน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|