กรรมเก่า


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ว่ากันว่าเรื่องร้ายๆ มักจะมาตอนที่ไม่ทันตั้งตัว วิชรัตน์ วิจิตรวาทการ ก็คงอยู่ในข่ายนี้ด้วยเหมือนกัน เพราะระหว่างที่ผู้คนในสังคมต่างเฝ้ารอการตรวจสอบและดำเนินคดีกับอดีตผู้มีอำนาจและผู้เกี่ยวข้องกับรัฐบาลชุดก่อนชนิดตาแทบไม่กะพริบ อยู่ๆ กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ ก็ไปขุดเอาเรื่องราวขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เมื่อเกือบ 10 ปีก่อนมาสะสาง โดยการออกหมายเรียกวิชรัตน์ ในฐานะอดีตเลขาธิการ ปรส.มารับทราบข้อกล่าวหาชนิดที่ไม่มีเค้าลางมาก่อน เปรียบเหมือนฟ้าผ่ากลางแดดยังไงยังงั้น

นอกจากวิชรัตน์แล้วหมายเรียกดังกล่าวยังรวมไปถึงกองทุนรวมโกลบอลไทยพร็อพเพอร์ตี้และบริษัทเลแมน บราเดอร์ส โฮลดิ้งส์ อิงค์ ในข้อกล่าวหาฐานสนับสนุนให้เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐและช่วยเหลือให้บริษัทเลแมนฯ หลีกเลี่ยงภาษีอากร

โดยให้วิชรัตน์เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา ส่วนกองทุนรวมโกลบอลไทยพร็อพเพอร์ตี้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันถัดมาและเลแมนฯ ในวันที่ 26 ก.พ.

สำหรับมูลเหตุอันเป็นที่มาของการออกข้อกล่าวหาครั้งนี้ก็คือ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2541 ทาง ปรส.ซึ่งในเวลานั้นมีวิชรัตน์ทำหน้าที่ เป็นเลขาธิการอยู่ได้ทำการประมูลขายสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งมูลค่าทาง บัญชีจำนวน 24,616 ล้านบาท และเลแมนฯ เป็นผู้ชนะการประมูลไปด้วยราคา 11,520 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ตามระเบียบของ ปรส.กำหนดให้มีการโอนสิทธิ ในสินเชื่อที่ขายภายใน 7 วัน หลังจากการประมูลคือภาย ในวันที่ 20 สิงหาคม 2541 แต่ ปรส.กลับขยายระยะเวลา การโอนสิทธิออกไป จนเลแมนฯ ไปดำเนินการจัดตั้งกองทุนรวมโกลบอลไทยพร็อพเพอร์ตี้และมาดำเนินการโอนสิทธิไปยังกองทุนดังกล่าวในวันที่ 1 ตุลาคม 2541 เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งเป็นเหตุให้รัฐเสียประโยชน์ทั้งจากภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์

ข้อกล่าวหาที่วิชรัตน์โดนไปในครั้งนี้อาจเป็นเพียงแค่ปฐมบทหรือ episode 1 ที่อาจจะมีตามต่อเนื่องมาอีกหลายข้อกล่าวหาเพราะการดำเนินงานของ ปรส.ในเวลานั้นสร้างข้อกังขาให้กับสังคมไม่น้อย ไล่ไปตั้งแต่การเปิดประมูลสินเชื่อเช่าซื้อที่ ปรส.อ้างว่าประสบความสำเร็จด้วยราคา 47% ของมูลค่าสินทรัพย์ แต่กลับปรากฏ ในภายหลังว่าผู้ชนะการประมูลสามารถทำกำไรได้ถึงกว่า 500% หรือ การยอมให้เลแมนฯ เข้าประมูลสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งๆ ที่สวมหมวกเป็นที่ปรึกษาให้กับ ปรส.อยู่ด้วย

ถ้าจะให้ดีควรเตรียมตัวไว้แต่เนิ่นๆ เพราะ "ข้อกังขา" เหล่านี้อาจแปรเปลี่ยนเป็น "ข้อกล่าวหา" เมื่อไหร่ก็ได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.