ปราณี โลพันธ์ศรี คนนอกที่เป็นคนในสยามวาลา

โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ปราณีทำงานที่ DHAS มานานกว่า 56 ปี ตั้งแต่ปี 2494 ทำงานให้ตั้งแต่รุ่นนายห้างตาเฮอร์จนถึงรุ่นลูกและหลานนายห้าง เป็นเวลาที่นานพอที่จะเรียกได้ว่าเธอเป็นคนนอกตระกูลที่เหมือนคนในครอบครัวสยามวาลา และเป็นคนนอกคนเดียวที่ได้ถือหุ้น DHAS ด้วย รวมทั้งยิ่งศักดิ์และลูกมิตรทั้งหมดยังนับถือและเรียกเธอว่า Aunty

ประสบการณ์ทำงานเริ่มแรกที่ตึกห้องแถวขนาดสองห้องที่ถนนอนุวงศ์ ที่เสียค่าเช่าเดือนละ 2,000-3,000 บาทแก่คุณหลวงสาทรฯ มองไปจะเห็นมีโต๊ะทำงานของนายห้างฯ โต๊ะมิตร โต๊ะเอกและโต๊ะปราณีตั้งเรียงกันไป อีกประตูหนึ่งจะเป็นที่ว่างไว้วางสินค้าเมื่อขนของลงจากท่าเรือราชวงศ์ก็มาลงตรงนี้ โดยจะมีตู้เป็นฉากบังเอาไว้เก็บสต็อกตามชั้น ข้างหน้าก็จะมีคนเขียนบิล เด็กจะออกของตามบิลที่เขียนและขี่จักรยานไปส่งลูกค้า

"ตอนทำใหม่ๆ คุณมิตรเขียนออร์เดอร์เอง และลุกขึ้นเช็กของ ถ้าเผื่อของหมดจะไปเบิกจากคลังสินค้าที่เช่าเขาไว้ เสร็จแล้วเด็กเอาของจัดขึ้นชั้น ถ้าออกของก็ต้องมาตั้งที่พื้น เช่นดินสอ 10 กุรุส สมุด 10 โหล บิลที่คุณมิตรเขียนจะเป็นลายมือออกมาเป็นใบ P/0 ก่อนเด็กจะไปส่งคุณมิตรจะเช็กอีกครั้งว่าใบ P/O ตรงกับของจริงไหม? เมื่อตรงกันจึงเซ็นและเด็กยกของใส่จักรยานไปส่ง ส่วนพี่จะนั่งทำบิล ทำออร์เดอร์แล้วแต่คุณมิตรจะสั่งการ ขณะที่คุณเอกรับออร์เดอร์จากคุณพ่ออีกทีหนึ่ง" ปราณีย้อนอดีตให้ฟัง

เธอทำงานให้นายห้างฯ ได้ประมาณสามปีเท่านั้น เพราะเกิดเหตุนายห้างฯเสียชีวิตอย่างกะทันหัน ทั้งๆ ที่ไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วยก่อน เธอได้เล่าถึงประสบการณ์ที่ไม่มีวันลืมครั้งนั้นว่า

"จำได้ว่า เย็นวันนั้นยังนั่งทำงานด้วยกัน พอพี่กลับบ้าน คืนนั้นเป็นคืนวันลอยกระทงพอดี ลูกคุณป้าคุณเอกมาหาที่บ้าน เพื่อขอยืมรถพาแหม่มไปเที่ยวดูงาน พอมาถึงไม่มีใครอยู่ เพราะคุณมิตรและคุณแม่ต้องเดินทางไปเตรียมงานแต่งงานที่อินเดีย คุณเอกตามไปด้วย จึงเหลือนายห้างตาเฮอร์อยู่คนเดียวซึ่งจะบินตามไปทีหลัง โดยท่านจองเครื่องบินไว้แล้ววันที่ 25 แต่วันที่ 20 พฤศจิกายน ท่านก็ต้องมาเสียชีวิตก่อน" ความสะเทือนใจยังปรากฏในน้ำเสียงของปราณี

"ตอนเกิดเหตุ ญาติท่านเล่าว่า "นายห้างท่านบอกว่าเจ็บหน้าอกมาก จึงรีบตามหมอมิชชั่น แต่ไม่ทันการ ท่านสิ้นใจแล้ว พอรุ่งเช้าพี่มาถึง น้ำก็ท่วมมาก ทั้งหนาวทั้งเย็น พี่สะดุ้งสุดตัวเมื่อรู้จากลูกค้าว่า นายห้างเสียแล้ว พี่เป็นคนเดียวเท่านั้นที่เข้าไปกราบนายห้างก่อนจะเคลื่อนศพไปฝังที่กูโบว์ฝั่งธน คุณหญิงแสงดาวก็มาช่วย และโทรเลขด่วนไปอินเดีย กว่าคุณเอกจะมาถึงก็เป็นวันทำบุญ" ปราณีย้อนอดีตให้ฟัง

กว่าจะฝ่าวิกฤติครั้งนั้นสามารถชำระหนี้สินได้ภายใน 2-3 ปี ทั้งมิตรและเอกกับปราณีซึ่งต่างมีวัยใกล้เคียงกัน ทำงานกันเหมือนรุ่นพี่รุ่นน้อง ขณะนั้นมิตรตัดสินค้าเบ็ดเตล็ด เช่น หัวเชื้อน้ำหอม เครื่องหนังออกหมดเหลือเพียงค้าเครื่องเขียน ซึ่งมีกำไรงามจนสามารถสร้างตึกสำนักงานแห่งใหม่ได้ที่ถนนสุริวงศ์

"พี่อยู่ที่อนุวงศ์ 13 ปีก่อนจะย้ายมาที่สุริวงศ์ในปี 2507 พื้นที่ 99 ตารางวา ด้านหน้าตึกสร้างเป็นโชว์รูม ด้านหลังไปเซ้งตึกแถวอีกตึกหนึ่ง ทำให้เนื้อที่เพิ่มขึ้นโดยสร้างสะพานเชื่อมที่ชั้นสาม ตอนใหม่ๆ งานพี่เปลี่ยนไปทำบัญชี ซึ่งเดิมเป็นงานคุณเอกทำ แล้วส่งให้พี่พิมพ์ภาษาไทย พอปิดงบก็ส่งให้สำนักงานตรวจสอบบัญชี ที่นี่ไม่เคยทำบัญชีสองเล่ม เราตรงไปตรงมา เพราะคุณมิตรกับคุณเอกไม่อยากเสียชื่อ เป็นนโยบายบริษัท"

เมื่อปราณีย้ายมาทำบัญชีจากเดิมทำมือก็เริ่มใช้เครื่อง Accounting Machine กับข้อมูลบัญชีที่เข้าเครื่องเจาะบัตร punch card IBM 632 แล้วส่งให้ IBM เดินเป็นรายงานออกมา ต่อมาเมื่อกิจการดีขึ้น เครื่องคอมพิวเตอร์ก็เปลี่ยนทุก 5 ปี เธอเป็นคนแรกที่มีโอกาสไปเรียนที่ NCR ก่อนที่มิตรจะตัดสินใจลงทุนซื้อเครื่อง NCR 399 เครื่องแรกราคา 40,000 บาท

"คุณมิตรบอกว่า นี่เป็นเพราะปราณีเป็นคนทำนะ ผมถึงกล้าลงทุน ถ้าเป็นคนอื่น ฉันคงไม่กล้าลงทุน คุณมิตรพูดออกมา พี่ก็ภูมิใจ เพราะเงินสี่หมื่นขณะนั้นคุณมิตรต้องถือว่ามีค่าใหญ่พอสมควร"

ขณะนั้นทั้งสามต่างอยู่ในวัยฉกรรจ์ 30 กว่าๆ สามคนนี้มุ่งลุยงานของตนอย่างหนัก ต่างแบ่งงานกันทำ มิตรบุกด้านการขายและการตลาด เอกดูแลบริหารและปลูกโรงงานกับหาซื้อที่ดิน, เครื่องจักรอุปกรณ์ ส่วนปราณีดูแลด้านการเงิน

"ยุคนั้นต่างคนต่างมุ่งทำ จนคุณเอกบอกว่า คุณมิตรก็ตั้งหน้าตั้งตาหาเงิน ฉันก็ตั้งหน้าตั้งตาจ่ายเงินไปสร้างโรงงาน ส่วนคุณปราณีก็ตั้งหน้าตั้งตาเก็บเงิน โดยเร่งเก็บลูกหนี้ไปฝากแบงก์ฝากไฟแนนซ์ พออาจารย์สุทิน นพเกตุ ซึ่งเป็นวิทยากรมาอบรม และแนะนำว่า น่าจะมีคนประสานงานให้มีการร่วมมือกัน" ปราณีเล่าให้ฟัง

ดังนั้น มิตรจึงเริ่มเข้ามาคุมเป็นกรรมการผู้จัดการ เรียนรู้ดูงานทุกฝ่าย เช่นไปเยี่ยมดูโรงงานทุกวันพุธ ดูงบดุล เปรียบเทียบยอดขาย วางแผนธุรกิจการค้า กำหนดเป้าหมายกำไรยอดขาย ฯลฯ

"เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เห็นพี่น้องอยู่ร่วมกันโดยไม่แตกแยก แต่ก็มีขัดใจกันเรื่องค้าขายบ้าง แต่ก็อะลุ้มอล่วยกันได้ เพราะคุณมิตรให้เกียรติน้อง ต่างคนต่างเคารพกัน คงจะดำเนินตามรอยนายห้างตาเฮอร์และคุณลุง"

การทำงานหนักของทั้งสามทำให้กิจการมั่นคงและมั่งคั่งขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ด้วยนโยบายอนุรักษนิยม ซึ่งตลอดชีวิตทำงาน 56 ปี ปราณีกล่าวว่า สยามวาลาไม่เคยขาดทุนและปราณีได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตั้งแต่ปี 2515 โดยปัจจุบันถือหุ้นอยู่ด้วย

"พี่ถือว่าเป็นหุ้นที่มีมูลค่าทางจิตใจที่สูงมาก รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับจากสยามวาลา เพราะไม่มีคนอื่น นอกจากอาจารย์เติมศักดิ์ที่เป็นประธานบริษัทและพี่เท่านั้น คุณมิตรและคุณเอกพูดเสมอว่า พี่เป็นคนทำงานมานาน ไว้ใจได้ และไม่เคยมีอะไรเสื่อมเสียด้านการเงินการทอง จนกระทั่งพี่จะปลดเกษียณครั้งสุดท้าย แต่คุณยิ่งศักดิ์บอกว่าอยากให้ Aunty อยู่ ทุกคนทำดีต่อพี่มากๆ และได้รับความพึงพอใจในการทำงานที่นี่โดยตลอด"

นี่คือบ้านหลังที่สองของปราณี ตลอดเวลาทำงาน 56 ปีที่เธอมีส่วนร่วมสร้างฐานรากธุรกิจแห่งนี้ให้สืบทอดชั่วลูกชั่วหลานสยามวาลา


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.