เบื้องหลัง DHAS ต้อง Branding ตัวเอง ในความเห็น ดร.อัมมาร สยามวาลา

โดย วิมล อังสุนันทวิวัฒน์
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ศาตราจารย์อัมมาร สยามวาลา หนึ่งในผู้ถือหุ้น DHAS ได้ให้มุมมองว่า การดำเนินกิจการของสยามวาลานั้นเพิ่งเริ่มก้าวเข้าสู่ระยะเริ่มแรกของการเป็นอุตสาหกรรม ขณะที่ภาพรวมของประเทศไทยนั้น ธุรกิจส่วนใหญ่ยังติดอยู่กับวัฒนธรรมของการค้า วัฒนธรรมของการตลาด

หัวหอกของสยามวาลาและธุรกิจค้าเครื่องเขียนทั้งหมด ยังติดอยู่ที่ความเป็นผู้นำที่เก่งด้านการสร้างตลาด แม้ระยะหลังๆ จะค่อยๆ แปรตัวเองกลายเป็นธุรกิจเชิงอุตสาหกรรม แต่ก็ยังคิดว่าตัวเองเป็นธุรกิจการค้ามากกว่า ในขณะที่ประเทศทางตะวันตกปัจจุบันได้วางตัวเองเป็นประเทศ ผู้บริโภคและภาคบริการ แล้วทำให้เอเชียกลายเป็นฐานการผลิตแทน

อาจารย์อัมมารได้อธิบายว่า

"ในวงการเครื่องเขียนก็มีลำดับชั้นของมัน (Distribution System) เริ่มจากซัปพลายเออร์บนสุด ลงมามีค้าส่งที่สำเพ็ง ค้าส่งชานเมือง และค้าปลีกในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ในต่างจังหวัดก็มีลำดับชั้นอีก แล้วการบริหารจัดการและการตลาดระดับบนจะมีบทบาทสูง มีการโฆษณามาช่วย ระดับล่างลงมาเป็นเพียงการซื้อมาขายไป แต่อาศัยจุดเด่นด้านทำเลและในระยะหลังก็มีบริการที่ให้กับลูกค้าผู้บริโภค เป็นตัวทำให้โต

อันนี้เป็นวิกฤติและเป็นการท้าทายที่กำลังเกิดขึ้น ทั้งยังเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างที่สุด ซึ่งกระทบสยามวาลาพร้อมๆ ไปกับส่วนต่างๆ ของประเทศ ตั้งแต่มีบริษัทใหญ่ๆ เกิดขึ้นในธุรกิจค้าปลีก ซึ่งมีอำนาจต่อรองกับซัปพลายเออร์สูงกว่าที่เป็นมา ทางออกอันหนึ่งที่สยามวาลาทำคือ หนีไปทำส่งออก

ถ้าจะว่าไปแล้วในช่วง 70 ปีแรกของรอบ 100 ปีนั้น สยามวาลาทำ Branding ให้ซัปพลายเออร์ต่างประเทศเป็น Brand Manager สร้างตลาดให้กับต่างประเทศ แต่เดี๋ยวนี้เริ่มสนใจที่จะมีความสามารถของตัวเอง ทำ Branding เอง แม้กระทั่งให้ต่างประเทศใช้แบรนด์ของเรา เพราะในที่สุดก็ได้พบว่าการทำแบรนด์ให้กับต่างประเทศได้อะไรไม่จีรัง"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.