100 ปี แบรนด์ 'DHAS' ถึงเวลาต้อง Branding ตัวเอง

โดย วิมล อังสุนันทวิวัฒน์
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

"ในช่วง 70 ปีแรกของรอบ 100 ปีนั้น สยามวาลาทำ Branding ให้ซัปพลายเออร์ต่างประเทศ เป็น Brand Manager สร้างตลาดให้กับต่างประเทศ แต่เดี๋ยวนี้เริ่มสนใจที่จะมีความสามารถของตัวเองทำ Branding เอง แม้กระทั่งให้ต่างประเทศใช้แบรนด์ของเรา เพราะในที่สุดก็ได้พบว่าการทำแบรนด์ให้กับต่างประเทศได้อะไรไม่จีรัง"

ดร.อัมมาร สยามวาลา

หากว่า 'แบรนด์องค์กร' คือจิตวิญญาณของธุรกิจแล้ว ลองนึกถึงแบรนด์องค์กรในเมืองไทย หรือความมีชีวิตของธุรกิจไทยกันบ้าง ก็พอจะมองเห็นได้ว่ามีแบรนด์ไทยในใจผู้บริโภคชาวไทยอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์อินเตอร์อย่าง ซี.พี. กระทิงแดง ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ เนสท์เล่ หรือปูนซิเมนต์ไทย

แต่ถ้าจะจำกัดวงให้แคบลงมาเฉพาะในธุรกิจเครื่องเขียนแล้ว แบรนด์ดีมีตำนานยืนยาวถึง 100 ปี ก็คงเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากบริษัทดี เอช เอ สยามวาลา จำกัด (DHAS) ที่มีอายุครบรอบ 100 ปีเต็ม ในปี 2550 พอดี ซึ่งเริ่มต้นกิจการจากพนักงานเพียง 10 คน ปัจจุบันกิจการเจริญก้าวหน้ามีพนักงานจำนวนกว่า 800 คน

"DHAS"...แบรนด์ดีมีตำนาน

ความเป็นแบรนด์ "DHAS" มีแก่นสาระอะไร หรือได้สั่งสมคุณค่าอะไรที่คู่สังคมไทยมานับศตวรรษ ให้คนไทยได้ภาคภูมิใจกันบ้าง มิตร สยามวาลา ผู้นำคนสำคัญในเจนเนอเรชั่นรุ่นที่ 3 ของตระกูลสยามวาลา น่าจะให้คำตอบ นี้ได้เป็นอย่างดี

"DHAS เกิดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นรุ่นคุณปู่ ของผม เดิมท่านมีรกรากอยู่ที่เมืองบาโรดา มลรัฐคุชราต (Gujarat) ในประเทศอินเดีย คนที่นั่นมีหลายคนที่เข้ามาติดต่อค้าขายในเมืองไทย มีการสื่อสารกัน คุณปู่เห็นว่าเมืองไทยเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ ก็อยากจะลองมาเสี่ยงดวงดู ในเวลานั้นท่านมีครอบครัวแล้ว ท่านก็เดินทางมาโดยขายทรัพย์สินส่วนตัว พอมาถึงท่านเข้ามาขายสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เข้าใจว่าจะเป็นสินค้าที่นำมาจาก ยุโรป เพราะสมัยนั้นยุโรปเป็นซัปพลายเออร์ที่อะไรก็มีทั้งนั้น และในไทยยังไม่มีการผลิตเอง โดยไปสั่งซื้อกันที่บอมเบย์จะสะดวกที่สุด

ท่านมาเปิดร้านแห่งแรกที่ถนนอนุวงศ์ ภาษาจีนเรียกว่า 'โคลักล้ง' เป็นย่านการค้าขายของคนอินเดียเป็นส่วนใหญ่ ย่านราชวงศ์ พาหุรัด สมัยนั้นเป็นย่านของคนอินเดียไม่ค่อยมีคนจีนเท่าไร เลยไปทางสำเพ็งและเยาวราชถึงจะเป็นที่คนจีนอยู่ คุณปู่นอกจากจะมีความเป็นนักเสี่ยงโชคแล้ว ท่านเป็นคนที่มีนวัตกรรม ท่านมีความคิดว่า...'ทำไมไม่สั่งซื้อโดยตรงจากโรงงานเลยล่ะ' ก็เลยไปทำการซื้อขายกับโรงงานเอง ก็ได้ราคาถูกมาก ถ้ามองในอีกแง่หนึ่งก็ทำให้ ประหยัดเงินตราไปเยอะ"

ดีลาเวอร์ ฮุสเซน อับดุลอะลี สยามวาลา (Mr.Dilawer Husain Abdulali Siamwalla) ซึ่งเป็นปู่ของมิตรได้ก่อตั้งกิจการในปี 2450 (ค.ศ.1907) ดำเนินกิจการนำเข้าสินค้าจากยุโรปเข้ามาขายในประเทศไทย ได้แก่ หนังสัตว์ น้ำหอม เวชภัณฑ์ เครื่องเหล็ก ตลอดจนสินค้าที่เกี่ยวกับกระดาษ กิจการรุ่งเรืองมาเป็นลำดับ โดยนำเข้าสินค้าแทบทุกอย่างที่มีคนต้องการซื้อ และเริ่มมีการทำโฆษณามาตั้งแต่แรกเลยทีเดียว ตามคำประกาศว่า "เชิญมาชมที่ห้างข้าพเจ้า ก่อนที่จะไปซื้อที่อื่น" ซึ่งมิตรวิเคราะห์ว่า

"การที่ท่านโฆษณาแสดงว่าท่านมี Marketing Strategy ไม่ใช่สักแต่ขายอย่างเดียว แต่ทำให้คนรู้จักของที่เราเอามาขาย ก็ทำให้กิจการรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ"

กิจการดำเนินต่อมาได้ไม่นานนักก็เกิดวิกฤติกับธุรกิจ นั่นคือได้เกิดไฟไหม้คลังสินค้าจนไม่มีอะไรเหลือเลย แต่จุดนี้เองที่แก่นแท้อันเป็นคุณค่าสำคัญของกิจการในตระกูล "สยามวาลา" ได้ฉายแววเปล่งประกาย นั่นคือการที่นายห้างมีความสนิทสนมและเป็นที่เชื่อถือได้ในหมู่นายธนาคารสมัยนั้นว่า DHAS ทำกิจการด้วย "ความซื่อสัตย์" มาตลอด และกิจการก็เจริญรุ่งเรืองมีอนาคตดี

ดังนั้น Chartered Bank of India, Australia and China และธนาคารสยามกัมมาจล (ปัจจุบันคือไทยพาณิชย์) จึงยอมปล่อยเครดิตให้โดยไม่ต้องมีการค้ำประกันอะไรเลยเพราะเชื่อในความซื่อสัตย์ ทำให้กิจการสามารถกลับฟื้นคืน สามารถสร้างตัวขึ้นมาใหม่จนเจริญรุ่งเรืองได้ในเวลาอันรวดเร็ว มิตรอธิบายถึง "คุณค่าของ DHAS" ในยุคก่อตั้งว่า

"คุณปู่ได้เอาชื่อของท่านมาตั้งเป็นชื่อกิจการ ส่วนนามสกุลนั้น...วาลา...แปลว่า 'มาจาก' สยามวาลาจึงแปลว่า มาจากสยาม ก็เป็นที่รับรู้กันในหมู่ญาติมิตรสหายที่บ้านเกิด ในฐานะเป็นพ่อค้าชาวอินเดียจากประเทศสยาม ซึ่งสิ่งที่คุณปู่ได้สร้างไว้ในแรกเริ่มคือ 'ความซื่อสัตย์' นี่คือหัวใจของ DHAS และถ่ายทอดกันจากรุ่นสู่รุ่นภายในตระกูลมาจนถึงทุกวันนี้"

สิงห์โตเกาะโล่...ขายทุกอย่างที่คนอยากซื้อ

หลังจากที่นายห้างดีลาเวอร์ ฮุสเซน อับดุลอะลี เสียชีวิตลง กิจการ "ดีเอชเอ สยามวาลา" ก็ยังดำเนินกิจการต่อมาในรุ่นที่สอง คือ "นายห้างมุฮ์ซิน" ผู้เป็นลูกชายคนโต สืบทอดกิจการ และมี "นายห้างตาเฮอร์" ซึ่งเป็นลูกชายคนรองและเป็นพ่อของมิตร คอยช่วยเหลือ

ลักษณะการดำเนินกิจการดังกล่าวต่อมาได้กลายเป็นรูปแบบเฉพาะขององค์กรในลักษณะที่ผู้นำขององค์กรจะมีผู้ช่วยเป็นเสมือนคู่คิดอยู่เสมอ ในเจนเนอเรชั่นที่สองนั้น นายห้างมุฮ์ซินจะเป็นผู้ออกไปทำตลาดเป็นทัพหน้า หรือ "ฝ่ายบู๊" ส่วนนายห้างตาเฮอร์เป็น "ฝ่ายบุ๋น" คอยดูแลภายในสำนักงานและการบัญชีต่างๆ

กิจการถึงแม้มีลักษณะค้าขายของจิปาถะทุกอย่าง ดังนั้นช่วง 50 ปีแรกของกิจการ DHAS จึงเรียกได้ว่าเจริญรุ่งเรืองจนเป็นกิจการขนาดใหญ่ เพราะนายห้างมุฮ์ซินเองอายุเพียง 40 กว่าปีก็เสียชีวิต กิจการช่วงที่สามจึงตกทอดมาสู่นายห้างตาเฮอร์ การดำเนินธุรกิจยังเป็นการซื้อสินค้าจาก ต่างประเทศ แล้วมาบุกตลาดวางขายในกรุงเทพฯ เป็นส่วนใหญ่ โดยเน้นกิจการค้าส่งลูกค้าเป็นหลัก และมีค้าปลีกให้กับร้านค้าย่อยด้วย มิตรเล่าว่า

"บริษัทของเรามี 'เครื่องหมายการค้า' มาตั้งแต่สมัยคุณลุง เป็นรูป 'สิงห์โตเกาะโล่' เกิดขึ้นมาเพราะว่าเราสั่งปากกาคอแร้งมาจากประเทศอังกฤษ แล้วตราสิงห์โตเกาะโล่นี้เป็นเครื่องหมายที่บริษัทขายปากกาคอแร้งประทับตรานี้ติดมากับกล่องใส่ปากกา ซึ่งไม่ใช่เครื่องหมายการค้า แต่ทำมาเพื่อให้รู้ว่าเป็นสินค้าของอังกฤษ คุณลุงคงเห็นว่าเท่ดี ก็เลยเอามาใช้เป็นตราของบริษัทฯ"

จะเห็นว่าในสมัยก่อน การสร้างโลโกอาศัยเพียงความประทับใจแรกเห็นภาพต่างๆ ในสายตาของผู้นำหยิบยกรูปลักษณ์บางประการ มาสร้างสัญลักษณ์อย่างเรียบง่าย ไม่มี Creative Mind ที่สลับซับซ้อน แต่สะท้อนภาพองค์กรแบบครอบคลุมทีเดียว

การดำเนินกิจการของสยามวาลาในรุ่นที่สองของตระกูล ก็ยังเน้นเรื่อง "ความซื่อสัตย์" ต่อลูกค้าและคู่ค้าอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะช่วงที่มีหัวเรือใหญ่คือ นายห้างตาเฮอร์ยิ่งเด่นชัดขึ้น เพราะนายห้างตาเฮอร์เป็นคนจิตใจดี มีความเอื้อเฟื้อต่อผู้คนทั่วไป จนเรียกได้ว่าชาวมุสลิมในยุคนั้น แทบจะไม่มีใครไม่รู้จักท่าน

ภายหลังท่านเสียชีวิตแล้ว ทายาทได้ก่อตั้ง "มูลนิธิตาเฮอร์สยามวาลาเพื่อการศึกษา" ในปี 2507 เพื่อรำลึกถึงคุณความดีของท่านให้สืบต่อไป โดยไม่ได้นำเรื่องนี้มาเกี่ยวกับการค้าแต่อย่างใด

ใน พ.ศ.2485 (ค.ศ.1942) ได้มีการเปลี่ยนจากห้างหุ้นส่วนสามัญ ดี.เอช.เอ.สยามวาลา มาเป็นบริษัท ดี เอช เอ สยามวาลา จำกัด ซึ่งเป็นช่วงที่นายห้างตาเฮอร์เข้ารับช่วงกิจการต่อจากนายห้างมูฮ์ซินแล้วนั้น ทายาทของมูฮ์ซินและอนุมัด (ชื่อเดิมว่า อะหมัด) ผู้เป็นน้องชายคนสุดท้อง ได้ถอนหุ้นออกจากบริษัท กิจการจึงต้องตกเป็นของนายห้างตาเฮอร์แต่ผู้เดียว

แต่บริษัทก็ยังคงใช้ตราองค์กรเป็นรูปสิงห์โตเกาะโล่เหมือนเดิม เมื่อเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินกิจการเป็นบริษัทแล้ว ที่นี่มีหลักในการดำเนินกิจการคือ 'ทำบัญชีเล่มเดียว' มาจนถึงปัจจุบัน เพื่อความโปร่งใสด้านการเงิน ทำให้การเบิกจ่ายตรวจสอบได้ ในขณะที่มักจะเป็นที่รู้กันว่าคนบางส่วนจะมีบัญชี 2 เล่ม เพื่อหลบเลี่ยงการถูกเรียกเก็บภาษีต่างๆ มิตรย้ำว่าคุณค่านี้ได้ให้ผลตอบแทนกับกิจการได้อย่างไร

"หลังไฟไหม้แล้วกิจการเจริญอย่างรวดเร็วได้นั้น เนื่องจากมีประสบการณ์ในการทำการค้าอยู่แล้ว และได้เครดิตไลน์จากธนาคาร ซึ่งธนาคารสมัยก่อนสนับสนุนเต็มที่ ไม่เหมือนสมัยนี้ เราไม่มีการค้ำประกันใดๆ เพราะไฟไหม้หมด เขาใช้ Sense ในการพิจารณาปล่อยกู้ และใช้ 'ความซื่อสัตย์' เป็น Value ที่สำคัญมาค้ำประกันได้ แสดงว่าในสังคมคู่ค้า พ่อค้า ลูกค้า ทุกคนไว้ใจคุณปู่มาก ซึ่งเราตระหนักถึง Ethic ข้อนี้ดี จึงตกทอดมาเรื่อย คือเราซื่อตรงต่อแผ่นดิน ซื่อตรงต่อสังคม ซื่อตรงต่อคู่ค้า

เวลาผมพูดว่า เราซื่อตรงต่อแผ่นดิน ผมหมายถึงว่า ผมไม่มีบัญชี 2 เล่มมาตั้งแต่ต้นมานะ เวลาซื่อสัตย์ ผมก็ซื่อสัตย์กับทั้งหมด อันนี้เป็นคุณค่าสากลที่ทั่วโลกก็ต้องการ ซึ่งปัจจุบันทำได้ยาก แต่เราเหมือน 'ปลาแซลมอน' ชอบสวนทางไปสู่น้ำที่ใสกว่า และเราจะไม่ไปตามน้ำ"

การค้าในช่วงนี้ได้เริ่มขายเครื่องเขียนบ้างแล้ว การขายหลายอย่างก็เพื่อสนองตอบตลาดภายในประเทศช่วงปี พ.ศ.2462 (ค.ศ.1919) ที่มีขนาดเล็ก สภาพการค้าสมัยนั้นเป็นตลาดของปัญญาชนชั้นสูง คนทั่วไปส่วนใหญ่เป็นชาวนา ไม่ค่อยซื้อข้าวของกัน และยังไม่มีการทำอุตสาหกรรมเหมือนสมัยนี้ มีแต่หลวงที่สั่งซื้อของ เช่น โรงเรียนเปิดใหม่ หรือพวกห้างฝรั่งที่เข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯ ดังนั้น DHAS จึงเป็นที่รู้จักของคนในกรุงเทพฯ เป็นส่วนใหญ่ มิตรกล่าวถึงชื่อเสียงในครึ่งศตวรรษแรกว่า

"เราขายของผ่านร้านค้าปลีก เช่น จินดามณี แล้วก็ส่งขายไปยังพวกโรงเรียน ร้านที่อนุวงศ์อยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา มีเรือเอี้ยมจุ๊นล่องมาซื้อของ แล้วบรรทุกล่องไปขายตามริมน้ำเจ้าพระยา เราส่งของออกต่างจังหวัดผ่านพวกนี้ซึ่งอยู่กันไม่เป็นหลักแหล่ง เรือจะมาซื้อของแล้วบรรทุกล่องไปเป็นเวลาหลายเดือน บอกแค่ว่า ขากลับมาจะเอาสตางค์มาให้ เราก็ยอมปล่อยเครดิตให้ แต่สมัยก่อน เป็นเรื่องเชื่อใจกัน คนสมัยก่อนเชื่อใจกันได้ มากกว่าสมัยนี้ เดี๋ยวนี้เราระแวงกันไปหมด คนสมัยก่อนมีความเชื่อใจกันสูง"

ต้องถูกเสมอ...
ผู้นำในธุรกิจเครื่องเขียน

ในช่วงที่นายห้างตาเฮอร์ดำเนินกิจการนั้น ดี เอช เอ สยามวาลาเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในหมู่ชาวมุสลิม จากอัธยาศัยไมตรีส่วนตัวของนายห้าง แต่ในด้านการดำเนินกิจการแล้ว กลับเป็นช่วงที่ทุนดำเนินกิจการหดตัวลง

ท่านมีลูกชาย 3 คน คือ มิตร เอก และอัมมาร เมื่ออายุมากขึ้นจึงค่อยๆ วางมือ โดยให้ลูกชายที่กำลังรุ่นหนุ่มจบการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่คนในสังคมพ่อค้าวาณิชนิยมส่งลูกหลานมาเล่าเรียน

มิตรและเอกรับช่วงกิจการมาด้วยวัยที่เปี่ยมพลังไฟทำงานอันร้อนแรง มิตรเป็นฝ่ายบู๊ ออกลุยตลาดทั่วสารทิศ และเริ่มขยายตัวออกสู่ต่างจังหวัดมากขึ้นทุกที ส่วนเอกเป็นฝ่ายบุ๋นรับช่วงดูแลกิจการภายในบริษัทและบริหารการเงินทั้งหมด

ทั้งสองสนุกกับการขยายเครดิตการค้าแบบเกินตัวอย่างรวดเร็ว จนหลายครั้งหมุนเงินไม่ทัน ก็อาศัยความเป็นที่นับหน้าถือตาของนายห้างตาเฮอร์ ไปกู้เงินนอกระบบมาดำเนินกิจการต่อไปเรื่อยๆ มิตรเล่าถึงหลักการดำเนินกิจการของเขาว่า

"แรกๆ ผมก็ยังขายของจิปาถะเหมือนเดิมอยู่ แต่ด้วยทุนอันจำกัด จึงตัดสินใจหันมาจำหน่ายเครื่องเขียนอย่างจริงจังโดยเน้นในสินค้าที่มีคุณภาพเท่านั้น ผมคิดว่าของที่ 'ดี' คือของที่ 'ประหยัด' ที่สุด สินค้าคุณภาพที่เราถืออยู่นี้มันจะ force ให้เราต้องมี ทำการโฆษณา เพราะก่อนหน้านี้ เราขายเฉพาะในกรุงเทพฯ แต่พอลงโฆษณาไปแล้ว ตามหัวเมืองก็ต้องส่งคนไปขายด้วย ดังนั้นสมัยนั้นเราจึงเป็นผู้นำเรื่องการสร้างดิสทริบิวชั่น เป็นผู้นำเข้าเครื่องเขียนรายแรกที่มีการส่งคนออกไปขายของตามหัวเมือง"

และแล้วกิจการดำเนินมาไม่นาน ก็เกิดจุดพลิกผันสำคัญที่ทำให้มิตรเรียนรู้ที่จะต้องทำในสิ่ง 'ถูก' เสมอในชีวิต ของเขาก็ว่าได้ มิตรเล่าต่อไปว่า

"ผมกับน้องชายพอเข้ามารับช่วงทำธุรกิจ ซึ่งขณะนั้น ดร.อัมมาร น้องคนสุดท้องเพิ่งอายุแค่ 14 ปี ยังเรียนอยู่ ตอนนั้นญี่ปุ่นเริ่มเข้าไทยแล้วก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมา ก็เกิดสงครามเกาหลีขึ้น ประมาณปี พ.ศ.2493 (ค.ศ.1950) ขณะนั้นสินค้าราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ พ่อค้าก็สั่งของมากขึ้นๆ เวลานั้นคุณพ่อดูแลการค้าแบบห่างๆ แล้วเราทั้งคู่กำลังรุ่นหนุ่มขาดประสบการณ์ คุณพ่อท่านอายุมากขึ้น เราก็ไม่อยากรบกวนท่าน ก็ทำกันไปโดยที่ลองผิดลองถูกกันเอง แต่ลองผิดมากกว่าลองถูก เพราะเราปล่อยเครดิตมากไป"

"พอสงครามเกาหลีจบปี พ.ศ.2496 (ค.ศ.1953) สินค้าราคาตกฮวบ ลูกค้าไม่สามารถชำระเงินให้เราได้ ทุนเราก็น้อยอยู่แล้ว พอเกิดหนี้เสีย ทำให้ต้องกู้หนี้นอกระบบ เพราะด้วยงบดุลที่มีตอนนั้นติดลบมากจะไปกู้แบงก์ก็คงไม่ให้ และเราก็ไม่เคยไปหาเขา การที่ไม่เสนอขอกู้แบงก์ก็ดีตรงที่... แบงก์ไม่ทราบสถานการณ์ของบริษัทว่าเป็นอย่างไร เขารู้แต่ว่าสยามวาลา 'ไว้ใจได้' แต่ไม่รู้ว่าเรา 'ไม่มีเงิน' เงินที่กู้มาไม่กี่แสนก็กลายเป็นหนี้กว่า 2 ล้านบาท สมัยนั้นนับเป็นจำนวนมหาศาลทีเดียว ซึ่งเรามีของในโกดังมีมูลค่าตามบัญชี เพียงแค่ 2 แสนบาท แต่เวลาขายจริงก็ใช่ว่าจะขายได้ตามนั้น จะบอกว่า 'บริษัทล้มละลาย' ก็ได้ ในปีนั้นคุณพ่อก็เสียชีวิต ในขณะที่ผมเดินทางไปแต่งงานกับเจ้าสาวชาวอินเดียที่ประเทศบ้านเกิด"

บทเรียนครั้งนี้ทำให้มิตรและเอกหันมาดำเนินนโยบาย คอนเซอร์เวทีฟในการทำธุรกิจมาตลอดชีวิต เพราะตั้งแต่ DHAS ใช้หนี้สินจำนวนใหญ่หมดแล้ว ไม่เคยกู้เงินใครอีกเลย ตลอดการดำเนินกิจการมาถึงปัจจุบัน

หลังจากนั้นเขาเริ่มกู้สถานการณ์ด้วยการหันมาค้าขาย เครื่องเขียนเพียงอย่างเดียว เพราะใช้ทุนต่ำ ประกอบกับช่วงนั้นมีการขยายการศึกษาและอุตสาหกรรมมากขึ้น โรงเรียน และบริษัทห้างร้านต่างๆ ก็ขยายตัวมากขึ้นตาม ดังนั้นกลุ่มเป้าหมายของกิจการก็ชัดเจน ทำให้การดำเนินธุรกิจเรียบง่าย ไม่หวือหวาอะไร มีสินค้าหลากหลายหมวดหมู่ให้เลือกขาย และตัวสินค้าเองก็มีรายละเอียดของสินค้าที่ต้องใส่ใจดูแลมาก บริษัทจึงเติบโตไปพร้อมกับสภาพตลาดที่แท้จริง มีเพียงการ โฆษณาสรรพคุณสินค้าและขยายดิสทริบิวเตอร์เพื่อทำตลาด เท่านั้น จุดนี้เองที่ทำให้กิจการของ DHAS สามารถสะท้อนภาพการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ชัดเจน

และในปี พ.ศ.2521 (ค.ศ.1978) มิตรปรับโลโกบริษัท จากสิงห์โตเกาะโล่มาเป็นรูปเครื่องหมายถูกภายในกรอบสี่เหลี่ยม มิตรเล่าถึงที่มาว่า

"ช่วงที่ผมมาบริหารงาน ผมอยากได้รูปอะไรที่ดูง่ายๆ มาใช้แทนรูปสิงห์โตเกาะโล่ ก็เลยไปใช้บริการจากบริษัทลีโอเบอร์เนทท์ ผมก็ให้เขาไปคิดมา เขาดูจากลักษณะกิจการ ดูจากประเภทสินค้าที่จำหน่ายและเห็นว่าขายพวกเครื่องเขียน ซึ่งเป็นของที่ต้องใช้ในการศึกษาเยอะ แล้วระบบการศึกษาจะไม่มีอะไรที่คุ้นตามากกว่า 'เครื่องหมายถูก' ทั้งครูและนักเรียนก็รู้จักกันดี ก็เลยได้รูปเครื่องหมายถูกในกรอบสี่เหลี่ยม ออกมาใช้

นำมาใช้อยู่ระยะหนึ่ง ก็เริ่มรู้สึกว่าเป็นอะไรที่พื้นๆ เกินไป เห็นเอาไปใช้กันเยอะ ผมเห็นว่าการใช้เครื่องหมายการค้าแบบนี้จะไม่เด่น ก็เลยให้บริษัทรับออกแบบเครื่องหมายการค้าจากอเมริกามาช่วยออกแบบให้ใหม่ เขาก็เลยเพิ่มมิติเป็นรูปลูกบาศก์ มองดูคล้ายแฟ้มหรือกล่อง และหางของเครื่องหมายถูกยาวเลยออกไปนอกกรอบสะท้อนให้เห็นว่า... เราเป็นคนที่ชอบคิดอะไรนอกกรอบล้ำหน้ากว่าคนอื่นเหมือน พฤติกรรมของปลาแซลมอนที่ผมชอบเล่าสอนลูกๆ เสมอ"

DHAS ได้ใช้โลโกเครื่องหมายถูกในลักษณะสามมิติต่อมาเป็นเวลากว่า 17 ปีแล้ว โลโกบริษัทนี้เป็นเหมือนการการันตีว่า...สินค้าอะไรก็ตามของบริษัท เป็นสิ่งที่เชื่อถือได้เสมอสำหรับคู่ค้าและลูกค้า เครดิตทางการค้าอันนี้สะท้อนแก่นแท้เรื่อง 'ความซื่อสัตย์' ที่เป็นมรดกสืบทอดมา ไม่ว่ากิจการจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม มิตรกล่าวถึงจุดหักเหสำคัญอีกเรื่องหนึ่งว่า

"เราเริ่มคิดทำแฟ้มเอง เพราะรัฐบาลในสมัยนั้น มีนโยบายนิยมไทยเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศที่สามารถผลิตเองได้ จึงสั่งห้ามนำเข้าแฟ้มจากต่างประเทศ ตอนแรกเราก็ยังไม่ได้ตั้งโรงงาน เพียงแต่ออกไปจ้างคนมาทำแฟ้มส่งให้ลูกค้า ทำไปๆ ขายดี คนยอมรับ ทั้งที่เวลานั้น ก็มีของถูกกว่าวางขายแข่งกัน เราขายดีขึ้นเรื่อยๆ ทีนี้คนที่รับจ้างทำให้ พอเรายิ่งขายดี เขาก็ยิ่งขึ้นค่าแรง และอีกอย่าง การผลิตก็ควบคุมคุณภาพไม่ค่อยได้ น้องชายก็เสนอว่าให้ตั้งโรงงานเองเสียเลยจะดีกว่า"

จากความเปลี่ยนแปลงในเรื่องดิสทริบิวชั่น ทำให้ DHAS ได้ตระหนักถึงคุณค่าสำคัญเพื่อพัฒนายกระดับตัวเอง จากกิจการที่เพียงแค่ซื้อมาขายไป ได้ก้าวไปสู่การเป็นผู้ผลิต แฟ้มภายใต้แบรนด์ 'ช้าง' โดยเริ่มสร้างโรงงานแห่งแรกที่นิคม อุตสาหกรรมนวนครในปี พ.ศ.2522 (ค.ศ.1979) ด้วยเงินออมของบริษัทเอง และขยายสู่โรงงานแห่งที่ 2 ในเวลาไม่นาน และนี่เป็นจุดที่พาให้กิจการช่วงครึ่งศตวรรษหลัง ก้าวไปได้ไกลอย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน DHAS กำลังขยายการผลิตไปโรงงานแห่งที่ 3 มูลค่า 300 ล้านบาท ด้วยระบบการบริหาร การผลิตอันทันสมัย และกลายเป็นผู้ส่งออกที่รู้จักกันดีในวงการว่า...เป็นแฟ้มมีคุณภาพดีที่สุดในเอเชีย และมีนวัตกรรมทางเทคโนโลยีระดับโลก จนฝรั่งเข้ามาเรียนรู้ประยุกต์ใช้

แฟ้มตราช้าง...จุดตระหนักการสร้างแบรนด์

DHAS เมื่อดำเนินกิจการมาเกินกว่าครึ่งศตวรรษ จึงเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะตัวแทนจำหน่ายสินค้าชั้นดีในวงการเครื่องเขียนที่มีสินค้ายี่ห้อดังครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นดินสอดำมิตซูบิชิ ปากกา Cross ปากกา Rotring ปากกาชไนเนอร์ น้ำยาลบคำผิด ลิควิด เปเป้อร์ สี WINSOR & NEWTON เป็นต้น มิตรเล่าว่า

"ตราช้างของผมไม่ใช่ 'ช้างของปูนซิเมนต์ไทย' เป็นช้างคนละอย่าง ของปูนซิเมนต์เป็น 'ช้างไทย' แต่ของผมคงเป็น 'ช้างเอเชีย' มั้ง เพราะผมไปเปิดสมุดดูโลโกของต่างประเทศเพลินๆ ไม่ได้ตั้งใจจะหาโลโกหรอก พอเห็นรูปช้างแล้วชอบ ก็เอารูปนั้นมาใช้เลย เพราะคิดว่าเป็นสัญลักษณ์ของไทยด้วย แต่ไม่รู้ว่ารูปนั้นเป็น 'ช้างประเทศใด' ส่วน elfen ก็เป็นอีกยี่ห้อที่เราสร้างขึ้นมา เพราะเวลาไปขายต่างประเทศ พวกฝรั่งไม่ชอบใช้รูปสัตว์ จึงเปลี่ยนไปใช้ตัวอักษรแทน"

ปัจจุบันแฟ้มตราช้างกลายเป็นพระเอกของกิจการ ทั้งที่ตอนแรกที่จ้างทำนั้นไม่สามารถควบคุมคุณภาพสินค้าให้คงที่ได้ มีเสียงลูกค้าบ่นกลับมาบ่อยๆ ทำให้เกรงจะเสียชื่อเสียงบริษัทที่สั่งสมมา จึงคิดทำโรงงานเอง เพราะเล็งเห็นว่า นอกจากจะทำให้ควบคุมคุณภาพได้ดีกว่า ยังช่วยเรื่องการวางแผนการผลิตและการทำตลาดได้แน่นอนกว่า ทั้งยังทำให้ต้นทุนต่ำลง มิตรวิเคราะห์ว่า

"การมีโรงงานทำให้เราควบคุมคุณภาพได้ ราคาต้นทุนต่ำทำให้ทำกำไรได้ดีขึ้น แล้วพัฒนาลักษณะสินค้าไป ในทางที่เราต้องการได้ และเราสามารถวางแผนการเติบโตได้ เพราะถ้าหากเราพึ่งคนอื่นให้ทำสินค้าส่งให้เรา แต่ถ้าเขาไม่ยอมโตตามเรา เราก็จะถูกจำกัดให้ขายได้แค่นั้น แต่ถ้าเราทำเอง เราสามารถวางแผนการเติบโตได้เอง"

DHAS เริ่มผลิตแฟ้มตราช้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 (ค.ศ.1974) จากโรงงานที่เป็นห้องแถว ก็ขยับสู่โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ในปี พ.ศ.2523 (ค.ศ.1980) โดยเอก สยามวาลา ซึ่งดูแลการเงินการบัญชีและโรงงานด้วย ได้เดินทางไปดูงานในประเทศต่างๆ เพื่อสั่งซื้อเครื่องจักร และไปได้เครื่องจักรที่ทันสมัยที่สุดจากเยอรมนีเข้ามาทำการ ผลิต และเริ่มรับวิศวกรที่มีความสามารถเข้ามาเริ่มทำการผลิต ด้วยเครื่องจักรอันทันสมัย ในเวลา 8 ปี ในปี 2531 ก็สามารถขยายโรงงานแห่งที่ 2 ด้วยเงินกองกลางของกิจการเอง

การผลิตแฟ้มภายใต้แบรนด์ที่สร้างขึ้นเอง ภายใต้หลักการดำเนินธุรกิจที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง นั่นคือ...จิตใจแบบ ปลาแซลมอน ช่วยให้ DHAS กำหนดชะตาการตลาดของตัวเองได้ ไม่ไหลไปตามกระแสธุรกิจภายนอก กิจการจึงโตเร็ว มิตรกล่าวว่า

"เรามีสภาพคล่องทางการเงินดีมาก ตอนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เราไม่มีวิกฤติด้านกระแสเงินสด แต่เรามีวิกฤติด้านการตลาด เพราะยอดขายตกมาก การค้าขายของเราจะสะท้อนภาวะที่แท้จริงของตลาดได้ เราจะไม่สร้างภาพของตลาดให้ใหญ่กว่าสภาวะที่แท้จริง ผมจะกลัวเรื่องนี้มาก เพราะเคยเจอปัญหาว่าถ้าลูกค้าซื้อไปเยอะ เพื่อเก็งกำไรอย่างช่วงลดค่าเงิน ก็เริ่มมีการเก็งกำไรกัน พอเก็งมากเข้า ทำให้เราบริหารงานลำบาก เพราะถ้าตอนนี้ขายได้เยอะแยะ แต่พออีก 3 เดือนต่อมาก็ไม่ต้องขายแล้ว แต่โรงงานก็ต้องปิดตาม ตรงนี้เรามีประสบการณ์ค่อนข้างเยอะ"

ความตระหนักในเรื่องการสร้างแบรนด์ของตัวเองยิ่งแจ่มชัดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2531 (ค.ศ.1988) เกิดเหตุการณ์ผู้ผลิต น้ำยาลบคำผิด ลิควิด เปเป้อร์ ที่อเมริกา เปลี่ยนตัวผู้ถือหุ้น และเปลี่ยนนโยบายไม่ต่อสัญญา แล้วหันมาทำตลาดเอง โดยมองเห็นว่าสามารถทำเงินได้เร็วจากการมีฐานตลาดที่ DHAS ทำไว้ให้แล้ว DHAS จึงเล็งเห็นความไม่แน่นอนในตัวสินค้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายทั้งหมด ประกอบกับเห็นแล้วว่า การทำแฟ้มเองสามารถพัฒนาไปได้ดีกว่า จึงปรับนโยบายหันมาผลิตสินค้าในแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งมีตามออกมาอีก 3 รายการ คือ ผลิตภัณฑ์แฟ้มและอุปกรณ์เครื่องเขียนในยี่ห้อ elfen สำหรับตลาดส่งออก และสี MASTER ART ในปี พ.ศ.2533 (ค.ศ.2000) และปากกา QuanTum ปลายปี 2547 (ค.ศ.2004) มิตรกล่าวว่า

"ตั้งแต่มี Globalization มา ฝรั่งเข้ามาเปิดบริษัทเองในประเทศไทย เช่น บริษัทที่เอาแบรนด์ลิควิด เปเป้อร์ของผมไปทำ และมีอีกหลายราย กรณีลิควิด เปเป้อร์ทำให้ผมคิดว่า...เราทำตลาดให้เขาเสร็จแล้ว อยู่ดีๆ เขาก็คว้าไปเฉยๆ แบบนี้ นี่เป็น Crisis ทางความคิด ผมเริ่มมองว่าฝรั่งให้ เราทำงานให้ พอเห็นรายได้ดีก็จะเอาไปทำเอง ไม่มีค่าชดเชยอะไรเลย ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าจะมีอีกกี่ตัวที่ผมจะโดน เพราะผมนำเข้าสินค้าทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้เราจึงเริ่มทุ่มเทสร้างแฟ้มตราช้างเป็นตราของเราเอง เดี๋ยวนี้เราจะสั่งอะไรเข้ามา...ของยุโรปก็แพง และเดี๋ยวนี้ยุโรปจะต้องให้เราทำตราของเขาเท่านั้น จะไม่ยอมรับตราสินค้าของเราเลย แต่ถ้าเราไปเมืองจีนเขาจะยอมรับทำ แต่ของเราเป็นแบบอย่างดี ดังนั้นจึงทำตราของเราเอง แล้วก็โปรโมตตราของเราเองดีกว่า"

ในโลกที่เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงมากขึ้นทุกที จนไม่สามารถทำนายได้ชัดเจน แม้ว่าจะมีคนนำเสนอสินค้าดียี่ห้อเด่นอย่างไรมาให้ DHAS ช่วยทำตลาด แต่วันนี้ปลาแซลมอนตัวโตกลับรู้สึกว่า...น้ำที่ว่ายวนอยู่เริ่มขุ่นข้น จึงเริ่มขยับตัวว่ายทวนขึ้นไปสู่กระแสต้นธาร ด้วยการเริ่มสร้างแบรนด์ที่ผลิตเอง แล้วทำการโปรโมตขยายตลาดขึ้นมาใหม่ และมุ่งขยายไลน์การส่งออกสินค้าไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก โดยค่อยลดบทบาทการเป็นธุรกิจ 'ตัวแทนจำหน่ายสินค้านำเข้า' สำหรับตลาดภายในประเทศไทย

One Step Ahead...แซลมอนว่ายทวนกระแส

DHAS ในยุคของมิตรก้าวหน้าอย่างทวีคูณ นั่นเป็นเพราะบทเรียนจากธุรกิจจริงที่มิตรและทีมงานได้เผชิญมา จนต้องตัดสินใจว่ายทวนน้ำหนีไปแสวงหาแอ่งน้ำที่ใสสะอาดกว่าอยู่เสมอ นับจากจุดที่ตัดสินใจทำโรงงานผลิตแฟ้มเองทำให้ธุรกิจก้าวหน้าเร็วและในช่วงนี้เองที่ลูกๆ ทั้ง 5 คน ของมิตร คือ ยิ่งศักดิ์ ยาซมิน โอภาส สุหฤท และดนุพล เริ่มเติบโต ทายาทในเจนเนอเรชั่นที่ 4 ของตระกูลสยามวาลา (แต่เป็นผู้บริหารงานในกิจการรุ่นที่ 5) เริ่มก้าวเข้ามามีบทบาทในธุรกิจของตระกูลทีละคน จนกระทั่งเมื่อมิตรสูงวัยขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดมิตรได้วางมือจากธุรกิจในปี พ.ศ.2540 (ค.ศ.1997) ยิ่งศักดิ์ สยามวาลา ได้ก้าวขึ้นมากุมบังเหียนกิจการในยุคที่มีความท้าทายใหม่ๆ ของโลกาภิวัตน์ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากรุ่นพ่อ ยิ่งศักดิ์เปิดเผยว่า

"บริษัทสยามวาลาในยุคแรกเปรียบเทียบกับในยุคนี้มีอะไรที่เหมือนกันบ้าง ก็ตอบได้ว่า...แทบจะไม่มีเลย ยกเว้น ...วัฒนธรรมองค์กร มีการดำเนินการบางอย่างในการทำธุรกิจ ซึ่งอันนั้นคือสายโซ่บางอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ และเป็นตัวเชื่อมโยงให้ดี เอช เอ สยามวาลา ที่ก่อตั้งในปี พ.ศ.2450 (ค.ศ.1907) พอมาถึงวันนี้ปี พ.ศ.2550 ให้กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะวิธีการทำการค้าคนละอย่าง หรือสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในยุคนั้นจนถึงยุคนี้ก็ไม่เหมือนกัน แต่เรามีสายโซ่อันเดียวเป็นเอกลักษณ์ทำให้เรายังเป็นบริษัทเดียวกันอยู่" (สายโซ่ดังกล่าวยกตัวอย่างเช่น ความตรงไปตรงมาในความสัมพันธ์ภายในองค์กร การยึดความสัตย์จริง ความโปร่งใสตรวจสอบได้ บัญชีเล่มเดียว ตลอดจนวัฒนธรรมของบุคลากรในองค์กร ที่มักเป็น family man, ไม่หมกมุ่นในอบายมุข มีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ ไม่ว่าในรูปศาสนาหรืออุดมคติ เป็นต้น)"

DHAS ในยุคนี้ยังคงชูธง 'One Step Ahead' โบกสะบัด...ประกาศท้าชิงเกมธุรกิจในเวทีโลก ด้วยจิตวิญญาณ...แซลมอนว่ายทวนกระแส...อย่างไม่เปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม DHAS ในวันนี้ก็ยังคงยึดถือคุณค่าในเรื่อง 'ความซื่อสัตย์' รูปแบบการบริหารงานก็ยังมีลักษณะมีผู้นำ 'ฝ่ายบู๊' ที่จะมีผู้ช่วยเหลือ 'ฝ่ายบุ๋น' คอยประกบในการทำงาน ไม่ได้มีลักษณะการทำงานแบบ One Man Show แต่อย่างใด โครงสร้างขององค์กรก็เรียบง่ายเป็นแนวนอนมากกว่าแนวตั้ง มีสายบริหารงานเป็นลำดับชั้นเท่าที่จำเป็น และคงลักษณะการอยู่ด้วยกันแบบครอบครัว ทำงานร่วมกันมายาวนาน ไม่มีการเปลี่ยนแปลงการบริหารและจำนวนพนักงานแบบก้าวกระโดด และยังคงดำเนินกิจการแบบ 'ไม่เสี่ยง' ในนโยบายด้านการเงิน การออม และการลงทุน และวางตำแหน่งสินค้าไว้ที่เดิมไม่เคยเปลี่ยนคือ...ขายของดีราคาไม่แพง แต่คงคุณภาพสม่ำเสมอสมราคา และเอื้อเฟื้อต่อซัปพลายเออร์แบบเสมอต้นเสมอปลาย แต่ 'กล้า' ที่จะท้าทายต่อความเปลี่ยนแปลงแบบคิดนอกกรอบ เพื่อแสวงหาแหล่งทำกำไรที่ดีกว่าอยู่เสมอ

หากคำกล่าวที่ว่า...แบรนด์ที่ดีต้องมีชาติกำเนิดดี หมายถึง...การสร้างสรรค์แบรนด์อย่างมีสาระแก่นสารสำหรับ DHAS ก็เป็นแบรนด์ที่ได้ผนวกรวมเอาคุณค่าของการตัดสินใจว่ายทวนน้ำผ่านกาลเวลามายาวนาน ฝ่าคลื่นลม ทางเศรษฐกิจหลายลูกคลื่นเคียงคู่มากับสังคมไทยเลยทีเดียว แต่ในด้านการสื่อสารการตลาดแล้ว แบรนด์ DHAS มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีแต่เฉพาะในแวดวงคู่ค้าเท่านั้น ด้วยวิธีการปฏิบัติตัวอย่างสม่ำเสมอมาตลอด แต่ไม่ได้มีการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์แบรนด์องค์กรควบคู่ไปกับแบรนด์ของสินค้าแต่อย่างใด ทำให้ผู้บริโภคไม่ค่อยรู้จักแบรนด์องค์กรมากนัก หากแต่รู้จักแบรนด์สินค้าจากการพยายามขยายตลาดที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็น Rotring, Cross, ชไนเนอร์, แฟ้ม ตราช้าง สี WINSOR & NEWTON, MASTER ART หรือปากกา QuanTum

ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะการดำเนินกิจการที่มีรากฐานมาจากการเป็นบริษัทตัวแทนจำหน่าย ที่มีภารกิจในการขยายตลาดสินค้าเป็นหลัก ซึ่งสะท้อนว่าได้วางตำแหน่งขององค์กร ในฐานะผู้ค้าในระดับต้นทางมากกว่าการสร้างความสัมพันธ์โดยตรงต่อผู้บริโภค

จะเห็นว่า DHAS ใช้เงินงบประมาณ 3.5% ของยอดขายทั้งหมดต่อปี เพื่อทำการโฆษณาแบรนด์สินค้ามาโดยตลอด แต่ระยะ 4-5 ปีหลังมานี้ได้เริ่มมีการนำสินค้าของบริษัทไปเปิดตัวในเทรดแฟร์ระดับโลก เช่น Paperworld ที่เยอรมนีอย่างต่อเนื่องมากว่า 3 ปี จนทำให้แบรนด์ขององค์กรเริ่มเป็นที่รู้จักบ้างแล้วในตลาดยุโรป ยิ่งศักดิ์มองว่ามูลค่าแบรนด์ของ DHAS อยู่ที่ว่า

"ถ้าถามว่าสยามวาลามีตัว Asset หรือ Brand Value อย่างไร จริงๆ แล้ว สยามวาลามีคนรู้จักกว้างขวางมากใน Stationery Community ในต่างประเทศ เช่น ประเทศย่านยุโรป ถ้าเอ่ยชื่อ 'ดีเอชเอ สยามวาลา' คนอยู่ในวงการเครื่องเขียนจะรู้จัก แต่ในเมืองไทย คำว่า 'ดี เอช เอ สยามวาลา' กลายเป็นที่รู้จักน้อยกว่าตัวยี่ห้อสินค้า อย่างไรก็ตาม เราก็มีเครดิตค่อนข้างดีเรื่องการซื้อการขาย เพราะมี Export ไปยัง 50 กว่าประเทศทั่วโลก เราพยายามหาตลาดอย่างต่อเนื่อง วันนี้เราเป็นผู้ผลิตแฟ้มชั้นแนวหน้า ที่คนในวงการจะรู้กันว่าถ้าต้องการของดีจริงๆ แต่ราคาย่อมเยาที่สุดต้องมาที่เมืองไทย เราพัฒนาคุณภาพสินค้าให้มีข้อแตกต่างและทำโฆษณามาตลอด การขายสินค้าของเรา เราพยายามที่จะ 'One Step Ahead' หรือก้าวไปข้างหน้าก่อนคนอื่นหนึ่งก้าวเสมอ" นี่คือปณิธานของยิ่งศักดิ์

วันชัย กาญจนบูรณ์ รองกรรมการผู้จัดการสายปฏิบัติ การ บริษัท ดีเอชเอ สยามวาลา จำกัด ได้เล่าให้ฟังว่า

"ในบทบาทตลาดโลก เราประกาศตัวเลยว่า เราเป็น File Maker ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย โดยเราจะใช้แบรนด์สองตัวบุกตลาดต่างประเทศ คือ แบรนด์ตราช้าง (Elephant Brand) กับแบรนด์ elfen ตราช้างจะจำกัดอยู่เฉพาะตลาดอาเซียนและศรีลังกา บังกลาเทศ และตลาดเพื่อนบ้าน ที่มีวัฒนธรรมใกล้เคียงเราและยอมรับตราช้างได้ นอกเหนือจากนี้ เราต้องใช้แบรนด์ elfen เป็นอักษรภาษาอังกฤษ

ส่วนอีกสองแบรนด์คือ QuanTum และ MASTER ART ก็จะขายร่วมกันโดยเราจะวางตลาดในอินโดจีน เช่น ลาว เขมร เวียดนาม พม่า เป็นหลัก ซึ่งเราขายสมุด ปากกา ดินสอ ได้เพราะการยอมรับในคุณภาพสินค้า ทำให้เราขายได้ด้วย brand power ที่เกิดจากประเทศไทย"

วันชัย plot เป้าหมายของการส่งออก ซึ่งมีแฟ้มเป็น flagship ของ DHAS ในอีก 3 ปีข้างหน้าอาจจะโตเป็น 2-3 เท่าจากปัจจุบันหรือครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมด

ปีที่แล้วบริษัทมียอดส่งออก 50 กว่าประเทศ ยอดขายประมาณ 15% ของ 2,000 ล้านบาท และปีนี้ได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะมียอดขายโดยรวม 2,200 ล้านบาท โดยการส่งออกจะโตขึ้น 20% โดยมุ่งตลาดยุโรปและอเมริกา ในลักษณะเซลส์ แวร์เฮาส์ และเข้าไปตั้งฐานการผลิตในประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทย ขนย้ายได้สะดวก เช่น ในอินเดีย จีน

จะเห็นว่านับตั้งแต่ DHAS เริ่มทำการส่งออกเมื่อปี ปี พ.ศ.2537 (ค.ศ.1994) ตลาดที่คาดว่าน่าจะพอเติบโตได้ภายใต้แบรนด์ของตัวเอง คือตลาดเอเชียและแอฟริกา แต่ถ้าเป็นการทำ OEM ภายใต้แบรนด์อื่นจะเป็นตลาดประเทศแถบยุโรป

แม้ว่าการสร้างแบรนด์ของตัวเองในตลาดโลก จะเป็นเพียงก้าวแรกของจิตวิญญาณ 'ปลาแซลมอน' อย่าง 'ดีเอชเอ สยามวาลา' ในกระแสน้ำใหม่ แต่ก็คงไม่สายเกินไปที่จะบอกว่า...ขีดความสามารถที่พยายามพัฒนาให้มีขึ้นโดยตัวเองนี้ จะกลายเป็น 'นาวาลำใหม่' พาคนทั้งหมดฟ่าคลื่นลมโลกาภิวัตน์ได้...เหมือนทุกครั้งที่ต้องเผชิญกับความวิกฤติในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา!!!


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.