อนุพงษ์ หมายเลข 1 ไม่ใช่อนันต์ หมายเลข 2

โดย สมเกียรติ บุญศิริ
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

อนุพงษ์ อัศวโภคิน กระโดดออกมาทำอสังหาริมทรัพย์ด้วยตัวเอง ทั้งๆ ที่พี่ชายของเขา อนันต์ อัศวโภคิน ก่อร่างสร้างบริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จนแข็งแกร่ง ถ้าเขาเลือกเดินเข้าไปที่แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ตำแหน่งหน้าที่การงานก็คงไม่ต่ำต้อยนัก หากพิจารณาจากวุฒิการศึกษาที่เรียน และประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา แต่เขาเลือกออกมาทำ เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ กับพิเชษฐ วิภวศุภกร

โครงการเปิดตัวบริษัทก็คือ ปทุมวัน รีสอร์ท ย่านถนนศรีอยุธยา ด้วยการประมูลซื้อโรงภาพยนตร์ที่ปิดกิจการ มาทำคอนโดมิเนียม 2 อาคาร พื้นที่ใช้สอยเริ่มต้น 49 ตารางเมตร ราคาไม่ถึง 1 ล้านบาท ถือว่าเขาใจกล้าไม่น้อย เพราะในบริเวณเดียวกัน เขาต้องเจอคู่แข่งอย่างบ้านปทุมวันของบริษัทควอลิตี้ เฮ้าส์ โนเบิล พญาไท ของกลุ่มโนเบิล และโครงการคอนโดมิเนียมของต่อตระกูล ยมนาค

โครงการแรกผ่านพ้นไปด้วยดี อนุพงษ์สอบผ่านในการเข้าสู่อาชีพนักพัฒนาที่ดิน

โครงการต่อมาของบริษัท เขาเลือกทำทาวน์เฮาส์ตามกระแสนิยมของตลาดในช่วงนั้น โดยต้นแบบมาจากแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ที่ทำทาวน์เฮาส์ในโครงการบ้านปาริชาติ บ้านบุศรินทร์ ออกมาขาย อนุพงษ์ก็ขอทำบ้างเช่นกัน

คงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธได้ยาก ในการเลือกเดินตามบริษัทใหญ่อย่างแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพราะช่วงนั้น ถึงไม่ใช่อนุพงษ์ก็ยังทำตามแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์

จากนั้นเอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ก็พยายามหาจุดขายของตัวเอง พร้อมๆ กับการก้าวออกมาจากเงาของแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ที่เขายอมรับว่าช่วงเริ่มต้น ลอกแบบแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มาทั้งหมด

แม้แต่การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็ยังเป็นการเข้าควบรวมกิจการกับบริษัทพื้นสำเร็จรูป พีซีเอ็ม ที่มีแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ถือหุ้นใหญ่

อนุพงษ์กับบริษัทผ่านการลองผิดลองถูกมาหลายครั้ง ผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่มาได้ แม้จะทุลักทุเลบ้างก็ถือว่าเป็นการสร้างความแข็งแกร่ง และรากฐานที่มั่นคง จนมาถึงจุดลงตัวซึ่งเป็นจุดแข็งของบริษัท นั่นก็คือ ทาวน์เฮาส์

รูปแบบทาวน์เฮาส์ของอนุพงษ์ใช้การออกแบบให้แตกต่าง ทำเลที่น่าสนใจโดยประเดิมแนวคิดใหม่ในโครงการบ้านกลางกรุง ทองหล่อ ราคาเริ่มต้น 9.9 ล้านบาท ซึ่งกลายเป็นแรงระเบิดที่ทำให้บริษัทจับทิศทางและแนวทางของตัวเองได้ จากนั้นเป็นต้นมาบ้านกลางกรุงก็แตกขยายออกไปในหลายทำเล ตามด้วยบ้านกลางเมือง แล้วก็ตบท้ายด้วยโครงการบุกเบิกอย่างคอนโดมิเนียม

อนุพงษ์บอกว่า จากวันแรกที่เริ่มทำโครงการจนถึงวันนี้เปลี่ยนไปมาก ตอนนั้นยังเป็นแค่เด็กหนุ่ม ตอนนี้เป็นผู้ใหญ่ขึ้น มีมุมมองต่อตลาดภายในและภายนอกที่เติบโตขึ้นมาก มีวัฒนธรรมองค์กรของตัวเอง

"เราเติบโตแบบเอพี ไม่ไช่โตแบบแลนด์ แอนด์ เฮาส์ ถ้าทุกวันนี้ผมเอารูปแบบของแลนด์ฯ มาใช้ เราคงเจ๊งไปแล้ว"

นั่นคือความรู้สึกเมื่อก้าวพ้นเงาบริษัทยักษ์ของพี่ชาย

การทำโครงการของอนุพงษ์จะละเอียดรอบคอบ มีข้อมูลหนักแน่นรองรับ แต่ที่น่าสนใจก็คือ ลีลาด้านการตลาด เขาทำให้ทาวน์เฮาส์ราคาเกือบ 10 ล้านบาท เป็นที่สนใจมากกว่าบ้านเดี่ยว และในช่วงที่เริ่มสร้างแบนด์ "AP" ให้เป็นที่รู้จัก เขาเลือกเปิดโครงการบ้านกลางกรุงย่านถนนพระราม 4 ด้วยแคมเปญแกะกล่องของขวัญขนาดยักษ์ให้ทุกคนฮือฮา

โครงการใหม่ของเขาถูกห่อเหมือนกล่องของขวัญ แต่เวลาเปิดกล่องของขวัญใช้เฮลิคอปเตอร์บินขึ้นไปเปิด แคมเปญนี้แรงแค่ไหนไม่ทราบ รู้เพียงแต่ว่าออกข่าวเกือบทุกช่องลงหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ แค่นี้ก็เกินพอแล้วกับการเปิดโครงการใหม่

"แคมเปญนี้ทำให้โครงการใหม่ มีคนโทรศัพท์เข้ามาสอบถามกว่า 3,000 สาย มีคนเข้ามาดูโครงการกว่า 1,000 คน แต่เชื่อไหมครับว่ายอดขายวันแรกได้แค่ 6 ยูนิต" อนุพงษ์เล่าให้ฟังถึงความผิดพลาดของเขาที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก

สิ่งที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ก็คือ ทางเข้าของโครงการมีปัญหา เพราะต้องเข้าจากซอยประดู่ที่คับแคบ คนที่สนใจพอมาเห็นถนนต่างก็เปลี่ยนใจ ทั้งๆ ที่ประเมินก่อนทำโครงการแล้วว่า ทำเลนี้ โครงการนี้ไปได้ ยิ่งมียอดโทรศัพท์เข้ามาสอบถามมากมายขนาดนี้ ถึงกับมีคนยุอนุพงษ์ให้ซื้อที่ดินเพิ่ม ขยายเฟสเลยก็มี

เขาเล่าว่า เมื่อเห็นยอดขายแบบนี้ก็เลยต้องมาหาสาเหตุ ก็พบว่ามาจากทางเข้าที่เล็กเกินไป ก็เลยต้องลงทุนซื้อที่ดินด้านหลังเพิ่ม เพื่อทำเป็นทางออกอีกทางหนึ่ง พร้อมกับปรับขนาดของบ้านให้หน้าแคบกว่าเดิม ลดราคาลงมาอีกหน่อย เท่านี้ก็ปิดโครงการกลับมามีความสุขอีกครั้ง

ที่พักอาศัยประเภททาวน์เฮาส์ มีการปลูกสร้างกันมาอย่างต่อเนื่อง และเรียกกันติดปากกันมายาวนาน ก็ไม่มีใครสนใจที่จะคิดปรับเปลี่ยน แต่วิธีคิดของอนุพงษ์เกี่ยวกับทาวน์เฮาส์แตกต่างออกไป เขาเลือกที่จะไม่เรียกที่พักอาศัยประเภทนี้ว่าเป็นทาวน์เฮาส์ แต่จะเรียกว่า "บ้าน" ในการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์

ความแตกต่างไม่ได้แค่ชื่อเรียกอย่างเดียว การออกแบบ ประโยชน์ใช้สอย ระเบียบข้อบังคับในการอยู่อาศัยก็ปรับใหม่ ทำให้คนที่เคยมองทาวน์เฮาส์ว่า ไม่น่าอยู่ต้องกลับมาคิดใหม่ รวมกับการใช้เครื่องมือทางการตลาดมาสร้างสีสัน ด้วยการตั้งชื่อแต่ละโครงการให้โดนใจลูกค้า อย่างเช่น บ้านกลางเมือง Notting Hill ศรีนครินทร์, บ้านกลางเมือง Grand de Paris รัชดา และอีกหลายโครงการที่ใช้ชื่อเมืองดังๆ ในยุโรป มาเป็นชื่อโครงการ ทำให้กลุ่มลูกค้าชัดเจนขึ้น

ว่ากันว่า หากมีการเรียกเก็บลิขสิทธิ์ชื่อเมืองล่ะก็ อนุพงษ์และบริษัทต้องจ่ายเงินปีละหลายล้านบาทแน่นอน

แม้แต่โครงการประเภทตึกแถว หากเรียกให้สวยหรูขึ้นมาก็อาคารพาณิชย์ บริษัทนี้ก็ทำเหมือนกัน แต่เป็นตึกแถวยุคพัฒนา มีจัดเป็นกลุ่ม พร้อมกับตั้งชื่อให้สวยหรูว่า บ้านกลางกรุง Office Park สุขุมวิท-บางนา แค่นี้ตึกแถวก็กลายเป็นอาคารสำนักงานทันสมัยขึ้นมาได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.