|
แบงก์เล็งลดดอกฝากอีกระลอกคาดกนง.ขยับ'อาร์พี'0.25-0.50%
ผู้จัดการรายวัน(27 กุมภาพันธ์ 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์ลุ้นกนง.ลดดอกเบี้ยอาร์พีต่ออีก 0.25-0.50% ระบุปัจจัยหลักแนวโน้มเศรษฐกิจส่อแววซบยาว และหวังผลเพิ่มส่วนต่างดอกเบี้ย-คุมเงินไหลเข้า-พยุงค่าบาท ขณะที่แนวโน้มดอกเบี้ยเงินฝากแบงก์ขยับลงต่อ ล่าสุด"ไทยพาณิชย์"ปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากประจำอีก 0.25-0.50% แต่ยังลังเลลดดอกเบี้ยกู้ อ้างรอดูทิศทางอีกระยะ
นายระเฑียร ศรีมงคล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายขณะนี้ยังคงปรับลดลงต่อเนื่อง โดยในการประชุมกนง.ครั้งนี้ก็คงเป็นอย่างที่หลายๆคนคาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลงในระดับ 0.25-0.50% ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไปว่ากนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งระดับที่สูงหรือต่ำแต่จะลดลงมากหรือน้อยขนาดไหน เป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป
"เท่าที่ประเมินดูแบงก์ชาติน่าจะยังลดดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปคือ 0.25% แต่ถ้าจะละ 0.50%ก็ไม่ผิดมีเหตุที่จะทำได้ทั้ง 2 อัตรา แต่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ นอกจากปัจจัยในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยจะน่าลดความสำคัญลง ขณะที่ปัจจัยด้านการควบคุม Capital Inflow จะเข้ามาเป็นปัจจัยที่มีบทบาทมากขึ้น ซึ่งตรงนี้จะส่งผลเกี่ยวเนื่องกับค่าเงินบาทด้วย"นายระเฑียรกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธนาคารนครหลวงไทยนั้น ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำลงอีกร้อยละ 0.25 เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน โดยเป็นการปรับลดลงตามภาวะตลาดซึ่งเป็นทิศทางดอกเบี้ยขาลง ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นั้น คงต้องรอดูทิศทางของตลาดก่อน เนื่องจากธนาคารไม่มีนโยบายที่จะเป็นผู้นำในการปรับลดดอกเบี้ย
"การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์นั้นจะปรับลดตามทิศทางตลาดเป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ก็เริ่มมีการปรับลดดอกเบี้ยลงมาแล้ว ส่วนเราก็ปรับลดลงแล้ว และหากตลาดมีการปรับลดลงอีก เราก็ต้องปรับลดลงอีก ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นเป็นไกด์ไลน์ของทิศทางดอกเบี้ย"ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารนครหลวงไทยกล่าว
ด้านนายตรรก บุนนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบริหารเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ในวันที่ 28 ก.พ.นี้เชื่อว่า กนง.จะมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (อาร์พี 1 วัน) ลงอีก 0.25% มาอยู่ที่ 4.50% จากเดิมที่ 4.75% โดยการปรับลดดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ธปท.ส่งสัญญาณปรับลดมาตั้งแต่ครั้งที่แล้ว ประกอบกับที่ผ่านมา ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ส่งสัญญาณชัดเจนให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเพื่อช่วยพยุงค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากจนเกินไป อย่างไรก็ตามทั้งปีมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับลดดลงมาอยู่ที่ 4.00%
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาจะเห็นว่าธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเริ่มทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำลงเนื่องจากเพื่อเป็นการรักษาสภาพคล่อง รวมถึงกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อ โดยในส่วนของธนาคารคงต้องมีการปรับลดลงเช่นกันเพื่อให้สอดคล้องกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ส่วนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นั้นขณะนี้ยังไม่มีนโยบายพิจารณาปรับ โดยจะต้องรอการการประชุมคณะกรรมการธนาคารสัปดาห์นี้ก่อนว่าจะมีนโยบายออกมาอย่างไร
รายงานข่าวจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า ธนาคารได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป ลงร้อยละ 0.25-0.50 มีผลตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งจากการปรับลดดังกล่าวทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือนของธนาคารปรับเป็นร้อยละ 3.25-4.25 จากเดิมร้อยละ 3.50-4.25 เงินฝากประจำ 6 เดือน ปรับเป็นร้อยละ 3.50-4.00 จากเดิมร้อยละ 3.75-4.50 เงินฝากประจำ 12 เดือน ปรับเป็นร้อยละ 3.50-4.00 จากเดิมร้อยละ 3.75-4.50 และเงินฝากประจำ 24 และ 36 เดือน ปรับเหลือร้อยละ 4.00 จากเดิมร้อยละ 4.25 ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารยังไม่เปลี่ยนแปลง โดยดอกเบี้ย MLR อยู่ที่ร้อยละ 7.75 อัตราดอกเบี้ย MOR อยู่ที่ร้อยละ 8.00 และ MRR อยู่ที่ร้อยละ 8.2
TMBประสานเสียงกนง.ลดดอกเบี้ย0.25%
ฝ่ายวิจัย ธนาคารทหารไทยคาดการณ์ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ โดยคาดว่า กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องอีกร้อยละ 0.25 โดยปัจจัยสนับสนุนในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้มาจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อผ่อนคลายลง ซึ่งคาดว่าในไตรมาสแรกของปี 2550 อัตราเงินเฟ้อน่าจะชะลอลงอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลจากการปรับลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก ทำให้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยดำเนินไปได้โดยไม่ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นลบ ขณะที่ความเสี่ยงด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจมีมากขึ้น ซึ่งสะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนธันวาคม 2549 ขยายตัวในเกณฑ์ต่ำต่อเนื่อง จากการผลิตและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตามอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัว
และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯมีแนวโน้มทรงตัวต่อไปอีกระยะหนึ่ง จากการที่อัตราเงินเฟ้อที่ยังไม่ลดลงสู่ระดับที่น่าพอใจ และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯยังบ่งชี้ถึงการเติบโตทั้งด้านการผลิตและการบริโภค รวมถึงตลาดแรงงานยังคงเติบโตค่อนข้างดี แม้ว่าภาคอสังหาริมทรัพย์จะมีสัญญาณชะลอลงมากก็ตาม ดังนั้น เป็นไปได้ที่ FED ยังตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 5.25 ต่อไปอย่างน้อยที่สุดในครึ่งแรกของปี 2550 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเริ่มปรับลดลงตั้งแต่ต้นปี ทำให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯเพิ่มขึ้น นำไปสู่การลดแรงจูงใจของเงินทุนไหลเข้า และชะลอการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท ซึ่งเป็นผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นสนับสนุนให้กนง.สามารถดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายได้อย่างต่อเนื่องในการประชุมครั้งที่ 2 ของปี โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจากร้อยละ 4.75 สู่ระดับร้อยละ 4.50 และเชื่อว่ามีโอกาสปรับลดลงได้อีกร้อยละ 0.25-0.50 เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศที่ชะลอลงมาก ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับร้อยละ 4.0-4.25 ณ สิ้นปี
สำหรับอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ คาดว่าจะมีทิศทางเดียวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์ได้ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงร้อยละ 0.25-0.50 ตามความเหมาะสมและสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง แต่ยังไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อย่างไรก็ดี หากมีสัญญาณว่าอุปสงค์ภายในประเทศเริ่มขยายตัว โดยเฉพาะด้านการลงทุน เพราะในปี 2549 พบว่าหลายอุตสาหกรรมมีการผลิตเต็มกำลังการผลิตแล้ว แต่สินเชื่อกลับชะลอตัวเพราะผู้ประกอบการยังไม่มั่นใจในสถานการณ์เศรษฐกิจว่าจะสามารถรองรับการลงทุนใหม่ได้หรือไม่ โดยฐานสินเชื่อในเดือนมกราคม 2550 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 1.2 ทั้งนี้ในไตรมาสแรกของปี 2550 คาดว่าสินเชื่อจะยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยแวดล้อมด้านเศรษฐกิจและการเมืองที่ไม่เอื้ออำนวย และมีแนวโน้มที่ความต้องการสินเชื่อจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง หากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจดีขึ้นและสามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนและผู้บริโภค ซึ่งก็คาดว่า ธนาคารพาณิชย์จะทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงได้ เพื่อกระตุ้นการเติบโตของสินเชื่อ
BBLคาดจีดีพีไตรมาส4ชะลอต่อเนื่องโตแค่4.3%
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) คาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2549 จะขยายตัวร้อยละ 4.3 ชะลอลงจากร้อยละ 4.7 ในไตรมาสที่ 3 เนื่องจากอุปสงค์ของภาคเอกชนภายในประเทศที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัวต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา ประกอบกับการใช้จ่ายของรัฐบาลที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากการจัดทำงบประมาณของปีงบประมาณ 2550 มีความล่าช้า เป็นปัจจัยที่ฉุดการขยายตัวของเศรษฐกิจให้ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม การส่งออกที่แข็งแกร่งเกินคาดเป็นปัจจัยที่ช่วยค้ำจุนให้เศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ โดยรวมแล้วตลอดทั้งปี 2549 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ในอัตราร้อยละ 5
ทั้งนี้ จากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 แสดงให้เห็นว่าอุปสงค์ของภาคเอกชน ทั้งการบริโภคและการลงทุนยังคงอยู่ในภาวะซบเซาอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีการบริโภคภาคเอกชนและดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในอัตราต่ำเพียงร้อยละ 1.2 ซึ่งเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับในช่วง 3 ไตรมาสแรก ขณะที่ ในส่วนของการใช้จ่ายของรัฐบาลก็ไม่ได้ช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัว เนื่องจากการจัดทำงบประมาณของปี 2550 มีความล่าช้าเป็นเหตุให้ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2550 (หรือไตรมาสสุดท้ายของปี 2549) รัฐบาลต้องเบิกจ่ายเงินงบประมาณตามวงเงินของปีงบประมาณ 2549 ทำให้ยังไม่สามารถลงทุนในโครงการใหม่ๆ ได้ ส่งผลให้การใช้จ่ายของรัฐบาลหดตัวลงจากในระยะเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 17.4 แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลกลับสามารถจัดเก็บรายได้ได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 16 ซึ่งหมายความว่าการใช้จ่ายของรัฐบาลโดยสุทธิเป็นปัจจัยที่ฉุดให้การขยายตัวของเศรษฐกิจลดลงในไตรมาสสุดท้ายของปี 2549
ชี้ส่งออกตัวช่วยหลักพยุงเศรษฐกิจปี 49
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหลักเพียงปัจจัยเดียวที่ช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 (และตลอดทั้งปี 2549) ก็คือการการส่งออกสุทธิ เนื่องจากมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 19.7 (ร้อยละ 6.7 ในรูปของเงินบาท) เร่งตัวขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 16.3 ในไตรมาสก่อน ในขณะเดียวกันมูลค่าการนำเข้าขยายตัวเพียงร้อยละ 7.2 (หดตัวร้อยละ 4.4 ในรูปของเงินบาท) ชะลอลงจากร้อยละ 12.2 ในไตรมาสก่อน ด้วยเหตุนี้ การส่งออกสุทธิจึงเป็นส่วนสำคัญที่สนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งนอกจากจะช่วยชดเชยการชะลอตัวของอุปสงค์ของภาคเอกชนภายในประเทศแล้ว ยังเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตสูงกว่าที่คาดอีกด้วย
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) น่าจะมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันลงอีกในการประชุมครั้งที่ 2 ของปีในวันที่ 28 ก.พ.นี้ ซึ่งคาดว่า กนง.คงจะปรับอัตราดอกเบี้ยลดลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 0.25และอาจปรับลดได้ถึงร้อยละ 0.50 ถ้า กนง.ให้น้ำหนักในการกระตุ้นเศรษฐกิจมาก เนื่องจากสัญญาณทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะให้ภาพในเชิงลบมากขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|