|
'บุญคลี'หนี-ไอทีวีระส่ำ
ผู้จัดการรายวัน(27 กุมภาพันธ์ 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
“อวสาน ทีวีของไอ” สปน.ชง ครม.ยกร่างสัญญาไอทีวีฉบับใหม่ พร้อมเปิดทาง อสมท ยึด จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ทำใบอนุญาตตาม มาตรา 80 ของพ.ร.บ.ร่วมทุน "หม่อมอุ๋ย" เผย ครม.เตรียมตัดสินทางออกวันนี้ ด้าน "ไอทีวี" ซ้ำหนักงวดปี 49 ขาดทุนเกือบ 1.8 พันล้าน ตลาดหลักทรัพย์สั่งห้ามซื้อขายหลังที่ปรึกษาไม่แสดงความเห็นต่องบฯ เหตุงบการเงินอาจไม่แสดงค่าที่แท้จริงของกิจการได้ "บุญคลี" กุนซืออดีตนายกฯ ชิงลาออกจากประธานบอร์ด
วานนี้ (26 ก.พ.) นายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เข้าพบพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีเพื่อรายงานข้อกฎหมายที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 27 ก.พ. นี้เพื่อรองรับการดำเนินการต่อหากบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ไม่สามารถชำระค่าสัมปทานและค่าปรับกว่า 1 แสนล้านบาทได้ในตามกำหนดเดิมในวันที่ 6 มี.ค.นี้ โดยได้นำ 5 ข้อเสนอของทางไอทีวี รายงานต่อนายกรัฐมนตรี
นายจุลยุทธ กล่าวว่า ผู้บริหารไอทีวีได้ยอมรับผลหากมติครม.ออกมาเช่นใด และรัฐบาลก็ยืนยันว่า พนักงานไอทีวีและผังการออกอากาศของรายการใหม่ของไอทีวี จะสามารถดำเนินการต่อเนื่องไปได้ อย่างไรก็ตาม สปน. จะยกร่างข้อสัญญาเพื่อเป็นสัญญาฉบับใหม่เพื่อเสนอครม. เพื่อให้หน่วยงานที่อยู่ในกำกับของ สปน. เช่น อสมท. หรือ กรมประชาสัมพันธ์มาดำเนินการเพื่อดำเนินการต่อไปได้หรือไม่
นายจุลยุทธ กล่าวอีกว่า มีความเป็นไปได้ว่า สปน.จะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยร่างสัญญาขึ้นมาใหม่เพื่อรองรับพนักงานให้มีความมั่นคงและผังรายการใหม่จะสามารถดำเนินการได้ ส่วนอนาคตก็เป็นอีกเรื่องที่จะมีการแก้ไขกฎหมาย 2 ฉบับ กรณีการรวมกฎหมายของ กสช. และกทช. เข้าด้วยกัน อย่างไรก็ตามกระบวนการต่อไปก็จะมีการดำเนินการตามพ.ร.บ.ล้มละลาย
รายงานข่าวแจ้งว่า ในที่ประชุมปลัดฯสปน. ได้หารือกับทีมเลขานุการ และอัยการสูงสุด โดยพูดถึงกระบวนการกฎหมายหลังบอกเลิกสัญญา โดยจะต้องมีการฟ้องล้มละลาย และให้แผนฟื้นฟูกิจการเข้าไปดำเนินการ นอกจากนี้ยังมีการหารือว่าจะให้ยกร่างข้อสัญญา โดยเมื่อบอกเลิกสัญญาแล้ว ให้ อสมท. เข้ามาดำเนินกิจการ ทั้งนี้ยังจะต้องออกใบอนุญาต มาตรา 80 ของพ.ร.บ.ร่วมทุน
**นำเข้า ครม.ชี้ขาดวันนี้
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เปิดเผยว่า วันนี้ (27 ก.พ.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะตัดสินใจเลือก 1 ใน 5 ทางเลือกที่กลุ่มพนักงาน บมจ.ไอทีวี ได้เสนอให้กับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ซึ่งครม.จะยึดหลักในการตัดสินใจ 2 ประเด็นคือ 1.พนักงานของไอทีวีทุกคนจะต้องไม่ตกงาน ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดเนื่องจากพนักงานของไอทีวีไม่มีความผิดและไม่รู้เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นการดำเนินการของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และ 2.รายการต่างๆ ของไอทีวีที่มีอยู่ก็ให้คงอยู่ต่อไปตามเดิม
“ในการประชุมครม.จะให้ปลัด สปน.ชี้แจงรายละเอียดต่างๆ ทั้งข้อดีข้อเสียที่พนักงานไอทีวีเสนอมา ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาก็มีอยู่หลายทาง หาถึงเวลาครบกำหนดจ่ายค่าสัมปทานในวันที่ 6 มีนาคม และไอทีวียังไม่จ่ายค่าสัมปทาน ครม.คงต้องตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่งเพื่อแก้ไขปัญหาไอทีวีแน่นอน” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว
สำหรับแนวทางทั้ง 5 แนวทางที่พนักงานไอทีวีเสนอให้กับ สปน.ประกอบไปด้วย แนวทางที่ 1 บริษัทขอเสนอให้แปลงหนี้ค่าสัมปทานส่วนต่างดังกล่าวเป็นทุน โดยบริษัทชำระด้วยการออกหุ้นใหม่ 1,500 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 1 บาท และจ่ายเป็นเงินสดอีก 710 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ สปน.เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในอัตรา 55.4% ของหุ้นทั้งหมดที่ชำระแล้ว แนวทางนี้ภาระหนี้สิน 2,210 ล้านบาทจะหมดไป การดำเนินงานของบริษัทในอนาคตก็จะมีความมั่นคงยิ่งขึ้น
แนวทางที่ 2 ได้มีบริษัทเอกชนไทยบางกลุ่มสนใจขอเข้ามาถือหุ้นบริษัท ไอทีวีฯ โดยจะขอซื้อหุ้นของบริษัทที่บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่นฯ ถือไว้ทั้งหมด แนวทางที่ 3 เสนอให้หน่วยงานของรัฐบาลรับซื้อหุ้นของบริษัท ไอทีวีฯ จาก บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่นฯ ทั้งหมด ซึ่งถืออยู่ 52.9% ของหุ้นทั้งหมดที่ชำระแล้ว หรือ 638 ล้านหุ้น กรณีนี้รัฐบาลต้องจัดหางบประมาณจำนวนหนึ่งสำหรับการเข้าซื้อหุ้นและการดำเนินกิจการต่อจากนี้
แนวทางที่ 4 บริษัทขอจ่ายค่าสัมปทานส่วนต่างบางส่วนก่อน 1,000 ล้านบาท ที่เหลืออีก 1,210 ล้านบาท บริษัทขอผ่อนชำระภายใน 5 ปี โดยบริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำรายละเอียดประกอบ แนวทางข้อเสนอนี้ให้ สปน.พิจารณา และแนวทางสุดท้าย ในอนาคตหากมีเหตุการณ์หรือปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ไอทีวี ไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ภายในเวลาที่ สปน.กำหนด สปน.มีสิทธิบอกเลิกสัญญา เข้าร่วมงานได้
**ไอทีวีบักโกรกขาดทุนยับ 1.7 พันล.
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ITV แจ้งผลการดำเนินงานของบริษัทงวดปี 49 บริษัทขาดทุนสุทธิ 1,783 ล้านบาท หรือขาดทุน 1.48 บาทต่อหุ้น ลดลง 2,461.80 ล้านบาท หรือ 362.5% จากงวดปีกันในปีที่ผ่านมาที่มีกำไรอยู่ที่ 679 ล้านบาท
ทั้งนี้ รายได้รวมในปี 49 อยู่ที่ 2,159 ล้านบาท ลดลง 185 ล้านบาท หรือ 7.9% จากปี 48 เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ รวมทั้งปัจจัยทางการเมืองที่ยังไม่มีความชัดเจน และภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ขณะที่ค่าสัมปทาน จำนวน 2,506 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมากจากปีก่อนที่มีจำนวน 230 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทฯ ได้บันทึกค่าสัมปทานส่วนต่างตั้งแต่ ปี 47 ถึงปี 49 และค่าดอกเบี้ยของค่าสัมปทานส่วนต่าง ในอัตรา 15% ต่อปี
อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการหาแหล่งเงินทุนของบริษัทฯ ในการชำระค่าสัมปทานส่วนต่างจำนวน 2,210 ล้านบาท และค่าดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของค่าสัมปทานส่วนต่าง รวมทั้งค่าปรับในกรณีที่บริษัทดำเนินการเรื่องผังรายการไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญาเข้าร่วมงานฯ จำนวน 97,760 ล้านบาท จากความไม่แน่นอนของแหล่งเงินทุนและผลของข้อพิพาทดังกล่าวมีสาระสำคัญอย่างมากต่อการดำเนินงาน และฐานะการเงินของบริษัท ดังนั้น บริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด ซึ่งเป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ จึงไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินของบริษัทฯ สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2549
นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวอีกว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทอนุมัติการลาออกของนายบุญคลี ปลั่งศิริ จากตำแหน่งประธานกรรมการ และ นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ จากตำแหน่งกรรมการและกรรมการตรวจสอบ พร้อมแต่งตั้งให้ นายอนันต์ ลี้ตระกูล เป็น ประธานกรรมการบริษัทและประธานกรรมการตรวจสอบ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2550 เป็นต้นไป
“นายบุญคลี ปลั่งศิริ ประธานกรรมการฯและนายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ กรรมผู้ตรวจสอบ ได้ขอลาออกจากคณะกรรมการบอร์ดไอทีวี โดยระบุการลาออกว่ามีภารกิจอื่นที่จำเป็น” นายนิวัฒน์ธำรงกล่าว
ส่วนที่ตลาดหลักทรัพย์ประกาศห้ามซื้อขายหุ้นในภาคบ่ายวันเดียวกันนั้น ตนเห็นว่า หากจะมีผลกระทบกับไอทีวีอย่างไร ตนก็ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร คือเมื่อผู้ตรวจสอบบัญชีส่งงบไปว่าไม่มีความเห็นก็เป็นเรื่องของกฎของตลาดที่เขาก็มีสิทธิที่จะแขวนป้ายการซื้อขาย นอกจากนี้ในส่วนของกระแสข่าวที่ตระกูลมาลีนนท์สนใจหุ้นทีวีนั้น นายนิวัฒน์ธำรง ระบุสั้นๆว่า “ไม่ทราบ ไม่มีใครติดต่อมาที่ผม”
ก่อนหน้านี้ผู้บริหารของ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารช่อง 3 กล่าวว่า มีความสนใจทำธุรกิจทีวีทุกรูปแบบทั้ง ทีวีดาวเทียม หรือฟรีทีวี ส่วนการที่จะเข้าไปบริหารช่องไหนนั้นต้องดูถึงความเหมาะสมด้วยว่า เป็นอย่างไร หากมีหนี้สินมากก็ไม่เหมาะสมที่จะเข้าไปลงทุน
**ตลท.แขวน SP หุ้น ITV
ด้านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยขึ้นเครื่องหมาย SP (Suspension) เพื่อห้ามการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ของ ITV ตั้งแต่การซื้อขายรอบบ่ายของวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2550 เพื่อให้ผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนทั่วไปมีเวลาในการพิจารณารายงานของผู้สอบบัญชีประกอบกับตัวเลขในงบการเงิน
และหมายเหตุประกอบงบการเงินอย่างระมัดระวัง โดยจะอนุญาตให้ซื้อขายหลักทรัพย์ของ ITV ต่อไป พร้อมกับการขึ้นเครื่องหมาย NP (Notice Pending) ตั้งแต่การซื้อขายรอบเช้าวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2550 เป็นต้นไปจนกว่า ITV จะนำส่งงบการเงินฉบับแก้ไข หรือจนกว่าจะได้ข้อสรุปว่าITV ไม่ต้องแก้ไขงบการเงินดังกล่าว
ทั้งนี้ เนื่องจากงบการเงินสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2549 ฉบับที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีมายังตลาดหลักทรัพย์โดยผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินของบริษัท ทำให้ตัวเลขผลการดำเนินงานและฐานะการเงินของบริษัทที่ปรากฏในงบการเงินอาจไม่แสดงค่าที่แท้จริงของกิจการซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์อาจสั่งการให้บริษัทแก้ไขงบการเงินได้
สำหรับความเคลื่อนไหวราคาหุ้น ITV วานนี้ (26 ก.พ.) ก่อนตลาดหลักทรัพย์ฯจะขึ้นเครื่องหมาย SP ราคาปิดที่ 0.94 บาท เพิ่มขึ้น 0.01 บาท หรือ 1.08% มูลค่าการซื้อขาย 3.916 ล้านบาท
**"ไอทีวี"ไร้ทางออกมืดแปดด้าน
นายอภิศักดิ์ ลิมป์ธำรงกุล ผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ นครหลวงไทย จำกัด เปิดเผยว่า ทางออกของบมจ.ไอทีวี ในขณะนี้อาจจะมีการหาพันธมิตรในวงการสื่อเดียวกันเข้ามาร่วมลงทุนเช่น สถานีวิทยุโทรทัศช่อง3 ช่อง 5 และช่อง 7 หรือว่าอาจจะหาพันธมิตรในส่วนของภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนจากที่ก่อนหน้านี้ยังคงมีกระแสข่าวว่าตระกูลมาลีนนท์มีความสนใจที่จะเข้าไปซื้อหุ้นของไอทีวี
ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่าปัจจุบันทางบมจ.ไอทีวีอยู่ในสถานะที่รอรับอย่างเดียวเท่านั้น คือสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.)จะทำอย่างไรต่อไป ขณะเดียวกันต้องติดตามในส่วนของตลาดหลักทรัพย์ภายหลังจากที่ได้ขึ้นเครื่องหมาย SP เพื่อห้ามการซื้อขายหลักทรัพย์ของ บมจ.ไอทีวี ภายหลังจากที่ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความคิดเห็นต่องบการเงินของบริษัท ว่าจะมีมาตรการอย่างไรหากยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนจากผู้สอบงบบัญชี
นายฉัตรชัย กิจธิคุณ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ สินเอเซีย จำกัด กล่าวว่า ราคาหุ้นบมจ.ไอทีวียังมีโอกาสปรับตัวลดลง เนื่องจากขณะนี้พื้นฐานของบริษัทอยู่เหนือการคาดการณ์ ซึ่งไม่สามารถที่จะประเมินได้ โดยราคาหุ้นปรับตัวผันผวนตามกระแสข่าวรายวัน
“เราไม่สามารถที่จะประมาณการณ์ได้ว่าราคาหุ้น บมจ.ไอทีวี จะปรับตัวลดลง มากขนาดไหน ซึ่งปัจจัยหลักต้องติดตามน้ำหนักของข่าวร้ายที่เข้ามากระทบการลงทุน” นายฉัตรชัยกล่าว.
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|