คตส.ลงดาบ 2 ฟันแม้ว ชงศาลริบที่ดินรัชดา


ผู้จัดการรายวัน(27 กุมภาพันธ์ 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

คตส.ฟันอาญา "ทักษิณ-หญิงอ้อ" ซื้อที่ดินรัชดาฯ ผิด ม.152 ชงศาลริบที่ดินฉาว ระบุมี ขรก.น้ำดีส่งเอกสารเด็ดมัดคอทักษิณ "ขณะเดียวกันมีมติเชือดแก๊งงาบรถดับเพลิง 5 คนทั้ง "โภคิน-ประชา-สมัคร-สมศักดิ์-อธิลักษณ์" ผิด ม.157 รอ มท.ร้องทุกข์ก่อนตั้งอนุไต่สวนฯ พร้อมแจงเหตุอุ้ม "อภิรักษ์" เปิดแอลซีเหตุทำตามเงื่อนไขสัญญา "หมัก" โวย คตส.ดับเบิ้ลสแตนดาร์ดอุ้มหล่อเล็ก

ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งเป็นสถานที่ทำงาน ของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) วานนี้ (26 ก.พ.) มีการประชุมคณะกรรมการ คตส. โดยมีนายนาม ยิ้มแยม ประธาน คตส. เป็นประธานการประชุมฯ

นายสัก กอแสงเรือง โฆษก คตส. และนาย อุดม เฟื่องฟุ้ง กรรมการคตส.ในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวนกรณีซื้อที่ดินย่านรัชดาของคุณหญิง พจมาน ชินวัตร ร่วมแถลงผลการประชุม

นายอุดม กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบชี้มูลความผิดพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนรยกรัฐมนตรี และคุณหญิง พจมาน ชินวัตร คู่สมรส เพิ่มเติมจากที่เคยได้ชี้มูล ไปแล้วว่า ผิดตามมาตรา 100 ของพ.ร.บ.ป.ป.ช. โดยให้แจ้งข้อกล่าวหาว่า มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 ซึ่งเขียนข้อความคลายกับมาตรา 100 แต่มีความผิดมากกว่า เนื่องจากมีพฤติการณ์เข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อผลประโยชน์สำหรับตัวเอง เป็นการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และให้มีความผิดตามมาตรา 157 ด้วย

ดังนั้น คตส. จึงเห็นสมควรแจ้งข้อกล่าวหากับ พ.ต.ท.ทักษิณ และคู่สมรส ร่วมกันกระทำความผิดต่อพ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 4 มาตรา 100 และมาตรา 122 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1 มาตรา 33(2) ที่ให้ศาลริบทรัพย์สินคือที่ดินที่ได้มาจาก การประมูลโดยมิชอบ แต่การริบทรัพย์จะเกิดขึ้นก็ต่อมาศาลมีคำพิพากษาจนถึงที่สุด

นอกจากนี้ยังมีความผิดในมาตรา 83 ในฐานตัวการร่วม เพราะอดีตนายกรัฐมนตรีเซ็นยินยอมจึงเกิดการซื้อขายขึ้น ทางกฎหมายถือว่ามีเจตนาร่วม มาตรา 86 ในฐานะผู้สนับสนุนเนื่องจากคู่สมรสไม่ได้เป็นข้าราชการ มาตรา 90 และ 91 ถือว่า เป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระ มีโทษแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับศาลจะพิจารณาว่าจะแยกโทษหรือรวมโทษ และมาตรา 152 และ 157 ตามที่ระบุไปเบื้องต้นแล้ว

**แฉมีหลักฐานมัดคอทักษิณ

นายอุดม กล่าวว่า คตส.พบข้อมูลล่าสุดโดยมีเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งไม่ทราบชื่อ ส่งเอกสารมาให้ เป็นบันทึกท้ายบัญชีทรัพย์สินรอการขาย โดยเขียนระบุว่า ขอให้ นายก. (นามสมมุติ) ได้ดำเนินการตามระเบียบของกรมที่ดิน หวังว่าคงจะไม่มีกรณี เช่นนี้เกิดขึ้นอีก ซึ่งทำให้ คตส.เชื่อว่าในการซื้อที่ดินดังกล่าวต้องมีเหตุผิดปกติ เพราะไม่เช่นนั้นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมที่ดินคงจะไม่ทำบันทึกย้ำไว้ในเอกสารโฉนดที่ดิน ที่ออกใหม่จำนวน 4 ฉบับ ซึ่งในชั้นไต่สวนหากมีพยานหลักฐานเพิ่ม ก็อาจแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้เกี่ยวข้องเพิ่มได้อีก เพราะในชั้นนี้พบว่าเจ้าหน้าที่มีการกระทำที่ผิดปกติ แต่พยานหลักฐานยังไม่ถึง

นายอุดม กล่าวว่า ในชั้นการตรวจสอบและไต่สวนกรณีดังกล่าวคณะอนุฯ ได้สอบเจ้าหน้าที่ของกองทุนฟื้นฟูเพื่อการลงทุนและเจ้าหน้าที่กรมที่ดินพบข้อสังเกตความผิดปกติ 7 ข้อคือ 1. กองทุนฟื้นฟูฯได้ที่ดินแปลงดังกล่าวในวันที่ 24 ส.ค.2538 ในราคา 2,140 ล้านบาท 2. ราคาการซื้อที่ดินดังกล่าวตกต่ำสุดในปี 2540 หลังวิกฤตเศรษฐกิจ แต่จนถึงปี 2544 ทางกองทุนฟื้นฟูฯ ไม่มีการปรับราคาที่ดิน ตามบันทึกบัญชีทรัพย์สินรอการขาย โดยลดต้นทุน จากราคาต้นทุนเดิม 2,140 ล้านบาท คงเหลือราคาเพียง 754 ล้านบาท แต่กลับมาบันทึกเปลี่ยนแปลง ในต้นปี 2547

3. ในการประกาศราคาขายครั้งแรกมีการตั้งราคาขั้นต่ำที่ 870 ล้านบาท แต่ครั้งที่ 2 กลับไม่มีการกำหนดราคาขั้นต่ำ โดยทางกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ อ้างว่า เหตุที่ไม่กำหนดเพราะถ้าเสนอราคาพอใจก็ขายหากกองทุนไม่พอใจก็ไม่ขายและผู้เข้าประมูลราคาอาจจะมีการกดราคาในการเสนอราคาประมูล แต่ข้อเท็จจริงจาก ปากคำของ อดีตผู้ว่าการ ธปท. เคยบอกกับเจ้าหน้าที่ที่ดินในการประมูลว่า ต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยการพัสดุพ.ศ. 2535

4. การประกาศประมูลอ้างว่ามีการลงรายละเอียดในเวบไซด์ แต่กลับไม่มีการ กำหนดรายละเอียดการประมูลส่งไปถึง 12 บริษัทที่เข้าร่วมประมูล และไม่แจ้งว่า มีรายละเอียดในเวบไซด์ 5. มีการประมูลครั้งแรกทั้ง 13 โฉนดรวมกัน แต่ครั้งที่สอง กลับนำ 13 โฉนดมารวมแล้วแยกเป็น 4 โฉนด ซึ่งไม่มีเหตุผลที่จะต้องทำเช่นนั้น

6. ในการประมูลขายที่ดินได้ประกาศขายทั้งหมด 4 โฉนด ซึ่งในประกาศนี้ลงวันที่ 25 พ.ย. 2546 ทำสัญญาซื้อขาย 17 ธ.ค. 2546 แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีการออกหมายเลขโฉนดที่ดินทั้ง 4 แปลงที่นำออกมาขายมาก่อนที่โฉนดตัวจริงจะออกมาในวันที่19 ธ.ค. ซึ่งออกหมายเลขโฉนดล่วงหน้า โดยอธิบดีกรมที่ดิน และรองอธิบดีกรมที่ดินได้แจงว่าการขอออกโฉนด แยกโฉนด หรือรวมโฉนด บุคคลภายนอกไม่สามารถรู้เลขโฉนดล่วงหน้า คตส.จึงสงสัยว่าสามารถทำได้อย่างไร

7. เงื่อนไขการชำระเงิน การขายทอดตลาดทางอินเตอร์เน็ท เดิมกำหนดให้ วางมัดจำ 10 ล้านบาท พร้อมกำหนดราคาขั้นต่ำไว้ที่ 870 ล้านบาท โดยผู้ชนะต้องชำระเงิน 25 % ในวันถัดไป และจ่ายที่เหลือในอีก 15 วันหลังการประมูล แต่การประมูลครั้งที่สองกลับไม่ระบุราคาขั้นต่ำ แต่กลับกำหนดให้ผู้ชนะการประกวดราคาต้องชำระเงินงวดแรก 50 % ของวันรุ่งขึ้น และอีก 50 % ในวันที่ 26 ธ.ค.แต่กลับมีการโอนที่ดินจริงในวันที่ 31 ธ.ค. 2546

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 กำหนดว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามามีส่วนได้เสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่น อันเนื่องด้วยกิจการนั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 2000 บาท ถึง 20,000 บาท ของรัฐ

นายอุดมยอมรับว่า การชี้มูลความผิดของ คตส. เมื่อคดีขึ้นสู่ขั้นศาล ศาลอาจ ไม่เห็นด้วยกับ คตส.ก็ได้ ทุกอย่างต้องให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน และวันนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า จะสอบปากคำพ.ต.ท.ทักษิณ อย่างไร ซึ่งก็อาจต้องใช้วิธีการส่งคำชี้มูลความผิดไปให้ พ.ต.ท.ทักษิณทางไปรษณีย์เพื่อให้ตอบกลับมาเป็นเอกสารก็ได้ โดย คตส.ถามไป ก็ให้ตอบสิ่งที่ถามกลับมา โดยขั้นตอนต่อจากนี้คงต้องไปรอที่ศาล

"คตส.คงไม่ทำการอายัดหรือสั่งไม่ให้ทำอะไรกับที่ดินผืนดังกล่าวได้เพราะต้องรอคำสั่งศาลก่อน โดยหนังสือคำชี้มูลความผิดของ คตส.ในคดีที่ดินฯครั้งนี้จะส่งไปให้พ.ต.ท.ทักษิณในวันอังคารที่ 27 ก.พ.นี้"

**ชี้มูล "โภคิน-ประชา-สมัคร" ผิด

จากนั้นนายสัก แถลงว่าที่ประชุม คตส. ได้พิจารณาผลการตรวจสอบโครงการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของ กทม. มูลค่า 6,687 ล้านบาท ตามที่คณะอนุกรรมการตรวจสอบฯ ที่มีนายประเสริฐ บุญศรี กรรมการ คตส.เป็นประธานฯ ได้นำเสนอ และมีมติชี้มูลความผิดบุคคล ที่เกี่ยวข้อง 5 คนประกอบด้วย 1.นาย โภคิน พลกุล อดีตรมว.มหาดไทย 2.นาย ประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย 3.นายสมศักดิ์ คุณเงิน อดีตเลขานุการ รมว.มหาดไทย 4.นายสมัคร สุนทรเวช อดีตผู้ว่าฯกทม. และ 5.พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฐาน กระทำผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157ว่าด้วยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

นายสัก กล่าวว่า นายโภคิน นายประชา และนายสมศักดิ์ สังกัดอยู่ในกระทรวงมหาดไทย และกำกับดูแล กทม.เกี่ยวข้องกับโครงการเริ่มตั้งแต่พบปะปรึกษา หารือโครงการกับเอกอัครราชทูตออสเตรียประจำประเทศไทยและยังร่วมกันกำหนดข้อตกลงการจัดซื้อที่ระบ ุบริษัทผู้ขายสินค้าและราคาไว้ล่วงหน้า แล้วส่งมอบเรื่องทั้งหมดต่อ กทม. โดยฝ่าฝืนมติ ครม. ข้อบัญญัติ กทม.เรื่องการพัสดุ มีการกำหนดราคาที่สูงเกินจริง จนเกิดความเสียหายแก่ กทม.ประมาณ 1,900 ล้านบาท อันส่อไปในทางเจตทุจริต

สำหรับ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ เป็นประธานคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษร่วมกับ นายสมัครโดยร่วมกันดำเนินเรื่องจัดซื้อจนถึงการลงนามใน A.O.U.และการลงนาม ซื้อขายโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ประกาศข้อบัญญัติ กทม. และมติ ครม.จนมีการซื้อสินค้า ราคาสูงเกินจริง เกิดความเสียประมาณ 1,900 ล้านบาท อันถือได้ว่าเป็นเจ้าของ โครงการ ผู้ปฏิบัติร่วมกันกระทำการโดยมีเป้าหมายร่วมกันกับผู้กำกับดูแลคือ ฝ่ายกระทรวงมหาดไทย จึงมีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 83

ส่วนนาย อภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม. คนปัจจุบันที่ประชุมเห็นว่า เข้ามาเกี่ยวข้องในภายหลัง ส่วนการที่นายอภิรักษ์เป็นผู้เปิดแอลซีนั้นเป็นเพราะต้องทำตามสัญญาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และยังมีสั่งการมาจากทางกระทรวงมหาดไทย จึงเห็นว่าไม่มีหลักฐานที่จะชี้มูลความผิดนายอภิรักษ์ได้ เช่นเดียวกับนายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ ก็ไม่มีหลักฐานที่จะชี้มูลความผิดเช่นเดียวกัน โดยขั้นตอน ต่อไปจะแจ้งไปยังกระทรวงมหาดไทยให้มาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ คตส. ตามพ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 66-68 จึงยังไม่สามารถตั้งอนุกรรมการไต่สวนในตอนนี้ได้

นายสมัคร สุนทรเวช อดีตผู้ว่า กทม. กล่าวว่า ไม่เข้าใจกับมติ คตส.ที่มีผลสรุปออกมาเช่นนี้ ดูแล้วไม่เข้าท่า ที่ผ่านมา คตส.ไม่เคยเรียกไปชี้แจงสักครั้ง ทั้งที่ตนไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ที่นายอภิรักษ์ คตส.กลับเรียกไปให้ข้อมูลนานกว่า 11 ชม. แต่ตนกลับไม่เรียกไปชี้แจง ทั้งที่ตนออกมาจากตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.แล้วถึงได้เปิดแอลซี

**"อภิรักษ์" ขอหารือ มท.ก่อน

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า เรื่องการชี้มูลความผิดการจัดซื้อรถดับเพลิง เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมที่ที่จะตรวจสอบ ต้องรอให้ คตส. พิจารณาอย่างเป็นทางการก่อน อย่างไรก็ตามตนจะประสานเพื่อขอดูรายละเอียดว่า คตส.จะชี้มูลความผิดครอบคลุมเรื่องใดบ้าง จากนันจะนำแนวทาง ที่ได้ไปหารือกับกระทรวงมหาดไทยและรัฐบาล จึงจะสามารถแถลงได้ว่ากทม.จะมีทิศทางที่จะดำเนินการอย่างไร ในการจัดซื้อรถ เรือ และอุปกรณ์ดับเพลิง 6,000 กว่าล้านบาท

**"นาม" แย้มอาจมีแจ้งขอหาเพิ่มอีก

นายนาม ยิ้มแย้ม กล่าวว่า การสอบปากคำ พ.ต.ท.ทักษิณ เรื่องคดี CTX 9000 และคดีซื้อที่ดินย่ายรัชดาฯของคุณหญิงพจมาน แล้วแต่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะว่าอย่างไรหากต้องการให้คตส.ไปสอบปากคำที่ต่างประเทศเราก็พร้อม แต่ก็ต้องดู ทางด้านคมช.และรัฐบาลด้วยว่าจะเห็นด้วยหรือไม่

ส่วนการชี้มูลความผิดคดีการจัดซื้อรถดับเพลิง กทม. ที่แตกต่างจาก กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ตรวจสอบมาก่อนหน้านี้ ว่ามีผู้กระทำผิด 7 คนนั้น นายนาม กล่าวว่า สำนวนของดีเอสไอไม่เกี่ยวกับคตส. คนละเรื่อง และเราสามารถอธิบายได้ อย่างไรก็ตามในกระบวนการไต่สวน ยังสามารถแจ้งข้อกล่าวหา ผู้เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้ เช่นเดียวกับกรณี CTX 9000

ส่วนน.ต. ศิธา ทิวารี รักษาการโฆษกพรรคไทยรักไทยได้ตั้งข้อสังเกตว่า มีการวิ่งเต้นในกระบวนการทำงาน คตส. นายนาม กล่าวว่า คนมีปากก็พูดไป เราคงห้ามเขาไม่ได้

ส่วนกรณีที่นายสมศักดิ์ คุณเงิน ระบุว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะ คตส. ไม่เคยเรียก ชี้แจงนั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่เขาจะบอกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่หลักฐานมันยันอยู่ เมื่อถามว่าจะใช้เป็นจุดโจมตี คตส. หรือไม่ นายนามกล่าวว่า โจมตีไปเถอะไม่ได้หวั่นไหวอะไร ซึ่ง คตส.ก็ได้ทำตามหน้าที่ พร้อมยืนยันว่าจะไม่มีการเมืองเข้ามาแทรกแซง

**วิโรจน์นัดถกอัยการฟันขายหุ้นชิน

ผู้สื่อข่าวรายงานวันเดียวกันนายวินัย วิทวัสการเวช ที่ปรึกษาด้านพัฒนาฐานภาษี กรมสรรพากร ได้เข้าพบนาย วิโรจน์ เลาหะพันธุ์ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบการซื้อขายหุ้นชินคอปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยมี รายงานข่าวว่า การเข้าพบครั้งนี้เป็นการซักซ้อมทำความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการ ดำเนินคดีโดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอำนาจการประเมินภาษีที่คตส.ขอให้ กรมสรรพากร ใช้อำนาจประเมินภาษีเองโดยยึดข้อมูลที่คตส.ส่งไปให้ เนื่องจาก ที่ผ่านมากรมสรรพากรจะอ้างว่า เป็นการประเมินภาษีตามที่ คตส. เสนอมาทำให้ เป็นช่องว่างให้ฝ่ายตรงข้ามยื่นอุทธรณ์ได้ว่า คตส. ไม่มีอำนาจในการประเมินภาษี ซึ่งกรมสรรพากรก็ได้รับไว้ไปพิจารณา

รายงานข่าวแจ้งว่า คตส. ได้รับข้อมูลจาก น.ส.โสภาวดี เลิศมนัสชัย ผู้จัดการ บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ ทีเอสดี ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญ ในการทำธุรกรรมซื้อขายหุ้นชินระหว่างบริษัท แอมเพิลริช กับ นายพานทองแท้ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร

นายวิโรจน์ เลาหะพันธ์ ประธานอนุกรรมการตรวจสอบการซื้อขาย หุ้นชินฯ กล่าวถึงปัญหาที่เกรงว่าอัยการจะไม่รับฟ้องคดีว่า ทางคตส.ได้พิจารณาแล้ว ไม่มีปัญหา ซึ่งเป็นอำนาจ คตส.ที่จะทำได้ตามประกาศของ คปค.ซึ่งมีอำนาจชัดเจนและคลอบคลุมโดยไม่ต้องส่งให้กรมสรรพากรเป็นผู้ดำเนินการ และในวันที่27 ก.พ.นี้ คตส.บางส่วนจะมีการนัดทานข้าวร่วมกันเพื่อชี้แจงให้อัยการสูงสุดเข้าใจ ในทิศทางเดียวกัน สำหรับการตรวจสอบของอนุกรรมการตรวจสอบ การซื้อขายหุ้นชินฯในส่วนของการการซื้อขายหุ้น บริษัท แอมเพิลริชนั้นจะสามารถ สรุปสำนวนได้และจะเสนอเข้าที่ประชุม คตส.ชุดใหญ่ได้ในสัปดาห์หน้า.


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.