แบงก์ชาติเจ๊ง 3 แสนล้าน โบ้ยค่าเงิน-ไม่มีทางเลือก


ผู้จัดการรายวัน(23 กุมภาพันธ์ 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ตัวเลขในงบดุลปี 49 ชี้ชัดแบงก์ชาติบริหารทุนสำรองเจ๊ง 3 แสนล้าน รองผู้ว่าฯ อ้างไม่มีทางเลือก แถมโบ้ยค่าเงินเป็นเหตุจาก41 บาทต่อดอลลาร์เป็น 36 บาทต่อดอลลาร์ ส่งผลให้บัญชีงบดุลหลังบันทึกค่าเงินกลับมาเป็นบาทขาดทุนยับ ไม่วายฟุ้งยังคุ้มค่า ภาคส่งออกได้ประโยชน์ดันเศรษฐกิจภาพรวมดีขึ้น ระบุหากไม่แทรกแซงจะขาดทุนจะมากกว่านี้ ค่าเงินบาทอาจอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์

นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ สายเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยวาระการประชุมคณะกรรมการ ธปท.วานนี้ (22 ก.พ.) ว่า มีการเสนอให้คณะกรรมการฯ อนุมัติงบดุลประจำปี 2549 ของธปท. เพื่อนำส่งให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบต่อไป โดยงบดุลในส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารทุนสำรองทางการระหว่างประเทศในปี 2549 พบว่า แม้ได้มีการนำเงินสำรองทางการระหว่างประเทศไทยไปลงทุนและมีกำไรในรูปของดอลลาร์สหรัฐสูงถึง 7% แต่ค่าเงินบาทในช่วงต้นปี 2549 เมื่อเทียบกับปลายปีที่ผ่านมามีการปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วประมาณ 5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จนทำให้เกิดผลขาดทุน 300,000 ล้านบาท เป็นผลมาจากค่าเงินที่แข็งค่าจากระดับ 41 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในสิ้นปี 2548 มาอยู่ที่ระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อสิ้นปี 2549

ทั้งนี้ หลักการการบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศ จะคิดผลกำไรขาดทุนจากเงินสำรองทั้งก้อน ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เงินดอลลาร์จำนวนนี้ ธปท.ได้เอาไปลงทุนหากำไรตลอดทั้งปีได้กำไรอยู่ที่ 7% ของเงินลงทุน ขณะที่มีต้นทุนจากการออกพันธบัตร ธปท.เพื่อดูดเงินกลับประมาณ 4-5% ดังนั้น หากค่าเงินบาทต้นปีปลายปีไม่เปลี่ยนแปลง การบริหารทุนสำรองจะได้กำไรประมาณ 2-3% แต่ปัญหาที่ต้องขาดทุน คือ ในการบริหารทุนสำรองได้กำไรเป็นเงินดอลลาร์ แต่เมื่อแปลงมาเป็นเงินบาทกลับแสดงผลเป็นขาดทุน

"เกิดจากการตีราคาเป็นสำคัญ ฉะนั้น เมื่อค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เงินทุนสำรองขาดทุน 300,000 ล้านบาท แต่เมื่อหักกำไรที่ลงทุนได้และต้นทุนค่าดูดเงิน (จากการออกพันธบัตร) แล้วยังได้กำไรประมาณ 3% ทำให้ผลขาดทุนที่แท้จริงลดลงจาก 300,000 ล้านบาทเล็กน้อย แต่หากไม่แทรกแซงเลยค่าเงินบาทวันนี้อาจจะอยู่ที่ 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งขึ้น 10 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อตีราคากลับมาอาจจะขาดทุนมากกว่าการที่ ธปท.แทรกแซงค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาก็ได้"

นางอัจนาย้ำว่า การขาดทุนจากการตีราคาเป็นการขาดทุนที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะ ธปท.คงไม่สามารถไปลงทุนในอะไรที่ได้กำไรปีละ 17% เพื่อให้ทันกับค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น และต้องเข้าใจว่าการขาดทุน 300,000 ล้านบาทนี้ ไม่ใช่ยอดขาดทุนที่เกิดจากการที่ ธปท.เข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาท เพราะการขาดทุนจากการแทรกแซงนั้น ในงบดุลของ ธปท.ไม่ได้แยกเอาไว้ เพราะจะต้องคิดผลกำไรขาดทุนที่ละสัญญาตามช่วงเวลาที่ได้เข้าแทรกแซง จึงเป็นยอดที่ยังไม่สามารถระบุชัดเจนได้ ( unrealize cost ) แต่จะคิดเป็นผลขาดทุนรวมจากการบริหารทุนสำรองรายปี

นอกจากนี้ การขาดทุนจากการแทรกแซงของ ธปท.ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นความพยายามที่จะช่วยลดความผันผวนของค่าเงินบาท และการที่ค่าขึ้นบาทแข็งขึ้นนั้นก็เป็นผลดีต่อประเทศ เพราะเท่ากับว่า ไข่ดาว 1 ใบ หรือการให้บริการอะไรสักอย่างที่ประเทศขายให้ต่างชาติได้มีราคาแพงขึ้น เมื่อเทียบในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับว่าได้เงินตราต่างประเทศมากขึ้นจากทรัพยากรของประเทศเท่าเดิม ทำให้การขาดทุนในส่วนนี้ของ ธปท.ไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องเป็นห่วงเพราะเป็นการขาดทุนที่ทำให้พื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น

"เพื่อดูแลภาคการส่งออก ภาคเศรษฐกิจจริง ธปท.ไม่มีทางเลือกที่จะต้องแทรกแซงค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนมาก หรือแข็งค่าเร็วเกินไป เมื่อมีการแทรกแซงก็ต้องยอมรับว่ามีภาระขาดทุน แต่ไม่ได้หมายความว่า หากไม่แทรกแซงค่าเงินบาทแล้ว จะไม่มีภาระขาดทุน"

รองผู้ว่าฯ ธปท.เปิดเผยว่า เพื่อให้มีความชัดเจนว่า การเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทของ ธปท.ในแต่ละปี มีผลกำไร หรือขาดทุนเท่าไร ในร่างพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ที่กระทรวงการคลัง ธปท.ได้เสนอขอให้แยกบัญชีในส่วนของการเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทออกจากบัญชีทุนสำรองทางการระหว่างประเทศรวม เพื่อให้ทราบว่าการแทรกแซงของ ธปท.มีผลอย่างไร ถ้าร่าง พ.ร.บ.ธปท.ใหม่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะสามารถแยกบัญชีได้

เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนปิดงวดบัญชีปี 2549 คือเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ที่ผ่านมา ธปท.โดยความร่วมมือของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ได้ออกมาตรการกันสำรองเงินนำเข้า 30% ปรากฏว่า มาตรการครั้งนั้นสร้างความเสียหายให้นักลงทุนรายย่อยในตลาดหุ้น 8 แสนล้านบาท ธปท.อ้างว่าเป็นมาตรการสกัดค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก แต่นักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่า ธปท.และ ม..ร.ว.ปรีดิยาธรอาจมีวาระซ่อนเร้นในการกลบความล้มเหลวจากการต่อสู้ค่าเงินจนขาดทุน จึงต้องออกมาตรการเพื่อลดผลขาดทุน ตัวเลขในงบดุลครั้งนี้จึงน่าจะพิสูจน์เรื่องดังกล่าวได้ดี ที่สำคัญค่าเงินบาทก็ยังไม่ได้อ่อนค่าลงตามที่ ธปท.ต้องการ โดยปัจจุบันกลับมาแข็งค่ามาอยู่ที่ 34 บาทต่อดอลลาร์

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ PHATRA กล่าวว่า ที่ผ่านมาเห็นว่านโยบายดูแลค่าเงินบาทของ ธปท.ถือเป็นการสร้างภาระให้กับประเทศ เนื่องจากแบงก์ชาติได้ใช้วิธีนำเงินบาทไปซื้อดอลลาร์ เพื่อชะลอการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท ส่งผลให้ปริมาณบาทออกมาในระบบจำนวนมาก ทำให้แบงก์ชาติต้องออกพันธบัตรจำนวนมากมาดูดซับสภาพคล่องตรงนี้อีก ทำให้มีภาระเรื่องจ่ายดอกเบี้ยจำนวนมาก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.