" เอทีเอ็ม พูล" 24 ปี การต่อสู้ไม่สิ้นสุด

โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

ปี 2514 - เครื่องเอทีเอ็มเครื่องแรก เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา โดยแบงก์ซิตี้เซนและเซาท์เธ่น เนชั่นแนล ในแลตแลนต้า ให้บริการรับฝากถอนเงินอัตโนมัติ

ปี 2526- แบงก์ไทยพาณิชย์เป็นแบงก์แรกในประเทศไทย ที่นำเครื่องเอทีเอ็มเข้ามาปฏิวัติโฉมหน้ารีเทลแบงก์กิ้ง ครั้งใหญ่ เพิ่มยอดจำนวนบัญชีเงินฝากของไทยพาณิชย์ในปี 2525 จาก 725,974 บัญชี เป็น 860,595 บัญชี ณ สิ้นปี 2526 หรือเท่ากับ 18.5 ความคิดเอทีเอ็มนี้ได้สร้างชื่อเสียงให้กับบรรณวิทย์ บุญญรัตน์ กลายเป็นดาวรุ่งที่ก้าวกระโดดขึ้นสู่ตำแหน่งนักบริหารระดับสูง

ปี 2527 - นโยบายแบงก์ชาติกำหนด แนวทางวางระบบเครือข่ายเอทีเอ็ม ร่วมไม่ต่ำกว่า 3 แบงก์ เพื่อลดปัญหาขาดทุนการค้า และแข่งขันนำเข้าเครื่องเอทีเอ็ม

ปี 2528 - แบงก์ยักษ์ใหญ่สามแบงก์ชาติต่างสร้างเครือข่ายกันขึ้นมา ประกอบด้วย " ไทยเน็ท" ซึ่งมีไทยพาณิชย์ มหานคร และ สหธนาคาร เครือข่าย " เงินสดทันใจ" เป็นการรวมตัวระหว่างแบงก์กสิกรไทย ทหารไทย กรุงศรีอยุธยา และธนาคารสยาม และเครื่องข่าย " แบงก์เน็ท" ที่มีแบงก์กรุงเทพ กรุงไทย ไทยทนุ นครธน แหลมทอง ศรีนคร และแบงก์เอเชีย

ปี 2529 -หัวเรือใหญ่สองแบงก์ คือ ไทยพาณิชย์ และกสิกรไทย รวมเครือข่ายไทยเน็ท และเครือข่ายเงินสดทันใจกันเป็น " สยามเน็ท" และจัดตั้งบริษัท " เครือข่ายธนไทย" หรือเรียกสั้น ๆ ว่า บริษัทเอส เอ็น เอส ทำการเชื่อมต่อเครือคอมพิวเตอร์ของธนาคารกลางทั้ง 7 แห่ง ขณะที่ เครือข่ายแบงก์เน็ทไม่มีบริษัทกลาง แต่รวมศูนย์ระบบคอมพิวเตอร์ที่แบงก์กรุงเทพ

ปี 2530- แบงก์สยามได้ลาออกจากสมาชิกสยามเน็ต เพราะยุติการดำเนินงาน

ปี 2531- แบงก์กรุงเทพและกสิกรไทยร่วมลงทุนจัดตั้งศูนย์คอมพิวเตอร์สำรองในนาม " บริษัท ศูนย์ประมวลผล ( พีซีซี) ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท โดยมีแบงก์กรุงเทพถือหุ้น 30% กสิกรไทย 30% ปูนซิเมนต์ไทย 20% และสหยูเนี่ยน 20% ปีนี้แบงก์นครหลวงไทยเพิ่ง ก้าวเข้ามาเป็นสมาชิกสยามเน็ต

ปี 2532- แบงก์ศรนคร ได้ย้ายจากลุ่มแบงก์เน็ตของแบงก์กรุงเทพเข้าร่วมสยามเน็ตด้วย มีการแข่งขันกันมาก จำนวนเครื่องเอทีเอ็ม ของสยามเน็ต 497 เครื่อง ขณะที่แบงก์เน็ต มี 458 เครื่อง

ปี 2533- บริษัท ศูนย์ประมวลผล จัดตั้งบริการศูนย์แลกเปลี่ยนเช็คระหว่างธนาคารกรุงเทพและกสิกรไทย ( เคลียริ่ง) โดยลงทุนไปประมาณ 265 ล้านบาท ในการสร้างระบบ

ปี 2534- แบงก์กรุงเทพพาณิชย์การ โดดเข้าร่วมสยามเน็ตเป็นขบวนสุดท้าย ทำให้เครือข่ายสยามเน็ตมีแบงก์ทั้งสิ้น 9 แห่งร่วมด้วย

ปี 2535- พลันที่ นโยบายแบงก์ชาติจัดตั้งและพัฒนาระบบการชำระเงินระหว่างแบงก์พาณิชย์( สวิตชิ่ง เซ็นเตอร์) เพื่อกรุยทาง ไปสู่ "พูลเอทีเอ็มแห่งชาติ" ออกมา ในวันที่ 19 สิงหาคม 2535 สองแบงก์ยักษ์ใหญ่ แบงก์กรุงเทพ และกสิกรไทย ก็ประกาศทดลองโยงระบบเอทีเอ็มฝากถอนร่วมกัน ซึ่งจุดชนวนความไม่พอใจให้กับแบงก์ไทยพาณิชย์แห่งกลุ่มสยามเน็ต และแบงก์กรุงไทยแบงก์เน็ทอย่างมาก ๆ

ปี 2536- กลุ่มเครือข่ายสยามเน็ทและแบงก์เน็ต ร่วมกันเป็น " พูลเอทีเอ็มแห่งชาติ" ( เนชั่นแนลพูล) โดยมีแกนกลางเป็นบริษัทเอทีเอ็ม

ปี 2537- นโยบายแบงก์ชาติเปิดเสรีเอทีเอ็มพูลให้กับแบงก์พาณิชย์ต่างชาติ ได้สร้างปรากฏการณ์เพิ่มยอดจำนวนเครื่องเอทีเอ็มชนิดก้าวกระโดด จากปีก่อนถึง 31% เพราะแบงก์ยักษ์ใหญ่ต่างยึดหัวหาดสำคัญๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าแบบใกล้ตัวใกล้ใจ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.