|
S&P ชูธง Simplythai 'ขนมไทย' เติบโตได้ด้วยแบรนด์
ผู้จัดการรายสัปดาห์(19 กุมภาพันธ์ 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
เมื่อ "เอสแอนด์พี" ผู้นำธุรกิจเบเกอรี่ คิดจะเอาดีกับ "ขนมไทย" อะไรจะเกิดขึ้น? ในภาวะเศรษฐกิจทรงตัว ผู้ประกอบการจะบริหารจัดการธุรกิจอย่างไรให้อยู่รอด? ห้างใหญ่ชี้แนวทางปรับตัวสร้างแบรนด์ รับมือการเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทัน "เดอะมอลล์" แนะพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน "เซ็นทรัล" มุ่งหน้าเจาะไลฟ์สไตล์
ตามปกติในปีที่ผ่านมาๆ เมื่อถึงช่วงปลายปีซึ่งเป็นเทศกาลของขวัญของฝาก "เอสแอนด์พี" มักจะมีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการตลาด ด้วยการเน้นไอเดียต่างๆ เช่น บรรจุภัณฑ์ที่แปลกใหม่ หรือการตกแต่งเบเกอรี่ เป็นต้น แต่เมื่อปีที่แล้ว เอสแอนด์พีจัดนิทรรศการขนมไทยร่วมสมัยเป็นครั้งแรกในชื่อว่า "Simplythai Thai Delicacies Exhibition"
โดยใช้พื้นที่ถึง 200 ตารางเมตร และเงินลงทุนสร้างนับล้านบาท เพื่อบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับขนมไทย ด้วยคอนเซ็ปต์การนำเสนอแบบเรียบง่าย แต่น่าสนใจทั้งด้านรูปแบบและเนื้อหาสาระ ไม่ว่าจะเป็นความเป็นมาและวิวัฒนาการของขนมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน วัตถุดิบที่นำมาทำขนม รวมทั้งบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่การใช้ใบตองจนถึงบรรจุภัณฑ์แบบใหม่ๆ ทำให้ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์เจ้าของพื้นที่ขยายระยะเวลาการจัดเพิ่มให้อีกหลายวัน
เนื่องจากนิทรรศการครั้งนี้เป็นครั้งแรกของการจัดนิทรรศการขนมไทยที่เรียกได้ว่า ทุ่มทุนทั้งเงินและความคิดเพื่อหวังกล่องไม่ได้หวังเงิน เป้าหมายก็เพื่อตั้งใจทำให้ดีที่สุดเท่านั้น เพราะสำหรับยอดขายของขนมไทยยังน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าอื่นๆ ของเอสแอนด์พี แต่ส่วนหนึ่งในงานนี้ มีการนำเสนอขนมไทยรูปแบบร่วมสมัยที่เอสแอนด์พีกำลังจะนำออกสู่ตลาดเพื่อขยายไลน์สินค้าอย่างจริงจัง โดยใช้ชื่อแบรนด์ "Simplythai"
คอนเซ็ปต์ "ร่วมสมัย" รุก "ของฝาก" ตลาดหลัก
วิสาขา ไรวา ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการตลาดร้านอาหาร บริษัท เอสแอนด์พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์” ว่า แนวคิดของการทำร้านขนมไทยร่วมสมัย มาจากจุดเริ่มที่มีขนมไทยขายอยู่ในเอสแอนด์พีมาแล้วประมาณ 10 กว่าปี และยอดขายมีการเติบโตมาตลอด แต่ลูกค้าส่วนใหญ่ยังไม่ได้นึกถึงหรือต้องการมาซื้อขนมไทยที่เอสแอนด์พี เป็นการมาซื้อขนมเค้กหรืออย่างอื่นแล้วซื้อขนมไทยติดมือกลับไปด้วยเท่านั้น
"แต่เราก็เห็นว่าน่าจะทำให้ขนมไทยของเราเด่นขึ้นมาได้ เลยเริ่มโครงการนี้ขึ้นมา นอกจากนี้ เอสแอนด์พียังเป็นแบรนด์ของคนไทย จึงอยากจะทำอะไรที่มีความเป็นไทยด้วย กึ่งๆ ว่าอนุรักษ์และทำให้คนต่างชาติได้รู้จัก เพราะมีหลายคนที่คิดว่าเอสแอนด์พีไม่ใช่แบรนด์ไทย"
สำหรับคอนเซ็ปต์ของร้าน Simplythai ที่ตั้งใจทำขึ้นมามีทั้งขนมไทยแบบโบราณ ขนมไทยที่ผสมผสานกับขนมแบบฝรั่ง เป็นการมองภาพรวมว่าซื้อให้กันเป็นของขวัญ เพราะรู้สึกว่าในตลาดขนมไทยยังไม่มีกล่องหรือบรรจุภัณฑ์ที่สวยๆ เพื่อเป็นของฝากของขวัญให้กันได้ เป็นช่องว่างที่ยังไม่มีผู้ประกอบการทำจริงจัง ขณะที่ เบเกอรี่ อย่างเช่น คุกกี้หรือเค้กมีบรรจุภัณฑ์ที่พร้อมจะเป็นของฝากของขวัญซึ่งพัฒนาไปไกลแล้ว
"นึกถึงว่าถ้าคนนึกถึงของขวัญที่เป็นขนมไทยแล้วนึกถึงเรา ก็น่าจะเป็นกลุ่มลูกค้าที่มากพอในระดับหนึ่ง ทั้งคนไทยมอบกันเอง คนไทยมอบให้คนต่างชาติ หรือคนต่างชาติให้กันเอง เพราะฉะนั้น เป้าหมายคือเมื่อคิดถึงของฝากให้คิดถึง Simplythai"
เธอยังบอกอีกว่า จุดเด่นหรือสิ่งที่ทำให้ลูกค้าจดจำ ที่คิดไว้คร่าวๆ คือ เป็นแบบเรียบๆ และแพ๊กแบบเดี่ยวๆ เป็นชิ้นๆ ให้ทานสะดวก ได้คุณภาพ และความสะอาด ซึ่งราคาที่ Simplythai วางไว้สูงกว่าที่เอสแอนด์พี เป็นการแยกความแตกต่างเรื่องการวางตำแหน่งของแบรนด์ แต่การที่ราคาขนมไทยค่อนข้างสูงเพราะต้นทุนสูง ไม่ได้คิดเรื่องการยกระดับเป็นหลัก เพราะไม่คิดหรือวางไว้ว่าจะขายแพง และไม่ได้มาจากการเปรียบเทียบราคากับขนมไทยอื่นๆ ที่มีอยู่ โดยลูกค้าเป้าหมายเป็นกลุ่มบีบวกขึ้นไป เน้นกลุ่มคนทำงาน และชาวต่างชาติ เพราะการทำสินค้าออกมาเน้นเป็นสินค้าของฝาก และสร้างความแตกต่างจากขนมไทยรายอื่นๆ ที่มีอยู่ในท้องตลาด
สำหรับสินค้าเด่นๆ ที่ทำขึ้นมาใหม่เพื่อเปิดตัวแบรนด์ Simplythai อย่างไม่เป็นทางการในงานนิทรรศการขนมไทยร่วมสมัยดังกล่าว คือ คุกกี้สีนวล ซึ่งเป็นคุกกี้อัลมอนด์แต่นำไปอบควันเทียน ทำให้ได้กลิ่นและรสชาติที่แปลกออกไป หรือเค้กรสชาติที่ทำออกมาใหม่ อย่างเช่น เค้กรสใบเตย เค้กรสชาไทย
ส่วนขนมไทยที่นิยมบริโภคกันทั่วไปทุกๆ วัน เช่น ขนมชั้น ขนมน้ำดอกไม้ หรือขนมที่ราคาค่อนข้างสูง เช่น ขนมจ่ามงกุฎ ขนมเสน่ห์จัน ซึ่งทำยากแต่ต้องการอนุรักษ์ไว้ หรือเยลลี่ที่ผสมขนมไทยและใช้ผลไม้เป็นส่วนประกอบ เช่น เยลลี่รสรวมมิตร เยลลี่รสลิ้นจี่ ซึ่งผลจากการจัดงานในช่วงประมาณ 30 วันนั้น ขนมไทยทั้ง 3 กลุ่ม คือ ขนมประยุกต์ ขนมรับประทานประจำ และขนมอนุรักษ์ มีการตอบรับจากลูกค้าพอสมควร
วิสาขา บอกว่า ขนมไทยที่ทำออกมามีประมาณ 30 รายการ คิดว่าทุกอย่างที่ทำออกมาจะได้รับการตอบรับจากลูกค้า แม้ว่าจะมีสินค้าใหม่ที่ทำขึ้นมาโดยไม่เคยลองขายมาก่อนเลยถึง 50% เพราะเห็นว่าพฤติกรรมการซื้อของลูกค้าแตกต่างกันไปขึ้นกับปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น ทำเลที่ตั้ง หรือกลุ่มลูกค้าของร้านเอสแอนด์พีเองที่ไม่ได้ตั้งใจซื้อขนมไทยแต่ซื้อติดมือกลับไป หรือเมื่อลูกค้าเห็นขนมไทยที่รวมกันอยู่เป็นร้าน Simplythai หรือการจัดนิทรรศการขนมไทย
แต่ละสถานการณ์จะกระตุ้นความต้องการของลูกค้าในระดับที่แตกต่างกัน จึงคิดว่าไม่จำเป็นต้องทดลองที่เอสแอนด์พีก่อนเพราะจะไม่ได้คำตอบที่ถูกต้องเสมอไป สำหรับในงานนิทรรศการขนมไทยดังกล่าว ส่วนใหญ่คนไทยชอบซื้อของสด ขณะที่ชาวต่างชาติส่วนใหญ่ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ชอบซื้อของแห้งเพื่อนำกลับไป ส่วนใหญ่ชอบข้าวตัง กรอบเค็ม เยลลี่ และเม็ดมะม่วงหิมพานต์เคลือบ
ด้านอุปสรรคของขนมไทยคืออายุสินค้าที่ยังค่อนข้างสั้น ตั้งแต่ 1 วันถึงเป็นเดือน ตอนนี้ขนมหลายชนิดอยู่ในขั้นทดลอง อย่างไรก็ตาม การพัฒนาสินค้าให้มีอายุสินค้านานขึ้นแต่ไม่นานมาก เพราะยังเป็นเรื่องยากในสินค้าหลายๆ ตัว โดยเฉพาะที่ทำจากกะทิ ส่วนรูปแบบของสินค้ามีการผสมผสานเบเกอรี่เข้ามาด้วย เช่น บางอย่างทำออกมาเป็นคุกกี้หรือเค้ก เช่น รสใบเตย เผือก หรือชาไทย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ขนมไทยที่ออกมามีแค่แบบสดกับแบบแห้ง ซึ่งร้านเต็มรูปแบบยังต้องเพิ่มขนมเปียกเข้าไป แต่กำลังคิดอยู่เพราะอยากให้ร้านมีขนมไทยครบทุกรูปแบบ แต่บางอย่าง เช่น กล้วยบวชชี บัวลอย ซึ่งมีอยู่แล้วเป็นแบบแช่แข็ง คิดว่าจะไม่ทำ
ทิศทางปั้นแบรนด์ Simplythai ใกล้แจ้งเกิด
ส่วนเป้าหมาย คาดว่าในปี 2550 นี้ จะเปิดร้าน Simplythai ประมาณ 5 สาขาในห้างสรรพสินค้าต่างๆ เพราะเป็นช่องทางจำหน่ายที่มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย จุดจำหน่ายที่เตรียมไว้แล้ว คือ ร้านแรกที่สยามพารากอน ชั้นG โซนหน้าซูเปอร์มาร์เก็ต ประมาณเดือนมีนาคมปีนี้ และกำลังติดต่อที่สนามบินสุวรรณภูมิ ดิเอ็มโพเรี่ยม และเซ็นทรัลเวิลด์ เพราะเหมาะกับกลุ่มลูกค้า ส่วนร้านแบบสแตนด์อโลนยังไม่เห็นทำเลที่เหมาะสมเพราะจำนวนสินค้ายังมีไม่มาก ควรจะเป็นบูธอยู่ในห้างมากกว่า สำหรับในร้านเอสแอนด์พีจะมีการจัดเป็นโซนขนมไทยแยกออกมาในสาขาที่เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้า อาจจะมีสาขาหลักๆ ประมาณ 10 สาขา ส่วนการจะนำนิทรรศการขนมไทยไปลงเป็นเรื่องยากเนื่องจากใช้พื้นที่ค่อนข้างมากหาพื้นที่ค่อนข้างยากและราคาสูง
"ถ้าพูดถึงเรื่องกระแสนิยมหรือความคิดเรื่องเอกลักษณ์ความเป็นไทย คิดว่าเป็นเรื่องปกติที่อยู่ในความรู้สึกของคนไทยอยู่แล้วเป็นความผูกพันมาแต่เด็กโดยที่เราไม่รู้ตัว อาจจะลืมไป จนกระทั่งเมื่อได้รับการกระตุ้น เช่น ดูนิทรรศการ หรือมีสื่อต่างๆ เกี่ยวกับความเป็นไทย ก็จะทำให้เกิดความซาบซึ้งขึ้นมา
ที่ผ่านมา เอสแอนด์พีมีกิจกรรมช่วงปีใหม่ซึ่งเน้นประเภทซื้อไปเป็นของขวัญให้กันอยู่แล้ว สำหรับนิทรรศการขนมไทยที่จัดไปแล้ว เรายิ่งรู้สึกว่าเป็นโอกาสของขนมไทยที่สามารถมอบให้กันในช่วงปีใหม่ เหมือนเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แต่เพราะระยะเวลาที่ได้ในตอนแรกสั้น แล้วกลับมาได้เวลาที่ยาวขึ้น เพราะฉะนั้น ลูกค้าที่มาดูส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งใจ"
เธอบอกว่า การทำนิทรรศการฯ อย่างนี้เป็นครั้งแรก เพราะจะออกแบรนด์ใหม่เกี่ยวกับขนมไทยขึ้นมา การที่ทำดีอย่างนี้เพราะปกติเมื่อตั้งใจทำอะไรจะทำให้ดีที่สุด ทำเต็มที่อยู่แล้ว เมื่อคนมาดูมีทั้งความสวยงามและน่ากิน
อย่างไรก็ตาม ทิศทางขนมไทยนั้นหวังว่าจะเติบโตขึ้น เพราะคนไทยผูกพันมาแต่เด็กและเป็นรสชาติที่คุ้นเคย ไม่มีอะไรมาทดแทนได้ ไม่ว่าจะเป็นขนมของฝรั่งที่เข้ามามาก ตอนนี้กระแสความดั้งเดิมกำลังจะกลับมา
สำหรับกระแสเรื่องความพอเพียงที่รัฐบาลกำลังกระตุ้นอย่างมาก อาจจะมีส่วนช่วยส่งเสริมความเป็นไทย จึงน่าจะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการขนมไทยด้วย
"กลุ่มเดอะมอลล์" แนะใช้วิกฤตเป็นโอกาส
โมเดิร์นเทรดเป็นช่องทางหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการอยู่รอดและเติบโตของขนมไทย เพราะเข้าถึงลูกค้ามากมายและกว้างขวาง ดังนั้น มุมมองและนโยบายของผู้บริหารช่องทางจำหน่ายนี้จึงน่าสนใจ
ลักขณา นะวิโรจน์ รองประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด มองว่า การพัฒนาขนมไทยในครั้งนี้ของเอสแอนด์พีถ้าพัฒนาอย่างจริงจัง ทั้งตัวสินค้าและบรรจุภัณฑ์ น่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ล้าหลังพัฒนาตนเอง ซึ่งจะทำให้ตลาดขยายตัวขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม ขนมไทยเป็นสินค้าพื้นฐานที่มีอยู่ทั่วไป คิดว่าเอสแอนด์พีไม่ได้แย่งส่วนแบ่งการตลาดจากสินค้าท้องถิ่นที่มีอยู่ทุกจังหวัด เพราะเอสแอนด์พีมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของตัวเองอยู่แล้ว มีตลาดของตัวเอง ในทางกลับกัน ในภาพรวมเอสแอนด์พีจะเป็นตัวอย่างให้ขนมไทยรายอื่นๆ พัฒนา
สำหรับมุมมองต่อขนมไทยในปัจจุบัน มองว่าสินค้าไทยยุติธรรมกับผู้บริโภค แต่การจะพัฒนาคุณภาพมาตรฐานต้องมีมากขึ้น ในขณะที่รายได้ประชากรยังไม่มากพอ และขนมไทยอยู่ใกล้ตัวจนผู้บริโภคไม่ได้คำนึงหรือรู้ถึงข้อแตกต่างของสินค้าของผู้ประกอบการแต่ละรายที่ขายสินค้าเหมือนกัน เช่น ความหวานที่ต่างกันเล็กๆ น้อยๆ ไม่เหมือนกับผลไม้ที่รับรู้ได้ชัดเจนว่าแตกต่างกันอย่างไร เพราะฉะนั้น ถ้าต้องการจะให้ผู้ประกอบการขนมไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายเล็กๆ ด้วยซ้ำไปอยู่รอด สภาพเศรษฐกิจโดยรวมมีส่วนสำคัญอย่างมาก เพราะผู้ประกอบการขนมโดยทั่วไปเกิดง่ายตายง่าย
การที่จะทำให้สินค้ากลุ่มอาหารพัฒนาและอยู่รอด เรื่องการสร้างแบรนด์ต้องรักษาคุณภาพและสร้างให้ผู้บริโภคมีความภักดีต่อสินค้า เห็นได้ชัดว่าเดิมการทำการตลาดจะมีมากในสินค้าประเภทอื่นๆ เช่น เครื่องสำอาง เสื้อผ้า เป็นต้น ขณะที่สินค้าในกลุ่มอาหารทำการตลาดน้อย โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่ตอนนี้เมื่อมีการกระตุ้น น่าจะมีการทำการตลาดกันมากขึ้น
เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดีทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบและอาจจะเลิกกิจการไปเป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้น คนที่สามารถยืนอยู่ได้ต้องใช้จังหวะนี้สร้างสินค้าของตนเองให้เข้มแข็ง คิดว่าควรจะใช้วิกฤตเป็นโอกาส และไม่อยากให้ท้อถอย
ในขณะที่ ห้างฯ พยายามให้ข้อมูลและความรู้กับผู้ประกอบการ เช่น การไปต่างประเทศแล้วเห็นของดีๆ อย่างเช่น ตัวอย่างบรรจุภัณฑ์ และพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหาร โดยใช้นโยบายเป็นหุ้นส่วนทางการค้า และอยากให้ผู้ประกอบการคิดที่จะพัฒนาตัวเองตลอดเวลา
"อย่างไรก็ตาม สำหรับขนมไทยยังมีอะไรให้ทำอีกมาก แต่ต้องใช้เวลา เพราะขนมไทยมีความหลากหลายมาก การคัดเลือก การรวบรวม การจัดพื้นที่ให้เหมาะ มีรายละเอียด และมองจากสินค้ากลุ่มโอทอปที่มีคุณภาพจำนวนไม่น้อย ซึ่งรัฐบาลชุดก่อนทำให้เกิดการพัฒนาขึ้นมา เพราะฉะนั้น รัฐบาลชุดนี้มีนโยบายและงบประมาณที่วางไว้ แต่ ณ วันนี้ ขาดคนที่จะบริหาร ทำให้เกรงว่าจะขาดช่วงการพัฒนา" ลักขณา กล่าวในตอนท้าย
"กลุ่มเซ็นทรัล" เน้นตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์
ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง การขยายไลน์สู่ธุรกิจขนมอย่างจริงจังของเอสแอนด์พี ว่า เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากเพราะขนมไทย ในปัจจุบันได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างประเทศมากขึ้น ดังนั้น การที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งเรื่องของรูปลักษณ์ รสชาติ บรรจุภัณฑ์ ก็สามารถสร้างความแตกต่างและโดดเด่นได้
สำหรับนโยบายและทิศทางของศูนย์การค้าต่อธุรกิจขนมไทย ในส่วนของเซ็นทรัลเวิลด์ เป็นไลฟ์สไตล์ช้อปปิ้งคอมเพล็กซ์ ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นหมายถึงว่า สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างครบถ้วนทุกรูปแบบ ทั้งสินค้าและบริการ ต้องตอบสนองทุกไลฟ์ไตล์ จะเห็นได้ว่าตอนนี้มีเปิดโซนใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อรองรับความต้องการที่หลากหลาย เช่น ที่เพิ่งเปิดให้บริการ Asian Senses Zone เป็นโซนที่มีความเป็นเอเชีย และมีความร่วมสมัย เป็นแหล่งรวบรวมสินค้าคุณภาพในภูมิภาคเอเชีย ก็อาจจะเป็นได้ที่ในอนาคตจะมีร้านขนมไทยมาเปิดอยู่ในโซนนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องดูความเหมาะสมและปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย
ทางด้านศักยภาพของขนมไทยน่าจะมีโอกาสเติบโตมาก คิดว่าตลาดยังสามารถพัฒนาไปอีกไกล ยังใส่ลูกเล่นต่างๆ ได้อีกมาก ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทันตามกระแสความต้องการ เช่นกระแสสุขภาพกำลังมาแรง ก็มีขนมไทยที่ทำมาจากสมุนไพรมารองรับซึ่งเป็นที่นิยม และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ แสดงถึงการพยายามปรับ และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ซึ่งเชื่อว่าผู้ประกอบการของไทยโดยเฉพาะเอสแอนด์พีมีศักยภาพอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้จะยิ่งช่วยให้ตลาดขนมไทยมีโอกาสเติบโต และคึกคักมากขึ้นในอนาคต
การให้ความสำคัญกับขนมไทย เนื่องจากขนมไทยก็เป็นอีกหนึ่งความนิยม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมของแต่ละภูมิภาค รวมถึงวิถีการกินของคนในประเทศ ที่ผ่านมา CPN ก็ให้ความสนใจในเรื่องนี้ เพราะศูนย์การค้าเป็นแหล่งรวมของชุมชน
จึงอยากฝากไปถึงผู้ประกอบการต่างๆ ว่า ทางศูนย์ฯ มีนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุนขนมไทย ซึ่งขอเน้นในเรื่อง Packaing Design ที่ได้มาตรฐาน มีการยกระดับคุณภาพของขนมไทยให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล เพื่อว่าอนาคตจะสามารถส่งออกต่างประเทศได้ และเหมาะสำหรับชาวต่างชาติเพราะสามารถซื้อหาเป็นของขวัญของฝากได้โดยสะดวก
เซ็นทรัลพัฒนาเล็งเห็นถึงความสำคัญของขนมไทยอย่างมาก จะเห็นได้จากสาขาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว, ปิ่นเกล้า, รัตนาธิเบศร์, รามอินทรา และสาขาอื่นๆ ก็สนองความต้องการของลูกค้าในส่วนของขนมไทยด้วยเช่นกัน โดยมีการจัดงานเทศกาลขนมไทยใส่ไอเดีย ซึ่งในงานมีการนำลูกชุบมาทำเป็นสนามบินสุวรรณภูมิ และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย
เมื่อผู้ประกอบการได้รับรู้ความเคลื่อนไหวที่กำลังเกิดขึ้นแล้ว...จะช่วยให้สามารถปรับตัวได้อย่างเท่าทัน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|