|
แผนสร้างรถไฟฟ้าผ่านฉลุยร.ฟ.ท.-รฟม.เร่งเครื่องรับมือ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(19 กุมภาพันธ์ 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ร.ฟ.ท.ปิดเกมสโลแกน “ถึงก็ช่าง...ไม่ถึงก็ช่าง”เดินเครื่องรถไฟฟ้าสายสีแดง ยันเปิดประกวดราคาเดือนเม.ย.นี้ ด้านรฟม.สวมบทเสือปืนไว เตรียมจ้างที่ปรึกษาสายสีม่วงและสายสีน้ำเงิน หวังเปิดให้บริการปี 2555
พลันที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแผนการก่อสร้างรถไฟฟ้า 5 เส้นทาง โดยมีกำหนดแล้วเสร็จทั้ง 5 เส้นทางภายในปี 2555 รวมระยะทาง 222 กม. มูลค่ากว่าแสนล้านบาท ทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ทั้งการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ต่างก็เร่งรีบเตรียมพร้อมรองรับการลงทุนโครงการดังกล่าว หลังจากที่รอครม.ไฟเขียวมานาน
โครงการรถไฟฟ้าที่ครม.อนุมัติ ประกอบด้วย สายสีแดง รับผิดชอบโดยร.ฟ.ท.ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จะเป็นสายแรกที่เปิดประกวดราคาในเดือน เม.ย นี้ และเริ่มก่อสร้าง ต.ค.2550 กำหนดแล้วเสร็จ มี.ค.2553 และช่วงบางซื่อ-รังสิต เริ่มประกวดราคา ต.ค.2550 เริ่มก่อสร้าง เม.ย.2551 กำหนดแล้วเสร็จ มี.ค.2555 และช่วงบางซื่อ-มักกะสัน-หัวหมาก เริ่มประกวดราคา ธ.ค.2550 เริ่มก่อสร้าง มิ.ย.2551 กำหนดแล้วเสร็จ พ.ย.2555
ส่วนสายสีม่วงและสีน้ำเงินอยู่ในความรับผิดบชอบของรฟม.โดยสายม่วงบางใหญ่-บางซื่อ จะประกวดราคา พ.ค.2550 เริ่มก่อสร้าง ธ.ค.2550 แล้วเสร็จปี 2554 และสายสีน้ำเงิน บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค เริ่มประกวดราคาก.ย.2550 เริ่มก่อสร้างเม.ย.2551 กำหนดแล้วเสร็จ พ.ย.2555 ส่วนสายสีเขียวหมอชิต-สะพานใหม่ แบริ่ง-สมุทรปราการ เริ่มประกวดราคา ธ.ค.2550 เริ่มก่อสร้าง มิ.ย.2551 กำหนดแล้วเสร็จ มี.ค.2554
ด้านแหล่งเงินทุนในการก่อสร้าง กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างศึกษาและเจรจา เพื่อกู้เงินจากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิค) หรืออาจจะใช้แหล่งเงินกู้อื่นๆ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ซึ่งในเบื้องต้นต้องการกู้เงินเพื่อก่อสร้างระบบโยธา
นอกจากนี้ ที่ประชุมครม.ยังกำหนดให้มีศูนย์กลางเชื่อมต่อการเดินทางอีก 2 แห่ง คือ ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน (บริเวณบางซื่อ) และศูนย์คมนาคมมักกะสัน (บริเวณมักกะสัน) เพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อการเดินทางจากพื้นที่ปริมณฑลและพื้นที่เมืองบริวารโดยระบบรถไฟชานเมือง และการเดินรถด้วยระบบรางเดียวกันจากเมืองในภูมิภาคโดยรถไฟทางไกล เชื่อมต่อการเดินทางกับระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้เป็นโครงข่าย
รฟท.ยันทีโออาร์ไม่มีปัญหา
ศิวะ แสงมณี ประธานคณะกรรมการ ร.ฟ.ท.กล่าวว่า การจัดทำร่างเงื่อนไขการประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้าง (ทีโออาร์) ในสายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันนั้นไม่มีปัญหา เพราะก่อนหน้านี้ ร.ฟ.ท.ได้ศึกษาและเตรียมความพร้อมเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเส้นทางรถไฟสายสีแดง จำเป็นต้องก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้ากลางบางซื่อด้วย จึงจะต้องทำร่างทีโออาร์แยกต่างหาก แต่งบประมาณที่จะใช้ในการก่อสร้างประมาณ 10,000 ล้านบาทนั้น จะรวมอยู่ในงบประมาณเดียวกันกับที่ใช้ในการก่อสร้างรถไฟสายสีแดง
รฟม.เสือปืนไวเตรียมจ้างที่ปรึกษา
ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานคณะกรรมการ รฟม. กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติว่าจ้างบริษัท AEC เป็นที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง วงเงิน 53.9 ล้านบาท และอนุมัติให้จ้างกลุ่มบริษัท BMTC (บีเอ็มทีซี) เป็นที่ปรึกษาสายสีน้ำเงิน วงเงิน 223.4 ล้านบาท โดย ทั้ง 2 บริษัท เคยเป็นที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรก ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการเร่งรัดโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าที่มีคำรบลักขิ์ สุรัสวดี กรรมการ รฟม. เป็นประธาน
ขณะที่ประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า ที่ปรึกษาโครงการทั้ง 2 บริษัท จะใช้เวลาศึกษารายละเอียดการจัดทำแผนการก่อสร้างและวิธีการดำเนินงาน ทั้งสัดส่วนการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน การจัดเก็บค่าโดยสารให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ร่วมทุนให้เสร็จสิ้นภายใน 2 เดือน ก่อนเสนอต่อที่ประชุม ครม.อีกครั้ง เพื่อให้ทันเปิดประกวดราคาเส้นทางสายสีม่วงใน พ.ค. นี้ และจะเริ่มทำการก่อสร้างได้ในปลายปีนี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2554
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|