อากู๋ทิ้ง "ฟอร์มี" คืนสหพัฒน์หลังเจอปัญหาเพียบ


ผู้จัดการรายวัน(25 กุมภาพันธ์ 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

อากู๋ ตัดสินใจขายทิ้งหุ้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ฟอร์-มี (4 me) ให้กลุ่มสหพัฒน์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ยอมรับพ่ายต่อปัญหาทั้งปวง ประกาศลั่นจะไม่กลับมาทำตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอีกแล้ว ส่วนจำนวนหุ้นส่วนตัวและของศิลปินรวมกัน 60% เป็นหน้าที่ของสหพัฒน์ที่จะนำ ไปจัดสรรกันเอง พร้อมเดินแผนแตกแขนงธุรกิจอีก 4-5 โครงการ ด้วยเงินลงทุน 1,000 ล้านบาท

วานนี้ (24 ก.พ.) นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ บริษัท 4 พีเพิล ฟูดส์ จำกัด เจ้าของบะหมี่กึ่งสำเร็จ รูป ฟอร์ มี (4 me) เปิดเผยว่าได้ตัดสินใจขายหุ้นในส่วนของตนเองจำนวน 40% และของกลุ่มศิลปินในเครือแกรมมี่ และดารา ที่เข้ามาร่วมถือหุ้นอีก 20% รวมเป็น 60%ให้แก่กลุ่ม สหพัฒน์ ซึ่งจะมีการจ่ายเงินค่าหุ้นสิ้นเดือนก.พ.นี้

"ผมได้หารือกับคุณพิพัฒ พะเนียงเวทย์ (กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หลังจากที่เราได้หารือเรื่องการหาตัวแทนจัดจำหน่ายและเอเยนซี่ตัวแทนโฆษณาแล้ว ซึ่งทางคุณพิพัฒ อยากให้ผมขายหุ้นให้ไทยเพรซิเดนท์ ฟูดส์ ผมก็โอเคไม่มีปัญหาอะไรเพื่อความสบายใจก็ตกลงจะขายและโอนหุ้นให้ในสิ้นเดือนก.พ.นี้ เพราะถ้าทำแล้วไม่สบายใจผม ก็ไม่อยากทำ" นายไพบูลย์กล่าว

สำหรับมูลค่าหุ้นที่กลุ่มสหพัฒน์ จะต้องจ่ายให้แก่นายไพบูลย์ และกลุ่มศิลปินนั้น คิดจาก ทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท แต่ว่าได้เรียกชำระเพียง 25% ของทุนจดทะเบียน ซึ่งคิดเป็นเงิน 50 ล้านบาท ซึ่งจำนวนหุ้น 60% ของทุนที่เรยกชำระแล้วคิดเป็นเงิน 30 ล้านบาท ซึ่งทางกลุ่มสหพัฒน์จะจ่ายให้เต็มจำนวน โดยหุ้นในส่วนดังกล่าว นาย ไพบูลย์ กล่าวว่าเป็นเรื่องของกลุ่มสหพัฒน์ที่จะต้องไปจัดสรรกันเอง โดยกลุ่มสหพัฒน์ที่ร่วมถือหุ้น อยู่ใน บริษัท 4 พีเพิล ฟูดส์ จำกัด ประกอบด้วย บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด ในสัดส่วนที่เท่ากัน สำหรับบริษัท 4 พีเพิล ฟูดส์ จำกัด พร้อมพนักงาน 6 คน ก็จะย้ายไปอยู่กับ ไทยเพรซิเดนท์ ฟูดส์

"ที่ผ่านมามันเหมือนฝัน เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถ้าถามว่าผมซีเรียสไหม ไม่เลยเพราะผมทำบะหมี่เป็นเพียงอาชีพเสริม ทำด้วยความสนุก ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่เป็นไรแค่เพียงอยากลองดู อยาก ขยายธุรกิจของตัวเองออกไป แต่ไม่ซีเรียสว่าจะต้อง ได้หรือต้องเสีย เพราะผมจำกัดเงินทุนไว้จำนวนหนึ่ง ไม่ได้ทุ่มมาก" คำกล่าวของนายไพบูลย์ ที่เหมือนจะไม่รู้สึกอะไรกับการขายทิ้งธุรกิจส่วนตัวในครั้งนี้ ทั้งที่เมื่อเริ่มก่อตั้งนายไพบูลย์ มีความหวังกับธุรกิจนี้มาก

สำหรับเหตุผลสำคัญที่ทำให้นายไพบูลย์ตัดสินใจขายหุ้นในครั้งนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อช่วงปลายปี 2545 การประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท 4 พีเพิล ฟูดส์ จำกัด ซึ่งมีนายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์เข้าร่วมประชุมด้วย ก็ได้เจรจาเพื่อขอซื้อหุ้นจากนายไพบูลย์ แต่ในครั้งนั้นนายไพบูลย์ได้ออกมาแถลงข่าวว่า ยังอยากจะทำต่อ ไป เพราะมองแล้วว่าปัญหาคือเรื่องการโฆษณาและการจัดจำหน่าย ที่มีมติว่าจะหาบริษัทจัดจำหน่ายมืออาชีพ และบริษัทตัวแทนโฆษณา ซึ่งก็คือ เอสซี แมทช์บอกซ์ เข้ามาดำเนินการ

โดยนายไพบูลย์ให้เหตุว่า ธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นธุรกิจที่แข่งขันกันรุนแรงมาก ด้วยมูลค่าตลาดเกือบหมื่นล้านบาท ทำให้แต่ละค่ายต่างใช้เม็ดเงินโฆษณาจำนวนมาก ในขณะที่การเริ่มตลาดของบะหมี่ฟอร์ มี ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ใช้งบโฆษณาน้อย จึงทำให้ไม่อาจทานกระแสของการแข่งขันได้ นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของความ ไม่พร้อม เช่น ทีมงานในการจัดจำหน่ายที่ไม่ชำนาญ ไม่มีโฆษณาอย่างต่อเนื่อง และอุปสรรคที่สำคัญอีก ประการก็คือ เรื่องของการเกรงอกเกรงใจซึ่งกันและกัน

"ด้วยความเคารพกลุ่มในเครือสหพัฒน์ ในฐานะที่ผมเคยเป็นลูกจ้างของสหพัฒน์มาก่อน ซึ่งผมพิจารณาแล้วเห็นว่ากลุ่มสหพัฒน์อาจคุ้นเคยกับการทำเองมากกว่า อย่างคุณพิพัฒ เป็นฝ่ายโรงงานเขาอาจมองเห็นกลยุทธ์ ที่ถ้าเป็นอย่างนั้น หรือเป็นอย่างนี้น่าจะดีกว่า ซึ่งเราอาจคิดไม่ได้แบบ เขา" นายไพบูลย์กล่าว

สำหรับการจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปฟอร์มี ในขณะนี้ก็ยังดำเนินต่อไป โดยแต่งตั้งให้ดีทแฮล์ม เป็นผู้จัดจำหน่าย และได้ทำโปรโมชั่นแลกซื้อซีดีของ แกรมมี่ในราคาพิเศษ รวมทั้งมีการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ด้วย
ลงทุนโครงการใหม่อีก 1,000 ล้านบาท

แม้ว่าการขายทิ้งธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปฟอร์มีจะปิดฉากลง แต่นายไพบูลย์ กล่าวว่าเขายังมีโครงการลงทุนเพื่อสร้างขาหยั่งให้แก่ธุรกิจอีก 4-5 โครงการ ใช้เงินลงทุนรวม 1,000 ล้านบาท ประกอบด้วย ธุรกิจเครื่องสำอาง ทั้งในระบบขายตรง ที่ได้เปิดตัวไปแล้ว คือ ยู สตาร์ และกำลังจะเจรจาร่วมทุนกับนักลงทุนรายใหม่เพื่อเปิดตลาด เครื่องสำอางแบรนด์ใหม่ ในลักษณะของสินค้าคอนซูเมอร์ , ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเร็วๆนี้อาจมีข่าวการร่วมทุนเพื่อดำเนินธุรกิจเครื่องดื่ม ในลักษณะเช่นเดียวกับฟอร์ มี , ธุรกิจเสื้อผ้า และ ธุรกิจเมอชั่นไดซ์ ซึ่งเป็นการนำลิขสิทธิ์ศิลปินของค่ายแกรมมี่ มาสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยแกรมมี่จะเป็น เจ้าของลิขสิทธิ์ แล้วเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้ามาร่วม ทุนเพื่อบริหารลิขสิทธิ์ของแกรมมี่

สำหรับมุมมองในการขยายธุรกิจของนายไพบูลย์นั้น มีแนวทางในการพิจารณา 3 ประการ คือ 1. ต้องเป็นงานหรืออาชีพที่ตนเองมีความรู้และความถนัด 2. แนวทางของสินค้าต้องเป็นสินค้าที่ดีต่อสังคม มีอนาคต และมีขนาดตลาดที่ใหญ่พอที่จะเข้าไปทำตลาดได้ เนื่องจากศักยภาพของแกรมมี่ มีความชำนาญด้านการทำสินค้า mass product ที่ต้องอาศัยสื่อที่เป็น mass media ซึ่งต้องการธุรกิจที่ต้องใช้การโฆษณาเพื่อการแข่งขัน

3. ต้องเป็นธุรกิจที่ลงทุนไม่มาก เช่น ใช้เงินลงทุน 200 ล้านบาท ซึ่งเป็นขนาดที่นายไพบูลย์ใช้อยู่ในขณะนี้ และต้องได้รับสิทธิ์ในการบริหารงานทั้งหมด ด้านการคัดเลือกพันธมิตรทางธุรกิจหรือผู้ร่วมงานนั้น ในส่วนของพันธมิตรทางธุรกิจ จะเลือกกลุ่มที่มีศักยภาพที่จะเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจได้อย่างชัดเจน เช่น โรงงานผู้ผลิตสินค้า เป็น ต้น ส่วนผู้ร่วมงานจะคัดเลือกระดับมืออาชีพเข้ามา บริหารงานเท่านั้น เพื่อต้องการให้การสร้างหรือขยายธุรกิจเป็นไปอย่างเร็วที่สุด

"นโยบายของผมต้องการสร้างขาหยั่งอันใหม่ เพื่อให้ตัวเองมั่นคงแข็งแรงยิ่งขึ้น" นายไพบูลย์กล่าวทิ้งท้าย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.