เจาะใจเจ้าพ่อค้าปลีกมือถือไทย บนเส้นทางธุรกิจที่ไม่เหมือนใคร


ผู้จัดการรายสัปดาห์(19 กุมภาพันธ์ 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

เปิดอาณาจักร "เจ มาร์ท" เจาะใจเจ้าพ่อค้าปลีกโทรศัพท์มือถือไทย "อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา" บนเส้นทางโมเดลธุรกิจที่ไม่เหมือนใคร หลังใช้เวลาปรับโครงสร้างภายใน พร้อมดีไซน์รูปแบบทางธุรกิจใหม่ให้กับการค้าโทรศัพท์มือถือ ธุรกิจเช่าพื้นที่และบริการติดตามหนี้สิน มองอนาคตเติบโตอย่างแข็งแกร่งสวนกระแสธุรกิจโดยรวม

หากเอ่ยชื่อ "เจ มาร์ท" ทุกคนคงจะรู้จักชื่อนี้ดีในฐานะผู้ค้าปลีกโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ของประเทศไทย แต่เบื้องหลังร้านค้าโทรศัพท์มือถือเจ มาร์ท ที่มีกระจายครอบคลุมอยู่ทั่วประเทศนั้น กลับมีธุรกิจที่กำลังเก็บดอกออกผลอย่างงดงาม ที่คนทั่วไปไม่เคยรู้ว่าเจ มาร์ท จะมีการดำเนินธุรกิจในรูปแบบอื่น

"ผู้คนทั่วไปจะรู้จักเราในฐานะของผู้นำธุรกิจค้าปลีกโทรศัพท์มือถือ" เป็นคำกล่าวของ อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน)

แต่ ณ วันนี้ อดิศักดิ์ พร้อมที่เปิดอาณาจักรส่วนอื่นๆ ที่ดำเนินธุรกิจมาอย่างยาวนานให้กับสาธารณชนได้รับรู้ว่าวันนี้เจ มาร์ท ไม่ใช่เพียงผู้ค้าปลีกโทรศัพท์มือถือเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีธุรกิจการให้เช่าพื้นที่ และธุรกิจบริการเร่งรัดติดตามหนี้สินด้วย

ในช่วงปีกว่าที่ผ่านมา เจ มาร์ท ได้ใช้เวลากว่า 18 เดือน ในการปรับโครงสร้างภายในให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ประกอบกับการพัฒนารูปแบบทางธุรกิจให้มีความแข็งแกร่งขึ้น ส่งผลให้เจ มาร์ท มีผลประกอบการที่ดีในช่วงปี 2549 ที่ผ่านมา โดยมีตัวเลขรายได้รวม 5,100 ล้านบาท และมีผลกำไร 42 ล้านบาท

"เราประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในช่วงปีที่ผ่านมา และดีกว่าคู่แข่งขันที่ประกอบธุรกิจในลักษณะเดียวกัน" อดิศักดิ์ กล่าวและว่า

"ทิศทางของเราในปีนี้จะยิ่งชัดเจนยิ่งขึ้น และถือเป็นปีทองของเราในการขับเคลื่อนธุรกิจได้อย่างเต็มประสิทธิภาพที่สุด"

การขับเคลื่อนธุรกิจของเจ มาร์ท ในปี 2550 นี้ นับเป็นความต่อเนื่องจากการดำเนินธุรกิจในปี 2549 บน 3 แกนธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจการจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ ธุรกิจการให้เช่าพื้นที่ และธุรกิจบริการเร่งรัดติดตามหนี้สิน ที่จะมีการขยายการเติบโตทั้ง 3 แกนธุรกิจมากยิ่งขึ้นในปีนี้

"ผมมองวิกฤตเป็นโอกาส ใครที่คิดว่าปีนี้เป็นปีที่ไม่ดีสำหรับการดำเนินธุรกิจ แต่ผมมองว่าบนวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ"

ทิศทางธุรกิจหลักของเจ มาร์ท ในปี 2550 ที่เป็นรายได้หลัก ยังคงเป็นธุรกิจการจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ โดยเจ มาร์ท ถือเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกโทรศัพท์มือถือของประเทศไทย ที่ผ่านมาได้มีการขยายธุรกิจในลักษณะการค้าส่งให้กับร้านค้ารายย่อยต่างๆ ด้วย รวมถึงความร่วมมือกับผู้ให้บริการสินเชื่อ และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกราย ทำให้ปัจจุบันมีฐานลูกค้าและพันธมิตรมากกว่า 1,200 ราย

ทั้งนี้เจ มาร์ท ได้เตรียมการปรับขยายธุรกิจในส่วนของการขยายฐานการให้เช่าพื้นที่ให้มากขึ้น หลังจากที่ได้ดำเนินธุรกิจนี้ ภายใต้ชื่อ "ศูนย์ไอทีจังก์ชั่น" ที่ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 8 แห่ง อาทิ บิ๊กซีนครปฐม บิ๊กซีระยอง บิ๊กซีราชดำริ เซ็นทรัลเฟสติวัลพัทยา เซ็นทรัลแอร์พอร์ตเชียงใหม่ โฮมโปรบางนา และบีทีเอส ศาลาแดง โดยทุกศูนย์ไอทีจังก์ชั่น มีขนาดตั้งแต่ 500-2,000 ตารางเมตร ได้รับการตอบรับจากผู้เช่าเป็นอย่างดี และทุกศูนย์ประสบความสำเร็จ เจ มาร์ท จึงมีแนวคิดที่จะขยายศูนย์ในลักษณะเช่นนี้ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ภายใต้ชื่อโครงการ "เจเวนิว" ช้อปปิ้ง เซ็นเตอร์ แห่งแรกบริเวณด้านหน้านิคมอุตสาหกรรมนวนคร ซึ่งจะมีการเปิดโครงการในกลางปี 2550 นี้

ธุรกิจการให้เช่าพื้นที่ของ เจ มาร์ท ไม่ได้เพิ่งจะดำเนินการ แต่ธุรกิจนี้เจ มาร์ท ได้ดำเนินการมา 7-8 ปี ในปีนี้จึงมีเป้าหมายที่สร้างธุรกิจนี้ให้มีความชัดเจนในด้านรายได้มากยิ่งขึ้น โดยต่อไปการดำเนินธุรกิจทางด้านนี้ในอนาคต หากเป็นโครงการที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่จะใช้ชื่อ "เจเวนิว" แต่หากเป็นพื้นที่ขนาดเล็กจะขยายในส่วนของ "ศูนย์ไอทีจังก์ชั่น" แทน เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย

"ธุรกิจเช่าพื้นที่ส่งผลในแง่บวกต่อธุรกิจการจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากร้านค้าที่เช่าพื้นที่จะสั่งซื้อสินค้าจากเจ มาร์ทมากขึ้น ทำให้ได้รายได้ในส่วนนี้เพิ่มขึ้นด้วยในฐานะผู้ค้าส่งสินค้าด้วย"

สำหรับธุรกิจบริการติดตามเร่งรัดหนี้สิน ซึ่งดำเนินการภายใต้บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เจ มาร์ท เตรียมการขยายธุรกิจ หลังจากที่ธุรกิจนี้เติบโตจนเป็นบริษัทอันดับหนึ่งที่มีมูลค่าหนี้สินใหญ่ที่สุดกว่า 12,000 ล้านบาท ให้ติดตามในปี 2549 ที่ผ่านมา ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าทั้งสถาบันการเงิน ธนาคาร บริษัทบัตรเครดิต กลุ่มธุรกิจเช่าซื้อ และกลุ่มบริษัทสื่อสาร ปัจจุบันมีพนักงานประมาณ 500 คน ดูแลธุรกิจนี้

เจ มาร์ท มีแผนที่จะเปลี่ยนการบริการติดตามหนี้สินเพียงอย่างเดียว มาเป็นการซื้อหนี้สินที่อยู่ระหว่างการจัดเก็บหนี้จากเจ้าของหนี้มาบริหารเอง ซึ่งขณะนี้ได้มีการบรรลุการซื้อหนี้สินจากบริษัทเช่าซื้อแห่งหนึ่งมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาทเรียบร้อยแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทเช่าซื้อรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทยอีกแห่งหนึ่งในการซื้อหนี้สินมูลค่า 1,000 ล้านบาท

"การปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจในส่วนบริการเร่งรัดติดตามหนี้สินของเจ มาร์ท จะทำให้ธุรกิจนี้แข็งแกร่งขึ้น มีทิศทางการสร้างรายได้ที่ชัดเจนมากขึ้น" บอสใหญ่เจ มาร์ท กล่าวและว่า

"ธุรกิจบน 3 แกนหลักของเจ มาร์ท ถือเป็นรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ไม่เหมือนกับผู้ประกอบการรายใด เป็นการดำเนินธุรกิจบนประสบการณ์ความชำนาญทางธุรกิจนับ 10 ปีของเรา ซึ่งทั้งหมดจะทำให้เห็นได้ว่า เจ มาร์ท มีการเติบโตที่มากขึ้นอย่างแข็งแกร่งต่อไป และถือเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ต้องจับตามองในอนาคต"

สำหรับเป้าหมายรายได้ในปี 2550 นี้ เจ มาร์ท ตั้งเป้าหมายรายได้ไว้ที่ 6,600 ล้านบาท และมีผลกำไร 192 ล้านบาท โดยเป็นรายได้จากการขายโทรศัพท์มือถือและการให้เช่าพื้นที่ 60% ส่วนที่เหลืออีก 40% เป็นรายได้จากการให้บริการเร่งรัดติดตามหนี้สิน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.