ฟันธง SH ลุยเอทานอลเสี่ยงตลท.ส่งสัญญาณเตือนถี่ยิบ


ผู้จัดการรายสัปดาห์(19 กุมภาพันธ์ 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้ประกอบการเอทานอลฟันธง รายใหม่อย่าง SH เสี่ยงสูง เหตุทุกวันนี้ผลิตจนเกินความต้องการ แถมจ่อคิวผุดโรงงานอีก 40 บริษัท เผยธุรกิจนี้ไม่หมูต้องมีวัตถุดิบ เงินทุนสูง ใช้เวลาสร้างโรงงานเกือบ 2 ปี คนวงการหุ้นแนะดูเชื่อมโยงกันทั้งหมด มีคอมลิงค์เป็นศูนย์กลาง ทั้งจากบีฟิท ซีฮอร์ส พาวเวอร์เอ็นเนอยี่ บุญอเนก ธุรกรรมน่าสงสัย หวั่นแค่เกมสร้างราคาหุ้นให้ SH

การเปลี่ยนธุรกิจของบริษัท ซีฮอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ SH จากอาหารทะเลแช่แข็งก้าวเข้าสู่ธุรกิจด้านพลังงานที่เน้นสร้างโรงงานผลิตเอทานอล ดูเหมือนจะมีอุปสรรคไม่น้อยเห็นได้จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่สั่งให้ SH ชี้แจงถึง 7 ครั้ง นับตั้งแต่การขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 2 รายเมื่อ 4 กันยายน 2549 ที่มีวรเจตน์ อินทามระ และสมโภชน์ อาหุนัย เข้ามาถือหุ้นรวมกันถึง 93.53%

ขณะที่เจ้าของกิจการเดิมของตระกูลมหัทธนาดุลย์ จากเดิมที่ถือหุ้นอยู่ 75.30% ลดสัดส่วนจากการเพิ่มทุนมหาศาล 2.6 พันล้านบาท ทั้ง ๆ ที่ทุนจดทะเบียนเดิมของ SH มีแค่ 180 ล้านบาท ทำให้เจ้าของเดิมมีสัดส่วนการถือหุ้นเหลือเพียง 4.88%

ว่ากันว่าเจ้าของเดิมรายนี้เป็นขาใหญ่รายหนึ่งของวงการหุ้น ที่ผูกพันธ์กันมาตั้งแต่บริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า ที่ช่วยให้ยอดคำสั่งซื้อขายของบริษัทหลักทรัพย์รายนี้ในพื้นที่ภาคใต้เพิ่มขึ้นมาอย่างโดดเด่น เมื่อหยวนต้าต้องควบกิจการกับบริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง จากสิงคโปร์ ถัดจากนั้นมาก็ได้มารวมตัวกันที่บริษัทหลักทรัพย์บีฟิท ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือบริษัท คอมลิงค์ จำกัด

หลังจากสมโภชน์ อาหุนัย อดีตกรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า ต้องพักรบในด้านธุรกิจหลักทรัพย์ชั่วคราวก็ได้เข้ามาทำงานในบริษัทคอมลิงค์ คอยให้คำแนะนำทางด้านการลงทุนกับคอมลิงค์ และหนึ่งในนั้นคือการร่วมเข้าถือหุ้นในบริษัททรีนีตี้วัฒนา เจ้าของบริษัทหลักทรัพย์ทรีนิตี้

การเข้ามาร่วมเปลี่ยนแปลงธุรกิจหลักของ SH จากอาหารทะเลแช่แข็งมาเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างผลกำไรสูง อย่างธุรกิจพลังงาน แล้วยังมีธุรกิจผลิต จำหน่ายและบริการเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีสูง ถือเป็นการเปิดกว้างในการปรับเปลี่ยนธุรกิจของ SH ไม่น้อย

ที่ผ่านมาซีฮอร์สได้มุ่งเน้นที่จะรุกธุรกิจผลิตเอทานอล เห็นได้จากการตัดสินใจลงมติเข้าลงทุนในบริษัท พาวเวอร์ เอ็นเนอยี่ จำกัด เมื่อ 24 ตุลาคม 2549 ซึ่งบริษัทดังกล่าวได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจเอทานอล แต่ได้เลิกล้มโครงการไปก่อน เนื่องจากความไม่แน่นอนในนโยบายของรัฐบาล ทำให้กลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่เห็นโอกาสจึงตัดสินใจเข้าซื้อตามมูลค่าบัญชีราว 150 ล้านบาท

จากนั้นตลาดหลักทรัพย์ได้ให้ทาง SH ชี้แจงในประเด็นต่าง ๆ ที่ยังน่าจะเปิดเผยให้กับผู้ถือหุ้นทั่วไปได้ทราบ จน 29 ธันวาคม 2549 ทาง SH ได้ตัดสินใจยกเลิกการซื้อบริษัท พาวเวอร์ เอ็นเนอยี่ ระบุเหตุผลว่าเกรงว่าจะเข้าข่ายการเข้าตลาดหลักทรัพย์ทางอ้อม เนื่องจากผลประกอบการของบริษัทดังกล่าวไม่ครบ 3 ปีตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์

เริ่มเข้าสู่ปี 2550 เมื่อ 11 มกราคม คณะกรรมการบริษัทมีมติซื้อหุ้นสามัญของบริษัท บุญอเนก จำกัด ไม่เกิน 1,500 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอลที่มีกำลังผลิต 1.5 ล้านลิตรต่อวัน โดยบริษัทจะเป็นผู้ดำเนินการสร้างโรงงานเองซึ่งต้องใช้เงินราว 5.6 พันล้านบาท และใช้ที่ดินของบริษัทบุญอเนก เป็นพื้นที่ตั้งโรงงาน

รุ่งขึ้น (12 ม.ค.) ตลาดหลักทรัพย์ได้สั่งให้ SH ชี้แจงรายละเอียดต่าง ๆ เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนสูงทั้งสร้างโรงงานและซื้อหุ้นในบริษัทบุญอเนก รวมกันมูลค่าสูงถึง 7.1 พันล้านบาท จากนั้นบริษัทได้ทำการชี้แจงและตลาดหลักทรัพย์ก็ได้สั่งให้ชี้แจงเพิ่มเรื่อยมา

ประเด็นที่ตลาดหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปจับตามองนั่นคือความไม่ชัดเจนจากการเข้าลงทุนทั้งในบริษัทพาวเวอร์ เอ็นเนอยี่ และบริษัทบุญอเนก เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทนี้ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ในด้านการผลิตเอทานอล มีเพียงแค่ใบอนุญาตและที่ดินเท่านั้น

ที่สำคัญคือผู้ถือหุ้นในพาวเวอร์ เอ็นเนอยี่และบุญอเนก มีผู้ถือหุ้นที่ถือทั้ง 2 บริษัท ประกอบด้วยทองทิพย์ ทรัพย์รวยรื่น, พิรดา อินทามระ, สุพิน โรจนพฤกษ์

กลุ่มเดียวกัน

เมื่อพิจารณาจากกลุ่มที่เข้ามาลงทุนใน SH พบว่า มีกลุ่มคอมลิงค์เป็นตัวเชื่อมโยง เริ่มจากผู้ถือหุ้นใหม่ทั้ง 2 รายคือ วรเจตน์ อินทามระ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทเงินทุนกรุงเทพธนาทร หรือ BFIT สัดส่วน 4.96% และมีศิริธัช โรจนพฤกษ์ เจ้าของคอมลิงค์ตัวจริงถือหุ้น 4.94% กนกนุช ชลวานิช กรรมการใน SH ถือหุ้นใน BFIT 4.99% พิรดา อินทามระ 4.87% ทัศนีย์ อินทามระ 4.85% นรีกานต์ บางอ้อ 0.65% (ที่มีกิ่งเทียน บางอ้อ เป็นกรรมการในบริษัทบุญอเนก) นอกจากนี้ยังมีชาตรี มหัทธนาดุลย์ เจ้าของ SH ถือ 0.61% นอกจากนี้ผู้ถือหุ้นใหญ่อีกรายคือสมโภชน์ อาหุนัย เคยทำงานที่บริษัทคอมลิงค์ มาก่อน

รายชื่อของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมของ SH ในครั้งนี้ชัดเจนว่าเกือบทุกฝ่ายเชื่อมโยงกันหมด เจ้าของ SH เดิม เป็นลูกค้าในบริษัทหลักทรัพย์บีฟิท จำกัด(มหาชน) ที่มีบริษัทเงินทุนกรุงเทพธนาทรถือหุ้นใหญ่ แถมยังเป็นผู้ถือหุ้นใน BFIT อีกด้วย วรเจตน์เป็นทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่ใน BFIT และ SH กนกนุช ถือใน BFIT และเป็นกรรมการใน SH พิรดาถือใน BFIT พาวเวอร์ เอ็นเนอยี่และบุญอเนก

ปัจจุบันทีมงานเจ้าหน้าที่การตลาดของบริษัทหลักทรัพย์บีฟิท ส่วนใหญ่เป็นการกลับมารวมตัวของศิษย์เก่าบริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า ที่เคยอยู่ภายใต้การบริหารงานของสมโภชน์ อาหุนัย

ขณะที่ทั้งพาวเวอร์ เอ็นเนอยี่และบุญอเนก ผู้ถือหุ้นใหญ่คือตระกูลโรจนพฤกษ์ ดังนั้นธุรกรรมการเข้าซื้อหุ้นในพาวเวอร์ เอ็นเนอยี่หรือบุญอเนก นับได้ว่าเป็นการซื้อต่อจากกลุ่มคอมลิงค์ เงินที่ทั้งวรเจตน์และสมโภชน์ใช้ซื้อ SH ที่เจ้าของอย่างชาตรี มหัทธนาดุลย์ ออกมติขายหุ้นให้เป็นแบบเฉพาะเจาะจง 1,638 ล้านบาท และมีการซื้อบุญอเนกที่ราคาประมาณ 1,500 ล้านบาท นับได้ว่าเป็นจำนวนเงินที่ใกล้เคียงกัน

"ถ้าพิจารณาจากการแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์จะต้องมีการจ่ายเงินกันจริง แต่เงินจำนวนนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่สามารถหักกลบลบหนี้กันไม่ได้ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของเจตนาว่ากลุ่มเหล่านี้ต้องการทำอะไร" แหล่งข่าวจากวงการหลักทรัพย์กล่าว

หน้าใหม่เสี่ยงสูง

ในด้านของผู้ประกอบการเอทานอล ทางสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทยได้รายงานสถานการณ์ที่ผู้ประกอบการเอทานอลเผชิญในปัจจุบัน ซึ่งสถานการณ์ล่าสุด ผู้ผลิตสามารถผลิตเอทานอลได้รวม 8 แสนลิตรต่อวัน ขณะที่ความต้องการอยู่ในระดับ 3-3.5 แสนลิตรต่อวัน ปริมาณเอทานอลเกินความต้องการ เนื่องจากมีผู้ผลิตมากขึ้นและปลายปีนี้ยอดผลิตเอทานอลจะสูงขึ้นเป็น 1.8-2 ล้านลิตรต่อวัน

ขณะที่ความต้องการคาดว่าจะอยู่ในระดับ 8 แสน-1 ล้านลิตรต่อวัน และสถานการณ์ขณะนี้ความต้องการเอทานอลในตลาดยังไม่เพิ่มขึ้น โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลง อีกประการคือผู้ประกอบการลงทุนไปมากแล้วและจะเริ่มผลิตในปีนี้ถึง 10 ราย ดังนั้นทางสมาคมฯ จะหารือกับรัฐบาลว่าจะมีหนทางใดที่จะทำให้ปริมาณเอทานอลที่เหลือสามารถระบายออกได้

ผู้ผลิตเอทานอลรายหนึ่งกล่าวว่า ปริมาณเอทานอลที่มีอยู่ในเวลานี้ค่อนข้างมาก และจะมากขึ้นอีกเนื่องจากมีผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจนี้ที่รอก่อสร้างโรงงานอีกไม่ต่ำกว่า 40 ราย ขณะที่ความแน่นอนในเรื่องการส่งเสริมการใช้เอทานอลในบ้านเรายังไม่ชัดเจน การรณรงค์ให้ใช้น้ำมันก๊าซโซฮอลล์ก็ยังไม่ต่อเนื่อง

ธุรกิจนี้ต้องใช้เงินลงทุนสูงในการก่อสร้างโรงงาน แต่ละโรงงานก็ต้องใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 2 ปี ที่สำคัญในเรื่องของวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ผลิตก็ยังเป็นปัญหาอยู่ ในเมืองไทยมีการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง อ้อยและกากน้ำตาลเป็นหลัก

วัตถุดิบเหล่านี้ก็มีผู้รับซื้อประจำเช่น มันสำปะหลังก็มีโรงงานผลิตแป้งมัน โรงงานทำอาหารสัตว์ เป็นผู้รับซื้ออยู่ ส่วนอ้อยก็มีโรงงานน้ำตาลเป็นผู้รับซื้อรายใหญ่ ที่สำคัญสินค้าทั้ง 2 ยังเป็นสินค้าที่รัฐบาลสามารถเข้ามาดูแลในเรื่องของราคาได้ ทำให้สร้างปัญหาให้กับการผลิตเอทานอลไม่น้อย

ผู้ประกอบการที่ไม่มีแหล่งวัตถุดิบจะมีปัญหาในเรื่องการผลิตมาก หากจะปลูกมันสำปะหลังหรืออ้อยเองก็ต้องใช้เวลานานกว่าจะได้ผลผลิตออกมา แถมวัตถุดิบเหล่านี้ยังขึ้นกับสภาพแวดล้อม ดิน ฟ้า อากาศ อีกด้วย

เขากล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาผู้ที่ได้รับใบอนุญาตผลิต หลายรายไม่สามารถก่อสร้างโรงงานได้เนื่องจากมีปัญหาด้านแหล่งสินเชื่อ เพราะธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากในระยะที่ผ่านมาเศรษฐกิจไม่ดี มีปัญหาทั้งด้านราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ย

"สำหรับรายใหม่ที่เตรียมจะรุกธุรกิจด้านนี้อย่าง SH นั้น คงไม่ห่วงในเรื่องของเงินทุน เนื่องจากกลุ่มนี้มีรายสัมพันธ์ที่ดีกับสถาบันการเงิน เพราะกลุ่มคอมลิ้งค์ถือหุ้นในธนาคารไทยธนาคาร และเครดิตของผู้ถือหุ้นกลุ่มนี้ขอสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์ใดก็ได้ แต่เมื่อพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมทั้งหมด ถือว่ารายใหม่ที่จะเข้ามานั้นมีความเสี่ยงสูงมาก"

แผนสร้าง SH ร้อน

วาณิชธนากรรายหนึ่งกล่าวว่า ตามที่ SH ชี้แจงในเรื่องของผลตอบแทนจากการลงทุนที่จะได้ 9.67-20.05% นั้นถือว่าเป็นอัตราผลตอบแทนที่ดี ส่วนระยะเวลาในการคืนทุนที่ 5.14-6.90 ปีนั้นถือว่าเป็นไปตามสภาพของตัวธุรกิจ แต่นักลงทุนต้องไม่ลืมว่าบุญอเนกมีเฉพาะที่ดินและใบอนุญาตยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้างโรงงานเลย กว่าจะเสร็จอีก 18-24 เดือน ทาง SH จะพึ่งรายได้จากธุรกิจเดิมคืออาหารทะเลแช่แข็งจะเพียงพอต่อต้นทุนใหม่ที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะ 9 เดือนของปี 2549 ที่ผ่านมาบริษัทยังอยู่ในภาวะขาดทุน

ถึงวันนี้ธุรกิจใหม่ของ SH จึงไม่ใช่ธุรกิจที่สร้างรายได้ทันที บริษัทอาจต้องแบกภาระขาดทุนเพิ่มจากต้นทุนการกู้ยืมเงินเพื่อก่อสร้างโรงงาน แต่อีกสิ่งหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นนั่นคือราคาหุ้น SH ที่นิ่งสนิทมาเป็นเวลานานอาจจะกลับขึ้นมาเป็นหุ้นยอดนิยมของนักเก็งกำไรได้อีกครั้ง เห็นได้จากรายชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องล้วนแล้วแต่อยู่ในวิสัยที่จะชุบชีวิตให้ SH กลับมาคึกคักได้ไม่ยาก ซึ่งเรื่องนี้นักลงทุนคงต้องตัดสินใจเอง เพราะอีกไม่นานกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่จะต้องกระจายหุ้นออกมา

สำหรับนักลงทุนทั่วไปคงต้องพิจารณาให้ดีว่า ควรจะลงทุนหรือไม่ ตลาดหลักทรัพย์ชี้ให้ชี้แจงถึง 7 ครั้งถือว่าหุ้นตัวนี้ไม่ธรรมดา นอกจากนี้มติในการเข้าซื้อบุญอเนกนั้นยังมีรายการที่เพิ่มเข้ามาอีกคือบริษัทเจริญพร พลังงานจำกัด ซึ่งตรงนี้ยังไม่ทราบที่มาที่ไปหรือโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทเจริญพร เชื่อว่าอีกไม่นานทางตลาดหลักทรัพย์คงต้องให้ชี้แจงเรื่องที่มาที่ไปของบริษัทนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.