|
เศรษฐกิจซบเซาแต่ภาคการเงินไม่เซื่องซึมสมรภูมิช่วงชิงฐานลูกค้ารายย่อยยังดุเดือด
ผู้จัดการรายสัปดาห์(19 กุมภาพันธ์ 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
เศรษฐกิจที่มีกลิ่นอายของความเซื่องซึมมิได้ลดอุณหภูมิการแข่งขันของภาคการเงินให้เย็นลงแต่ประการใด...ความร้อนแรงดุเดือดในการช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดโดยเฉพาะฐานลูกค้ารายย่อยยังดำเนินต่อไปภายใต้โอกาสที่ไม่เอื้ออำนวยนัก แต่ถึงกระนั้นทุกสถาบันต่างไม่ยอมลดราวาศอกให้คู่แข่งเข้ามาช่วงชิงเค้กของตน....ตรงข้ามกลับบุกตะลุยสู้เหมือนผู้รู้ที่เห็นโอกาสอยู่เบื้องหน้า หรือนั่นเพราะทุกฝ่ายต่างคิดในทิศทางเดียวกันว่าในวิกฤติย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นเสมอ
แม้เศรษฐกิจไทยยังไกลโพ้นความวิกฤติ แต่ก็มิอาจปฏิเสธว่าขณะนี้ความซบเซากำลังมาเยือน...จริงๆ สัญญาณเริ่มก่อตัวมานานแล้ว นับจริงก็ตั้งแต่ยุครัฐบาลรักษาการครองอำนาจ...
ความซบเซาเป็นผลมาจากความอ่อนแอของมหาอำนาจ "สหรัฐ" ต้องเผชิญกับภาวะความเปราะบางของเศรษฐกิจในประเทศตน ความอ่อนล้าลามไปทั่วเสมือนโรคติดต่อ เป็นภาวะที่ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกอ่อนแรงและซึมไป ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ได้รับผลดังกล่าว
แต่การที่เศรษฐกิจไม่โชติช่วงดั่งอดีตที่ผ่านมา...ใช่จะบั่นทอนภาคธุรกิจให้หมดไฟตามไปด้วยโดยเฉพาะกับภาคการเงิน เมื่อวัดอุณหภูมิการแข่งขันแล้วยังคงร้อนระอุไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อนๆ แม้มีศึกหลายด้านให้ต้องเป็นภาระก็ตาม เช่นการสร้างฐานะความแข็งแกร่งให้แบงก์ด้วยการตั้งสำรองตามเกณฑ์มาตรฐานบัญชีใหม่ (IAS 39) ที่กล่าวได้ว่าเล่นเอาแบงก์หลายแห่งถึงกับเหงื่อซึม....แต่สุดท้ายแล้วก็มิได้ทำให้แบงก์ทั้งระบบต้องหยุดเดิน....
สมรภูมิจึงคงไว้ซึ่งนักรบต่อไป "ทหารไทย" ก็เป็นหนึ่งในนักรบหลายรายที่สู้ไม่ถอยแม้ต้องเผชิญศึกหนักโดยเฉพาะปัญหาการเพิ่มทุน
ลือชา ศุกรเสพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานธุรกิจรายย่อย มิอาจกล่าวได้ถึงปัญหาการเพิ่มทุน หากแต่กล่าวเฉพาะหน้าที่ในสิ่งที่ตนรับผิดชอบ นั่นคือการเพิ่มและขยายฐานลูกค้ารายย่อยให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ หลังจากอดีตที่ผ่านมาแบงก์แห่งนี้เปิดประตูต้องรับลูกค้าองค์กรเป็นเสียส่วนใหญ่
ภายใต้งานมหกรรมการเงิน 2007 ที่โคราช (นครราชสีมา) เป็นพื้นที่ให้สถาบันการเงินแต่ละแห่งประชันจุดเด่นเพื่อดึงดูดลูกค้ารายย่อยเข้าสู่ฐานระบบตน....
แต่ดูเหมือนว่า การมาของแบงก์ทหารไทยจะยังไม่ใช่เพื่อการแข่งขันที่แท้จริง กลับกลายเป็นว่ามาเพื่อเปิดตัวทำความรู้จักลูกค้ารายย่อยให้มากขึ้น ซึ่งในอนาคตนำไปสูการขยายตลาดได้ ดังนั้นลูกเล่นในการเสนอผลิตภัณฑ์การเงินจากแบงก์ทหารไทยไม่หวือหวาหรือโดดเด่นมากนัก
ผิดกับ "ออมสิน" ลูกเล่นทางการตลาดที่แพรวพราวช่วยดึงลูกค้าเข้าแบงก์ได้มากที่เดียว กับแนวคิดส่งเสริมการออมแบบธรรมดาที่ไม่ธรรมดา ด้วยการทำตราประทับคำว่า "กูให้มึงออม มึงจะได้ไม่จน" เป็นพรจากหลวงพ่อคูณมอบแก่ศิษยานุศิษย์ทุกคน และตราประทับแกะขึ้นจากลายมือจริงของหลวงพ่อคูณ พร้อมผ่านการทำพิธีปลุกเสก ซึ่งออมสินจะนำตราประทับดังกล่าวประทับลงบนผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินทุกประเภทที่ลูกค้าใช้บริการ
อีกหนึ่งสถาบันการเงินที่ไม่ยอมน้อยหน้าใครก็หนีไม่พ้น "เมืองไทยประกันชีวิต" งานนี้ทุ่มสุดตัวเปิดถึง 2 บูธ "สาระ ล่ำซำ" กรรมการผู้จัดการใหญ่ บอกว่า เพราะโคราชเป็นตลาดใหญ่ทางภาคอีสาน และเป็นตลาดที่บริษัทให้ความสนใจขยายฐานซึ่งเป็นนโยบาย ที่ต้องการเพิ่มจำนวนลูกค้าในภูมิภาคมากขึ้น ดังนั้นส่วนหนึ่งของการเปิดถึง 2 บูธ ก็เพื่อประชาสัมพันธ์ อีกส่วนเพื่อกิจกรรมบันเทิงที่มีสาระ (Edutainment) ที่ถือเป็นไฮไลท์ ของ "เมืองไทยประกันชีวิต"ก็ว่าได้
และมากกว่าการประชาสัมพันธ์ "เมืองไทยประกันชีวิต" ไม่เคยลืมคอนเซ็ป ความบันเทิง สีสันของงานนี้จึงมีศิลปินดารามาร่วมกิจกรรมสร้างความบันเทิงให้ผู้มาเยือนบูธอีกด้วย ขณะเดียวกันอาจได้สิทธิพิเศษที่ต่างออกไปจากกิจกรรมที่มีในบูธ เช่นรับบัตร คอนเสิร์ต "Bird เปิดฟลอร์" เป็นต้น เพียงแต่ต้องอยู่ในเงือนไขการทำประกันชีวิตในแบบที่บริษัทกำหนด
ถือเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งที่ภาคการเงินสะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันที่ขับเคี่ยวกันเข้มข้น ซึ่งนอกจากประชันจุดเด่นองค์กรแล้ว ยังคาดหวังที่จะขยายฐานลูกค้ารายย่อยพร้อมกินส่วนแบ่งตลาดของคู่แข่งให้มากยิ่งขึ้น ห้วงเวลานี้จึงดูเหมือน "ภาคการเงิน" ประกาศรบในสถานการณ์ที่ไม่เอื้อเท่าใดนัก...แต่ดูเหมือนไม่มีสิ่งใดที่จะหยุดยั้งความคิดและการกระทำของสถาบันเหล่านี้ได้....อาจเพราะผู้นำทัพ (ผู้บริหาร) เกรงว่าการนิ่งเฉยอาจทำให้เสียอาณาจักรพื้นที่ครอบครอง หรืออีกมุมคิดในทางเดียวกันว่าสถานการณ์ตอนนี้ยังห่างไกลคำว่า "วิกฤติ"
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|