"เอ็มเอฟซี" เดินเกมรุก FIF เต็มพิกัดหวังใช้เป็นฐาน ตั้งเป้าโต สู้ บลจ.เครือแบงก์ยักษ์ใหญ่


ผู้จัดการรายสัปดาห์(19 กุมภาพันธ์ 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

จับทิศ "เอ็มเอฟซี" ตั้งเป้าบุกเอาดีกับการลงทุนหุ้นในต่างประเทศ ตลอดปี 50 นี้ เรียงคิวกันออกถึง 6 กอง หวังใช้เป็นหมัดเด็ดในการต่อกรแย่งชิงเม็ดเงินกับ บลจ.เครือแบงก์ยักษ์ใหญ่ ชูจุดเด่นมีทีมงานและระบบคอมพิวเตอร์บริหารเอง ผลงานที่ผ่านมาเอาชนะดัชนีมาตรฐานได้ ลุยจับฐานลูกค้าเดิมและสถาบันเป็นหลักเหตุเสียเปรียบเรื่องสาขาช่องทางการจัดจำหน่าย

หากนับลำดับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ตามจำนวนสินทรัพย์ภายใต้การบริหารแล้ว "เอ็มเอฟซี" ถือได้ว่ามีเม็ดเงินมากเป็นที่ 3 แต่หากไม่นับรวมพอร์ตของกองทุนวายุภักษ์แล้วก็จะพบว่า "เอ็มเอฟซี" อยู่ในลำดับ 8 เท่านั้น ดังนั้นการตั้งหลักปักทิศเติบโตด้วยการเปิดกองทุนใหม่ๆในช่วงต่อจากนี้ไปคือสิ่งจำเป็นอย่างมาก เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งเม็ดเงินในตลาดกองทุนรวมนอกจากนี้ยังถือเป็นการลดความเสี่ยงหากในอนาคตกองทุนนี้จะครบกำหนดไถ่ถอนอีกด้วย

ดร.พิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ. เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานในปี 2550 ว่า ได้ตั้งเป้าหมายมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจัดการอยู่ที่ 2.32 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 3 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินสุทธิให้เป็น 4 แสนล้านบาท ภายในปี 2553 เพื่อยกระดับให้เป็นบริษัทจัดการกองทุนชั้นนำระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยตั้งเป้าที่จะเติบโตให้ได้อย่างต่อเนื่องปีละ 15%

สำหรับกองทุนใหม่ที่จะเปิดตัวในปีนี้มีทั้งสิ้น 19 กอง แบ่งเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีผลตอบแทนอิงกับค่าดัชนีต่างๆ 5 กองทุน กองทุนรวมตราสารทุน 4 กองทุน กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) 6 กองทุน กองทุน Private Equity จำนวน 2 กองทุน และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์อีก 2 กองทุน

การตั้งเป้าในลักษณะนี้ ดูผิวเผินก็อาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดาไม่ใช่อะไรที่แปลกใหม่เพราะทุก บลจ.ต่างก็จะมีการกำหนดเป้าหมายแบบเดียวกันนี้ในทุกช่วงต้นปีคล้ายๆ กัน แต่หากสังเกตให้ลึกลงไปก็จะพบว่าการออก FIF ถึง 6 กอง ซึ่งมากเท่ากับ FIF ที่ "เอ็มเอฟซี" บริหารอยู่ในขณะนี้ทั้งหมด หลังจากใช้เวลาตลอด 4 ปีที่ผ่านมาปั้นผีลุกปลุกผีนั่งกับกองทุนประเภทนี้มา ถือเป็นการเติบโต 100% ภายในปีเดียว (ในด้านจำนวนกองทุน) และมากกว่าจำนวน FIF ของ แต่ละ บลจ.ที่จะมีการตั้งกองใหม่ในปีนี้หรือบริหารอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งชี้ให้เห็นได้ว่าเป็นการตั้งเป้าบุกครั้งสำคัญ

สิ่งนี้ถือเป็นนัยยะที่สำคัญที่บ่งบอกทิศทางอันชัดเจนของ "เอ็มเอฟซี" ในช่วงต่อจากนี้ไป ภายใต้การต่อสู้ในสมรภูมิ บลจ.เครือแบงก์ที่มีสินทรัพย์ในการบริหารงานสูงสุด 5 อันดับแรก ซึ่งต่าง บลจ.ต่างก็มีหมัดเด็ดและศักยภาพที่แข็งแกร่งด้วยการหนุนหลังจากธนาคารพาณิชย์ผู้ถือหุ้นใหญ่

ดร.ศุภกร สุนทรกิจ ผู้ช่วยผู้จัดการและผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บลจ. เอ็มเอฟซี กล่าวว่า ปัจจุบัน "เอ็มเอฟซี" มี FIF ภายใต้การบริหารทั้งหมด 6 กองด้วยกัน ซึ่งมีทั้งประเภทที่บริหารเอง และเป็น Fund Of Fund ลงทุนในกองทุนอื่นต่อ โดยถ้าเป็นกองทุนที่ลงทุนตราสารทุนในภูมิภาคเอเชีย "เอ็มเอฟซี" ก็จะใช้ทีมงานบริหารจัดการเอง แต่ถ้าเป็นการลงทุนในพันธบัตร ตราสารหนี้ และสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งมีความยุ่งยากและซับซ้อนมากกว่าก็จะใช้วิธีลงทุนต่อในกองทุนอื่นอีกทอดหนึ่ง ซึ่งจากผลงานที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็น FIF ที่ลงทุนโดยตรงหรือโดยอ้อมนั้นก็สามารถเอาชนะดัชนี MSCI ซึ่งเป็นดัชนีเปรียบเทียบมาตรฐานได้หมด

ทั้งนี้"เอ็มเอฟซี" ถือได้ว่าเป็น บลจ.ไทย รายแรกและรายเดียวในขณะนี้ที่มีทีมงานในการบริหาร FIF ตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง โดยมีการพัฒนาทีมงานและระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการวิเคราะห์หุ้นโดยอัตโนมัติ แยกได้เป็น Gobal Team เป็นบุคลากรซึ่งมีความรู้และเข้าใจ สามารถวิเคราะห์หลักทรัพย์ ตัดสินใจสั่งซื้อขายตามสัญญาณ รวมถึงเป็นผู้เลือกหุ้นเลือกประเทศและกำหนดสัดส่วนการลงทุนภายใต้การวิเคราะห์เชิงคุณภาพและปริมาณ ขณะที่ Quantitative Team จะเป็นทีมงานที่สร้างแบบจำลองโมเดลการลงทุนและนวัตกรรมโปรแกรมด้วยคอมพิวเตอร์มาประยุกต์ใช้กับการลงทุน อาทิ การหาจังหวะซื้อ-ขาย, หยุดความสูญเสีย(Stop lost), การซื้อกลับ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีขึ้นและควบคุมความเสี่ยง ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

"แม้วันนี้ "เอ็มเอฟซี" จะยังใช้ผู้จัดการกองทุนเป็นแกนหลักในการตัดสินใจอยู่ก็ตาม บางกองทุนให้น้ำหนัก 70% บางกอกทุนให้น้ำหนัก 50:50 แต่ในอนาคตแล้ว Quantitative Team อาจจะมีน้ำหนักในการตัดสินใจเป็นส่วนใหญ่ก็ได้ ซึ่งแม้จะใช้คนน้อยทำให้คล่องตัวกว่าก็จริง แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรดีกว่าอะไรเพราะเป็นเรื่องของอนาคตที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆให้ลงตัวและเหมาะสมมากที่สุด"

นอกจากการมีทีมงานบริหารการลงทุนเองซึ่งถือได้ว่าเป็นกลยุทธ์ที่แตกต่างกับ บลจ.อื่นๆ แล้ว ในด้านต้นทุน การเปิด FIF จำนวนมากนี้ก็ยังสามารถช่วยในการเฉลี่ยต้นทุน ทำให้ค่าใช้จ่ายในการบริหารงานต่อกองเกิดการประหยัดต่อขนาดและถูกลง รวมถึงยังเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนก้าวสู่การขยายงานรุกทำตลาดในภูมิภาคนี้ตามแผนงานของ "เอ็มเอฟซี" อีกด้วย

ขณะที่ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย แม้ "เอ็มเอฟซี" จะเป็นรอง บลจ.ยักษ์ใหญ่อื่นๆ อยู่มากในเรื่องการมีสาขาของธนาคารพาณิชย์ในเครือข่ายช่วยกระจายผลิตภัณฑ์สู่ลูกค้ารายย่อย สุนทร พจน์ธนมาศ รองกรรมการผู้จัดการบลจ. เอ็มเอฟซี กล่าวว่า จริงอยู่ที่แบงก์ใหญ่มีอิทธิพลในการเพิ่มของฐานลูกค้า แต่ทว่า 30ปีที่ผ่านมาของ "เอ็มเอฟซี" ส่งผลถึงความได้เปรียบจากการมีฐานลูกค้ารายย่อยจำนวนมากซึ่งก็ต้องเจาะกลุ่มเป้าหมายส่วนนี้ก่อน อาทิการจัดสัมมนา มีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้ามากขึ้น มีการเปิดเคาท์เตอร์-คอลเซ็นเตอร์ให้คำปรึกษาการลงทุนที่ตึกคอลัมน์ทาวเวอร์ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ รวมถึงบริการด้านอินเทอร์เน็ตและกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจากับธนาคารออมสินเพื่ออาศัยสาขาให้บริการและเข้าถึงลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามที่จะนำผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างนี้ไปเสนอกลุ่มลูกค้าสถาบันด้วยเช่นกันซึ่งก็คาดว่าน่าจะช่วยเพิ่มเม็ดเงินภายใต้การบริหารได้มากและมีศักยภาพพอที่จะแข่งขันกับ บลจ.อื่นๆ ได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.