แผนควบรวม “RRC-ATC” ฉลุยผู้ถือหุ้นเฮ!สูตร 1+1 มากกว่า 2 !


ผู้จัดการรายสัปดาห์(19 กุมภาพันธ์ 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

“ชายน้อย เผื่อนโกสุม” บิ๊กบอสโรงกลั่นน้ำมันระยองระบุ เจรจา ATC ลุล่วงคาดอีก 6 เดือนควบรวมกิจการสำเร็จ ตั้งเป้าสร้าง Synergy benefit มากที่สุดบนสมการ 1+1 มากกว่า 2 มั่นใจธุรกิจ “ปิโตรเคมี” ไปได้สวยแค่ความต้องการใช้ในประเทศยังผลิตไม่ทัน ชี้อนาคตธุรกิจกลั่นน้ำมันจะอยู่ในระดับทรงตัว

กรณีที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ไฟเขียวให้บริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด (มหาชน) หรือ RRC และบริษัท อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) หรือ ATC ปรับแผนการควบรวมกิจการระหว่าง RRC กับ ATC แต่จะด้วยรูปแบบใดยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ซึ่งจะต้องรอผลการศึกษาอย่างเป็นทางการเพื่อให้เกิดประโยชน์กับทั้ง 2 บริษัทและผู้ถือหุ้นมากที่สุด อย่างไรก็ดีในหลักการแล้วบริษัทขนาดใหญ่ย่อมซื้อกิจการบริษัทเล็กซึ่งปัจจุบัน RRC มีมูลค่าตลาด (มาร์เกตแคป) รายได้และทรัพย์สินมากกว่า ATC ขณะที่บริษัทแม่อย่างปตท.ได้ตั้งเป้าไว้ว่า RRC มีรายได้รวม 1.5 แสนล้านบาท และ ATC มีรายได้ 6 หมื่นล้านบาท (เมื่อปี2549) เมื่อรวมกับรายได้จากส่วนขยายโรงงานอะโรเมติกส์หน่วยที่ 2 และกำลังการกลั่นน้ำมัน RRC ที่จะเพิ่มขึ้นอีก 6.5 หมื่นบาร์เรล/วันเป็น 2.1 แสนบาร์เรล/วัน เมื่อควบรวมกิจการแล้วจะกลายเป็นบริษัทที่มียอดขายถึง 2 แสนกว่าล้านบาท ในอนาคต

ชายน้อย เผื่อนโกสุม กรรมการผู้จัดการใหญ่โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด (มหาชน) หรือ RRC กล่าวถึงความคืบหน้าในการควบรวมกิจการระหว่าง RRC และบริษัท อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ATC ว่า จากกรณี RRC และ ATC มีแผนจะควบรวมกิจการจะทำให้เกิด Synergy benefit เพิ่มขึ้นเยอะทั้ง 2 ฝ่ายจึงมาตกลงกันว่าเป็นไปได้ไหมว่าจะมาควบรวมกันซึ่งมีแผนตั้งแต่ปลายปีแล้ว ซึ่งได้ว่าจ้างบริษัทขึ้นมาศึกษาความเป็นไปได้จากการทำงานทั้ง 2 บริษัทพร้อมกัน ซึ่งจากศึกษาพบว่ามันมีประโยชน์มาก RRC และATC จึงมาดูกันต่อว่าจะควบรวมกันแบบไหน

6 เดือน ATC – RRC ควบรวมเสร็จ

ในเบื้องต้นการควบรวมกิจการมี 3 แนวทาง คือ 1.อาจจะทำสัญญาแลกเปลี่ยนซื้อขายอินเตอร์มีเดีย (Inter media) ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องภาษี เพราะเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดต่างคนต่างได้ประโยชน์ แล้วมาตกลงแบ่งผลประโยชน์กันอย่างที่เคยร่วมงานกันในส่วนขยายมาแล้ว 2. นำ 2 บริษัทมารวมกันแล้วเกิดบริษัทใหม่เป็นเจ้าของกิจการร่วมกัน แต่อาจจะติดขัดเรื่องสัญญาที่แต่ละบริษัทมีกับบุคคลที่3 และ สุดท้าย 3. ซื้อขายซึ่งกันและกันเพื่อจะทำให้ทั้ง 2 บริษัทมีฐานะเป็นนิติบุคคลเหมือนเดิมแต่จะมีบริษัทหนึ่งต้องออกจากตลาดหลักทรัพย์ ทั้ง 3วิธีที่กล่าวที่มีเป้าหมายเดียวคือทำอย่างไรให้เกิด Synergy benefit มากที่สุดและไม่ว่าวิธีใดแต่ระยะเวลาที่จะควบรวมกันอย่างเร็วที่สุดอย่างน้อย 6-9 เดือน

อย่างไรก็ดีเมื่อการควบรวมกิจการเรียบร้อยและการก่อสร้างโรงงานทั้ง Reforming Complex ของ RRC กับ Aromatics Complex ของ ATCเสร็จสิ้น RRC จะมีกำลังการผลิต 210,000บาร์เรลต่อวันขณะที่ ATC ก็จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 2,000,000 ตัน จะนำส่วนที่ผลิตเพิ่มขึ้นมาแชร์กันคือทั้ง 65,000บาร์เรลของ RRC และ 1,000,000 ตันของ ATC ดังนั้น RRC ก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากปิโตรเคมี 500,000 ตันส่วน ATC จะได้น้ำมันเพิ่มขึ้น 30,000 บาร์เรล

“เมื่อรวมกันแล้วเราจะมี value add เยอะมากๆ ซึ่งจะไม่ใช่ 1+1 เท่ากับ 2 แต่มีกำไรเพิ่มขึ้นเยอะมากๆ” ชายน้อย ระบุ

ปี’51 ทั้ง 2 โรงงานใหม่เดือนเครื่อง

นอกจากนี้แล้วการสร้างโรงงาน Reforming Complex ที่ขณะนี้เดินหน้ากว่า 50% ที่จะผลิตรีฟอร์เมต (Reformate) เพื่อป้อนโรงงาน Aromatics Complex ของ ATC ซึ่งคาดว่าทั้งสอง 2 โรงงาน จะแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2008 โดยเมื่อเสร็จแล้วทาง RRC มีหน้าที่เอาคอนเดนเสท (Condensate) มากลั่นอีก 65,000 บาร์เรล แล้วส่งรีฟอร์เมตให้แก่ ATC ส่วนที่เหลือก็จะนำมาผลิตเป็นเบนซิน, ดีเซลซึ่งเมื่อถึงตอนนั้น RRC จะมีกำลังการกลั่นเพิ่มขึ้นจาก 145,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 210,000 บาร์เรลต่อวัน ข้อตกลงร่วมกันคือเอา benefit มารวมกันแล้วหารยาวตามเงินลงทุนของแต่ละบริษัทจะสัดส่วนกำไรที่ใกล้เคียงกันคือ 49% กับ 51%

ส่วนอีกโครงการคือส่วน Upgrading คือส่วนที่เหลือจากที่ RRC ส่งคอนเดนเสทกลั่นให้ ATC จะมีส่วนหนึ่งที่เป็น Condensate Residue ที่เหลือมาอัพเกรดให้เป็นน้ำมันที่มีคุณภาพมากขึ้น ตั้งเป้าว่าจะให้เสร็จพร้อมกันกำลังจ้างผู้รับเหมาให้ออกแบบคาดว่าจะเสร็จทันปลายปี 2008

นอกจากนี้สังคมกำลังจับตามองว่าการควบรวมกิจการระหว่าง RRC และ ATC จะเป็นผู้นำด้านปิโตรเคมี คงไม่ใช่เสียทั้งหมด เพราะต้องไม่ลืมว่าการผลิตปิโตรเคมีในประเทศไทยแบ่งออกเป็น2ประเภท 1.Gas base คือเอาแก๊สธรรมชาติที่ขุดเจาะได้ในประเทศและต่างประเทศมาผลิตทำปิโตรเคมีธุรกิจผู้นำประเภทนี้คือ PTTCH 2.liquid base คือนำแนฟต้า (Naphtha) มาผลิตปริโตเคมีในส่วนของ ATC ที่ RCC จะเข้าควบรวมกิจการก็จะเป็นผู้นำด้านนี้

แยกการกลั่นจาก SPRC ปี’52 ATC แฮปปี้วัตถุดิบมั่นคง

ขณะเดียวกัน RRC ยังมีโครงการแยกการกลั่นจากบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด หรือ SPRC ซึ่งมีสัญญาร่วมกันว่า 2 บริษัทจะสามารถแยกการกลั่นออกจากกันโดยไม่ต้องเชื่อมกันจะเริ่มในเดือนกุมภาพันธ์ 2009 ในแยกการกลั่นออกจากกันได้และถึงตอนนั้น RRC ก็จะได้ Synergy benefit กับ ATC พอดี

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าปตท.ให้ RRC เข้าไปถือหุ้นในส่วนของ Chevron ที่ถืออยู่ใน SPRC นั้นต้องยอมรับว่าสำหรับ SPRC มีปตท.ถืออยู่ 36% และ Chevron ถืออยู่ 64% ก่อนหน้านี้ RRC จะเข้าตลาดหลักทรัพย์มีความพยายามจะนำ RRC กับ SPRC พยายามจะควบรวมกันแต่เนื่องจากว่าการเจรจายังมีความไม่ลงตัวเพราะในด้านนโยบายการทำธุรกิจไม่ค่อยเหมือนกัน จากนั้นจึงแยกกันเข้าตลาดหลักทรัพย์

กรรมการผู้จัดการใหญ่โรงกลั่นน้ำมันระยอง ย้ำด้วยว่าในอนาคตหากปตท.จะไปคุยกับ Chevron ว่าจะดำเนินการอย่างไรแล้วให้ RRC เข้าไปถือหุ้นก็จะไม่มีผลที่ RRC และ ATC จะทำ Synergy benefit ร่วมกัน เพราะสิ่ง RRC ทำร่วมกับ ATC เป็นช่วงบนหรือ LIGHT END ของผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเรื่องน้ำมันเบนซิน น้ำมันส่วนเบาที่เอาไปทำปิโตรเคมีคอลได้ส่วนที่จะดีลกับ SPRC ในอนาคตนั้นเป็นการผลิตส่วนกลางและส่วนล่างเพราะฉะนั้นเมื่อควบรวมรวมกับ ATC แล้วแต่ Chevron จะมาทำอะไรที่หลังจะมี Synergy ร่วมกันยังทำได้ RRC เพิ่มศักยภาพ

ATC สู่ผู้นำปิโตรเคมีสายอะโรเมติกส์

สำหรับ ATC ในการควบรวมกับ RRC ครั้งนี้คือได้รับประโยชน์จากความมั่นคงของการจัดหาวัตถุดิบ Reformate ซึ่งจะมาจากโรงงาน Reforming Complex และจากการผลิตของโรงกลั่น RRCนอกจากนั้น ATC ยังจะสามารถใช้เงินลงทุนที่ลดลงดังกล่าวในโครงการอื่นๆเพิ่มเติม เช่น การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปลายน้ำ (Downstream Petrochemical Products) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจของ ATC อีกระดับหนึ่ง

โดยเฉพาะการศึกษาการก่อสร้างโครงการอะโรเมติกส์หน่วยที่3 นับว่าเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ของบริษัท ATC โดยเฉพาะการนำผลิตภัณฑ์รีฟอร์ทเมตที่ได้จาก RRC มาผ่านกระบวนการผลิตเพื่อผลิตเป็นสารอะโรเมติกส์ ซึ่งสารปิโตรเคมีดังกล่าวสามารถนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ขั้นปลาย ได้หลายชนิด ซึ่งการตั้งก่อสร้างอะโรเมติกส์ หน่วยที่ 3 วัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์โดยจะลงลึกไปถึงการผลิตสินค้าขั้นปลายของธุรกิจอาทิ เส้นใยสังเคราะห์ แผ่นพลาสติกใสที่มีความทนทานสูง เพื่อใช้แทนทดแทนกระจก รวมถึงชิ้นส่วนพลาสติกเกรดดีที่ใช้เฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งนี้โครงการดังกล่าวคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 300-400 ล้านเหรียญสหรัฐมีกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์พาราไซลีน 5.3 แสนตันต่อปี

อย่างไรก็ตามอนาคตของธุรกิจปิโตรเคมีสายอะโรเมติกส์ คงจะอยู่รอดหรือเติบโตโดยการขายผลิตภัณฑ์ต้นน้ำไม่ได้อีกแล้ว การมุ่งไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่ใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากขึ้นและการควบรวมกิจการกับ RRC ยิ่งทำให้การก้าวไปสู่การเป็นผู้นำปิโตรเคมีสายอะโรเมติกส์ แบบครบวงจรเร็วขึ้น

ธุรกิจโรงกลั่นเริ่มทรงตัว จีนคือตลาดหลักส่งออก

ชายน้อย เผื่อนโกสุม ยังได้วิเคราะห์ถึงธุรกิจโรงกลั่นในอนาคตว่า ตามนโยบายของประเทศความต้องการใช้น้ำมันเบนซินอาจจะไม่โตตามความคาดหวัง แต่เมื่อถึงขณะนั้น RRC จะสามารถนำน้ำมันที่ถูกกลั่นไปขายให้ ATC ได้เพราะถือว่าธุรกิจปิโตรเคมียังมีความต้องการจำนวนมากทั้งในประเทศ และต่างประเทศ อาทิ พาราไซลีน เบนซีน โทลูอีน และไซลีน โดยเฉพาะพาราไซลีนมีความต้องการมาขึ้นเรื่อยๆซึ่งคาดว่าปีหน้าจะไม่เพียงพอต่อความต้องการตลาด ขณะที่หลายคนกำลังมองว่าธุรกิจโรงกลั่นมาร์จิ้น (Margin) จะเป็นขาลงหรือไม่ก็อยู่ที่มุมมองของแต่ละคน แต่หากมองปัจจัยพื้นฐานปีนี้ถือว่ายังคงแข่งแกร่งราคาน้ำมันดิบปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 50-55เหรียญต่อบาร์เรล นอกจากนี้แล้วในอนาคตหากมองการพัฒนาของประเทศคาดว่าราคาน้ำมันจะต่ำกว่า GDPเล็กน้อยจากที่เคยสูงกว่า GDPอยู่ที่ 1.3-1.4 % เพราะภาครัฐมีนโยบายปรับปรุงการใช้พลังงานในระบบขนส่งมวลชน

ส่วนภาคการส่งออกในปัจจุบันประเทศจีนถือว่ามีความต้องการสูงมากทั้งน้ำมัน และปิโตรเคมีโดยเฉพาะปีหน้าที่ประเทศจีนจะจัดกีฬาโอลิมปิค 2008 จึงมีความต้องการแทบทุกด้านขณะที่การสร้างโรงกลั่นใหม่ก็อยู่อัตราที่สูงมากคือ 20,000เหรียญต่อบาร์เรล ปัจจุบันกำลังดำเนินการก่อสร้างหลายแห่งในตะวันออกกลาง และอินเดีย ซึ่งนักธุรกิจกลุ่มนี้ยังใจเย็นไม่รีบร้อนที่จะต้องให้เสร็จภายใน1-2ปีนี้เพราะอุปกรณ์ต้องนำเข้าทั้งหมดและต้องการแรงงานจากต่างประเทศด้วยดังนั้นจะไม่กระทบต่อธุรกิจการกลั่นและปิโตรเคมีของไทย

บัวหลวงเชื่อ‘อะโรเมติกส์’ยังทำกำไร

บมจ.หลักทรัพย์บัวหลวงวิเคราะห์ว่าอุตสาหกรรมอะโรเมติกส์ยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้นเพราะกำลังการผลิต PTA เพิ่มเติมจำนวนมากจะส่งผลให้ปริมาณอุปสงค์-อุปทานในปี 2550 ตึงตัว ในขณะที่ความล่าช้าของโครงการอะโรเมติกส์ใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในตะวันออกกลาง จะช่วยคลายความกังวลเกี่ยวกับโอกาสที่จะมีอุปทานสารเบนซีนจะล้นตลาด ผู้บริหารเชื่อว่าการผลิตสารอะโรเมติกส์จะยังคงทำกำไรในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าจนกระทั่งวงจรอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขาลงกลับมาในปี 2553-2554

ขณะที่การรวมธุรกิจ ATC-RRC อาจชะลอออกไปจนถึงไตรมาส 1/2551 ผู้บริหาร PTT มองว่าการรวมกิจการอาจเลื่อนออกไปจนกระทั่งไตรมาส 1/51 เพื่อให้ ATC สามารถใช้ประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ทางภาษียกมาจำนวน 8,000 ล้านบาท PTT ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการในการควบรวมกิจการโดยปัจจุบัน PTT กำลังเจรจากับกรมสรรพากรเกี่ยวกับประเด็นภาษีที่เกี่ยวข้องในการรวมกิจการ

ส่วนปรับเพิ่มประมาณการตามความเชื่อที่ว่าอุตสาหกรรมอะโรเมติกส์จะยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้นเป็นเวลานานกว่าปกติ ATC น่าจะมีการซื้อขายในช่วงกลางวัฏจักรมากกว่าในช่วงขาลง ในอดีตหุ้นมีการซื้อขายที่ระดับ PER 7.0x-8.0x ในช่วงกลางวัฏจักร ตามประมาณการกำไรปี 2550 ที่ค่อนข้าง Conservative ของเราที่ 7.1 บาทต่อหุ้น (ประมาณการของตลาดอยู่ที่ 7.4บาทต่อหุ้น) ราคาหุ้นอาจปรับตัวขึ้นสูงขึ้นไปอยู่ที่ 50-57 บาทต่อหุ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.