ศิลปกรรมใน "กสิกรไทย การ์เด้น"

โดย ลักขณา ศิริวรรณ
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ชีวิตคนทำงานไม่กี่ปีมานี้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเห็นได้อย่างชัดเจน ภาพที่เห็นจนชินตาคือการทำงานในห้องที่มีผนังกั้นเป็นล็อก ตรงหน้ามีจอสว่างวาบของคอมพิวเตอร์ แทนการก้มหน้าดูเอกสาร บนโต๊ะ ชีวิตการทำงานที่เปลี่ยนไปทำให้สภาพแวดล้อมรอบตัวเราเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น อาจเป็นเพราะมนุษย์ต่างจากสัตว์ตรงที่เราไม่เพียงพยายามที่จะพัฒนาชีวภาพของร่างกายเท่านั้น เรายังพยายามที่จะจัดระบบสภาพแวดล้อมให้ กลมกลืนและมีประโยชน์ต่อความเป็นอยู่มากขึ้นด้วย

เรื่องนี้ถ้าดูไปแล้วนับเป็นเรื่องใหญ่มาก ที่เราต้องศึกษาความเป็นไปของสภาพแวดล้อมให้มาก เพื่อปรับสภาพแวดล้อมให้เข้ากับเราอย่างมีประโยชน์ คุ้มค่ามากที่สุด เพราะการพัฒนาความเจริญของมนุษย์เป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำลายสภาพแวดล้อม ครั้งแล้วครั้งเล่า มันเป็นสภาพที่ทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้นแต่ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ดูตัวอย่างง่ายๆ บางสำนักงานไม่มีที่ว่างตั้งโต๊ะทำงานให้พอเพียงกับจำนวนคนทำงาน เนื่อง จากค่าเช่าพื้นที่มีราคาแพง การจัดและออกแบบสำนักงานระบบใหม่ที่เน้นพื้นที่ใช้สอยเป็นเรื่องหลักมากกว่าหลักความสวยงามและฟุ่มเฟือย

แต่สิ่งหนึ่งที่นับวันจะเป็นเรื่องหลักให้สถานที่ทำงานนำมาคิดเพื่อการออกแบบคือเรื่องของCorporate Garden เพราะปัจจุบันนักบริหารสมัยใหม่ต่างให้ความสนใจในเรื่องของสภาพแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในสำนักงานว่า เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในห้องที่ไม่เห็นแสงเดือนแสงตะวันเลยนั้น ต้นไม้มีส่วนช่วยลดความเครียดจากการทำงานและเพิ่มผลผลิตการทำงานให้มากขึ้นด้วย

การศึกษานี้เป็นผลงานของ Virginia I. Lohr, Caroline H. Pearson-Mims, and Georgia K. Goodwin แห่ง Department of Horticulture and Landscape Architectur Washington State University

รายงานนี้ได้กล่าวถึงการศึกษาของการนำต้นไม้เข้าไปตกแต่งในที่ทำงานที่ไม่มีหน้าต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องทำงานคอมพิวเตอร์ ปรากฏว่าปริมาณการทำงานเพิ่มขึ้น 12% และความดันโลหิต ของผู้ปฏิบัติงานลดลงจากเดิมหนึ่งในสี่

ทั้งยังมีรายงานการศึกษาของ Prof. Dr. Tove Fjeld, Agricultural University of Norway ศึกษาว่า "ต้นไม้ในที่ทำงานช่วยให้สุขภาพคนดีขึ้นจริงหรือ" รายงานฉบับนี้พบว่า ต้นไม้มีส่วนช่วยจริง โดยการทดลองสภาพแวดล้อมของห้องผู้ป่วยที่ไม่มีต้นไม้เลยมีแต่หน้าต่างมองไปที่ลานจอดรถ กับห้องที่มี หน้าต่างมองเห็นต้นไม้เต็มตา พบว่าสุขภาพของคนป่วยในสภาพแวดล้อมหลังจะหายเร็วดีกว่า และการทดลองในห้องทำงานที่ไม่มีต้นไม้กับห้องที่มีต้นไม้ ปรากฏว่าการตรวจสุขภาพหลังจากการทำงานผ่านไปสามเดือนเปรียบเทียบกัน คนทำงานในสภาพห้องที่มีต้นไม้มีสุขภาพ ความดันโลหิตดีขึ้นจากเดิมและคงที่ ในขณะที่คนทำงานในห้องที่ไม่มีต้นไม้สุขภาพแย่ลง

ผลการศึกษาของทั้ง 2 ฉบับต่างพบว่าต้นไม้ ที่อยู่รอบมนุษย์นั้นมีผลต่อมนุษย์ทั้งทางด้านจิตใจและร่างกายอย่างเห็นได้ชัดเจน

ทำให้เกิดข้อสงสัยกันว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

คำอธิบายอย่างง่ายๆ คือมนุษย์นั้นเคยอยู่ป่ามาก่อน สภาพของป่าเป็นสภาพแวดล้อมดั้งเดิมที่ฝังลึกเกาะแน่นในจิตใต้สำนึกของมนุษย์ มนุษย์นั้นพร้อมที่จะปรับตัวตลอดเวลา เพื่อความอยู่รอด ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมของป่าหรือสภาพแวดล้อมของเมือง การเข้ามาอยู่ในเมืองแม้จะสบาย กายแต่จิตยังยึดติดคิดถึงธรรมชาติเดิมอยู่ตลอด

ความสำคัญของเรื่องสภาพแวดล้อมในที่ทำงานจึงเกิดขึ้น เรื่องของการจัดสวนหรือการสร้างสวนให้เป็นส่วนหนึ่งของบริษัทหรือสำนักงานจึงจำเป็นขึ้นมา สถาปนิกและนักตกแต่งภายในมีเหตุผลที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นในการออกแบบการตกแต่ง โดยนำสภาพแวดล้อมที่จะต้องอำนวยประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้งานในสถานที่นั้นๆ มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

น่าดีใจที่เจ้าของอาคารหรือผู้บริหารสำนักงานสมัยใหม่ มักจะเห็นด้วยกับการจัดสร้างสวนภายในและภายนอกอาคารสำนักงาน

ปัจจุบันวิวัฒนาการของ Corporate Garden ขยายวงออกไปอีก เหมือนการตกแต่งภายใน การตกแต่งสวนอาคารสำนักงานปัจจุบันไม่ใช่มีเพียงนำต้นไม้มาใช้อย่างเดียว ยังนำวัสดุและสิ่งของ ตลอดจนงานศิลปะ มาจัดวางไปทั้งสวน ด้วยเหตุผลว่างานศิลปะทำให้คนมองแล้วเกิดจินตนาการเป็นการผ่อนคลายความคิดความเครียดได้ดี

งานศิลปะที่นิยมนำมาวางปัจจุบันไม่พ้นงานประติมากรรมที่ทำจากหินและโลหะ นักประติมากรรมชั้นนำของทุกประเทศมักจะขายผลงานของตนได้ในราคาแพงให้กับงานที่นำออกไปโชว์อยู่กลางแจ้ง อาจเป็นเพราะผลงานเหล่านั้นต้องสื่อถึงอะไรบางอย่างที่ตรงใจสาธารณชนที่พบเห็นให้ได้

ตัวอย่างนักประติมากรรม John Brown หนึ่งในสมาชิกของสมาคมนักประติมากรรมแห่ง สหราชอาณาจักรอังกฤษในพระบรมราชินูปถัมภ์ เขาออกแบบและสร้างผลงานทางด้านประติมา กรรม เพื่อประดับใน Corporate Garden ไว้มาก มาย ผลงานของเขาเน้นให้คนที่มองผลงานชิ้นนั้นๆ เกิดความรู้สึกรับรู้อารมณ์ร่วม ให้เกิดจินตนาการและความคิด ผลงานของเขาโดยส่วนใหญ่จะออกมา เป็นรูปทรงของมนุษย์ในรูปแบบต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ อารมณ์ของมนุษย์

หลักสำคัญของงานประติมากรรมในสวนคือชื่อที่ตั้งให้งานประติมากรรมชิ้นนั้นๆ จะเน้นหรือสื่อให้คนเข้าใจผลงานมากยิ่งขึ้น จนเกิดอารมณ์ร่วมและความรู้สึกที่เป็นสากลให้เกิดขึ้นให้ได้ โดยเฉพาะงานประติมากรรมที่ประดับใน Corporate Garden ยิ่งต้องเน้นความรู้สึกดีๆ ที่เป็นสาธารณะมากขึ้นกว่างานที่จะเป็น private collection

ผลงานของ John Brown ที่เป็นประติมากรรม ใน Corporate Garden เขาตั้งชื่อไว้ว่า "Guardian" "Stillness" "Resolve" "Sentinel" เป็นต้น แต่ละชื่อที่ตั้งต้องสื่อความหมายที่เป็นภาพลักษณ์และความรู้สึกดีๆ ให้เกิดขึ้นต่อสาธารณชนที่พบ นั่นคือหลัก ของงานประติมากรรมใน Corporate Garden

งานศิลปกรรมใน Corporate Garden ในเมืองไทย ยังไม่เด่นชัดและสื่อความหมายที่ชัดเจน มักจะนำเพียงสัญลักษณ์ หรือตราของบริษัทมาแสดงประกอบงานแต่งสวนหน้าบริษัทเป็นหลักใหญ่ ไม่รู้ว่าใครเป็นต้นแบบเรื่องนี้แต่ก็เห็นทำตามๆ กันจนเป็นที่นิยมมากในเมืองไทย น่าเสียดายที่เราต่างเสียเงินเสียค่าดูแลสวนของบริษัท และสำนักงาน ปีหนึ่งๆ เป็นเงินเยอะมากแต่กลับไม่เกิดคุณค่าทางสายตาและความคิดแก่ผู้พบเห็นทั้งจากภายในและภายนอกอาคารสำนักงาน

เท่าที่สำรวจงานศิลปกรรมใน Corporate Garden ในเมืองไทย ที่มีหลักและความหมายอย่างเป็นเรื่องเป็นราวน่าสนใจ สมควรนำมากล่าวถึงเห็นตัวอย่างชัดเจน คือ "ธนาคารกสิกรไทย"

งานศิลปะกับธนาคารกสิกรไทยสะท้อนปรัชญาผัสสะศิลป์ของกรรมการผู้จัดการธนาคารฯมาตั้งแต่สมัยบัญชา ล่ำซำ มาจนถึงรุ่นลูกคือบัณฑูร ล่ำซำ แต่ละท่านรักงานศิลปะด้วยใจไม่ใช่พาณิชย์ ทั้งให้การสนับสนุนศิลปะแขนงต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

เมื่อได้คุยกับจันทรา สุขะวิริยะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายจัดการงานกลาง ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบงานศิลปกรรมทั้งหมดของธนาคาร ยิ่งแน่ใจว่า การที่ธนาคารให้การสนับสนุนงานศิลปะทุกแขนงตลอดมานั้น ล้วนเกิดจากแรงผลักดันที่สำคัญมาจากกรรมการผู้จัดการธนาคารทั้งสิ้น

เพราะหลักที่บัณฑูร ล่ำซำ ให้ไว้ในการเลือก งานศิลปะคือ ต้องสวยงามเข้ากับตัวตึก มีหลักสอนใจและที่สำคัญต้องมีความงามของงานศิลปะ โดยไม่เน้นว่าต้องเป็นศิลปินชื่อดังเท่านั้น เพียงขอให้เขาต้องมีศิลปะถ่องแท้ส่องนำปรัชญาที่ธนาคารกสิกรไทยต้องการสื่ออย่างเข้าใจ

เมื่อยึดหลักดังกล่าวข้างต้นมาพิจารณาจะพบว่า งานศิลปกรรมในสวนทุกชิ้นมีเหตุผลชัดเจน ไม่ใช่ตั้งวางไว้อย่างไร้ความหมายและเหตุผลอันสมควร

เริ่มตั้งแต่ ด้านข้างอาคารสำนักงานใหญ่ของ ธนาคารกสิกรไทย ที่ราษฎร์บูรณะ งานประติมากรรม ในสวน แต่ละชิ้นมีเหตุผลแตกต่างกันไปเช่น เพื่อความสวยงาม เหตุผลทางศาสนาและความเชื่อตาม จารีตประเพณี คือ เทวรูปเศรษฐีชุมพล ผลงานของอาจารย์สุชาติ รัตนสุข ที่ตั้งอยู่ริมน้ำด้านหน้าสำนักงาน

ส่วนเหตุผลเพราะความงามเข้ากับตัวตึก มีหลักสอนใจ มีความงามของงานศิลปะ ที่พบเห็นที่โดดเด่นที่สุดคือ "อินทรีย์ 5" ผลงานของอาจารย์ ชลูด นิ่มเสมอ ลักษณะเป็นประติมากรรมร่วมสมัยใช้วัสดุที่เป็นสำริดเหล็กไร้สนิมและหินแกรนิตสีดำ รูปพีระมิดทรงสูงฐานรูปสามเหลี่ยมเรียงกัน 5 รูป อันเป็นรูปทรงปริมาตรที่มีด้านน้อยที่สุด มีมุมแหลม คมที่สุด

อินทรีย์ 5 เป็นประติมากรรมประดับสวนที่ตั้งด้านหน้าอาคารศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ ข้างอาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารกสิกรไทยชิ้นนี้ เป็นงานประติมากรรมแบบธรรมศิลป์ หมายถึงธรรมที่เป็นใหญ่ 5 ประการ ที่จะควบคุมและนำชีวิตไปสู่ความสำเร็จสูงสุด โดยเฉพาะสู่ความหลุดพ้นตามแนวของพระพุทธศาสนา ประกอบด้วยศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิและปัญญา งานประติมากรรมชิ้นนี้มีแนวคิดในการประสานงานศิลปะ ความสุนทรีย์และ สาระเรื่องราวที่สื่อไปในทางพุทธศาสนาใช้รูปทรงสามเหลี่ยมสามมุมเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงไตรสิกขา หลักธรรมะที่ประกอบด้วยองค์ 3 คือ ศีล สมาธิและปัญญา

ในสวนญี่ปุ่นใต้อาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารฯ มีงานศิลปกรรมที่ใช้องค์ประกอบ 3 อย่าง คือ ทรงกลม รอยคราดบนหินเกล็ดและบันได 4 ขั้น มาสื่อความหมายคือ ทรงกลม เป็นตัวแทนของชีวิต จิตวิญญาณที่แตกต่างกัน เสมือนบัวที่อยู่ใต้น้ำ ปิ่มน้ำ เหนือน้ำ รอยคราดและหินเกล็ดเปรียบเหมือนอุปสรรค และปัญหาต่างๆ ที่ต้องเผชิญ ส่วนบันได 4 ขั้นเปรียบเหมือนการพัฒนาของธนาคารที่จะนำไปสู่ความเจริญ

แนวคิดการเลือกงานศิลปกรรมของธนาคารกสิกรไทย คงหนีไม่พ้นที่จะแสดงภาพลักษณ์อันโดดเด่นของผู้นำองค์กร อย่างบัณฑูร ล่ำซำ ที่มีรสนิยมของชีวิต และงานบริหาร อย่างมีแผนยุทธศาสตร์สำคัญออกมาตลอดช่วงวิกฤติการณ์เศรษฐกิจที่ผ่านมา

บทบาทที่แท้จริงของบัณฑูร ล่ำซำ ไม่ใช่อยู่ ที่การมีวิสัยทัศน์ที่ดีในการทำงานเท่านั้น ที่สำคัญ ที่สุด เขาสนใจในทุกเรื่อง เขาคิดในทุกเรื่อง ทุกด้าน ไปพร้อมๆ กัน

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างไรเลยที่งานศิลปกรรมที่ตั้งอยู่ในสวนหน้าสำนักงานใหญ่จะถูกออกแบบให้มีความหมาย มีแง่คิด และสวยงามไปพร้อมกัน

นั่นคงเป็นตัวอย่างของงานศิลปกรรมในCorporate Garden ที่ได้เรื่องได้ราวเป็นสาระและมีความหมายให้เห็นชัดเจนที่สุดของไทยทีเดียว ขณะนี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.