|
ฟิทช์ปรับลดเครดิตภายในประเทศหนี้ TTA หลังแผนออกหุ้นกู้8พันล.เลื่อนไม่มีกำหนด
ผู้จัดการรายวัน(9 กุมภาพันธ์ 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ฟิทช์ปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศหนี้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของ TTA ลงมาที่ระดับ BBB+(tha) เนื่องจากแผนการออกหุ้นกู้ที่เลื่อนออกไป ขณะที่เนื่องจากต้นทุนทางการเงินในการดำเนินแผนการดังกล่าวสูง ซึ่งมีผลทำให้ระดับหนี้สินที่มีหลักประกันของบริษัทคงอยู่ในระดับค่อนข้างสูง ลดทอนแนวโน้มอัตราการรับชำระหนี้คืของหนี้ไม่มีหลักประกันในกรณีที่มีการผิดนัดชำระหนี้ เกิดขึ้น
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวหนี้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA ลงมาที่ระดับ ‘BBB+(tha)’ จากระดับ ‘A-(tha)’ (A ลบ (tha)) แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
การปรับลดอันดับเครดิตของ TTA เป็นผลมาจากการที่บริษัทเลื่อนแผนการออกหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิชุดใหม่จำนวนไม่เกิน 8 พันล้านบาท เพื่อนำเงินมาชำระคืนเงินกู้ที่มีหลักประกันที่ใช้ในการซื้อเรือเดินทะเลทั้งจำนวนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากต้นทุนทางการเงินในการดำเนินแผนการดังกล่าวที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งจะมีผลทำให้ระดับหนี้สินที่มีหลักประกันของบริษัทคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ระดับหนี้สินที่มีหลักประกันที่สูงนี้จะลดทอนแนวโน้มอัตราการรับชำระหนี้คืน (Recovery Prospects) ของหนี้ไม่มีหลักประกันในกรณีที่มีการผิดนัดชำระหนี้ (Default) เกิดขึ้น
อันดับเครดิตเดิมของ TTA ที่ฟิทช์ประกาศในเดือนกันยายน 2549 นั้น พิจารณารวมถึงแผนการออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อนำเงินมาชำระคืนเงินกู้เดิมดังกล่าว และการปรับลดลงของระดับหนี้สินที่มีหลักประกัน ณ สิ้นปีงบการเงิน 2549 (สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2549) TTA มีหนี้สินรวมจำนวน 9.0 พันล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้สินที่มีหลักประกันทั้งจำนวน ระดับหนี้สินที่มีหลักประกันของบริษัท ณ สิ้นปีงบการเงิน 2549 อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงประมาณ 39% ของสินทรัพย์รวม และ 43% ของฐานเงินทุนของบริษัท (Total Capitalisation)
ในทางกลับกัน หากบริษัทสามารถออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อชำระคืนเงินกู้เดิมได้ในภายหลัง ปัจจัยดังกล่าวอาจนำไปสู่การปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทในอนาคตได้อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่มั่นคงของบริษัทในประเทศไทยในธุรกิจเดินเรือประเภทสินค้าแห้งเทกอง (Dry Bulk Shipping) กลยุทธ์การจัดการกองเรือที่มีความหลากหลาย และต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำจากการขยายกองเรือในช่วงปี 2546 ถึง 2548 ด้วยกองเรือปัจจุบันที่บริษัทเป็นเจ้าของจำนวน 45 ลำ ฐานธุรกิจการให้บริการที่กว้างขวาง ความถี่ของตารางการเดินเรือ และการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ TTA เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจเดินเรือประเภทสินค้าแห้งเทกองที่ใหญ่ในเส้นทางการเดินเรือสายที่มีการเติบโตสูง จากประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสาธารณรัฐประชาชนจีน ไปยังประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกกลาง
นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงอายุเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของกองเรือที่ค่อนข้างสูง ซึ่งโดยทั่วไปจะส่งผลให้มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่ต่ำกว่ากองเรือที่มีอายุน้อย และยังมีความเสี่ยงในการดำเนินงานและการจัดซื้อเรือใหม่เพื่อทดแทนเรือเก่า (Reinvestment Risk) ที่สูงขึ้น ในขณะเดียวกัน บริษัทต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงในด้านความผันผวนของวัฏจักรธุรกิจเดินเรือ และอัตราค่าระวางเรือ ซึ่งถูกลดทอนลงบางส่วนจากสัดส่วนหนี้สินที่ค่อนข้างต่ำ ฐานะทางการเงินของ TTA ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง
ณ สิ้นปีงบการเงิน 2549 บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า ย้อนหลัง 12 เดือน (Net Adjusted Debt/ Last-12-month EBITDAR) คงที่จาก ณ สิ้นงวดเก้าเดือนแรกของปีงบการเงิน 2549 (สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2549) ที่ระดับ 1.8 เท่า แม้ว่าจะมีการปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 1.0 เท่า และ 1.2 เท่า ระหว่างปีงบการเงิน 2547 และ 2548
ในส่วนของผลการดำเนินงานของปีงบการเงิน 2549 นั้น TTA มีผลประกอบการโดยรวมเป็นไปตามที่ได้คาดการณ์ไว้ โดยบริษัทมีรายได้ 1.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% เทียบกับปีก่อนหน้า และมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า (EBITDAR) 6.0 พันล้านบาท ลดลง 25% เทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากอัตราค่าระวางเรือ (Freight Rates) ที่อ่อนตัวลง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|