โบรกเกอร์หั่นดัชนีเหลือ729จุดย้ำนโยบายรัฐกระทบตลาดทุน


ผู้จัดการรายวัน(9 กุมภาพันธ์ 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวถึง ผลสรุปความคิดเห็นของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ต่อภาวะการลงทุนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-ธันวาคม 2550 ว่า ผลสำรวจจากการสอบถามสมาชิกจำนวน 19 บริษัทภายหลังสถานการณ์ต่างๆซึ่งเป็นปัจจัยลบเข้ามากระทบต่อตลาดทุนไทย ไม่ว่าจะเป็นมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการกันเงินสำรอง 30% รวมถึงเหตุการณ์ระเบิดในกรุงเทพฯช่วงต้นปี พบว่านักวิเคราะห์หลักทรัพย์ปรับการประมาณการดัชนีตลาดหุ้นสิ้นปีจากเดิมเฉลี่ยอยู่ที่ 799 จุดมาเป็น 729 จุด

นอกจากนี้ ตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงตามปัจจัยลบที่เกิดขึ้น โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP Growth ในปีนี้ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.2% จากผลสำรวจก่อนหน้านี้อยู่ที่ 4.5% ขณะที่ตัวเลขอัตราการผลเติบโตของผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนลดลงจาก 4.4% มาอยู่ที่ 2.6%

"ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนที่ปรับตัวลดลงเป็นไปตามการปรับตัวลดลงของ GDP ประกอบกับกำไรของบริษัทในกลุ่มพลังงานซึ่งเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ปรับตัวลดลงจึงทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทถูกปรับตัวลดลงจากเดิม"นายสมบัติกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจัยลบที่นักวิเคราะห์ประเมินว่ามีผลกระทบต่อการลงทุนมากที่สุด คือ ความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายในการดำเนินงานของรัฐบาล เช่น นโยบายการเงิน การแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รวมถึงกรณีความไม่แน่นอนในการขอเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวกับการแปรรูปบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งอาจจทำให้ต้องมีการเพิกถอนบมจ.ปตทออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนโดยมีผู้ตอบแบบสอบถามถึง 79%

นอกจากนี้ สถานการณ์ทางการเมืองเป็นอีกปัจจัยที่นักวิเคราะห์ค่อนข้างมีความกังวลโดยมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 63% ส่วนในเรื่องการขยายตัวแบบชะลอของเศรษฐกิจมีผู้ตอบแบบสอบถาม 37% และประเด็นที่ยังอยู่ในความสนใจอย่างต่อเนื่องคือสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และการก่อการร้ายในประเทศ มีผู้ตอบแบบสอบถาม 26%

สำหรับความเชื่อมั่นใจการบริษัทงานของรัฐบาลจาการสอบถามนักวิเคราะห์ พบว่า ในด้านเศรษฐกิจ 68% ยังค่อนข้างมีความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจในระดับปานกลาง ขณะที่ 21% มีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจเพียงเล็ก ส่วน 11% ยังไม่เชื่อมั่นต่อการบริหารงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ส่วนคำถามต่อด้านสังคมและการเมือง พบว่า 58% มีความเชื่อมั่นปานกลาง และ 32% มีความเชื่อมั่นเพียงเล็กน้อย ส่วนนักวิเคราะห์ที่ไม่มีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสังคมและการเมืองมี 5%

ส่วนของข้อเสนอแนะภาครัฐ โดยเฉพาะในเรื่องการการออกมาตรการต่างๆ นักวิเคราะห์แนะนำให้ภาครัฐควรจะมีความระมัดระวังและรอบคอบในการพิจารณาออกมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายทางการเงิน เช่น มาตรการกันสำรอง 30% หรือการออกกฏหมายถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างด้าว เป็นต้น เนื่องจากส่งผลกระทบต่อการลงทุนค่อนข้างมาก

สำหรับการดำเนินงานในโครงการเมกะโปรเจกต์ 32% ระบุว่ารัฐบาลควรเร่งดำเนินการเกี่ยวกับโครงสร้างสาธารณูปโภคด้วยความรวดเร็วและโปร่งใส ขณะที่นโยบายสำคัญด้านอื่นที่นักวิเคราะห์เสนอ ได้แก่ การเร่งสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทยและต่างชาติ การเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้สามารถจัดการเลือกตั้งได้ตามกำหนดเวลา เป็นต้น

นายสมบัติ กล่าวอีกว่า สำหรับปัจจัยบวกที่จะส่งผลต่อการเข้ามาลงทุนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - ธันวาคม 2550 นี้กว่า 95% เห็นว่าแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลดี ขณะที่ 53% เชื่อว่าราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจะส่งผลดีต่อการเข้ามาลงทุน ส่วนการเลือกตั้งหากมีการเลือกตั้งได้ในปี 2550 ก็จะเป็นปัจจัยที่เข้ามาหนุนตลาดหุ้นได้

ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจที่นักวิเคราะห์ยังเชื่อว่ามีแนวโน้มการเติบโตสูงที่สุด คือ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ โดยมีค่าเฉลี่ยอัตราการเติบโต EPS อยู่ที่ 18.7% ขณะทีอันดับ 2 กลุ่มธนาคาร มีค่าเฉลี่ยอัตราการเติบโตอยู่ที่ 10.2% อันดับ 3. กลุ่มวัสดุก่อสร้าง มีค่าเฉลี่ยอัตราการเติบโตอยู่ที่ 2.8% ส่วนกลุ่มพลังงาน ค่าเฉลี่ยการเติบโตในปีนี้ลดลง 1.6%

สำหรับกลุ่มธุรกิจที่แนะนำให้ลงทุน คือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากได้รับผลดีจากการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สูญจากระบบมาตรฐานบัญชีใหม่ลดลง ขณะเดียวกันยังได้รับผลดีจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ประกอบกับการขยายตัวของสินเชื่อ, กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากได้รับผลดีโดยตรงจากอัตราดอกเบี้ยจะกลับมาเป็นทิศทางขาลง, กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ได้รับผลจากโครงการในการลงทุนของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นโครงการประมูลโรงไฟฟ้า รถไฟฟ้า รวมถึงการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน สำหรับกลุ่มพลังงานซึ่งเป็นกลุ่มที่ความนิยมลดลงมาโดยตลอด แต่บางบริษัทในกลุ่มอาจจะได้รับผลดีจากการเข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้าใหม่


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.