PTTEP ตั้งเป้าโต 10%/ปี


ผู้จัดการรายวัน(7 กุมภาพันธ์ 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ปตท.สผ. ตั้งเป้า 5 ปี ปริมาณการขายก๊าซฯ โตเฉลี่ยปีละ 10% หลังมีก๊าซทยอยเข้ามาเต็มที่จากแหล่งนางนวล ภูฮ่อม และโอมาน พร้อมหาแหล่งเงินทุนเพื่อขยายงานปีนี้อีกเกือบ 7.5 หมื่นล้านบาท ล็อตแรกขายหุ้นกู้วงเงิน 3.5 พันล้านบาท ตั้งธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ เป็นที่ปรึกษาฯ ขณะที่แผนงาน 5 ปี ยืนยันวงเงินลงทุน 2.84 แสนล้านบาท

นายมารุต มฤคทัต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. (PTTEP) เปิดเผยถึง แผนการดำเนินงานในปี 2550 ว่า บริษัทได้ปรับแผนการพัฒนาโครงการสำรวจและผลิตหลายโครงการทั้งในและต่างประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงานภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น โดยตั้งเป้าหมายอัตราการขายไว้ที่ 187,713 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2549 ประมาณ 9%

โดยในปี 2550 นี้ บริษัทจะมีก๊าซธรรมชาติจากแหล่งนางนวล ภูฮ่อม และโอมานเข้ามาอย่างเต็มที่ รวมถึงในอนาคตจะมีแหล่งก๊าซธรรมชาติจากประเทศเวียดนาม ดังนั้นบริษัทจึงคาดการณ์ว่าภายใน 5 ปี ปริมาณการขายเฉลี่ยจะขยายตัว 9-10% ต่อปี

ทั้งนี้ ปตท.สผ. ได้ตั้งเป้างบการลงทุนสำหรับการสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียมรวม 34 โครงการ มูลค่าประมาณ 74,512 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการลงทุนในประเทศ 48,407 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 65% ของเงินลงทุนทั้งหมด และต่างประเทศ 26,105 ล้านบาท หรือ 35%

สำหรับแผนการจัดหาแหล่งเงินทุนนั้น นายมารุต กล่าวว่า บริษัทได้เซ็นสัญญาแต่งตั้งให้ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์ตเตอร์ เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและอันเดอร์ไรท์หุ้นกู้มูลค่า 3.5 พันล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินเดิมผู้ถือหุ้นอนุมัติให้ออกหุ้นกู้มูลค่า 50,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินไปใช้ขยายการลงทุน โดยคาดว่าจะได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ภายใน 2-3 วันนี้

ส่วนรายละเอียดหุ้นกู้มูลค่า 3,500 ล้านบาท เป็นหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ อายุ 3 ปี บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด (TRIS Rating) ให้อันดับเครดิตที่ระดับ AAA และอันดับเครดิตองค์กร คงเดิมที่ระดับ AAA ซึ่งเป็นอันดับเครดิตสูงสุด และมีความเสี่ยงต่ำที่สุด

สำหรับรายละเอียดการลงทุนในประเทศนั้น ในปี 2550 ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการลงทุนเพื่อการพัฒนาและเร่งการผลิตในโครงการที่ตั้งอยู่ในอ่าวไทย อาทิ โครงการอาทิตย์ เงินลงทุนประมาณ 16,100 ล้านบาท หรือ 22% ในการก่อสร้างและติดตั้งแท่นผลิต (Production Platform) 1 แท่น แท่นหลุมผลิต (Wellhead Platform) 4 แท่น และขุดเจาะหลุมพัฒนา 37 หลุม เพื่อเริ่มการผลิตและส่งก๊าซธรรมชาติในอัตรา 330 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันไตรมาสที่ 1 ปี 2551 ที่กำลังการผลิตของโครงการเฉลี่ยประมาณ 330 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันใน 2550

นอกจากนี้ โครงการอาทิตย์เหนือมีแผนที่จะใช้เรือผลิต (Floating Production Storage and Offloading : FPSO) ในการผลิตก๊าซและคอนเดนเสทแทนแท่นผลิต คาดว่าจะเริ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติในปี 2551 ที่กำลังการผลิตของโครงการเฉลี่ยประมาณ 120 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

โครงการบงกช เงินลงทุน 6,000 ล้านบาท หรือ 8% เพื่อติดตั้งแท่นหลุมผลิตเพิ่มเติม 3 แท่น และขุดเจาะหลุมพัฒนา 16 หลุม เป้าหมายการขายก๊าซฯ เฉลี่ยในอัตรา 595 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โครงการ S1 เงินลงทุนประมาณ 7,800 ล้านบาท หรือ 11% เพื่อขุดเจาะหลุมพัฒนา 45 หลุม ขุดเจาะหลุมสำรวจ 4 หลุม

โครงการ B8/32 & 9A เงินลงทุน 5,800 ล้านบาท หรือ 8% ในการก่อสร้างแท่นหลุมผลิต 6 แท่น ขุดเจาะหลุมพัฒนาจำนวน 84 หลุม และขุดเจาะหลุมสำรวจ 4 หลุม เพื่อให้สามารถขายน้ำมันดิบได้ในอัตราเฉลี่ย 54,141 บาร์เรลต่อวัน และโครงการไพลิน เงินลงทุน 3,600 ล้านบาท หรือ 5% ในการก่อสร้างแท่นหลุมผลิต 4 แท่น และขุดเจาะหลุมพัฒนา 39 หลุม เพื่อให้สามารถขายก๊าซธรรมชาติได้ในอัตราเฉลี่ย 405 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ด้านการลงทุนในต่างประเทศ ปตท.สผ. มีแผนจะลงทุนในโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย B -17 ประมาณ 9,100 ล้านบาท หรือ 12% ในการขุดเจาะหลุมสำรวจประมาณ 3 หลุม และหลุมประเมินผล 4 หลุม เพื่อให้สามารถผลิตก๊าซฯ ในครึ่งปีหลังของปี 2552 ในอัตราประมาณ 270 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจะเพิ่มกำลังการผลิตให้สูงถึง 470 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

สำหรับการลงทุนในประเทศอื่นๆ คือ สหภาพพม่า เงินลงทุนประมาณ 4,760 ล้านบาท หรือ 6% เวียดนาม เงินลงทุน 4,000 ล้านบาท หรือ 5% อัลจีเรีย 3,400 ล้านบาท หรือ 5% รวมทั้งบริษัทยังลงทุนเพื่อการสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียมในโครงการอื่นๆ ที่เหลืออีกประมาณ 10,000 ล้านบาท หรือ 13%

ส่วนแผนการลงทุนในระยะยาวนั้น นายมารุต กล่าวว่า ปตท.สผ. เตรียมงบลงทุนระยะยาว 5 ปี ตั้งแต่ปี 2550-2555 มูลค่ารวมทั้งสิ้น 284,710 ล้านบาท โดยจะใช้เงินสำหรับการพัฒนา การสำรวจปิโตรเลียมและแหล่งก๊าซธรรมชาติทั้งในประเทศและต่างประเทศ

สำหรับผลการค้นพบก๊าซฯ นั้น ปตท.สผ.ประสบความสำเร็จในการเจาะหลุมสำรวจในโครงการบงกชตอนเหนือที่เริ่มขุดเจาะตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา ค้นพบก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมจากการเจาะหลุมสำรวจ จำนวน 3 หลุม โดยหลุมต้นจัน-1X พบก๊าซธรรมชาติในชั้นหินกักเก็บ ความหนารวมประมาณ 143 เมตร หลุมต้นจัน-2X พบก๊าซธรรมชาติในชั้นหินกักเก็บ ความหนารวมประมาณ 44 เมตร และหลุมต้นรัง-2X พบก๊าซธรรมชาติในชั้นหินกักเก็บ ความหนารวมประมาณ 72 เมตร ซึ่งจะทำให้โครงการบงกชสามารถผลิตก๊าซฯ เพื่อสนองความต้องการภายในประเทศได้ยาวนานขึ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.