|
ธปท.ยันไม่ยกเลิกเกณฑ์สำรองฯ พอใจส่วนต่างค่าบาทเริ่มขยับลง
ผู้จัดการรายวัน(6 กุมภาพันธ์ 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์ชาติยืนกรานยังไม่ยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% รอค่าบาทอยู่ในระดับที่เหมาะสม ระบุพอใจส่วนต่างค่าบาทตลาดออฟชอว์-ออนชอว์เริ่มแคบทำให้ดูแลง่าย ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเป็นขาลง แต่ยังระบุไม่ได้ว่าจะอยู่ในระดับที่เท่าไหร่
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังคงไม่ยกเลิกการใช้มาตรการสกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงินบาท โดยการกันสำรอง 30% สำหรับการลงทุนในตราสารระยะสั้น หลังจากที่ได้ผ่อนผันมาตรการดังกล่าวไปแล้ว โดยให้นักลงทุนเลือกระหว่างการกันเงินสำรองในระดับ 30% หรือการทำการป้องกันความเสี่ยงด้วยการวางเงินประกันเท่ากับจำนวนเงินและระยะเวลาการชำระคืนเงินกู้ ในรูปของการทำสัญญาซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า ซึ่งถือว่านักลงทุนมีทางเลือกในการดำเนินการแล้ว ดังนั้น ธปท.จึงยังไม่จำเป็นต้องยกเลิกมาตรการดังกล่าว แต่หากค่าเงินบาทอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว ก็อาจจะพิจารณายกเลิกมาตรการดังกล่าวได้
"การพิจารณายกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% นั้น ก็จะดูที่ระดับของค่าเงินบาทที่เหมาะสม เนื่องจากผลกระทบของมาตรการที่เกิดขึ้นกับตลาดเงิน ตลาดทุนนั้น แบงก์ชาติได้ผ่อนผันไปแล้ว โดยการให้ทางเลือกระหว่างการกันสำรองกับการทำป้องกันความเสี่ยง ซึ่งเท่าที่ผ่านมานักลงทุนจะเลือกใช้วิธีการป้องกันความเสี่ยงเป็นส่วนใหญ่"นางธาริษากล่าว
นอกจากนี้ เงินบาทที่อ่อนค่าลงในช่วงนี้นั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในความคาดหมายอยู่แล้ว และในขณะนี้ค่าเงินบาทในตลาดต่างประเทศ (ออฟชอว์) กับตลาดในประเทศ (ออนชอว์) ก็เริ่มที่จะมีส่วนต่างที่แคบลงมาแล้ว จากเดิมที่มีส่วนต่างที่มากถึง 2.50 บาท จึงว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นสามารถควบคุมได้ง่ายขึ้น
ผู้ว่าการธปท.กล่าวอีกว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในขณะนี้นั้น คงจะไม่สามารถบอกได้ว่าพอใจหรือไม่พอใจ แต่ส่วนต่างในตลาดออฟชอว์และออนชอว์ที่ลดลงเรื่อยๆ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี และจะทำให้เราสามารถดูแลค่าเงินบาทได้ง่ายขึ้น
สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งจากการประชุมล่าสุดได้ปรับลดลง 0.25% เหลือ 4.75% นั้น ถือว่าเป็นช่วงอัตราดอกเบี้ยขาลง แต่จะปรับลดลงมากหรือน้อยขนาดไหนนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกนง. ที่ได้ติดตามปัจจัยต่างๆ อย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว ซึ่งการประชุมแต่ละครั้งก็จะต้องพิจารณาถึงข้อมูลหรือเหตุการณ์ต่างๆ ในขณะนี้ และอาจมีความเปลี่ยนแปลงไปได้เสมอ จึงทำให้ไม่สามารถกำหนดตายตัวได้ว่าจะปรับลดลงในระดับเท่าใด
นอกจากนี้ ยังคงต้องดูถึงปัจจัยทางด้านอัตราเงินเฟ้อ ซึ่ง ณ ระดับเงินเฟ้อทั่วไปที่อยู่ในระดับ 3% ในขณะนี้ถือเป็นระดับที่เหมาะสม และแนวโน้มจะค่อยๆ ปรับตัวลดลงโดยในปีนี้คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ในระดับ 1.5-2.5% ได้ซึ่งก็เป็นไปในทิศทางที่ได้คาดการณ์ไว้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|