|
บอร์ดไฟเขียวแผนเอสเอ็มอีแบงก์อ้อนคลังยืดใช้เกณฑ์ IAS39 อีก 1 ปี
ผู้จัดการรายวัน(5 กุมภาพันธ์ 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
บอร์ดเอสเอ็มอีแบงก์ผ่านฉลุยแผนธุรกิจปี 50 เดินหน้ารีดไขมันปรับโครงสร้างองค์กรลดความซ้ำซ้อน หวังเร่งเสริมความคล่องตัวในการปล่อยกู้ ยอมรับเกณฑ์ IAS39 เป็นสิ่งที่ดี แต่อ้อนคลังขอผ่อนผันยืดระยะเวลาการใช้เกณฑ์ออกไปอีก 1 ปี เพื่อเตรียมความพร้อม
นายสมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รักษาการที่ปรึกษาสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะประธานกรรมการบริหาร ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการที่ผ่านมาที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนการดำเนินงานของธนาคารในปี 2550 ที่ทางคณะผู้บริหารธนาคารได้เสนอเข้ามาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ซึ่งแผนการดำเนินการดังกล่าวได้มีการแนะนำในส่วนของโครงสร้างองค์กรที่มีความซ้ำซ้อนโดยการยุบรวมหน่วยงานเหล่านี้เข้าด้วยกันเพื่อลดความซ้ำซ้อนและลดความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานลง
นายพงษ์ศักดิ์ ชิวชรัตน์ กรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวว่า ผู้บริหารธนาคารมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลงขนาดและโครงสร้างขององค์กรบางหน่วยงานที่การปฏิบัติงานมีความซ้ำซ้อนและการทำงานขัดแย้งกัน โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่อที่ในปัจจุบันการอนุมัติสินเชื่อของเอสเอ็มอีแบงก์นั้นให้สาขาเป็นผู้ดำเนินการหาลูกค้าแล้วส่งมายังคลัสเตอร์ที่สำนักงานใหญ่และมีการขอเอกสารเพิ่มเติมจากลูกค้าอีกรอบเกิดความล่าช้าและซ้ำซ้อนในการขอสินเชื่อ
นอกจากนี้การส่งข้อมูลของลูกค้าจากสาขามายังคลัสเตอร์ที่สำนักงานใหญ่นั้นลูกค้าบางส่วนจะถูกปฏิเสธการให้สินเชื่อจากคลัสเตอร์ ทำให้การทำงานร่วมกันระหว่างสาขาและคลัสเตอร์มีความขัดแย้งเกิดขึ้น แนวทางที่ผู้บริหารของธนาคารเตรียมดำเนินการคือยุบคลัสเตอร์ทิ้งไปแล้วให้เหลือกลุ่มงานสินเชื่อที่สาขาและสำนักงานใหญ่เท่านั้น
“ปัญหาที่เกิดขึ้นสร้างความยุ่งยากแก่ลูกค้าในการยื่นกู้ เพราะเมื่อยื่นเอกสารที่สาขาเสร็จแล้วก็ต้องยื่นให้คลัสเตอร์ตามที่เขาขออีกทำให้ขั้นตอนในการกู้เงินช้าลง เชื่อว่าเมื่อยุบคลัสเตอร์ทิ้งไปให้เหลือเฉพาะงานสินเชื่อของสาขาและสำนักงานใหญ่จะทำให้ลูกค้าได้รับการอนุมัติสินเชื่อรวดเร็วขึ้นและเป็นการรีดไขมันขององค์กรทำให้การทำงานของเอสเอ็มอีแบงก์คล่องตัวขึ้นเช่นกัน” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว
นายพงษ์ศักดิ์กล่าวว่า สำหรับการตั้งสำรองตามมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ ฉบับที่ 39 (IAS 39) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาตินั้นเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีและควรให้ความร่วมมือกับแบงก์ชาติ ช่วยให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐมีมาตรฐานในการป้องกันความเสี่ยงที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม เอสเอ็มอีแบงก์ต้องขอเวลาเพื่อเจรจากับกระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เสียก่อนว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้างเพื่อให้สอดคล้องกับเกณฑ์ของแบงก์ชาติที่ประกาศออกมา เพราะหากมีการตั้งสำรองตามเกณฑ์ดังกล่าวทันทีอาจส่งผลกระทบต่อเงินทุนของเอสเอ็มอีแบงก์ได้ แต่จะมีการดำเนินการอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลังจะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม
“ถ้าทุกแบงก์ทำตามเกณฑ์ของแบงก์ชาติได้ก็ถือเป็นเรื่องดี ทางเราก็พร้อมจะปฏิบัติตามแต่ต้องคุยกับกระทรวงการคลังที่เป็นเจ้าของเงินก่อนว่าจะทำอย่างไร ซึ่งในความคิดผมเองเห็นว่าขอเวลาสัก 1 ปี เพื่อให้เอสเอ็มอีแบงก์ทยอยปรับตัวและดำเนินการทางบัญชีให้เข้ากับเกณฑ์ดังกล่าวเชื่อว่าคงไม่มีปัญหาแต่อย่างใด” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|