อีลิทการ์ด...กับการตัดสินใจบนเส้นด้าย


ผู้จัดการรายวัน(5 กุมภาพันธ์ 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

นับถอยหลังโครงการ อีลิทการ์ด กับ 3 ทางเลือก อยู่ – ไป หรือคงไว้แค่เดิม ยอมรับตัดสินใจยาก เพียงเพราะคำว่า “ภาพลักษณ์ของประเทศไทย” ค้ำคอ ไม่ใช่แค่เงินตราหรือการฟ้องร้อง ระบุผลการศึกษาชัดเจนในเรื่องของการฟุ่มเฟือยเกินเหตุ ยังไม่นับรวมผลประโยชน์ทับซ้อนที่รอการขุดคุ้ย

ปมปัญหาบริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด (ทีพีซี) หรือ อีลิท การ์ด ยังคงไม่สามารถคลี่คลายไปได้ หลังจากผลการศึกษาของคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (ค.ต.ป.) ที่ทำให้ ร.ท.สุวิทย์ ยอดมณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตัดสินใจว่าคงจะต้องเดินหน้าโครงการต่อ แต่ด้วยความเคลือบแคลงใจบางอย่างจากผลการตรวจสอบ ทำให้ต้องมีการตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบการทำงานของโครงการบัตรไทยแลนด์อีลิท ซึ่งมีนางวิไลพร ลิ่วเกษมศานต์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เป็นประธาน และจากผลการตรวจสอบเบื้องต้นกลับพบสิ่งไม่ชอบมาพากลที่ส่อไปในทางผลประโยชน์ทับซ้อน จนคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวต้องขอเวลาตรวจสอบเชิงลึกอีกครั้ง

จากประโยคดังกล่าว “ผลประโยชน์ทับซ้อน” อาจส่งผลให้บอร์ดอีลิทรู้สึกหนาวๆ ร้อนๆ ได้ เพราะที่ผ่านมาภาพลักษณ์ของบัตรอีลิทก็ไม่สู้จะดีนัก แต่ยังมีรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้คอยดูแลอยู่ แต่เมื่อต้องมีการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นรัฐบาลชุดปัจจุบันขึ้นบริหารประเทศ และเป็นรัฐบาลที่พร้อมจะตรวจสอบโครงการที่ส่อไปในทางทุจริต หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนในทุกโครงการ เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้แก่ประชาชนชาวไทย

สำหรับโครงการบัตรอีลิท ที่ทำให้หลายคนที่อยากจะฟันทิ้ง แต่กลับทำได้แค่เงื้อดาบ ก็คงเป็นเพราะสัญญาที่ทำไว้กับสมาชิกผู้ถือบัตร และการเปิดตัวในต่างประเทศแต่ละครั้ง ที่มีการเชิญเอกอัครราชทูต และ กงสุลไทยในต่างประเทศเข้าร่วมงาน เพื่อประกาศว่าเป็นโครงการที่ค้ำประกันโดยรัฐบาลไทยและประเทศไทย ให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความเชื่อมั่นในสัญญาที่ว่าจะให้ในสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น สิทธิประโยชน์ทางด่านตรวจคนเข้าเมือง สิทธิประโยชน์ในการติดต่อราชการ และการรับบริการ กอล์ฟ สปา เช็คสุขภาพ ในระดับไฮเอนด์ ในที่นี้ยังไม่นับรวมสิทธิประโยชน์ทางด้านถือครองที่ดิน ที่ตอนแรกประกาศว่าผู้เป็นสมาชิกสามารถถือครองที่ดินได้จำนวนหนึ่ง จนทำให้เกิดแรงต่อต้านจากกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับการเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามายึดแผ่นดินไทย ผลถือระดับผู้บริหารองค์กร ต้องถอยทัพกลับไปคิดใหม่และยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนในเรื่องนี้

จากข้อมูลดังกล่าวจึงเป็นที่มาของคำว่า “ถ้าไม่คิดว่าล้มโครงการนี้แล้วจะมีผลทำให้ประเทศไทยเสียภาพลักษณ์ คงจะล้มโครงการนี้ไปนานแล้ว ไม่ต้องคิดมาก” แต่ครั้งจะเดินหน้าต่อ ก็ไม่รู้ว่าจะเสียหายไปมากกว่านี้อีกแค่ไหน เพราะเมื่อชั่งน้ำหนักดูแล้ว บัตรใบนี้หากยังเดินหน้าต่อผลเสียจะมากกว่าผลดี แม้ทีมผู้บริหารจะบอกว่าเงินจากค่าสมาชิกจำนวนมากที่จะไหลเข้ามาเป็นทุนรองรับให้แก่บริษัท กับเม็ดเงินที่สมาชิกเหล่านั้นจะขนมาลงทุนในประเทศไทยอีกจำนวนมหาศาล แต่กว่า 3 ปี ที่เปิดรับสมาชิกเข้ามา ยังไม่เห็นเม็ดเงินลงทุนที่ชัดเจนจับต้องได้จริงสักเท่าไหร่ แถมจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ขณะนี้ก็เพียง 1,700 ราย จากราคาคุยที่ตั้งไว้ว่าจะทำให้ได้ถึง 1 ล้านรายในปีแรก และก็ตกม้าตายทันทีเพราะด้วยสิทธิประโยชน์ที่ยังไม่นิ่ง และความใหม่ของบัตร ทำให้มีผู้สนใจไม่มากเท่าที่ฝันไว้ เป็นเหตุให้ต้องมานั่งปรับลดเป้าหมายกันจ้าละหวั่น แถมสมาชิกที่ได้มายังเป็นแบบราคาใบละ 3 แสนบาทจำนวนหนึ่ง และ กลุ่มเอ็กซ์แพท ที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ที่ตะลุยใช้สิทธิประโยชน์ กอล์ฟ สปา กันอย่างมันมือ

ทางเลือกจากเดิมที่ว่า ยุบทิ้ง หรือ ทำต่อ ก็จึงมีทางเลือกที่สามเข้ามาว่า หยุดรับสมาชิกเพิ่มแล้วบริหารจัดการสมาชิกเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งตรงนี้ประเทศไทยก็จะไม่เสียภาพลักษณ์ และความสูญเสียอื่นๆ ก็จะไม่ถลำลึกไปมากกว่านี้ ส่วนบริษัท ทีพีซีเอง ก็ยังมีเงินจากที่ขายสมาชิก 1,700 ราย เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการ ซึ่งคงพอให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้

“เราไม่สามารถไปแจกแจงให้ต่างชาติเข้าใจถึงนโยบายที่ว่า โครงการบัตรอีลิทการ์ด เป็นของรัฐบาลชุดก่อน เพราะเขารู้เพียงว่าเป็นโครงการของรัฐบาลประเทศไทย หากยุบทิ้ง ไม่ใช่แค่ความเสียหายจากค่าฟ้องร้อง แต่เรื่องของภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นประเทศไทย ซึ่งตีเป็นมูลค่าไม่ได้ จะหมดสิ้นไปด้วย ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ใหญ่ ที่ต้องระดมความคิดหาทางออกให้ดีที่สุด แม้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะร่ำๆ ว่าต้องยุบทิ้งก็ตาม “

สิ่งที่ทุกฝ่ายยอมรับตรงกันคือเรื่องของแนวคิด “อีลิท การ์ด” ที่ดีมาก “หากทำได้” !!!! เพราะเป็นบัตรที่ไม่เคยมีใครในโลกจัดทำมาก่อน แต่ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น เป็นเพราะคิดไว ทำไว โดยไม่ไตรตรอง หรือศึกษาให้รอบครอบ ก่อนกำหนดกฎกติกา ทุกอย่างจึงเป็นเรื่องของการใช้เงินในการเดินหน้า ด้วยทุนก่อตั้งบริษัทถึง 1,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเม็ดเงินจากกระทรวงการคลัง จากภาษีของประชาชน ที่ลงทุนโดยผ่านการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้เป็นผู้ถือหุ้น 100% ระยะเวลา 3 ปีเศษ กับเงินลงทุนที่ใส่เข้าไปแล้ว 500 ล้านบาท พร้อมการเปิดตัวอย่างหรูหรา ใช้เงินแบบไม่มีเงื่อนไขว่าจะต้องได้สมาชิกกลับมาเท่าใด หรือแม้กระทั่งค่าโฆษณาที่ต้องจ่ายให้กับสำนักข่าว CNN ที่มากถึงกว่า 140 ล้านบาท ก็เหมือนกับ ตำน้ำพริกละลายแม้น้ำ

ส่วนการแก้ไขภายในองค์กรทีพีซีที่ทำอยู่ขณะนี้ คือการมอบให้คณะกรรมการบริหาร (บอร์ดเล็ก) ซึ่งนำทีมโดย นางไพฑูรย์ พงษ์เกษร เข้ามาปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงาน โดยอันดับแรก คือการควบคุมการใช้จ่ายของบริษัท ขณะที่ นายรพี ม่วงนนท์ รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ ทีพีซี ในขณะนี้ ซึ่งเป็นคนหนุ่มไฟแรงมาจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ ซึ่งมานั่งในบอร์ดเล็กนี้ด้วย และจะขอพิสูจน์ฝีมือด้วยการเร่งปรับโครงสร้างและแผนธุรกิจให้แก่อีลิทการ์ดให้สามารถทำตลาดได้ต่อไปไม่ว่าจะเป็นแผนการปรับขึ้นราคาค่าบัตร การกำหนดอายุของบัตร และการให้สิทธิประโยชน์และเงื่อนไขต่างๆ แบบจับต้องได้ บริษัทเองก็อยู่ได้ ไปถึงการวางแผนการใช้เงินจากรายได้ที่มีอยู่ให้งอกเงยเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง

แต่ทั้งนี้ เหนือสิ่งอื่นใด คงจะต้องรอดูผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการฯ ที่จะยื่นรายงานให้แก่บอร์ด ททท. ภายในวันที่ 13 ก.พ.50 ก่อนส่งไม้ต่อให้นายกรัฐมนตรี และ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 15 ก.พ.50 เพื่อฟันธงว่าจะอยู่หรือไป ถึงตรงนี้คงได้เพียงแต่นับถอยหลังจนกว่าจะถึงวันตัดสิน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.