ย้อนรอยสายสัมพันธ์ทุนไทยทุนสิงคโปร์

โดย อนุสรณ์ ธรรมใจ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(5 กุมภาพันธ์ 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา สายสัมพันธ์ระหว่างทุนไทยและทุนสิงคโปร์มีความแนบแน่นมาตามลำดับ ส่งผลให้ความสัมพันธ์เศรษฐกิจ การค้า การลงทุนระหว่างกันมีความหนักแน่นตามไปด้วย

ใกล้ชิดและเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในหลายมิติมากยิ่งขึ้นหลังนายกรัฐมนตรีทักษิณขึ้นกุมบังเหียนการบริหารประเทศเมื่อ ๖ ปีที่ผ่านมา

หากย้อนรอยความสัมพันธ์ของทุนไทยกับทุนสิงคโปร์จะไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมความสัมพันธ์จึงแบ่งบานยิ่งในยุครัฐบาลทักษิณ

นอกเหนือจากความนิยมชมชอบส่วนตัวที่ผู้นำอย่างคุณทักษิณที่มีต่อ ลี กวน ยู แล้วหลายคนที่เป็นแกนนำของรัฐบาลที่แล้วก็ยกย่องแนวทางยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของสิงคโปร์

หากรวมเข้ากับสายสัมพันธ์ทางธุรกิจที่จะได้เล่าต่อไป ก็จะทำให้เห็นภาพแจ่มชัดขึ้นสำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดในช่วง ๕-๖ ปีที่ผ่านมา

ย้อนกลับไปปี พ.ศ. ๒๕๓๒ สมัยที่ท่านอดีตผู้นำไทยก่อตั้งบริษัทชินวัตร ดาต้าคอม จำกัด ก็มี บริษัทสิงคโปร์ เทเลคอม อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมทุน ปี ๓๓ สิงเทลเข้ามาถือหุ้นในบริษัทชินวัตรเพจจิ้ง จำกัด ปี ๔๒ สิงเทลเข้ามาถือหุ้นใน เอไอเอส

และมาถึงจุดสุดยอดของสายสัมพันธ์ทางธุรกิจเมื่อมีการเทขายหุ้นกลุ่มชินให้กับเทมาเส็กมูลค่า ๗.๓ หมื่นล้าน และดีลประวัติศาสตร์ก็นำมาสู่การตั้งคำถามมากมายทั้งเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน การใช้นอมินีถือหุ้นแทน ตลอดจนเรื่องภาษีและขายสิทธิสัมปทานให้ต่างชาติ

การตั้งคำถามดังกล่าวนำมาสู่จุดตายทางการเมืองของนายกฯทักษิณที่เป็นอดีตผู้ก่อตั้งและผู้บริหารกลุ่มทุนใหญ่ของไทยภายใต้ชื่อ ชินวัตร และ เปลี่ยนเป็น ชิน ในภายหลัง

การทำดีลธุรกิจดังกล่าวได้มองข้ามและละเลยเรื่องความละเอียดอ่อนทางการเมืองโดยเฉพาะประเด็นชาตินิยม การปฏิบัติตามกฎหมายและหลักจริยธรรมที่ดี จึงทำให้เกิดปัญหาอย่างรุนแรงในทางการเมือง

ผลสะเทือนทางการเมืองเกี่ยวเนื่องกับดีลดังกล่าวจนนำมาสู่การรัฐประหารจะนำสู่ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไปด้วย

สิงคโปร์เข้ามาลงทุนในเมืองไทยมากเป็นพิเศษหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ทุนไทยส่วนหนึ่งที่ประสบปัญหาในวันนั้นก็อาศัยทุนสิงคโปร์มาเพิ่มทุนให้เพื่อให้กิจการอยู่รอดต่อไป

ความจริงการเข้ามาลงทุนของสิงคโปร์ก็เหมือนชาติอื่นๆและไม่ได้จะก่อให้เกิดปัญหาอันไม่พึงประสงค์แต่ประการใด เพียงแต่เมื่อมันคาบเกี่ยวกับการเมืองและกลายเป็นประเด็นทางการเมือง มีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนนอกจากนี้ยังเป็นธุรกิจสัมปทานอีกต่างหาก อย่างกรณีของชินคอร์ป-เทมาเส็ก ก็เลยกลายเป็นปัญหา

นอกจากนี้ก็มีการสร้างกระแสขยายผลปัญหาดังกล่าวเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของขั้วความขัดแย้งจึงยิ่งทำให้ปัญหามันลุกลามใหญ่โตซึ่งเป็นประโยชน์ต่อชาติและประชาชนในแง่ที่ว่า ประชาชนก็ควรรับฟังข้อมูล

กลุ่มทุนสิงคโปร์เข้ามาลงทุนมากติดอันดับนักลงทุนต่างชาติอันดับต้นๆ คือ อันดับสาม รองจากญี่ปุ่น และยุโรป เป็นอันดับหนึ่งในบรรดาสมาชิกอาเซียนด้วยกัน กองทุนเทมาเส็กนอกจากจะลงทุนและถือหุ้นในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมแล้ว ยังลงทุนในธุรกิจธนาคาร กลุ่มทุนสิงคโปร์เองก็ถือหุ้นในธุรกิจไทยหลากหลายตั้งแต่ธุรกิจโรงแรม อสังหาริมทรัพย์และอื่นๆอีกมากมาย นอกจากนี้ยังมีกองทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ที่เข้ามาถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียนมากมายนับร้อยบริษัทแล้วนักท่องเที่ยวจากสิงคโปร์ก็เข้ามาเที่ยวในเมืองไทยกันมาก เช่นเดียวกับ คนไทยก็ข้ามฝากไปลงทุนและท่องเที่ยวที่สิงคโปร์กันไม่น้อย

ไทยและสิงคโปร์นั้นเป็นทั้งหุ้นส่วนและคู่แข่งกันมีผลประโยชน์ร่วมกันในบางเรื่องและมีผลประโยชน์ขัดกันในบางเรื่องแต่ไม่เคยมองอีกฝ่ายหนึ่งเป็นศัตรูจนกระทั่งมาในยุคนี้ที่ไปกล่าวหาว่าเขาดักฟังโทรศัพท์ ถือว่าร้ายแรงในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ส่วนไทยเองก็ไม่พอใจที่มีการซื้อธุรกิจสัมปทานโดยเฉพาะดาวเทียมซึ่งมีความอ่อนไหวต่อประเด็นความมั่นคง

วิกฤต "สุวรรณภูมิ" ทำให้ไทยพลาดท่าในการเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคเอเชีย กลายเป็นโอกาสของ สนามบินชางยีของสิงคโปร์ สิงคโปร์คงเดินกลยุทธเต็มที่ในการพลักดันทั้งสนามบินชางยีและคอมแพล็กกาสิโนเพื่อดึงดูดเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยว

ความสัมพันธ์เริ่มสั่นคลอนมาอย่างต่อเนื่องหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 50 สังเกตได้จากความเห็นอันดุดันต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยที่แตกต่างจากผู้นำอาเซียนท่านอื่นๆ และเกิดอาการร้าวฉานมากขึ้นเมื่อเริ่มมีการรื้อฟื้นและไต่สวนกรณีการขายหุ้นชินให้กองทุนเทมาเส็ก

และเริ่มลุกลามไปกันใหญ่ทั้งๆที่ไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น เมื่ออดีตนายกฯทักษิณ เยี่ยม ดร. หว่องกันเส็ง และ เอส จายากุมาร รองนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ เป็นการส่วนตัว แต่ไม่ให้สัมภาษณ์สื่อดังระดับโลกอย่าง CNN และ Wall Street Journal วิพากษ์นโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลและ คมช

ความสัมพันธ์ที่ร้าวฉาน การตอบโต้กันผ่านสื่อมวลชนระหว่างประเทศ แม้นไม่ถึงกับทำให้บรรยากาศการค้าการลงทุนต่อกันเสียหายในทันที แต่การปลุกกระแสเกลียดชังสิงคโปร์อย่างไม่ระมัดระวัง อาจจะก่อให้เกิดการประท้วงลุกลามใหญ่โต จะทำให้ทุนสิงคโปร์กลายเป็นผู้ร้ายของสังคมไทย

หากมีกระแสต่อต้านจนทำลายบรรยากาศการลงทุน ทุนสิงคโปร์ก็อาจไม่ทนอยู่ เพราะเขามีทั้งทุน เทคโนโลยีและเครือข่าย และเคลื่อนย้ายทุนไปที่ไหนก็ได้ในยุคไร้พรมแดนแบบนี้

เราไม่จำเป็นต้องอาลัยอาวรณ์หรอกครับ มีประเทศอื่นๆเขาสนใจลงทุนในประเทศไทยก็ยังมี แต่จำเป็นด้วยหรือที่เราต้องทำให้สิงคโปร์เป็นศัตรูเราทั้งที่เป็นประเทศแกนนำอาเซียนด้วยกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.