|

สายการบิน-ท่องเที่ยว ปรับยุทธศาสตร์ใหม่รับกลับดอนเมือง...
ผู้จัดการรายสัปดาห์(5 กุมภาพันธ์ 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ยุทธการปรับแผนธุรกิจท่องเที่ยวใหม่!...เมื่อสนามบินดอนเมืองถูกหยิบมาปัดฝุ่นใช้อีกครั้ง เจาะกลยุทธ์สายการบิน-ท่องเที่ยวรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น!...
28 กันยายน 2549 แอร์ไลน์ทุกสายการบินถูกย้ายให้ไปใช้สนามบินแห่งใหม่ “สุวรรณภูมิ” แม้ว่าสายการบินในตระกูลโลว์คอร์สทำท่ายึกยักส่งสัญญาณจะไม่ยอมย้ายไปใช้สนามบินสุวรรณภูมิก็ตาม แต่เมื่อเจอแรงกดดันหลายอย่างเข้าไป รวมถึงต้องปิดสนามบินดอนเมืองทันทีหลังจากเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ ส่งผลทำให้ทุกสายการบินจำเป็นต้องปฏิบัติตาม โดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำอย่างไทยแอร์เอเซียที่ประกาศย้ายเป็นอันดับต้น ๆ ก่อนวันเปิดอย่างเป็นทางการเสียด้วยซ้ำไป
แน่นอน...การย้ายสนามบินไม่เหมือนการย้ายบ้าน ทุกขั้นทุกตอนจึงต้องมีการวางแผนกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่และกลยุทธ์การตลาด ซึ่งทุกแอร์ไลน์ค่อนข้างที่จะมีความพร้อมและชัดเจน โดยเฉพาะการปรับผังตารางบิน การกำหนดเส้นทางบินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ รวมถึงการให้บริการบนภาคพื้นดิน ส่งผลให้กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวต้องปรับแผนกลยุทธ์รองรับตลาดนักท่องเที่ยวให้สอดคล้องเหมาะสมกับเส้นทางบินที่ถูกวางไว้ด้วยเช่นกัน
ชั่วระยะเวลาเพียงแค่ 4 เดือนกว่าๆเท่านั้น สนามบินสุวรรณภูมิที่คิดว่าจะสร้างเป็นฮับแห่งเอเชีย กลับมีปัญหาเรื่องของความไม่ปลอดภัย และเหลือเวลาอีกเพียงแค่ 45 วันเท่านั้นที่สายการบินภายในประเทศ(เฉพาะที่สมัครใจ)จะต้องกลับมาใช้สนามบินดอนเมืองอีกครั้ง...
การกลับมาใช้บริการใหม่ของสนามบินดอนเมืองครั้งนี้จึงอาจจะมีผู้ประกอบการบางส่วนที่ถูกใจและไม่ถูกใจ...แต่ท้ายที่สุดการตัดสินใจทั้งหมดเพื่อย้ายไปใช้บริการสนามบินดอนเมืองก็ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของสายการบินแต่ละแห่ง
...แน่นอนผลกระทบจะส่งให้ 6 สายการบินหลักที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น การบินไทย ไทยแอร์เอเชีย บางกอกแอร์เวย์ นกแอร์ วัน-ทู-โก และพีบีแอร์ จึงต้องเร่งตัดสินใจ
แต่ใช่ว่าทุกสายการบินจะให้คำตอบตกลง!...เหมือนกัน เนื่องจากแต่ละสายการบินต่างก็มีกลยุทธ์ที่แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเส้นทางบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ จำนวนเครื่องบินที่มีอยู่ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ
ทั้งหลายทั้งปวงคือข้อจำกัดในเรื่องของการวางแผนกลยุทธ์รตลาดของสายการบินแทบทั้งสิ้น...
สอดคล้องกับที่ อุดม ตันติประสงค์ชัย ซีอีโอของโอเรียนท์ไทยที่พร้อมจะทำการบินภายในประเทศขึ้น-ลงในสนามบินดอนเมือง ถึงแม้ว่าจะมีการลงทุนด้วยงบประมาณของบริษัทบ้างก็ตาม เนื่องจาก วัน-ทู-โก มีเส้นทางการบินภายในประเทศอยู่จึงไม่ส่งผลกระทบเท่าไรนัก
ขณะที่ ทัศพล แบเลเว็ล ผู้บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย ยังคงต้องกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้งหลังจากมีมติคณะรัฐมนตรีออกมา เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เนื่องจากมีเส้นทางบินทั้งในและต่างประเทศอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ด้วยข้อจำกัดที่ให้เฉพาะสายการบินที่ให้บริการภายในประเทศเท่านั้นมาใช้สนามบินดอนเมือง จึงทำให้ต้นทุนของค่าใช้จ่ายทั้งหมดของไทยแอร์เอเชียจะต้องเสียถึงสองสนามบินซึ่งไม่คุ้มค่ากับการลงทุน
ถึงแม้ว่าก่อนหน้านั้นไทยแอร์เอเชียเคยประกาศตัวเป็นหัวเรือใหญ่ในการล็อบบี้ขอให้สายการบินโลว์คอร์สย้ายกลับไปใช้สนามบินดอนเมือง หลังเจอทั้งภาวะต้นทุนพุ่งและความไม่พร้อมของสุวรรณภูมิ ในหลายเรื่อง
แต่การล็อบบี้ของไทยแอร์เอเชียครั้งนั้นกลับไม่ได้ทำอย่างโจ๋งครึ่ม อาจเป็นเพราะยังหวั่นเรื่องของ นอร์มินี แต่ก็อาศัยพันธมิตรสายการบินอื่น ๆ อาทิ วันทูโก ของอุดม ตันติประสงค์ชัย นกแอร์ โดยพาที สารสิน
ขณะที่พีบีแอร์ เป็นตัวช่วยในการจัดทำข้อมูล แจงข้อดี- ข้อเสียส่งตรงถึงมือบิ๊ก ทอท.และ ขอ. กระทรวงคมนาคมประกอบการตัดสินใจ
และในที่สุด พลเรือเอก ธีระ ห้าวเจริญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็ออกมายอมรับว่าต้องกลับมาใช้สนามบินดอนเมืองในเชิงพาณิชย์อีกครั้ง โดยเลือกที่จะให้สายการบินภายในประเทศเข้ามาเปิดให้บริการเท่านั้น ขณะเดียวกันก็ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้ประกอบการแต่ละสายการบินด้วย
การปรับกลยุทธ์วางแผนการตลาดใหม่ของแต่ละสายการบินจึงต้องเกิดขึ้น...
แม้ว่าสำหรับสายการบินภายในประเทศที่มีเส้นทางบินตรงระหว่างจังหวัดกับจังหวัดจะไม่ส่งผลกระทบเท่าไรนักก็ตาม แต่ขณะที่สายการบินของคนไทยอย่าง บางกอกแอร์เวยส์และไทยแอร์เอเชีย ที่มีเส้นทางบินระหว่างประเทศ คาดว่าน่าจะส่งผลกระทบไม่น้อย เพราะผู้โดยสารที่จะต่อเครื่องไปยังต่างประเทศจะต้องไปขึ้นเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิ
ปัญหานี้จึงถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาและบทสรุปเบื้องต้น สายการบินไทย อาสาจะเป็นสายการบินที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่สนามบินดอนเมือง
ไทยธุรกิจท่องเที่ยวขอความชัดเจน
สายการบินคือหัวใจหลักในการเดินทางของนักท่องเที่ยว เมื่อสายการบินมีการจัดตารางเที่ยวบินใหม่ วางแผนเส้นทางการบินเรียบร้อยเพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปลงสนามบินดอนเมือง ด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยก็จะนำไปใช้เป็นข้อมูลเตรียมตัวเพื่อวางแผนการตลาดต่อไป
เกี่ยวกับเรื่องนี้ อภิชาติ สังฆอารี นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว บอกว่า หากสนามบินสุวรรณภูมินั้นยังไม่มีความพร้อมในเรื่องของการเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์ แต่เมื่อเปิดให้บริการไปแล้วกอปรกับมีปัญหาเกิดขึ้นมาเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องออกมาสร้างความชัดเจนเพราะถ้า สายการบินเกิดหยุดทำการบินไม่บินมาลงประเทศไทยขึ้นมา ปัญหาของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภายในประเทศย่อมส่งผลกระทบแน่นอน
ขณะเดียวกันเมื่อมีข่าวเรื่องความไม่ปลอดภัยของสนามบินสุวรรณภูมิออกไปในต่างประเทศด้วยแล้ว บริษัทประกันภัยก็คงไม่ครอบคลุมทั้งหมด ส่งผลให้สายการบินต่างๆก็ไม่กล้าบินมาลงที่ประเทศไทย กอปรกับความฝันที่จะสร้างสนามบินสุวรรณภูมิให้เป็นฮับแห่งเอเชีย กลับกลายเป็นดับฝันตัวเองลงไปทันที
“ย้ายกลับดอนเมืองไม่น่ามีปัญหา แต่ต้องมีความชัดเจนรวมทั้งดำเนินการให้รวดเร็ว เพราะไม่อย่างนั้นจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวอื่นๆ เมื่อไม่มีสายการบินมาลงก็คงไม่มีนักท่องเที่ยวด้วย”อภิชาติ กล่าว
อย่างไรก็ตามการย้ายกลับไปใช้สนามบินดอนเมืองครั้งนี้น่าจะตรงกับช่วงโลว์ซีซันพอดี จึงคาดว่าน่าจะสามารถรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวได้ ขณะเดียวกัน สายการบินไทยก็จะมีไฟล์ตบินเชื่อมต่อไปต่างประเทศให้ด้วยก็จะเป็นข้อมูลที่สามารถนำไปวางแผนการตลาดเพื่อจองตั๋วเครื่องบินได้
กรณีการมีสองสนามบินในประเทศไทย นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว บอกว่าในหลายประเทศใหญ่ๆก็มีสองสนามบินกัน ในฐานะผู้ประกอบการท่องเที่ยวไม่วิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะไม่ได้เกิดความเสียหายอะไรขึ้นมา ขณะเดียวกันคือต้องมีความชัดเจนในเรื่องของการเปิดให้บริการของแต่ละสายการบิน และตราบใดที่การบินไทยยังคงให้บริการเชื่อมต่อระหว่างประเทศได้ กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวก็สามารถที่จะบุ๊กไฟล์ตให้กับนักท่องเที่ยวได้
นั่นแสดงว่าสายการบินที่ตอบรับว่าจะทำการบินขึ้น-ลงในสนามบินดอนเมืองจะต้องมีความชัดเจนของผลสรุปแผนเส้นทางตารางบินทั้งหมดให้เร็วที่สุดหลังจากที่รัฐบาลประกาศให้กลับมาใช้สนามบินดอนเมือง ซึ่งจะทำให้กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวมีเวลาวางแผนการตลาดด้วยเช่นกัน
“ปกติสายการบินจะมีการวางแผนล่วงหน้า 6 เดือนทั้งช่วงฤดูไฮซีซั่นและฤดูโลว์ซีซั่น ซึ่งสนามบินดอนเมืองยังคงสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้”นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยวกล่าว
ก่อนหน้านั้นมีการคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นหลังเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ แต่ปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิกลับเป็นตัวฉุดให้ตัวเลขของนักท่องเที่ยวน้อยลงไป สาเหตุสำคัญคือเรื่องของความไม่ปลอดภัย
หากหน่วยงานภาครัฐให้ความชัดเจนเกี่ยวกับข้อมูลความเป็นจริงในเรื่องความปลอดภัย กอปรกับสายการบินมีบทสรุปในเรื่องของการเปิดให้บริการในสนามบินดอนเมืองที่ชัดเจน การเตรียมตัวรองรับของภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภายในประเทศก็จะมีความพร้อมวางแผนรับกลุ่มนักท่องเที่ยวได้อย่างเต็มที่
“ตอนนี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวภายในประเทศแทบไม่ต้องทำอะไรมากนัก...ขณะที่แอร์ไลน์คือสิ่งสำคัญที่สุดเพราะเป็นตัวเชื่อมขนนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ ซึ่งถ้าเกิดแอร์ไลน์ขาดความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัยขึ้นมา เขาก็จะลดเที่ยวบินถึงตรงนั้นซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยแน่นอน”นายกสมาคมฯกล่าว
ยังไม่สายหากจะเปลี่ยนให้สายการบินที่เปิดให้บริการเฉพาะภายในประเทศกลับไปใช้สนามบินดอนเมืองอีกครั้งและสำคัญที่สุดภาครัฐจะต้องมีความชัดเจนในทุกๆเรื่อง และต้องมีการดำเนินการให้รวดเร็วที่สุดเพื่อให้เกิดความเรียบร้อย เพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยอย่างแน่นอน
รีเทิร์นดอนเมือง...ใครได้ประโยชน์?...
กระแสการย้ายสายการบินต้นทุนต่ำไปอยู่ที่สนามบินดอนเมืองเมื่อช่วงท้ายปี 2006 ดูจะเริ่มเป็นจริงขึ้นมา หลังจากที่บอร์ดการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย(ทอท.)อดรนทนไม่ไหวจำเป็นต้องประชุมด่วนเพื่อหาข้อยุติทันที
องค์ประชุมให้น้ำหนักไปที่หากให้ โลว์คอส แอร์ไลน์ กลับมาดอนเมือง เท่ากับเปิดขุมทรัพย์ให้โลว์คอร์ส แอร์ไลน์และผลประโยชน์จะตกอยู่กับคู่แข่งอย่างสิงคโปร์หรือมาเลเซีย เสียมากกว่า
แล้วการบินไทยจะทำอย่างไร ? ส่วนประเทศไทยจะได้หรือเสียอะไร?.. เมื่อประเด็นเริ่มเซ็นซิทีฟแบบนี้ทุกคนที่ออกจากห้องประชุมจึงถูกสั่งให้ปิดปากเงียบ!..
ล่าสุดต้นปี 2007 กระแสเสียงการตอบรับการย้ายมาใช้สนามบินดอนเมืองเริ่มเข้มข้นขึ้นอีก เมื่อสุวรรณภูมิเจอปัญหาสารพัด โดยเฉพาะความแออัด และต้องใช้เม็ดเงินอีกหลายหมื่นล้านขยายการลงทุนรองรับ อีกทั้งแท็กซี่เวย์มีรอยแยก รันเวย์มีรอยร้าว...ฯลฯ
อีกทั้งยังมีสัญญาณที่ชัดเจนว่า การบินไทยร่วมวงไพบูลย์ด้วย ภายใต้เงื่อนไขว่า จะต้องเป็น สายการบินที่มีเส้นทางบินภายในประเทศเท่านั้น แบบพอย์ททูพอย์ท หรือจุดบินต่อจุดบิน ต่อไปต่างประเทศนั้นหมดสิทธิ์ ก็เท่ากับว่า เป็นการปิดทางฝันให้กับไทยแอร์เอเชียกลับดอนเมืองอย่างสิ้นหวัง
เนื่องจากการเปิดใช้สองสนามบินไทยแอร์เอเชียทำให้ต้นทุนพุ่งปี๊ด เครื่องบินก็ไม่พอที่จะจัดสรรใช้สองสนามบินได้ทุกวัน โดยเฉพาะไทยแอร์เอเชียมีปัญหาที่ต้องรอเครื่องบินจากจุดบินหนึ่งที่ ซึ่งอาจจะเป็นเครื่องบินที่บินระหว่างต่างประเทศเพื่อมารับผู้โดยสารภายในประเทศ
ดังนั้นการเตรียมย้ายกลับมาใช้ดอนเมือง จึงน่าจะไม่มี ไทยแอร์เอเชีย เหลือแค่มีเพียง การบินไทยที่แอ่นอกรับอยากย้ายเต็มที่ รวมทั้ง วันทูโก นกแอร์ ที่ยอมรับว่าไม่มีปัญหาหากจะต้องย้ายที่ทำการบิน ส่วนบางกอกแอร์เวย์สประกาศจุดยืนไม่ย้ายตั้งแต่ต้นเพราะมีผู้โดยสารต่างชาติ ต้องต่อเครื่องไปจุดหมายปลายทางอื่น เป็นจำนวนมาก
เรื่องนี้อาจจะไม่จบลงง่าย ๆ เมื่อ พลเรือเอก ธีระ ห้าวเจริญ ออกมาพูดนิ่ม ๆ ว่าถึงการกลับมาใช้สนามบินดอนเมืองว่า จำเป็นต้องย้ายสายการบินภายในประเทศเข้ามาให้บริการในสนามบินดอนเมือง แต่ภายใต้เงื่อนไขของความสมัครใจแต่ละสายการบิน
ขณะที่ข่าววงในพบว่าไทยแอร์เอเซียก็ยังเดินสายล็อบบี้ให้เปิดแบบ พอยท์ทูพอยท์ด้วย ซึ่งยิ่งทำให้ประเด็นการย้ายดอนเมืองร้อนแรงจนกลายเป็นเสียงแตก มีทั้งเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย ไหนจะมีเรื่องของการสูญเสียความเป็นฮับทางการบิน
ขณะเดียวกันรัฐบาลก็กลัวเสียหน้าที่จะต้องย้ายไป-ย้ายมาไม่รู้จะตอบคำถามต่างชาติอย่างไร?...
ประการสำคัญการย้ายกลับดอนเมืองจะถูกสายการบินที่ให้บริการสุวรรณภูมิบีบให้ บมจ.การท่าอากาศไทย(ทอท.)เก็บค่าบริการเท่ากับดอนเมืองหรือไม่?...ขณะที่จำนวนสายการบินที่จะมาเปิดให้บริการที่สนามบินดอนเมืองสรุปแผนตารางบินเมื่อไรนั้น... ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาหนักอกของผู้เกี่ยวข้องที่ต้องตัดสินใจแทบทั้งสิ้น ดังนั้นภาครัฐคือกลไกที่จะต้องสร้างความชัดเจนและดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะยิ่งช้าเท่าไรอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยที่สร้างรายได้หลักให้กับประเทศไทยจะถูกผลกระทบอย่างแน่นอน...
ข้อดีของการย้ายสนามบิน...
1. พนักงานส่วนใหญ่ของสายการบินภายในประเทศมีบ้านพักอยู่แถบย่านดอนเมืองเดินทางสะดวกขึ้น
2. ส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวในแถบย่านดอนเมืองโดยเฉพาะโรงแรม น่าจะดีขึ้นหลังจากที่ซบเซามานาน
3. รัฐไม่ต้องไปลงทุนเพิ่มอีกกว่า 1,000 ล้านบาทในสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อสร้างอาคารให้กับโลว์คอส
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|