วีระอนงค์ จิระนคร ถนนแห่งความสำเร็จ

โดย ฐิติเมธ โภคชัย
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

จากบุคลากรและได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี ตามแบบอย่างของโรงเรียนซิตี้แบงก์ ส่งผลให้เป็นสถาบันที่มีผู้บริหารรุ่นใหม่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ

ชื่อของวีระอนงค์ จิระนคร ในฐานะ Vice President Cash, Trade, Treasury Service & Global Securities Service Head ซิตี้แบงก์ ไม่เป็นที่แปลกหน้าสำหรับวงการตลาดเงินตลาดทุนในเมืองไทย เพราะชีวิต การทำงานล้วนแล้วแต่อยู่ในสายธนาคารพาณิชย์ทั้งสิ้น หลังจากเธอจบปริญญาตรีด้าน เศรษฐศาสตร์และบัญชี ที่ Scripps College, Claremont, California ในปี 1991 ได้เข้าทำงานในตำแหน่ง Executive Trainee ที่ Republic National Bank of New York ณ กรุงนิวยอร์ก

จากนั้น เธอได้ศึกษาต่อปริญญาโท ด้านไฟแนนซ์ บัญชีและการบริหารระหว่างประเทศที่ Boston College, Boston, Massachusetts โดยขณะที่กำลังคร่ำเคร่งอยู่กับตำราถือเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตการทำงานช่วงหนึ่ง เมื่อซิตี้แบงก์เข้ามาเปิดรับสมัครภายในรั้วมหาวิทยาลัยและอธิบายถึงธุรกิจและวัฒนธรรม เธอรู้สึกประทับใจกับองค์กรแห่งนี้

"ช่วงนั้นยังไม่ได้คิดอะไรมากเพราะยังเรียนไม่จบ แต่ก็เป็นเรื่องบังเอิญเมื่อเราเขียนใบสมัครทิ้งเอาไว้ จากนั้นก็มีการติดต่อกันจนกระทั่งธนาคารรับเข้ามาทำงาน คิดว่าเป็นการค้นพบ ซึ่งกันและกันมากกว่า" วีระอนงค์ เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

เมื่อสำเร็จการศึกษาในปี 1994 เธอเดินทางกลับเมืองไทยพร้อมกับบรรยากาศการทำงานใหม่ที่ซิตี้แบงก์ สาขากรุงเทพฯ ในตำแหน่ง Corporate Finance Officer จากนั้นไปทำงานเป็น Sale & Account Management Head แผนก Global Securities Services และได้รับการโปรโมตให้เป็น Securities Country Manager แต่ดูเหมือนว่าเธอไม่ต้องปรับตัวอะไรมากมาย อันเนื่องมาจากวัฒนธรรมภายในองค์กรยังเป็นในแบบฉบับอเมริกัน รวมถึงเพื่อนร่วมงาน ที่เป็นคนไทยแทบทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม เมื่อวีระอนงค์ทำงานได้ประมาณ 5 ปี ได้รับโปรโมตให้ไปดำรงตำแหน่ง Securities Country Manager ซิตี้แบงก์ ประจำฮ่องกงและจีน นับเป็นการเดินทางไปทำงานต่างถิ่นอีกครั้งและเธอได้ทำงาน ที่นั่นเป็นเวลาถึง 3 ปีก่อนที่จะถูกดึงตัวกลับมาในประเทศไทยเพื่อรับตำแหน่งสำคัญในฐานะผู้ดูแลธุรกิจบริหารเงินสด เทรดไฟแนนซ์ และหลักทรัพย์เมื่อประมาณปลายปีที่ผ่านมา

นับได้ว่าวีระอนงค์เป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ ที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริหารระดับสูงของซิตี้แบงก์ เนื่องจากธุรกิจทั้ง 3 ที่เธอต้องรับผิดชอบและมีทีมงานเกือบ 60 คน นับเป็น ผลิตภัณฑ์หลัก (Core Product) ของธนาคาร

"วัฒนธรรมและสไตล์ของซิตี้แบงก์คือ ใครมีความสามารถก็ให้โอกาสทำงาน ไม่เน้น อายุแต่มองศักยภาพมากกว่า ว่ามีความเหมาะสมกับตัวงาน สามารถปรับตัวให้ทันกับตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา และนำพาทีมงานไปสู่ทิศทางที่เติบโตตามเป้าหมาย ได้หรือไม่" เธออธิบาย

ความได้เปรียบของผู้บริหารรุ่นใหม่ในสายตาของเธอ ก็คือ มุมมองที่มีความหลากหลายและหลุดออกจากกรอบมากขึ้น ความรู้สึกดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากวัฒนธรรมของซิตี้แบงก์ที่พยายามปลูกฝังให้กับผู้บริหาร ทุกคนว่าทุกสิ่งที่ทำจะต้องมีอะไรที่ดีกว่าในปัจจุบัน แล้วแต่ว่าถูกค้นพบหรือไม่

"พวกเราจะนำแนวคิดการให้บริการใหม่ๆ จากบริษัทแม่มาใช้ในเมืองไทย และพิจารณาว่าสามารถใช้ได้หรือไม่ เป็นที่ยอมรับ กับเศรษฐกิจและตลาดหรือไม่ และทำอย่างไร ให้ดียิ่งขึ้นเพื่อรองรับกับธุรกิจของลูกค้าได้"

ดังนั้น ความท้าทายสำหรับวีระอนงค์ อยู่ในแง่ที่ว่า ผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 จะรองรับธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน และมีรูปแบบต่างๆ เพิ่มขึ้นมาตลอดได้หรือไม่ "อีกทั้งยังท้าทายตรงที่เรามีความคุ้นเคยแต่ทำอย่างไรที่จะให้ดีขึ้น"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.