2 ทศวรรษ เอเซอร์

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

การบินมาเมืองไทยของประธานบริษัทเอเซอร์ในครั้งนี้ ไม่ได้อยู่ในแผนการเยี่ยมสาขาในประเทศต่างๆ แต่เป็นการบินตรงมาเมืองไทย เพื่อถือโอกาส ฉลองครบรอบ 20 ปี เอเซอร์ในไทยโดยเฉพาะ

เอเซอร์ประเทศไทย เลือกเอาโรงแรม คอนราด บริเวณเดียวกับอาคารออลซีซัน ริมถนนวิทยุ ที่เพิ่งเปิดให้บริการก่อนหน้านี้ ไม่กี่วัน ใช้เป็นสถานที่จัดแถลงข่าว ตั้งชื่องานอย่างดีว่า Two Decade, Together with Acer

แม้จะเป็นงานฉลองครบรอบ 20 ปี แต่พิธีการของงานไม่มีอะไรมาก ไม่ต่างไป จากงานแถลงข่าวทั่วไป ยกเว้นได้พ่วงเอาโครงการเอเซอร์สร้างอนาคตสู่เยาวชนที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน ด้วยการ มอบคอมพิวเตอร์ให้ไปใช้ในโครงการ งานนี้นอกจากผู้บริหารของเอเซอร์แล้ว ยังพ่วง เอาปลัดกระทรวงยุติธรรม และเจ้าหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรมมากันคึกคัก

แต่ไหนๆ บินมาเมืองไทยทั้งทีแล้ว ประธานเอเซอร์ชาวไต้หวัน ก็ได้ถือโอกาส บอกกล่าวถึงยุทธศาสตร์ของเอเซอร์ในอนาคต

"เวลานี้ตลาดถึงจุดอิ่มตัวระดับหนึ่ง กำไรหายากมาก ไม่ว่าบริษัทใหญ่อย่าง ไอบีเอ็ม HP โซนี่ โตชิบา ทุกคนประสบปัญหาเดียวกัน" เจ.ที.หวัง สะท้อนถึงปัญหา ของผู้ผลิตเครื่องพีซีทั่วโลกที่ต้องเผชิญ

ประธานเอเซอร์เชื่อว่าหนทางเดียวที่เอเซอร์จะสร้างข้อได้เปรียบในสถานการณ์ ดังกล่าวได้ก็คือ การหันไปเน้นความแข็ง แกร่งของ brand ภายใต้กลยุทธ์ที่เขาเรียกว่า Three-One และ Three-Multiple ที่เอเซอร์จะนำมาใช้ในปี 2546

Tree-One ตามความหมายของ เจ.ที.หวัง คือการที่เอเซอร์จะใช้แบรนด์เดียวในลักษณะของ 1 company 1 brand เพื่อลดความสับสนของลูกค้า จะยุบรวมเอาธุรกิจคล้ายๆ กัน ที่กระจัดกระจายอยู่มารวมกันเป็นบริษัทเดียว มีผลให้ทีมงานเหล่านี้จะถูกรวบรวมเป็นทีมงานเดียว มีพันธมิตรกลุ่มเดียวกัน ในลักษณะของ Global team

ส่วน Tree-Multiple ตามความหมายของเขาคือ การมีพันธมิตรจากหลายๆ ช่องทาง และสายผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจอภาพ LCD อุปกรณ์ optical storage หรือเครื่องฉายโปรเจกเตอร์ แทนที่จะมีผลิตภัณฑ์ในสายพีซีคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียว

โอกาสนี้ ประธานเอเซอร์ยังบอกเล่า ถึงยุทธศาสตร์ของการนำระบบ Global eProcurement มาใช้ในการจัดซื้อชิ้นส่วน ไม่ว่าจะเป็น CPU เมนบอร์ด ฮาร์ดดิสก์เพื่อใช้ในการผลิตเครื่องพีซี และโน้ตบุ๊คคือ แทนที่จะต่างคนต่างซื้อหรือต่างคนต่างกัน ให้ทุกสาขาในแต่ละภูมิภาคซื้อพร้อมๆ กัน ในลักษณะ hub ของแต่ละภูมิภาค วิธีนี้เขาเชื่อว่าจะช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้

เอเซอร์นั้น จัดได้ว่าเป็น brand ผู้ผลิตจากเอเชียที่หาญกล้าท้าชนกับผู้ผลิตในระดับโลก ที่ล้วนแต่มีผู้ผลิตจากสหรัฐ อเมริกา ตลอดหลายปีมานี้เอเซอร์ต้องเผชิญ กับปัญหาการแข่งขันและการลดต่ำของผลกำไร ในขณะที่หลายรายเริ่มหายหน้าไปจากตลาด หรือลดบทบาทลง แต่เอเซอร์ ยังคงเดินหน้าต่อไป ความต่อเนื่องในการ นำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดคือ บทพิสูจน์ได้ทางหนึ่ง

ส่วนยุทธศาสตร์เหล่านี้จะเห็นผลหรือไม่อย่างไร ต้องรอดูกันต่อไป แม้ว่าการมาเมืองไทยของประธานเอเซอร์ จะไม่ยิ่งใหญ่เท่ากับการเปิดตัวสินค้าเหมือนเมื่อครั้งที่ผ่านมาก็ตาม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.