คลังฝืนยืนเป้าจีดีพีปี50โต4-5%ยันรับอานิสงส์ราคาน้ำมัน-เงินเฟ้อวูบ


ผู้จัดการรายวัน(31 มกราคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

คลังกัดฟันยืนเป้าจีดีพีปี 50 โต 4-5% รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันที่ต่ำกว่าคาดกดดันให้เงินเฟ้อลดลง แต่ยังไม่วางใจติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แย้มกุมภาฯประเมินภาวะเศรษฐกิจอีกรอบ ส่วนทั้งปี 49 มั่นใจเศรษฐกิจโตไม่ต่ำกว่า 5% รับอานิสงส์จากภาคการส่งออกที่ขยายตัวถึง16.9% ยันฐานะการคลังไม่มีปัญหา โชว์จัดเก็บรายได้ยังเกินเป้า-หนี้สาธารณะลดลง

นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังยังคงประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ปี 2550 ไว้ที่ 4-5% คงเดิม โดยมองว่ายังมีปัจจัยหนุนจากราคาน้ำมันดิบดูไบที่อยู่ในระดับ 52 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากเดิมที่เคยประมาณการไว้ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ในระดับที่ 61 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งจะส่งผลทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ แม้ภาคการส่งออกจะมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกมีการชะลอตัวลงบ้าง แต่ช่วงที่ผ่านมาการส่งออกก็ยังขยายตัวได้อยู่

“แม้ส่งออกจะมีแนวโน้มลดลงจากเศรษฐกิจโลกมีการชะลอ แต่เท่าที่ดูก็ยังมีการส่งออกได้อยู่ จึงเชื่อว่าฐานะการคลังในปีนี้ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะยังมีความมั่นคงอยู่มาก และที่ผ่านมามีการจัดเก็บภาษีได้เกินเป้าตลอด ประกอบกับหนี้สาธารณะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ฐานะการคลังทั้งปีจะเป็นอย่างไรคงจะต้องติดตามและประเมินต่อไป”นางพรรณี กล่าว

อย่างไรก็ตามแม้ว่ากระทรวงการคลังจะยังคงประมาณการจีดีพีไว้ที่ 4-5% ในปีนี้เหมือนเดิมแต่จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่ กระทรวงการคลังจะมีการติดตามและประเมินภาวะเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือน ก.พ. 2550 กระทรวงการคลังจะแถลงประมาณการเศรษฐกิจอีกรอบ

นางพรรณี กล่าวต่อถึง การขยายตัวทางเศรษฐกิจของปี 2549 ว่าจะจะมีการขยายตัวในระดับใกล้เคียงกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศ ประมาณ 5.1% ซึ่ง สศค.เชื่อว่าจีดีพีจะขยายตัวได้เกิน 5%ได้แน่นอน เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการประมาณการมาตลอดว่าในปี 2549 จีดีพีจะขยายตัวเกิน 5%

สำหรับภาวะเศรษฐกิจการคลังโดยรวมในเดือนธันวาคม 2549 ยังสามารถขยายตัวได้ดี โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวดีมากในขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย ทั้งนี้ เสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกยังอยู่ระดับแข็งแกร่งมาก โดยภาวะเศรษฐกิจภายนอกในเดือนธันวาคมได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง และราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า

ด้านเครื่องชี้ภาวะการคลังพบว่าการจัดเก็บรายได้ขยายตัวได้ดี ในขณะที่การใช้จ่ายของรัฐบาลปรับตัวลดลง ซึ่งเกิดจากการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2550 ล่าช้า โดยรายได้จัดเก็บสุทธิของรัฐบาลในเดือนธันวาคม 2549 มีจำนวนทั้งสิ้น 91.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.3 ต่อปี ขณะที่ด้านรายจ่ายงบประมาณในเดือนธันวาคม 2549 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 98.9 พันล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ -12.0 ต่อปี เนื่องจากการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2550 ล่าช้า

โดยเครื่องชี้ในด้านอุปทานพบว่า การผลิตภาคเกษตรในเดือนธันวาคมปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 11.4 ต่อปี ส่วนดัชนีราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ -2.4 ต่อปี จากที่หดตัวถึงร้อยละ -6.8 ต่อปี ในเดือนก่อน ทำให้คาดว่ารายได้เกษตรกรน่าจะมีการขยายตัวดีขึ้นในเดือนธันวาคม ขณะที่เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรมบ่งชี้การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ดังจะเห็นได้จากที่มูลค่าการนำเข้าวัตถุดิบในเดือนธันวาคมที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.2 ต่อปี ในเดือนก่อน และดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคมขยายตัวร้อยละ 7.2 ต่อปีเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.1 ต่อปีในเดือนก่อน

นางพรรณี กล่าวอีกว่า ในส่วนของมูลค่าการส่งออกสินค้าเดือนธันวาคมยังคงขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่า 10,959 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.5 ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงในทุกหมวดสินค้า ด้านมูลค่าการนำเข้าสินค้ายังคงขยายตัวในระดับต่ำตามการใช้จ่ายในประเทศที่ชะลอลง โดยมีมูลค่า 10,047.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 ต่อปี เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวชะลอลงตามการลงทุนภายในประเทศ ทั้งนี้การที่มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวสูงกว่ามูลค่าการนำเข้าส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนธันวาคมเกินดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ 911.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นอกจากนี้ เสถียรภาพทั้งภายในและภายนอกประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยหนี้สาธารณะอยู่ที่ร้อยละ 40.8 ของ GDP ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าและต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ร้อยละ 50 ของ GDP ในขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศยังปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาอยู่ที่ 67.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้นจาก 64.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธันวาคม ขยายตัวในระดับเดียวกับเดือนก่อนที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมดัชนีราคาอาหารสดและพลังงาน ในเดือนธันวาคมปรับตัวลดลง อยู่ที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี จากร้อยละ 1.7 ต่อปี ในเดือนพฤศจิกายน

อย่างไรก็ตามภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 โดยรวมได้รับปัจจัยขับเคลื่อนหลักจากอุปสงค์ภายนอกที่ยังขยายตัวในระดับสูงและแนวโน้มราคาน้ำมันที่เริ่มปรับตัวลดลง ในขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.