|
สสว.เตือนภัยส่งออกSMEsปี 50คาดขยายตัวลดลงเหลือเพียง11%
ผู้จัดการรายวัน(31 มกราคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
สสว. คาดการณ์สถานการส่งออกภาคSMEs ไทยปี 2550 ลดลงจากปี 2549 ที่ขยายตัว 11.3 เพียง 11% ผลพ่วงจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นและภาวการณ์แข่งขันของประเทศคู่แข่งที่รุนแรงมากขึ้น พร้อมเตือนภัยSMEsรายสาขาทั้งที่โดดเด่นและต้องระมัดระวัง
นางจิตราภรณ์ เตชาชาญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวถึงสถานการณ์การส่งออกของSMEs ไทยในปี 2550ว่า จากการคาดการณ์การส่งออกของSMEs ไทยในปี 2550 น่าจะมีอัตราการขยายตัวประมาณ 11.03% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,624,979 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2549 ที่มีการขยายตัวประมาณ 11.3% ผลกระทบมาจากสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันการแข็งค่าของเงินบาทไทยมากกว่า 10% เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง อย่าง ประเทศจีนที่มีการแข็งค่าของเงินเพียง 3-5 % เท่านั้น และประกอบกับการแข่งขันที่รุนแรง โดยประเทศคู่แข่งของเราต่างๆดึงกลยุทธ์ต่างๆ ออกมาเพื่อผลักดันการส่งออกให้มากขึ้น
ทั้งนี้ ทางสสว.ยังได้มีการคาดการณ์อุตสาหกรรมSMEsที่มีขยายตัวที่โดดเด่นในปี 2550 ประกอบด้วย ธุรกิจแม่พิมพ์ มีการขยายตัวประมาณ 60% มีมูลค่าประมาณ 5 พันล้านบาท ธุรกิจยานยนต์มีการขยายตัวประมาณ 27% ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ SMEs ยังสามารถแทรกตัวเข้าไปได้ และมีมูลค่าตลาดสุงถึง 8 หมื่น 3 พันล้านบาท และยังมีอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ ขยายตัว22% อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ ขยายตัว 16.9% เคมีภัณฑ์ ขยายตัว 19.7% ปศุสัตว์ 18.3% กลุ่มอาหารอบ ขยายตัว20% และอาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัว 18%
ส่วนธุรกิจที่ต้องระมัดระวังและเตือนภัยในกลุ่มSMEs ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะมีการขยายตัวลดลง ประกอบด้วย กลุ่มอิเลกทรอนิกส์ ขยายตัวลดลงเหลือประมาณ 11% อัญมณี ลดลงเหลือประมาณ 10.7% เม็ดพลาสติก การขยายตัวลดลงเหลือประมาณ 22.5% เวชภัณฑ์ สบู่ เครื่องสำอางสมุนไพร จะมีการขยายตัวด้านการส่งออกลดลงเหลือประมาณ 7.6% สาเหตุมาจากแต่ละประเทศหันมาผลิตสินค้าจำหน่ายเองภายในประเทศ และมีการย้ายฐานการผลิตสบู่ของบริษัทผู้ผลิตขนาดใหญ่ ไปยังประเทศคู่ค้าของเรา อย่าง ประเทศ พม่า ลาว กัมพูชา ทำให้การขยายตัวในกลุ่มนี้ลดลง
นอกจากนี้ มีกลุ่มที่มีการคาดการณ์ว่าในปี 2550 จะมีการขยายตัวลดลงประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มยาง มีการขยายตัวประมาณ 12.9% ลดลงจากเดิมที่มีการขยายตัวประมาณ 40% สาเหตุมาจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นทำให้ราคายางสูงขึ้น หลายประเทศหันไปซื้อยางจากประเทศที่ราคาถูกกว่า หรือ กลุ่มข้าว มีการขยายตัวประมาณ 9.3% ลดลงเช่นกันสาเหตุมาจากเรื่องของประเทศคู่แข่งเวียดนามมีการส่งออกข้าวมากขึ้น และเรื่องคุณภาพของข้าว หรือ ในกลุ่มประมงค์ที่มีการขยายตัวลดลงเช่นกัน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|