|
อุ๋ยยกก้นธาริษาหยั่งรู้บาทโวมาตรการ30%ได้ผล-เจโทรชี้ศก.วูบ
ผู้จัดการรายวัน(31 มกราคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เปิดเผยว่า จากกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ผ่อนเกณฑ์สำรอง 30% เงินทุนจากต่างประเทศไปเมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมานั้น ยืนยันว่าจะยังมีผลในการดูแลค่าเงินบาทตลาดในประเทศไม่ให้แข็งค่าขึ้นเกินไปเช่นเดิม โดยที่ ธปท. ยังคงมาตรการกันสำรอง 30% เอาไว้สำหรับการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศแลกเงินบาทรายการเดิมที่ต้องกันสำรอง แต่ได้เพิ่มทางเลือกให้ว่า จะเลือกกันสำรองเหมือนเดิม หรือจะเลือกป้องกันความเสี่ยง fully Hedge ซึ่งก็คือการไปซื้อหรือขายล่วงหน้าก็ได้ และเป็นการผ่อนปรนเฉพาะในส่วนที่เป็นเงินทุนระยะยาวและการลงทุนในหุ้นเท่านั้น
"การผ่อนเกณฑ์ดังกล่าว เกิดจากการที่แบงก์ชาติเขาคุยกับเอกชน เอกชนมีการร้องขอมา โดยผ่อนให้เฉพาะส่วนที่เป็นระยะยาว และการลงทุนในหุ้น ซึ่งก็ถูกต้องตามกฎเกณฑ์เดิม แต่เพิ่มทางเลือกให้ หรือจะทำแบบเดิม คือกันสำรอง 30% เหมือนเดิมก็ได้ ทั้งนี้ ไม่ได้เป็นการปลดมาตรการ 30% แต่ระหว่างที่ยังมีมาตรการกันสำรอง 30% อยู่ เขาเพิ่มทางเลือก Hedge คือการไปซื้อหรือขายล่วงหน้าให้ ซึ่งยังมีผลกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินเท่ากัน แต่ใช้สำหรับบางรายการได้ โดยเลือกทำเฉพาะที่จำเป็นก่อน"
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวด้วยว่า จากการที่ ธปท. ประกาศใช้มาตรการกันสำรอง 30% ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ถือว่าได้ผลเป็นอย่างดี เพราะทำให้ค่าเงินบาทของตลาดในประเทศ (ออนชอร์) ไม่แข็งค่ามากเกินไป โดยเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินบาทที่ซื้อขายในตลาดต่างประเทศ (ออฟชอร์) แล้ว ค่าเงินห่างกันเกือบ 2 บาท กล่าวคือ ออนชอร์อยู่ที่ประมาณ 35.8 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ออฟชอร์แข็งค่าไปถึง 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแล้ว ซึ่งต้องถือว่านางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท. อ่านภาพออกในการประกาศใช้มาตรการดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมา เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้ค่าเงินบาทในประเทศแข็งค่าไปถึงระดับ 34-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐก็ได้ อันจะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกเป็นอย่างมาก
"มาตรการที่ออกมาถือว่าดีทีเดียว ทำให้เราสามารถรักษาภาคการส่งออกได้ การที่ค่าเงินตลาดออฟชอร์กับตลาดในประเทศห่างกันถือว่าได้ผล ตอนนี้เกือบ 2 บาทแล้ว ถ้าไม่ทำอะไรเลยผู้ส่งออกลำบากไปแล้ว แต่นี่สบายใจได้ว่า อย่างน้อยที่เสี่ยงทำไปได้ผล ต้องชมผู้ว่าการ ธปท. ว่า ท่านอ่านตลาดออกตั้งแต่แรก ถ้าไม่ทำป่านนี้ถึง 34-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแล้ว" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว.
แฉ30%ไม่ทำให้บาทอ่อนค่า
วานนี้ (30 ม.ค.) ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ปิดตลาดที่ 35.80 บาท นักค้าเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาให้ความเห็นว่า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ โดยเปิดและปิดตลาดอยู่ในระดับเดียวกันคือ 35.80-35.82 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ปัจจัยที่จะเข้ามากระทบต่อค่าเงินบาทในขณะนี้ยังไม่ค่อยมี ส่วนใหญ่จะรอดูผลการประชุมเฟด และตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่ใกล้จะออกมา อาทิ ตัวเลขการว่าจ้างงานนอกภาคเกษตร เป็นต้น นอกจากนี้ ก็จะอิงอยู่กับค่าเงินบาทในตลาดต่างประเทศ(Off Shore) โดยเงินบาทในตลาดออฟ ชอว์วานนี้อ่อนค่าลงค่อนข้างมากคืออยู่ในระดับ 34.40 บาทต่อดอลลาร์จากวันก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์
"เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้เงินบาทในออฟชอว์อ่อนค่าลง อาจจะเป็นเพราะดีมานด์น้อยลง แบงก์ชาติเข้าไปแทรกแซง หรือดอลลาร์แข็งค่าขึ้นก็ได้ แต่แม้ว่าตลาดทั้ง 2 ตลาดจะแยกจากกัน แต่เป็นผลทางจิตวิทยาที่ค่าเงินบาทในตลาดออน ชอว์จะอิงตามตลาดออฟชอว์"
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศออกมาตรการสกัดกั้นค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่า ในเวลา 16.30 น. โดยสั่งกันสำรองเงินนำเข้า 30% ค่าเงินบาทปิดที่ 35.31-35.33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนวันที่ 19 ธ.ค.วันที่มาตรการ 30% มีผลบังคับใช้ ค่าเงินบาทปิดที่ 35.85-35.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นหากนับตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค. พบว่าบาทอ่อนค่าลง 50 สตางค์ แต่หากนับตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค.พบว่าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นไปด้วยซ้ำ ตัวเลขดังกล่าวพิสูจน์ชัดว่ามาตรการ 30% ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
เจโทรเผยเชื่อมั่นไทยวูบ-กังวลบาทแข็ง
นายโยชิอิ คาโตะ ประธานคณะกรรมการวิจัยทางเศรษฐกิจ หอการค้าญี่ปุ่น กรุงเทพฯ (เจซีซี) และประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจโทร) ในไทย แถลงผลสำรวจของเจโทรเกี่ยวกับดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจหรือค่าดีไอใน 5 ชาติอาเซียน คือ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และไทย ประจำเดือนมกราคม พบว่าประเทศไทยมีค่าดีไอต่ำที่สุด อยู่ที่ระดับ- 12.9 ขณะที่สิงคโปร์มีค่าดีไออยู่ที่ + 13.1 ดีที่สุดใน 5 ชาติอาเซียน รองลงมาคืออินโดนีเซีย +4.6 ฟิลิปปินส์ –4.3 และมาเลเซีย –4.6 โดยตัวเลขประเทศไทยตกต่ำต่อเนื่องมานานถึง 9 เดือน หากเปรียบเทียบกับผลสำรวจเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งค่าดีไอของไทยแย่ลงจากเดิมที่มีตัวเลขอยู่ในระดับเดียวกับฟิลิปปินส์และมาเลเซีย แต่ดีกว่าอินโดนีเซีย แต่พบว่าขณะนี้ไทยกลับแย่กว่าทุกประเทศรวมทั้งอินโดนีเซีย
สำหรับผลสำรวจค่าดีไอในครึ่งแรกปี 2550 ของไทย ตัวเลขอยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก โดยค่าดีไอมีค่าประมาณการอยู่ที่ระดับ 23 แต่ถือว่าดีกว่าการสำรวจเมื่อครึ่งหลังของปีที่แล้วที่มีอยู่เพียงระดับ 9 แต่หากเทียบกับครึ่งแรกของปีที่แล้ว ผลสำรวจยังต่ำกว่า เพราะค่าดีไอในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 25 สรุปแล้วค่าดีไอของไทยในช่วง 2 ปี ต่ำสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยจากผลสำรวจในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 พบว่า บริษัทที่ตอบว่า สภาพธุรกิจดีขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 41 ซึ่งอยู่ในระดับคงที่เมื่อเทียบกับระยะก่อนหน้านี้ ขณะที่บริษัทที่ตอบว่า สภาพธุรกิจแย่ลงมีร้อยละ 18 ลดลง 14 หน่วยเมื่อเทียบกับระยะก่อนหน้า ทำให้ค่าประมาณการสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมแต่ละประเภทในอุตสาหกรามการผลิต พบว่าอุตสาหกรรมอาหารปรับตัวในทิศทางแย่ลง ขณะที่การปรับตัวในทิศทางดีขึ้นมีเกือบทุกอุตสาหกรรมการผลิตประเภทอื่น ๆ ส่งผลให้ค่าดีไอประมาณการของอุตสาหกรรมการผลิตดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ค่าดีไอดังกล่าวยังไม่รวมผลกระทบเหตุการณ์ระเบิดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2549 และมาตรการกันสำรองของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อสกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงินบาท การแก้ไข พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวและ พ.ร.บ.ค้าปลีกค้าส่ง ซึ่งอาจจะยังไม่มีผลกระทบต่อการย้ายการลงทุนจากไทยทันที แต่ส่งผลต่อความมั่นใจการลงทุนในประเทศไทย เพราะนักลงทุนญี่ปุ่นจะเลือกลงทุนในประเทศที่อำนวยความสะดวกด้านการส่งออก เช่น กรณีมาเลเซียมีมาตรการส่งเสริมการส่งออกธุรกิจไฟฟ้า และค่าเงินบาทที่แข็งค่าที่อยู่ในระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเป็นระดับที่แข็งค่ามาก ซึ่งนักลงทุนญี่ปุ่นนำไปเป็นฐานประกอบการพิจารณาลงทุน โดยหลายบริษัทกำลังตัดสินใจว่าอาจจะลงทุนในประเทศญี่ปุ่นแทนที่จะย้ายฐานมาลงทุนในประเทศไทย
นอกจากนี้ผลสำรวจค่าดีไอยังพบว่า ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย บริษัทส่วนใหญ่เห็นว่าปัญหาการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต และค่าครองชีพรวมทั้งค่าจ้างแรงงานเป็นปัจจัยสูงสุด รองลงมาเป็นการบริโภคและการลงทุนไม่ขยายตัว เพราะภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนรวมทั้งความยืดเยื้อของความสับสนทางการเมือง
ส่วนยอดขายในปี 2550 นั้น มีการคาดการณ์ว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้นและกำไรก่อนหักภาษีก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ขณะที่การลงทุนด้านโรงงานและเครื่องจักร ผลสำรวจพบว่า ในปี 2550 จะลดลงร้อยละ 26.5 เมื่อเทียบกับรอบปี 2549 โดยคาดว่าเม็ดเงินลงทุนในปีนี้จะมีประมาณ 49,529 ล้านบาท ส่วนปี 2549 มีประมาณ 67,372 ล้านบาท และบริษัทที่ตอบว่า การลงทุนเพิ่มขึ้นมีจำนวน 66 บริษัท น้อยกว่าบริษัทที่ตอบว่า การลงทุนลดลงที่มี 72 บริษัท โดยเหตุผลการลงทุนที่เพิ่มขึ้น เกิดจากการจัดซื้อเครื่องจักรใหม่ทดแทนเครื่องัจกรเดิม การขยายจำนวนเครื่องจักรเป็นสำคัญ
สำหรับข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลชุดปัจจุบัน จากผลสำรวจบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย 341 บริษัทที่ตอบกลับมา ร้อยละ 27 พบว่านักลงทุนญี่ปุ่นต้องการให้รัฐบาลไทยดำเนินนโยบายต่อเนื่อง รองลงมาคือเร่งขจัดภาพพจน์เชิงลบของรัฐประหารจากสายตาต่างประเทศ และเร่งให้นำเงินงบประมาณประจำปี 2550 มาใช้บริหารประเทศอย่างรวดเร็ว โดยกรณีผลกระทบจากรัฐประหาร พบว่านักลงทุนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เห็นว่าส่งผลทำให้เกิดการชะลอตัวของการบริโภคในประเทศมากที่สุด และเกิดการชะลอตัวทางธุรกิจ เนื่องจากชาวญี่ปุ่นระงับการเดินทางและมีการชะลอตัวสำหรับการลงทุนภายในประเทศอีกด้วย
“สิ่งที่นักลงทุนกังวลมากที่สุดคือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่ารวดเร็ว โดยในวันนี้แข็งค่าอยู่ที่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่หารือกันว่า หากค่าเงินบาทแข็งค่าไปถึง 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ บริษัทแม่ในประเทศญี่ปุ่นจะยกเป็นประเด็นพิจารณาเร่งด่วนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแผนการลงทุน ซึ่งจะมีการโยกย้ายการลงทุนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท อย่างไรก็ตามจากผลสำรวจของธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่นหรือเจบิค พบว่า ผลสำรวจในปี 2549 ประเทศที่น่าลงทุนมากที่สุด คือ จีน รองลงมาคือ อินเดีย เวียดนามและไทย ทำให้ประเทศไทยน่าสนใจในการลงทุนน้อยลง จากก่อนหน้านี้ไทยมีความน่าสนใจลงทุนมากกว่าเวียดนามและตัวเลขการลงทุนโดยตรงของเวียดนามปีที่แล้วอยู่ที่ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าไทยที่มีประมาณ 8,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ” ประธานเจโทรกล่าว
นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ยอมรับว่าไม่ดีมากนัก หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ,จีน และญี่ปุ่น ซึ่งอุปสรรคเมื่อเทียบปัญหาของไทยกับประเทศเหล่านี้แล้ว ก็กลับพบว่าของไทยนั้นแย่กว่า จึงมีความเป็นห่วงและหนักใจสุด เพราะมองไม่เห็นว่าตลาดจะดีขึ้นมาได้อย่างไร เมื่ออัตราค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มที่แข็งค่าขึ้น ดังนั้นคงไม่ตั้งความหวังมากนักเห็นว่าวิธีแก้ไขคงจะต้องใช้เศรษฐกิจพอเพียง
“ทุกๆ ต้นปีจะมีคนมาถามว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรมาเป็น 10 ปีแล้ว ซึ่งผมไม่ชอบตัวเลขแต่ใช้ความรู้สึก ซึ่งทุกๆ ปีก็บอกว่าเราต้องลำบากขึ้นทุกครั้ง แต่แม้ลำบากก็ผ่านไปได้ด้วยดี แต่ปีนี้เมื่อเรามองปัญหาของไทยเทียบกับเพื่อนบ้านที่เราเคยเปรียบเทียบอย่างเวียดนาม ญี่ปุ่น จีนแล้ว ไทยแย่กว่าเขาก็เลยรู้สึกเป็นห่วงนิดหน่อยและยังมองไม่ออกว่าปีนี้จะเป็นอย่างไร ก็คงบอกได้ว่าอย่าตั้งความหวัง”นายบุณยสิทธิ์กล่าว
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า มีนักลงทุนจากต่างประเทศนำเงินมาลงทุนในประเทศไทยซึ่งไทยเองควรจะดีใจ แต่ปรากฏว่าเข้ามาแล้วทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากขึ้น ซึ่งรัฐน่าจะมีวิธีแก้ไขปัญหาได้ แต่ก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมปล่อยให้บาทแข็งค่า เพราะค่าเงินเป็นปัจจัยสำคัญต่อการส่งออก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรใช้โอกาสที่เงินบาทแข็งค่าลงทุน เพราะเงินดอลลาร์ฯถูกลง สามารถใช้การลงทุนเป็นการชดเชยได้
นายธนิต โสรัตน์ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) สายงานเศรษฐกิจกล่าวว่า สายงานเศรษฐกิจส.อ.ท.ได้จัดทำรายงานสถานะเศรษฐกิจไทยปี 2550 ซึ่งมีปัจจัยที่น่ากังวลสำคัญคือ 1. เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว 2. ความผันผวนของเงินบาท 3. ความสามารถในการควบคุมความมั่นคงภายในของรัฐบาล 4. การสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนและผู้บริโภค 5. แนวโน้มการบริโภคและการลงทุนในประเทศ ซึ่งกรณีประเด็นวินาศกรรมหากรัฐบาลยังแก้ไขปัญหาไม่ได้จะส่งผลกระทบต่อการบริโภคอย่างรุนแรงโดยจะส่งผลให้การบริโภคลดลง 10% และการลงทุนจากต่างประเทศลดลงประมาณ 25,000 ล้านบาท
“ หากรัฐแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ การเติบโตเศรษฐกิจไทยก็จะขยายตัวได้ 4.5-5.5% แต่หากความวุ่นวายและประเด็นทางการเมืองยังไม่มีความชัดเจน ปีนี้ก็อาจจะอยู่ที่ 3-4% ซึ่งก็เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะแก้ไขได้ทั้งหมด ”นายธนิตกล่าว
นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า อีก 3-5 ปีข้างหน้า นักเศรษฐศาสตร์ซึ่งได้ประชุมร่วมกันที่ฮ่องกงได้ทำนายว่า ค่าเงินบาทของไทยจะแข็งค่ามาอยู่ถึงระดับ 18-19 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งผู้ประกอบการเองคงจะต้องยอมรับความจริงในแง่ของการขาดทุนหากบาทยังคงแข็งค่าขึ้น
นายเกริกไกร จีระแพทย์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าอาจมีส่วนผลักดันให้นักลงทุนตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปจากไทย เพราะนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในไทยต่างก็หวังผลกำไรเป็นสิ่งตอบแทน ทั้งเรื่องค่าเงินบาทที่อ่อนค่ามากๆ ค่าแรงงานราคาถูก และสิทธิประโยชน์ต่างๆ เมื่อมีปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนไม่ได้รับประโยชน์ต่อไปก็ยอมรับว่านักลงทุนอาจเปลี่ยนไปลงทุนที่อื่นแทน
“นักลงทุนต่างชาติไม่ได้รักชาติไทยหรอก แต่เห็นโอกาสที่จะเข้ามาลงทุน หากไม่พอใจก็อาจจะย้ายไปลงทุนที่อื่น ดังนั้น เราก็ต้องทำสังคมให้ดี ให้มีคุณภาพ เขาก็จะตัดสินใจมาลงทุนเอง อย่าไปกังวลมาก แต่คนไทยย้ายไปไหนไม่ได้ ยังต้องอยู่ที่บ้านเมืองเราตลอด ก็ต้องทำให้ดีที่สุด และอย่าหวังทำธุรกิจโดยใช้บาทอ่อน หรือค่าแรงงานราคาถูก เราต้องไปลงทุนในต่างประเทศด้วย” นายเกริกไกรกล่าว
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึง การผ่อนปรนมาตรการสกัดกั้นการเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทของ ธปท.ในเรื่องการเข้ามาลงทุนในใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญ หรือวอแรนต์ โดยไม่ต้องกัน 30% ว่า เรื่องดังกล่าวน่าจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้น และจะทำให้เม็ดเงินจากต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น โดยช่วงตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาหลังจากธปท.มีการผ่อนปรนมาตรการมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มียอดซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติรวมกว่า 1 หมื่นล้านบาทแล้ว
ทั้งนี้ การที่ตลาดหุ้นจะกลับเข้ามาสู่สภาวะที่เป็นปกติคงต้องประเมินจากปัจจัยอื่นๆ ประกอบ ปัจจัยในเรื่องมาตรการ 30% แม้ว่าจะมีการผ่อนปรนเรื่องเดียวคงไม่ได้ช่วยตลาดหุ้นกลับมาคึกคักเหมือนในช่วงอดีต ดังนั้นนักลงทุนจะต้องประเมินภาพรวมของตลาดหุ้นรวมถึงปัจจัยให้รอบด้านก่อนการลงทุน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|