การเดินทางมาเยือนประเทศไทยของนักคิดนักเขียนรายหนึ่ง อาจเป็นเพียงปรากฏการณ์ปกติธรรมดา
แต่สำหรับ Juan Enriquez ผู้ประพันธ์ As the Future Catches You นี่เป็นความเคลื่อนไหวเพื่อเน้นย้ำถึงอนาคตใหม่ที่กำลังคืบเข้ามา
Juan Enriquez เดินทางมาประเทศไทยเพื่อร่วมเป็นวิทยากรรับเชิญในงาน dinner
talk ภายใต้หัวข้อ Technology, Transparency and Future Commerce เมื่อค่ำคืน
ของวันที่ 22 มกราคม 2546 โดยมีบริษัท พันธวณิช จำกัด เป็นผู้สนับสนุนหลัก
บทบาทสำหรับวิทยากรรับเชิญลักษณะนี้ นอกจากจะเป็นการถ่ายทอดและจุดประกายความคิดสู่กลุ่มผู้ฟังโดยตรงแล้ว
ดูจะผูกพันอยู่กับเรื่องสำคัญอีก 2 ประการ คือ การส่งเสริมการขาย "สินค้าของตัวเอง"
และการเป็นเครื่องหมายรับรองสำหรับ "การขาย สินค้าให้กับผู้สนับสนุน" อีกทางหนึ่ง
ซึ่งในกรณีนี้เป็นวาระของระบบ eProcurement เทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกา ที่พันธวณิชกำลังเร่งทำตลาดอยู่
ชื่อของ Juan Enriquez เริ่มเป็นที่มักคุ้นในสังคมไทย และได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดในช่วงที่ผ่านมา
นับตั้งแต่ที่ "ผู้จัดการ" ฉบับเดือนมิถุนายน 2543 นำเสนอบทความเรื่อง "อุตสาหกรรมไลฟ์ไซน์
เปลี่ยนชีวิต พลิกธุรกิจ" ซึ่งเรียบเรียงจาก "Life Science Industries" ที่ปรากฏใน
Harvard Business Review ฉบับเดือนมีนาคม-เมษายน 2000
ก่อนที่หนังสือ As the Future Catches You ของเขาจะได้รับการแนะนำในฐานะหนึ่งใน
13 Good Books 2002 Year-End Reading โดย "ผู้จัดการ" ฉบับเดือนธันวาคม 2545
พร้อม กับการเป็นหนังสือที่บุคคลระดับนายกรัฐมนตรีแนะนำให้อ่าน และ หลังจากนั้นหนังสือพิมพ์
The Nation ก็ขานรับต่อว่าเป็นหนังสือ ดีเด่นประจำปี 2545 เลยทีเดียว
ประเด็นที่ Juan Enriquez ได้แสดงในค่ำคืนวันนั้น แน่ นอนว่า ย่อมไม่แตกต่างจากบริบทที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ
As the Future Catches You หากแต่เป็นภาคขยายสำหรับผู้ที่เคยได้อ่านผ่านตา
และเป็นการชี้ชวนสำหรับผู้ที่กำลังตัดสินใจจะหามา อ่าน ซึ่งแม้ว่าเนื้อหาจะดำเนินไปภายใต้บริบทเดิม
แต่ท่วงทำนอง ที่ Juan Enriquez ในฐานะผู้อำนวยการโครงการวิทยาศาสตร์สิ่งมีชีวิตแห่งวิทยาลัยธุรกิจฮาร์วาร์ด
(Director of the Harvard Business School Life Science Project) ก็ดำเนินไปอย่างน่าสนใจติดตามยิ่ง
โดยเฉพาะการยกตัวอย่างของการพัฒนาที่ปรากฏขึ้นจริงในประเทศต่างๆ ที่ผ่านยุคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการ
ผลิตมาสู่ยุคของสังคมฐานความรู้ที่มีเทคโนโลยีเป็นจักรกลสำคัญ และกำลังจะเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ว่าด้วยศาสตร์แห่งพันธุกรรม
"ประสบการณ์ที่ผ่านมาได้บ่งชี้ให้เห็นความล้มเหลวในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ของหลายประเทศ
โดยเฉพาะ อย่างยิ่งการละเลยที่จะพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ จนเป็นเหตุให้ไม่สามารถนำพาความจำเริญมาสู่ประเทศได้"
แม้ว่า Juan Enriquez จะกล่าวถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2001 ในฐานะจุดเปลี่ยนสำคัญของโลกยุคใหม่
ที่กำลังเคลื่อนเข้าสู่ยุคหลังจีโนม (post-genomic era) พร้อมทั้งอธิบายความ
เกี่ยวกับเรื่องราวของยีนและ DNA ที่ประกอบด้วยกรด 4 ชนิด (A-adenine, T-thymine,
C-cytosine, G-guanine) แต่เขาก็ไม่ได้ก้าวล่วงที่จะกล่าวถึงรายละเอียดที่ยากจะเข้าใจนี้ในแบบนักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์
หากดำเนินไปในลักษณะที่หยิบยกเอาเรื่องใกล้ตัวและสามารถประยุกต์เป็นความเข้าใจได้โดยง่ายมาแสดงอย่างเหมาะควร
เขาระบุว่า มนุษย์และลิง อาจจะมีความใกล้เคียงทางด้าน พันธุกรรมถึง 98.7%
แต่สิ่งที่ทำให้มนุษย์ต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ก็คือ มนุษย์ส่งผ่านข้อมูลข้ามช่วงเวลาต่างๆ
ด้วยภาษาที่พัฒนา ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นอักษรภาพ หรือภาษาจีนที่มีอักษรนับพันตัว
มาสู่ภาษาอังกฤษที่ได้รับความนิยมแพร่หลาย ด้วยอักษรเพียง 26 ตัว และภาษา
digital ที่มีเพียงรหัส 0 และ 1 จัดเรียงตัวในลักษณะต่างๆ แต่นับจากนี้ เรากำลังเข้าสู่อีกภาษาหนึ่ง
คือภาษาของยีนที่มี A, T, C, G แสดงบทบาทสำคัญ
"ประเทศที่จะพัฒนาไปสู่ความมั่งคั่งจำเป็นต้องมีกระบวน การทางการศึกษาที่ส่งเสริมให้เกิดความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
รวมถึงส่งเสริมประชาชนให้ก้าวสู่การเป็นบุคลากร ผู้มีความสามารถทางปัญญา
ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญมากกว่าผืนดินขนาดใหญ่ หรือปัจจัยการผลิตแบบเดิมอย่างมาก"
ดูเหมือนจะเป็นคำชี้ชวนที่ธรรมดาและสามัญ หากแต่ท้าทายสติปัญญาของผู้ฟังไม่น้อย