|

ผู้หญิงแห่งมานีปูร์กล้ายิ่งกว่ากระสุนปืน
โดย
ติฟาฮา มุกตาร์
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
Irom Sharmila อดอาหารมาเป็นเวลา 6 ปี ผู้หญิงอายุคราวแม่และยายราว 30 คน ไปยืนเปลื้องผ้าหน้าค่ายทหาร พวกเธอเอาชีวิตและเกียรติเข้าแลกเพื่อเรียกร้องในสิ่งเดียวกัน นั่นคือการยกเลิก AFSPA บทเฉพาะกาลที่รัฐประกาศใช้ในมานีปูร์ ในนามการเสริมสร้างสันติสุข แห่งดินแดน แต่ในทางปฏิบัติกลับเป็น 'ใบอนุญาตฆ่า' ที่นำมาแต่เลือด และน้ำตา
มานีปูร์ (Manipur) เป็นหนึ่งใน Seven Sisters รัฐเล็กๆ เจ็ดรัฐทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ประกอบด้วยหลายกลุ่มชาติพันธุ์ อาทิ Kukis, Meiteis และ Nagas ซึ่งต่อสู้เรียกร้องเอกราชมาหลายทศวรรษ ในปี 1980 รัฐบาลอินเดียประกาศใช้ The Armed Force Special Powers Act (AFSPA) ในมานีปูร์ บทเฉพาะกาลที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐทั้งตำรวจและทหาร 'ยิง หรือใช้กำลัง ที่อาจทำให้ ถึงแก่ความตาย' จับกุมผู้ต้องสงสัยว่าได้ก่อการหรือจะก่อการความไม่สงบโดยไม่ต้องมีหมายศาล โดยจะฟ้องเอาผิดหรือดำเนินคดีเจ้าหน้าที่รัฐผู้ใช้อำนาจดังกล่าวไม่ได้ เว้นแต่มีคำสั่งพิเศษจากรัฐบาลกลาง
ตามลายลักษณ์อักษรประกาศนี้มีขึ้นเพื่อเสริมสร้างสันติสุขในเขตพื้นที่สีแดง แต่ในทางปฏิบัติมันคือใบอนุญาตฆ่าหรืออาวุธในการใช้อาวุธและกำลังเข้ากวาดล้างกลุ่มต่อต้าน ที่รัฐเรียกว่าเป็นกบฏหรือผู้ก่อการร้าย นับแต่ประกาศ ใช้บทเฉพาะกาลนี้มีตัวเลขผู้เสียชีวิต 20,000 คนเป็นผลงาน ยังไม่รวมถึงกรณีคนหาย ถูกข่มขืน กักขังทรมาน ผู้บาดเจ็บจากการล้อมปราบ ด้วยกำลัง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนรูปแบบอื่นๆ ที่ยากจะประเมินเป็นตัวเลข
ขณะเดียวกัน เมื่อแรกใช้ในมานีปูร์มีกลุ่มติดอาวุธเคลื่อนไหวอยู่เพียง 4 กลุ่ม แต่ปัจจุบันเฉพาะที่ขึ้นบัญชีดำของรัฐบาลมี 25 กลุ่ม ส่วนกลุ่มที่ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ว่ามีเป้าหมายทาง การเมือง หรือเป็นพวกมาเฟียท้องถิ่นที่ใช้สภาพ ความเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนเป็นโอกาสหากินกับเงินคอร์รัปชั่นโครงการรัฐ และการค้าเฮโรอีนยังมีอีกนับไม่ถ้วน อิรอม ชาร์มิล่า : หกปีกับการอดอาหารประท้วง
อิรอม ชาร์มิล่า ชานูเป็นลูกสาวคนเล็กของคนงานโรงพยาบาลสัตว์ในอิมฟัล ผู้ไม่เคยข้องเกี่ยวกับกิจกรรมการเมือง หรือองค์กรพัฒนา เอกชนกลุ่มใด จนกระทั่งวันที่ 2 พฤศจิกายน 2000 เมื่อกองพันอัสสัมไรเฟิลที่ 8 ตอบโต้การซุ่มโจมตีที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน ด้วยการยิง กราดเข้าใส่ชาวบ้านที่ป้ายรถประจำทางในมาลอม เป็นผลให้พลเรือนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต 10 คน ภาพอันน่าสยดสยองในหน้าหนังสือพิมพ์เช้าวันถัดมา ทำให้ชาร์มิล่ารู้สึกว่า เธอไม่อาจนิ่งเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับพี่น้องชาวมานีปูรีอีกต่อไป เช้าวันที่ 4 พฤศจิกายน ชาร์มิล่าเริ่มอดอาหารเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกใบอนุญาตฆ่าที่ชื่อว่า AFSPA
หลังจากนั้นไม่นาน ชาร์มิล่าถูกจับและส่งตัวไปขังเดี่ยวอยู่ที่โรงพยาบาลของรัฐ และถูกบังคับใส่ท่อป้อนอาหารเหลวทางจมูก เมื่อใด ที่มีโอกาสเธอจะถอดท่อนั้นทิ้ง ตลอดหกปีที่ผ่านมา ชาร์มิล่าไม่เคยกินอาหารหรือดื่มน้ำแม้แต่หยดเดียว เธอแปรงฟันโดยใช้สำลีแห้งเช็ด และใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์เช็ดริมฝีปาก เพื่อไม่ให้เสียปฏิญาณที่ตั้งไว้
"ฉันเลือกวิธีนี้เพราะไม่เห็นทางอื่นที่จะทำให้กองทัพหยุดใช้กำลังทำร้ายพี่น้องมานีปูรี สำหรับฉัน นี่คือหน้าที่ ที่จะทำให้ผู้คนได้ยินคำร้องขอของฉัน ด้วยวิถีทางที่สันติ...ด้วยกำลัง ที่ฉันมี"
หกปีผ่านไป ไม่มีใครรับฟังคำร้องรอของเธอ ผู้คนพากันลืมว่าหญิงสาวคนหนึ่งกำลังเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อยุติการต่อสู้ที่ป่าเถื่อนและมืดบอด กระทั่งวันที่ 3 ตุลาคม 2006 พี่ชายของชาร์มิล่า และเพื่อนอีกสองคนลอบพาตัวชาร์มิล่ามายังเดลี ด้วยหวังว่าจะสามารถจุดความสนใจจากทางการ และสื่ออีกสักครั้ง ก่อนที่ชาร์มิล่าจะสิ้นลม สามวันต่อมาพวกเขาถูกจับ ชาร์มิล่าถูกส่งตัวไปขังเดี่ยวที่โรงพยาบาลกลางของรัฐ ด้วยข้อหา 'พยายามฆ่าตัวตาย'
ชาร์มิล่ายื่นหนังสือเรียกร้องให้นำคดีของเธอขึ้นศาล เพื่อรัฐจะชี้แจงให้ชัดว่าเธอถูกคุมขังด้วยความผิดข้อหาใดกันแน่ พร้อมกับเขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดี และรัฐมนตรีมหาดไทย แต่ไม่มีใครกล้าพอจะตอบคำถามของเธอ
การต่อสู้ของชาร์มิล่าเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์อีกครั้ง เมื่อชิริน อีบาดี ทนายความ หญิงชาวอิหร่าน นักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนเจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ เข้าเยี่ยมให้กำลังใจเธอระหว่างการมาประชุมด้านสิทธิมนุษยชนที่เดลี ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ในการให้สัมภาษณ์สื่ออีบาดีเตือนสติผู้คนด้วยน้ำเสียงกราดเกรี้ยวว่า
"ถ้าชาร์มิล่าตาย รัฐสภาอินเดียจะต้องรับผิดชอบ...ถ้าชาร์มิล่าตาย ศาลและระบบยุติธรรมในประเทศนี้จะต้องรับผิดชอบ กองทัพจะต้องรับผิดชอบ ฝ่ายบริหารเองทั้งนายกรัฐมนตรี และประธานาธิบดีจะต้องรับผิดชอบที่นิ่งเฉย... และถ้าเธอตาย พวกคุณนักข่าวและสื่อทุกคน จะต้องรับผิดชอบที่ไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเอง"
แม่หญิงมานีปูร์ : การเปลื้องผ้าประท้วง
ต้นเดือนกรกฎาคม 2004 หลังชาร์มิล่าอดอาหารประท้วงมาได้ 4 ปี ร่างของ Thangjam Manorama Devi ถูกพบใกล้บ้านของเธอในอิมฟัล ก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน มาโนราม่าซึ่งเป็นสมาชิกของกองทัพประชาชนเพื่อการปลดปล่อย (People's Liberation Army : PLA) ของมานีปูร์ ถูกกองพันอัสสัมไรเฟิลจับและนำตัวไปสอบสวน สภาพศพที่แหลกยับเยินเป็นพยานว่า เธอถูกทรมานและข่มขืนอย่างป่าเถื่อน
การตายของมาโนราม่าเป็นเสมือนลิ่มที่ย้ำลงในอกที่คุคั่งด้วยความเจ็บปวดโกรธแค้นของชาวมานีปูรีมาตลอดสี่ทศวรรษ วันที่ 15 กรกฎาคม หญิงชาวบ้านอายุระหว่าง 45-75 ปี ราว 30 คนไปรวมตัวประท้วงที่หน้าค่ายกองพัน อัสสัมไรเฟิล แล้วโดยที่ไม่มีใครคาดถึง พวกเธอเปลื้องผ้า เดินเปลือยกาย ชูป้ายผ้าและตะโกนว่า "ทหารอินเดียข่มขืนเรา เราทุกคนคือแม่ของมาโนราม่า"
หญิงชาวบ้านเหล่านี้มีเพียงไม่กี่คนที่เคย เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง สิ่งที่ทำให้พวกเธอลุกขึ้นมาแสดงพลังด้วยวิธีที่อุกอาจเช่นนั้น คือความโกรธแค้นต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับลูกสาวคนหนึ่งของชาวมานีปูรี
"พวกเราไม่เคยมีใครรู้จักมาโนราม่ามาก่อน แต่ใจเราลุกเป็นไฟเมื่อเห็นสภาพศพของเธอ" คุณยายวัย 75 ปีที่ร่วมประท้วงกล่าว
"พวกมันกลบเกลื่อนการข่มขืนด้วยการเอาผ้ายัดช่องคลอด และยิงร่างของเธอจนยับเยิน แต่รัฐบาลก็นิ่งเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น"
รัฐบาลมิได้นิ่งนอนใจอย่างที่เธอคิด สามเดือนต่อมาพวกเธอทั้งหมดถูกจับและคุมขังภายใต้พระราชบัญญัติเพื่อความมั่นคงภายใน ด้วยข้อหาปลุกปั่นและก่อให้เกิดความไม่สงบ หญิงชาวบ้านทั้ง 30 คนสัญญาต่อกันว่าจะไม่มีการขอประกันตัว พวกเธอจะติดคุกด้วยกัน และ หวังว่าจะมีการนำคดีขึ้นสู่ศาล แต่สามเดือนต่อมาพวกเธอก็ได้รับการปล่อยตัว โดยไม่มีการไต่สวนหรือชี้มูลความผิด
ขณะเดียวกัน หลังการประท้วงรัฐบาลกลางของอินเดียมีคำสั่งแต่งตั้งกรรมาธิการพิเศษขึ้นมาทบทวนบทเฉพาะกาลดังกล่าว แม้ต่อมาจะไม่มีการเปิดเผย คำวินิจฉัยของกรรมาธิการชุดนั้นให้สาธารณชนรับรู้ แต่แหล่งข่าววงในของหนังสือพิมพ์เทเฮลกากล่าวว่า คณะกรรมาธิการเห็นควร ให้มีการแก้ไขบัญญัติหลายข้อเพื่อรอนอำนาจพิเศษ และปรับให้เป็นกฎหมายแพ่งที่สามารถใช้กับพื้นที่ล่อแหลมต่อความไม่สงบอื่นๆ แทนที่ จะเลือกปฏิบัติและประกาศใช้เฉพาะในรัฐภาคตะวันออกเฉียงเหนือเช่นปัจจุบัน
การปิดปากเงียบของรัฐบาลในเรื่องนี้ ดูจะมาจากความเห็นที่แข็งกร้าวของรัฐมนตรีกลาโหมที่ว่า "ทหารไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ในพื้นที่ล่อแหลมเช่นนั้น หากไม่มีอำนาจพิเศษเป็นเครื่องมือ"
หกปีนับแต่ชาร์มิล่าเริ่มอดอาหาร สองปีหลังการตายของมาโนราม่า เจ้าหน้าที่รัฐยังมีใบอนุญาตฆ่าเป็นอาวุธ กระสุนปืนยังสาดใส่ชาวมานีปูรีจากทุกทิศ และรัฐบาลอินเดียยังคงไม่มีคำตอบต่อปัญหาความไม่สงบในมานีปูร์
เรื่องนี้เป็นเครื่องพิสูจน์อีกครั้งว่า ในยามสงครามผู้หญิงคือเหยื่อรายแรก แต่ในยามสงครามอีกเช่นกันที่ผู้หญิงคือสติ ขณะที่ผู้ชายเลือกแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยอาวุธและความรุนแรง ผู้หญิงเลือกต่อสู้ในหนทางอันสันติและกล้าหาญ โดยมีชีวิตและเกียรติของตนเป็นอาวุธ
อาจเป็นเพราะผู้หญิงรู้ดีว่า ไม่ว่ากระสุนปืนจะสาดมาจากทิศใด คร่าชีวิตใคร ต่างมีแม่ ภรรยา และน้องสาวที่จะต้องร่ำไห้
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|