Setsubun

โดย ภก.ดร. ชุมพล ธีรลดานนท์
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

เสียงตะเบ็ง "ปีศาจ...ออกไป!" ในเทศกาล Setsubun เป็นสัญลักษณ์การขับไล่ปีศาจอันเป็นตัวแทนความชั่วร้ายหรือโชคร้าย และตามมาด้วยเสียงตะโกน "โชคดีจงเข้ามา" ที่ดังขึ้นในต้นเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีนั้นเปรียบประหนึ่งสัญญาณของ season change นัยให้ทราบถึงความอบอุ่นของฤดูใบไม้ผลิที่กำลังจะมาเยือนอีกครั้ง

ถึงแม้ในสมัยโบราณคนญี่ปุ่นจะนับเดือนวันด้วยปฏิทินทางจันทรคติแต่การนับฤดูกาลนั้นใช้การสังเกตตำแหน่งปรากฏของดวงอาทิตย์ในรอบปี ซึ่งถูกแบ่งออกเป็น 24 solar terms ตามเส้นทางการโคจรและระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ซึ่งจะส่งผลให้ความสั้นยาวของช่วงกลางคืน-กลางวัน มีความต่างกันในแต่ละฤดู

คำว่า Setsubun ประกอบด้วย 2 คำคือ Setsu มีรากศัพท์มาจาก kisetsu แปลว่าฤดูกาล กับคำว่า Bun มีรากศัพท์มาจากคำกริยา wakeru ซึ่งแปลว่าแบ่ง, แยก ดังนั้นเมื่อสองคำนี้มารวมกัน Setsubun หมายถึงการแบ่งฤดูกาลออกเป็น 4 ฤดู อันได้แก่ฤดูใบไม้ผลิ (Risshun), ฤดูร้อน (Rikka), ฤดู ใบไม้ร่วง (Risshu) และฤดูหนาว (Ritto)

โดยทางปฏิบัติแล้ว Setsubun ในอดีตจะจัดงานกันในวันก่อนเริ่มเข้าฤดูกาลใหม่ครบทั้ง 4 ฤดู แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป การให้ความสำคัญกับประเพณีการฉลองฤดูอื่นลดน้อยลงจนในปัจจุบันเมื่อกล่าวถึง Setsubun จะหมายถึงประเพณีฉลองในวันก่อนเข้าฤดูใบไม้ผลิเท่านั้น

ซึ่งนั่นหมายความว่าหลังวัน Setsubun ผ่านไปแล้วความหนาวเหน็บจะค่อยๆ ลดลงในขณะที่ดอกไม้ใบหญ้าจะเริ่มผลิดอกออกใบตามมา แต่ปัจจุบันดินฟ้าอากาศไม่แน่ไม่นอนหาเป็นเช่นแต่ก่อนนั้นไม่ ฤดูกาลผิดแผกแปลกไปจากที่ควรเป็นด้วยผลกระทบจากน้ำมือของมนุษย์ที่สูบ-กักตุน-ใช้น้ำมันอย่างบ้าคลั่ง

จากข้อเท็จจริงของการอ้างอิงโดยใช้อาทิตย์ทำให้ Setsubun ในแต่ละปีมักจะตรงกับวันที่ 3 หรือในบางปีอาจเลื่อนไปเป็นวันที่ 4 ของเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งมีความแตกต่างกับเทศกาลตรุษจีนซึ่งกำหนดวันด้วยปฏิทินแบบจันทรคติ นอกจากนี้ธรรมเนียมปฏิบัติก็มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

โดยทั่วไปพิธีการของ Setsubun อาจมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นแต่โดยรวมแล้วในวัน Setsubun หัวหน้าครอบครัวหรือผู้ชายที่เกิดในปีนักษัตรนั้น เช่นปี 2007 ปีหมูซึ่งเรียกบุคคลนั้นว่า Toshi Otoko มักจะกลายเป็นบุคคลที่ถูกสมมุติให้สวมบทเป็นปีศาจโดยใส่หน้ากากยักษ์ Oni แล้วให้สมาชิกในครอบครัวโดยเฉพาะเด็กๆ ซึ่งมักจะขว้างปาถั่วเหลืองคั่วใส่พร้อมกับตะโกน "ปีศาจจงออกไป โชคดีจงเข้ามา" อย่างสนุกสนาน และถือเป็นการปัดความโชคร้ายให้ออกไปและเชิญความโชคดีให้เข้ามาสู่สมาชิกทุกคนในบ้าน

เมื่อพูดถึง Oni ก็มักจะหมายถึงยักษ์ หรือปีศาจ หรือวิญญาณชั่วร้ายที่มองไม่เห็นที่นำพามาซึ่งโชคร้ายและสิ่งไม่พึงปรารถนา โดยทั่วไป Oni ในจินตนาการของชาวญี่ปุ่นมักจะมีเขาแหลมๆ 2 ข้างบนศีรษะ ใบหน้าและผิวหนังมีสีแดงหรือไม่ก็สีน้ำเงิน

ตำนานที่กล่าวถึงยักษ์ Oni กับอำนาจวิเศษของถั่วในวัน Setsubun นั้นมีอยู่หลายตำนานแต่ที่ถูกหยิบยกมาเล่าอยู่บ่อยๆ คือเรื่องราวที่กล่าวไว้ที่วัด Mibu ในเกียวโต ซึ่งสรุปโดยย่อได้ว่า มียักษ์ตนหนึ่งใช้กำไลวิเศษแปลงกลายเป็นมนุษย์ผู้สวมใส่ชุดกิโมโนที่งดงามมากเข้ามาในบ้านของหญิงม่ายคนหนึ่ง ด้วยความอยากได้ชุดกิโมโนนั้นหญิงม่ายจึงออกอุบายต้อนรับยักษ์ด้วยข้าวปลาอาหารและสุรา เพื่อหวังจะขโมยชุดกิโมโนในขณะที่ยักษ์กำลังเมา แต่ความโลภของหญิงม่ายไม่ได้อยู่เพียงเท่านั้น หญิงม่ายยังได้ขโมยกำไลวิเศษติดมือมาด้วยจึงทำให้ยักษ์คืนร่างเดิมและตื่นขึ้นมาพร้อมกับความโกรธ หญิงม่ายตกใจกลัวจึงคว้าถั่วเหลืองที่อยู่ใกล้มือปาใส่ยักษ์จนยักษ์ได้รับบาดเจ็บและหนีออกจากบ้านของหญิงม่ายไป ด้วยเหตุนี้จึงมีความเชื่อว่า ถั่วเหลืองมีอำนาจวิเศษสามารถใช้ขับไล่สิ่งชั่วร้ายได้

ในพิธีของ Setsubun หลังจากที่ปีศาจถูกขับไล่ออกไปแล้วสมาชิกในครอบครัวจะเก็บถั่วคั่วที่ตกอยู่ในบริเวณบ้านจำนวนมากกว่าอายุของตนอยู่ 1 เม็ด มากระเทาะเปลือกออกแล้วรับประทาน ตามความเชื่อที่ว่าถั่วที่ใช้ในพิธีมีความศักดิ์สิทธิ์นำพาสิริมงคลและความโชคดีมาให้ตลอดปีที่จะมาถึง

นอกจากการปาถั่วในบ้านแล้วยังมีการนำถั่วที่เหลือไปโปรยขับไล่วิญญาณร้ายที่มองไม่เห็นซึ่งอาจสิงสถิตอยู่รอบๆ บริเวณ บ้าน โรงเรียน หรือที่ทำงานด้วย

พิธี Setsubun ยังนิยมจัดขึ้นตามวัดหรือศาลเจ้าชินโตใหญ่ๆ โดยพระจะโปรยถั่วเหลืองคั่ว (Fukumame) และข้าวปั้นโมจิ (Fukumochi) ห่อด้วยกระดาษเงินกระดาษทองที่ผ่านการทำพิธีสวดมนต์มาแล้ว ท่ามกลางประชาชนที่เบียดเสียดกันมารับและนำไปรับประทานเพื่อความโชคดี ในบางวัดอย่างเช่นที่วัดนาริตะมักจะมีซูโม่ชื่อดังมาร่วมพิธีโปรยถั่วด้วยทุกปี

ในขณะเดียวกันชาวบ้านทั่วไปยังนิยมนำกิ่งใบของต้น Holly ที่ตกแต่งด้วยหัวปลาซาร์ดีนเผามาประดับทางเข้าบ้านโดยมีความเชื่อว่ากลิ่นของปลาซาร์ดีนจะช่วยปกป้องไม่ให้วิญญาณและสิ่งชั่วร้ายเข้ามาในบ้าน

บางแห่งในประเทศญี่ปุ่น เช่นแถบโอซากาหรือนาโงยามักจะนิยมรับประทาน Makizushi แบบแท่งยาวประมาณ 20 ซม. ด้วยความเชื่อเช่นเดียวกับการรับประทานถั่วเหลืองคั่ว Fukumame ที่ใช้ปาขับไล่ยักษ์

การรับประทาน Makizushi โดยปกติจะหั่นเป็นชิ้นให้พอดีคำแต่ Makizush ในวัน Setsubun มีวิธีที่ต่างออกไป กล่าวคือจะต้องรับประทานทั้งแท่งรวดเดียวจนหมดโดยไม่มีการตัดแบ่งและห้ามการสนทนาใดๆ ระหว่างรับประทาน

ถึงแม้ว่าในบางครั้งเรื่องราวทางวัฒนธรรมเก่าแก่ที่สืบทอดมาถึงปัจจุบันอาจดูเหมือนเรื่องตลกขบขันสำหรับคนยุคใหม่ แต่แนวคิดและวิถีปฏิบัติตามธรรมเนียมญี่ปุ่นเก่าๆ อย่าง Setsubun ยังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.