|
บ้านบานเกล็ดบนเนินทราย
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
บ้านพักนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของ Harbour Island แผ่นดินผืนเล็กๆ ของหมู่เกาะ Bahamas คนพื้นเมืองที่นี่พากันบอกว่า คุณต้องเป็นบ้าไปแล้วแน่ๆ ที่สร้างบ้านตรงด้านนี้ของเกาะ เพราะเป็นฝั่งที่โดนพายุเฮอริเคนถล่มอยู่เสมอ แต่ไม่มีใครปฏิเสธเหมือนกันว่า ฝั่งตะวันตกของเกาะนี้มีหาดทรายสีชมพูทอดยาวเป็นแนวตรงสวยงาม มีเส้นขอบฟ้าไกลสุดลูกหูลูกตาแลดูน่าตื่นตาตื่นใจให้ได้ชื่นชมอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
เพราะความงดงามชวนหลงใหลนี้นี่เองที่ทำให้เจ้าของชาวนิวยอร์ก ผู้ถือกำเนิดในฝรั่งเศส ตัดสินใจเลือกที่นี่เป็นมุมพักผ่อนอย่างสุขสงบ ด้วยการสร้างบ้านพักสไตล์บ้านเขตร้อนขึ้นมา เธอมีจุดยืนง่ายๆ ว่า ถ้าไม่สามารถหยุดพายุเฮอริเคนได้ก็ยังมีสิ่งที่ทำได้คือ สร้างบ้านที่สามารถต้านทานแรงลมพายุให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
เธอจ้างสองสถาปนิกสาวชาวแมนฮัตตัน ที่เพิ่งตั้งบริษัท Lubrano Ciavarra Design ของตัวเองขึ้นมาให้รับผิดชอบงานออกแบบบ้านในปี 1999
"เธอเป็นลูกค้ารายแรกของเรา" Lea Ciavarra สถาปนิกสาวหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทฟื้นความหลัง
"เธออนุญาตให้เราทำงานสำรวจ" Anne Marie Lubrano พูดเสริม
งานสำรวจที่ว่านี้หมายถึงการทำวิจัยในหนังสือและนิตยสารต่างๆ รวมทั้งการเดินทางไปดูสถานที่จริงที่ Harbour Island ด้วย นอกจากนี้ยังเข้าเยี่ยมชม Brooklyn Botanic Garden ซึ่งเป็นบ้านเขตร้อนที่ให้ความสดชื่นสบายใจแก่ผู้ได้สัมผัสเพื่อศึกษาดูแนวทางสำหรับโครงการนี้
"เราไปที่นั่นเพื่อหาแรงบันดาลใจมากขึ้น แต่สิ่งที่ได้กลับเป็นแรงบันดาลใจจากต้นปาล์ม" Ciavarra เล่า
ขณะที่สองสถาปนิกสาวกำลังเขียนแบบแปลนอยู่นั้น พายุเฮอริเคน Floyd ก็พัดถล่มตัวเกาะอย่างเต็มๆ ผลที่ตามมาคือมันกวาดเอาเนินทรายในเขตที่ดินของลูกค้าของพวกเธอไปด้วย ทำให้ต้องตัดสินใจขยับตัวบ้านขึ้นจากแนวน้ำทะเลหนุนสูงสุดออกไปอีก 25 ฟุต คราวนี้พวกเธอจึงประจักษ์แก่ใจตัวเองแล้วว่า คำเตือนของชาวเกาะที่นี่ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นอีกต่อไป
เจ้าของต้องการบ้านขนาดใหญ่และกว้างขวางพอสำหรับครอบครัวและเพื่อนๆ ของเธอคือ 5 ห้องนอน และกระท่อมหลังเล็กๆ ที่แยกออกไปต่างหากอีกหลังหนึ่ง
เธอยังตั้งโจทย์ว่า บ้านที่ออกแบบสร้างขึ้นมาต้องแสดงออกถึงความเคารพในความเป็นมิตรและประเพณีดั้งเดิมอันสงบเสงี่ยมของเกาะ พูดง่ายๆ คือ "ต้องไม่เกิดความรู้สึกแยกพวกเขาพวกเราบน Harbour Island นี้" ทั้งยังต้องให้บ้านกลมกลืนไปกับภูมิทัศน์โดยรอบของตัวเกาะด้วย
สองสถาปนิกจึงแก้โจทย์ของลูกค้าด้วยการออกแบบให้ตัวบ้านแลดูเหมือนถูกโอบล้อมอยู่ในเนินทรายในลักษณะหลอกตาผู้พบเห็น คือเมื่อมองมาจากชายหาด จะเห็นเป็นกระท่อมหลังเล็กๆ แลดูคล้ายหมู่บ้านขนาดย่อมตั้งรวมตัวอยู่เป็นกลุ่ม ไม่ใช่บ้านหลังเดียวโดดๆ เมื่อไปยืนมองจากถนนเข้ามานั่นแหละจึงจะเห็นว่าเป็นบ้าน 2 ชั้นตั้งตระหง่านอยู่
เพื่อให้โครงสร้างของบ้านแลดูไม่ใหญ่โตมโหฬารนักและผสมกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมมากขึ้น พวกเธอยังแบ่งตัวบ้านออกเป็น 3 ส่วน แต่ละส่วนประกอบด้วยห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องครัว และพื้นที่ใช้งานอื่นๆ จุดกึ่งกลางซึ่งเป็นที่ที่ทุกคนมารวมตัวพบปะกันออกแบบให้เป็นห้องสมุดความสูง 2 ชั้นขนาดมหึมาที่ลูกค้าต้องการให้เป็นรูปลูกบาศก์มีแต่ละด้านกว้าง 24 ฟุต และสูง 24 ฟุตเท่ากัน
Lubrano ชอบเรียกเจ้าห้องสมุดยักษ์รูปลูกบาศก์นี้ว่า "Rubik's Cube ที่ปราศจากปริศนา" ในโพรงมหึมาของลูกบาศก์ยักษ์ก็เหมือนส่วนอื่นๆ ของบ้านที่ส่วนใหญ่จะใช้ไม้ ipe ซึ่งเป็นไม้จากทวีปอเมริกาใต้ Lubrano ให้เหตุผลว่า "เราเลือกไม้ชนิดนี้เพราะปลวกไม่กิน ปลวกเป็นปัญหาใหญ่ของเกาะนี้"
ฝาผนังด้านนอกของห้องสมุดก็ออกแบบเหมือนตัวบ้านส่วนที่เหลือคือ มีระบบบานเกล็ดซึ่งเป็นงานไม้ฝีมือประณีตหุ้มเอาไว้ บานเกล็ดที่ว่านี้ออกแบบเพื่อให้กระแสลมเย็นจากทะเลพัดเข้าสู่ตัวบ้านได้โดยง่าย และยังช่วยกรองรังสีจากดวงอาทิตย์อันร้อนแรงเจิดจ้าของหมู่เกาะ Bahamas ให้อ่อนลงด้วย พอตกกลางคืนเจ้าบานเกล็ดมหัศจรรย์จะทำหน้าที่กลับกันกับตอนกลางวันคือ กรองแสงที่ส่องสว่างจากภายในตัวบ้าน ถ้าใครไปยืนอยู่บนชายหาดแล้วมองไปที่บ้านหลังนี้ ก็จะเห็นแสงสว่างที่เล็ดลอดออกมาแลดูนุ่มนวลชวนฝันเหมือนแสงจากโคมกระดาษของชาวจีนยังไงยังงั้น
ผลจากการใช้ความคิดสลับซับซ้อนและความพยายามอย่างเอกอุนี้เอง ทำให้ Mimmi O' Connell มัณฑนากรของบริษัท Port of Call แห่งลอนดอนต้องยกนิ้วยอมรับว่า นี่เป็นบ้านแห่งระเบียบวินัยและเรียบง่ายโดยแท้จริง ในส่วนของงานที่รับผิดชอบนั้น O' Connell เล่าว่า เธอพยายามออกแบบให้ภายในตัวบ้านคงไว้ซึ่งความเรียบง่ายเพราะ "ในเมื่อคุณมีวิวดีๆ อยู่รอบตัว และมีพื้นที่ว่างสุดวิเศษอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งให้รกรุงรังมากมาย"
เจ้าของบ้านยังแสดงออกถึงความเคารพในตัวชาวเกาะผู้เป็นเจ้าของถิ่นด้วยการยืนกรานให้ใช้เฉพาะแรงงานมีฝีมือที่เป็นคนในท้องถิ่นมาช่วยงานสร้างบ้านเท่านั้น เธอยังยื่นมือเข้าไปช่วยถึงขนาดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ให้เมื่อรู้ว่าพวกเขายังไม่มี
ไม่นานนักทั้ง Lubrano และ Ciavarra จึงเริ่มเรียนรู้วิถีทางตามแบบฉบับของเกาะนี้ และเข้าใจสิ่งที่เจ้าของบ้าน ผู้ว่าจ้างพวกเธอไปทำงานได้อย่างลึกซึ้งจากที่วันหนึ่งผู้รับเหมาก่อสร้างโทรศัพท์มาบอกว่า เขาต้องการตะปู ทำให้สองสถาปนิกสาว ถามกลับไปด้วยความฉงนฉงายว่าตะปูอะไร?
"ยาวเท่านิ้วมือของผม" ผู้รับเหมาคนนั้นตอบ
แม้เธอทั้งสองจะพอใจกับวิธีการง่ายๆ ของชาวเกาะ แต่พวกเขาก็ทำให้พวกเธออดทึ่งไม่ได้ในความสามารถเชิงงานฝีมือ ซึ่ง O' Connell มัณฑนากรสาวสรุปง่ายๆ ว่า
"บางโครงการอาจจะถือว่ายากก็จริง แต่โครงการนี้ทำแล้วมีความสุข สุขตั้งแต่เริ่มต้นจนจบโครงการเลยทีเดียว"
แปลและเรียบเรียงโดย ดรุณี แซ่ลิ่ว
จากนิตยสาร Architectural Digest/December 2006
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|