|
ประวัติรถม้าลำปาง
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ที่แน่นอนที่สุด รถม้ามาถึงลำปางในรัชกาลที่ 6 เมื่อรถไฟเชื่อมรางมาถึงลำปาง เมื่อปลายปี พ.ศ.2457
ก่อนสร้างสะพานรัษฎาภิเศก 3 ปี คือสะพานสร้างเสร็จเดือนมีนาคม พ.ศ.2460 รถไฟมาถึงลำปาง รถม้าได้ขนย้ายจากกทม.มาถึงลำปางเช่นกัน รถม้าคันแรก ได้แก่ รถม้าของเจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้าย คือ พลตรีมหาอำมาตย์โท เจ้าบุญวาทย์ วงษ์มานิต เป็นผู้นำมาใช้ ได้นำรถม้ามาโดยว่าจ้างสารถี ซึ่งเป็นแขกมาจากกรุงเทพฯ เพื่อมาขับรถม้าให้
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าลำปางเป็นศูนย์กลางการค้าของภาคเหนือตอนบน เครื่องอุปโภค และของใช้ต่างๆ เช่น เกลือ รองเท้า เสื้อผ้า น้ำมัน จะต้องขนส่งโดยตรงจากกรุงเทพมหานครเพื่อมาลง และขนส่งต่อไปยังจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และต่อไปยังประเทศลาว ด้านอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย และประเทศพม่าที่อำเภอแม่สาย เชียงราย เช่นกัน รถม้าจึงเกิดความสำคัญในการขนส่งภายในจังหวัดขึ้นตั้งแต่นั้นมา กล่าวได้ว่ารถม้าเป็นเส้นเลือดสายใหญ่ของจังหวัดลำปางไปโดยปริยาย
จากจำนวน 1-2 คันที่เจ้านครนำเข้ามา ก็เพิ่มทวีขึ้นตามลำดับ และเหตุที่ทางกรุงเทพมหานครได้นำรถยนต์เข้ามาวิ่ง ซึ่งสะดวกกว่ารถม้ามาก รถม้าจึงได้อพยพไปตามหัวเมืองต่างๆ อีกหลายหัวเมือง เช่น นครศรีธรรมราช นครราชสีมา แต่เหตุผลใดไม่ปรากฏ จึงไม่มีรถม้าวิ่งในจังหวัดดังกล่าวถึงปัจจุบันนี้ เหมือนจังหวัดลำปาง
ในปี พ.ศ.2490 รองอำมาตย์ตรี ขุนอุทานคดี ได้ก่อตั้งสมาคมล้อเลื่อน และเป็นปีที่ขอจดทะเบียน และในปี พ.ศ.2492 จึงได้ใบอนุญาต และท่านได้เป็นนายกสมาคมรถม้าคนแรก และเป็นผู้แทนราษฎรของจังหวัดลำปาง ในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกสมาคมรถม้า ซึ่งถือได้ว่าเป็นสมาคมแรกของจังหวัดลำปาง การขอจดทะเบียนล้อเลื่อน จังหวัดลำปางจึงเป็นจังหวัดเดียวที่มีการจดทะเบียนประเภทล้อเลื่อน ที่จะต้องเสียภาษี และมีป้ายวงกลมอย่างถูกต้องในประเทศไทย การจดทะเบียนรถม้า ต้องเสียภาษีปีละ 5 บาท ต่อ 1 คัน และใบขับขี่จะต้องต่อใบอนุญาต 2 บาทต่อปี
จังหวัดลำปางจึงถือได้ว่าเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีการจดทะเบียนรถม้าที่วิ่งในถนนหลวงที่ถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นแห่งเดียวที่หลงเหลืออยู่ในประเทศไทย และมากที่สุดในโลก
ในปี พ.ศ.2493 รองอำมาตย์ตรี ขุนอุทานคดี ได้มอบให้เจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง ซึ่งเป็นบุตรของเจ้าบุญวาทย์ วงษ์มานิต เป็นนายกสมาคมรถม้าคนที่ 2 ช่วงเจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง เป็นนายกสมาคมรถม้านี้ ถือได้ว่าเป็นยุคทองของรถม้า ซึ่งในปี พ.ศ.2500 รถม้าของจังหวัดลำปางมีถึง 185 คัน ซึ่งถือได้ว่ามีมากที่สุด ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสมาคมรถม้าขึ้น รถม้าในจังหวัดลำปาง เขาเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Queen Victoria จะมีล้อ 4 ล้อ เบาะหลังเป็นเก๋ง เป็นเบาะใหญ่ นั่งได้ 2 คน และม้านั่งเสริม สามารถนั่งได้อีก 2 คน รวมแล้วรถม้าคันหนึ่ง ถ้าเป็นคนไทย หรือตัวไม่ใหญ่มาก ก็นั่งได้ 4 คน ปกติแล้ว รถม้ารับฝรั่ง เขาจะนั่งเพียง 2 คนเท่านั้น
(ที่มา : จากเอกสาร "เที่ยวลำปาง นั่งรถม้า" จัดทำโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|