|
รถม้า : วิถีชีวิต ที่กำลังถูกนำลงมาจากหิ้ง
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
สำหรับคนลำปางแล้ว รถม้ามิได้เป็นเพียงจุดขายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่ยังเป็นสัญลักษณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ แสดงถึงความเฟื่องฟู
ในฐานะศูนย์กลางเศรษฐกิจภาคเหนือตอนบนในอดีต ก่อนที่ความเจริญจะย้ายไปยังจังหวัดอื่น
เสียงกุบกับ กุบกับ ของรถม้าที่ดังอยู่บนท้องถนน ระคนกับเสียงเครื่องยนต์ ทั้งจากรถเก๋ง ปิกอัพ และมอเตอร์ไซค์ ได้กลายเป็นสิ่งที่คุ้นเคยอยู่ในวิถีชีวิตของคนเมืองลำปางมาช้านาน
ในเมืองลำปาง รถม้ากับรถรายุคปัจจุบันสามารถอยู่ร่วมกันได้ในเมืองที่ขยายตัวจนใกล้จะแออัด
เชื่อไหมว่าคนเมืองลำปาง ไม่มีใครที่แม้แต่จะคิดบีบแตรไล่รถม้าที่วิ่งอยู่ข้างหน้า ทั้งๆ ที่รถม้าวิ่งช้ากว่า
รถม้ากับเมืองลำปาง เป็นสิ่งที่อยู่คู่กันมาไม่น้อยกว่า 90 ปี รถม้าเป็นสิ่งที่มาพร้อมกับรางรถไฟที่เชื่อมจากกรุงเทพฯ ขึ้นมาถึงลำปาง ในปี พ.ศ.2457 สมัยรัชกาลที่ 6
บุคคลแรกที่นำรถม้าขึ้นมาใช้ในจังหวัดลำปาง คือเจ้าผู้ครองนครลำปางคนสุดท้าย พลตรีมหาอำมาตย์โท เจ้าบุญวาทย์ วงษ์มานิต
(รายละเอียดอ่าน "ประวัติรถม้าลำปาง" ประกอบ)
ทุกวันนี้คนเมืองลำปางถือว่ารถม้าเป็นสัญลักษณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่งที่ยังหลงเหลืออยู่
แต่สัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ถือเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนเมืองลำปางมายาวนานเกือบ 1 ศตวรรษ ปัจจุบันกำลังเผชิญกับทางสองแพร่ง
ด้วยความที่เมืองลำปางเป็นเมืองเดียวในประเทศไทยที่มีรถม้าวิ่งอยู่ไปทั่ว รถม้าจึงกลายเป็นจุดขายสำคัญสำหรับดึงดูดนักท่องเที่ยว
หลายสิบปีที่ผ่านมา หลายคนเรียกเมืองลำปางว่าเมืองรถม้า หลายคนรู้จักเมืองลำปางจากรถม้า และอีกหลายคนมาเที่ยวเมืองลำปางเพราะต้องการนั่งรถม้า
แต่ความพยายามชูให้รถม้าเป็นจุดขายสำหรับการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว กลับเป็นการถ่างให้รถม้าออกห่างไกลไปจากวิถีชีวิตของคนเมืองลำปางมากขึ้นเรื่อยๆ
"รถม้า ซึ่งแต่ก่อนนี้เป็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน จะไปโรงเรียนก็ต้องรถม้า จะไปตลาดก็เรียกรถม้า จะไปดูหนัง ดูละครก็รถม้า เดี๋ยวนี้รถม้าก็เลยกลายเป็นสัญลักษณ์ของนักท่องเที่ยว แล้วก็เป็นสินค้าท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวจะมาลำปางก็มานั่งรถม้าแล้ว รถม้ากับคนลำปางก็ห่างเหินกันไป โดยที่คนลำปางเดี๋ยวนี้ไม่นั่งรถม้า เพราะถือว่ารถม้าเป็นสินค้าสำหรับท่องเที่ยวไปเสียแล้ว" นิมิตร จิวะสันติการ นายกเทศมนตรี นครลำปาง แสดงความรู้สึก
นิมิตรเป็นคนลำปางโดยกำเนิด จึงเข้าใจและเห็นความสำคัญของรถม้า
"คนในยุคเรา อายุอย่างเรานี่ เกิดมาก็เห็นรถม้าแล้ว แล้วสมัยก่อนก็มีแค่รถม้ากับรถถีบ รถจักรยานยนต์ รถยนต์ไม่ค่อยมี จนกระทั่งยุคหลังๆ ประมาณสัก 50 ปีที่ผ่านมา ถึงจะเริ่มมีรถยนต์ รถกระบะ รถบรรทุก"
ขณะที่คนเมืองลำปางไม่รู้สึกยินดียินร้ายกับการที่มีรถม้ามาวิ่งอยู่ในตัวเมือง แต่คนต่างถิ่นทั้งในและต่างประเทศเอง กลับมองเห็นสิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญ
ก่อนหน้านี้สวนนงนุชที่พัทยา เคยมาขอซื้อรถม้า ม้า และจ้างคนขับรถม้าจากลำปาง เพื่อนำไปวิ่งรับแขกที่เข้าไปเที่ยวสวนนงนุช
เมื่อปี 2545 ตัวแทนจากรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ได้มาซื้อรถม้า จำนวน 4 คัน จากจังหวัดลำปาง พร้อมด้วยม้า และว่าจ้างคนขับ เพื่อนำรถม้าทั้ง 4 คัน เข้าร่วมขบวนรับเสด็จสุลต่าน Yahya Petra แห่งรัฐกลันตัน เพื่อร่วมฉลองในวันคล้ายวันประสูติ อายุครบ 52 ปี ของสุลต่าน ซึ่งจัดในเดือนเมษายน
งานนี้มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในขณะนั้นได้มาร่วมงานด้วย
รถม้าจากลำปางทั้ง 4 คัน ได้ทำหน้าที่สำคัญ โดยเป็นพาหนะให้กับสุลต่าน Yahya Petra พร้อมด้วยครอบครัว รวมทั้งมหาเธร์และภรรยานั่งอยู่ในขบวน โดยมีคนลำปางเป็นผู้ขับให้
"คนลำปางเราอยู่ด้วยความเคยชิน ความคุ้นเคย เหมือนเราอยู่บ้าน บางทีเราก็ไม่ได้มอง หรือไม่เห็นความสำคัญกับบางสิ่งบางอย่างที่อยู่บนชั้น บนหิ้งในบ้าน จนกระทั่งมีแขกมาบอกว่า โอ้ อันนี้ไปได้มาจากไหน ทำนองนี้ เราก็อยู่ด้วยความเคยชินมา ทั้งชาวบ้าน ทั้งส่วนราชการ ทั้งนักการเมือง ทั้งระดับชาติ ทั้งระดับท้องถิ่น คุณค่าสำคัญของลำปางก็ถูกวางเฉยไว้บนหิ้งที่ไม่ได้เสริมแต่งให้มันมีราคาขึ้นมาเป็นเวลาช้านาน" เป็นอีกความรู้สึกหนึ่งของนิมิตร
ในฐานะที่เขาเข้ามารับตำแหน่งนายกเทศมนตรี เขาจึงมีนโยบายที่จะฟื้นฟู และกระตุ้นให้คนทั้งในเมืองลำปางและท้องถิ่นอื่น เล็งเห็นถึงความสำคัญของรถม้ามากยิ่งขึ้น
และคงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่นโยบายนี้ ไปสอดคล้องกับสมาคมรถม้า จังหวัดลำปาง ที่มีแนวคิดมาช้านานแล้วว่าต้องการยกระดับรถม้าของจังหวัด ให้ได้รับการยอมรับในวงกว้าง ทั้งทางด้านพาหนะเพื่อการท่องเที่ยว ความเป็นวิชาชีพ และอุตสาหกรรม
สมาคมรถม้าลำปาง ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2490 โดยรองอำมาตย์ตรี ขุนอุทานคดี อัยการจังหวัดลำปางในขณะนั้นเป็นนายกสมาคมคนแรก
ปัจจุบัน สมาคมรถม้าลำปางมีรถม้าซึ่งเป็นสมาชิกทั้งสิ้น 116 คัน มีอัครินทร์ พิชญกุล เป็นนายกสมาคม โดยมี ม.ร.ว.นพพนธ์ เกษมสันต์ เป็นผู้ช่วยคนสำคัญในฐานะอุปนายกและเลขาธิการ
อัครินทร์ก็เป็นคนลำปางโดยกำเนิด เฉกเช่นเดียวกับนิมิตร และก็เห็นรถม้ามาตั้งแต่เกิดเช่นกัน
"ผมอยู่ลำปางก็ชอบม้าอยู่แล้ว ครั้งแรกผมไม่เคยคิดจะทำ แต่ว่าตอนหลังเห็นว่ามันควรจะเป็นปึกแผ่น ก็เลยรวบรวมพรรคพวกกันมา ทีแรกก็มาสมัครเป็นสมาชิกก่อน คือผมเป็นตั้งแต่เหรัญญิก นายทะเบียน แล้วก็เป็นรองนายกฯ แล้วค่อยเป็นนายกฯ ก็เกือบจะ 20 ปีแล้วคิดว่ามัน....คือใจรัก ถ้าใจไม่รักก็อยู่ไม่ได้" อัครินทร์บอก
ปัจจุบัน อัครินทร์เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เอกราช ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของท้องถิ่น
เขาคือผู้ทำหน้าที่สารถี ขับรถม้าให้กับสุลต่าน Yahya Petra แห่งรัฐกลันตันประทับในงานฉลองวันคล้ายวันประสูติอายุครบ 52 ปีของสุลต่าน เมื่อปี 2545 ที่ประเทศมาเลเซีย ที่ได้กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น
ส่วน ม.ร.ว.นพพนธ์ เป็นคนกรุงเทพฯ แต่ด้วยความที่มีธุรกิจต้องขึ้นล่องค้าขายระหว่าง กรุงเทพฯ-ลำปางเป็นประจำ ประกอบกับโดยส่วนตัวได้รู้จักและสนิทสนมกับครอบครัวของอัครินทร์มานาน จึงเต็มใจขึ้นมาช่วย
ด้วยนโยบายฟื้นฟูรถม้าของนิมิตรกับแนวความคิดในการยกระดับรถม้าของสมาคมรถม้า ส่งผลให้ในปีที่ผ่านมา เทศบาลนครลำปางได้ประกาศ "ยุทธศาสตร์รถม้าลำปาง" ขึ้นมาเพื่อรองรับกับภารกิจดังกล่าว
"ยุทธศาสตร์รถม้า" คือการวางแผนบริหารจัดการรถม้าในเมืองลำปางอย่างเป็นระบบ และมองเรื่องรถม้าอย่างครบทุกมิติ
เริ่มตั้งแต่มิติแรก ด้านการท่องเที่ยว มีการจัดระเบียบปรับปรุงสถานีบริการ จัดเส้นทางวิ่งของรถม้าเพื่อการท่องเที่ยวขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อพาให้นักท่องเที่ยวที่เลือกใช้บริการนี้ได้ไปสัมผัสกับแหล่งสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของจังหวัดลำปางที่มีอดีตยาวนานกว่า 1,300 ปี
รวมถึงเข้ามาดูแลเรื่องคุณภาพ และสวัสดิการของผู้ขับขี่รถม้าให้เป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้
"รถม้านั้น ถ้าไม่มีรายได้ อยู่ไม่ได้แน่นอน มันก็จะเป็นแค่ชื่อรถม้าลำปาง เพราะว่าครอบครัวเขาต้องมีค่าใช้จ่าย ม้าตัวหนึ่งกิน 20-25 บาทต่อวันต่อตัว ครอบครัวหนึ่งต้องมีม้าไม่น้อยกว่า 3 ตัว ต่อรถม้า 1 คัน แล้วคิดดูมี 116 คัน ม้ามีกว่า 300 ตัว แล้วคนอีกกว่า 400 คนนะ ในครอบครัว คนตาดำๆ 400 คนนี่มีแน่นอนเลย อันนี้เป็นเรื่องที่จะต้องดูแล" ม.ร.ว.นพพนธ์บอก
มิติต่อมาที่มองเรื่องรถม้าให้เป็นพันธกิจ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การส่งเสริมพัฒนาพันธุ์ม้า ระบบการเลี้ยงม้า การออกแบบ ซ่อมแซมรถม้า ตลอดจนการจัดตั้งสถาบันขึ้นมาดูแลเรื่องการพัฒนากิจการรถม้าขึ้นโดยเฉพาะ
แต่มิติที่สำคัญที่สุด คือการดึงให้รถม้ากลับเข้ามาสู่วิถีชีวิตของคนเมืองลำปางอีกครั้ง
(รายละเอียดโครงการต่างๆ ของ "ยุทธศาสตร์รถม้าลำปาง" ดูจากตาราง)
หากมองในปัจจุบัน คนที่รู้จักภาคเหนือหรือนักท่องเที่ยวที่นิยมไปเที่ยวยังภาคเหนือ มักมองเมืองลำปางเป็นเพียงเมืองทางผ่าน เพราะจุดสนใจของคนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับเมืองเชียงใหม่หรือเชียงรายมากกว่า
แต่หากย้อนกลับไปในอดีต ก่อนที่เชียงใหม่หรือเชียงรายจะเฟื่องฟูขึ้นมา ศูนย์กลางเศรษฐกิจของภาคเหนืออยู่ที่ลำปาง ในฐานะศูนย์กลางการคมนาคมและขนส่งสินค้า เพราะความได้เปรียบทางสภาพภูมิศาสตร์ที่อยู่กึ่งกลาง และมีแม่น้ำวังไหลผ่าน ทำให้สินค้าที่มาจากจีนตอนใต้ พม่า ลาว หรือแม้กระทั่งเชียงใหม่ เชียงราย หากจะส่งลงไปขายที่กรุงเทพฯ ต้องมาลงเรือที่ลำปาง ล่องไปตามแม่น้ำวัง ผ่านนครสวรรค์ ก่อนเข้าไปยังกรุงเทพฯ
ในทางตรงข้าม สินค้าที่มาจากกรุงเทพฯ เพื่อจะกระจายไปยังแหล่งต่างๆ ก็ต้องมารวมศูนย์อยู่ที่ลำปางก่อนเช่นกัน
ในยุคที่อิทธิพลจากอังกฤษแผ่เข้ามายังภาคเหนือ ผ่านทางอินเดีย และพม่า บริษัททำไม้หลายแห่งได้มาตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในจังหวัดลำปาง และยิ่งเมื่อมีรางรถไฟเชื่อมต่อจากกรุงเทพฯ มาถึงลำปาง เมื่อเกือบศตวรรษที่ผ่านมา ความเฟื่องฟูดังกล่าว ยิ่งถูกตอกย้ำให้มีความสำคัญมากขึ้น
แต่ความเฟื่องฟูเหล่านี้กลับค่อยๆ จากหายไปตามความนิยมของคนที่อยากขึ้นไปเที่ยวเชียงใหม่มากกว่าลำปาง และธุรกิจการค้าที่ไหลไปลงทุนที่เชียงราย ซึ่งน่าสนใจมากกว่าหลังสงครามในอินโดจีน ยุติลงเมื่อปี พ.ศ.2518
ปัจจุบันในเขตเทศบาลนครลำปาง ยังมีสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเฟื่องฟูในยุคนั้นหลงเหลืออยู่บ้าง อาทิ สะพานรัษฎาภิเศกซึ่งเป็นสะพานเชื่อมชุมชน 2 ฝั่งแม่น้ำวัง เจ้าผู้ครองนครลำปาง ได้ร่วมกับข้าราชการ พ่อค้า คหบดี จัดสร้างขึ้นเพื่ออุทิศทูลเกล้าถวายเป็นที่ระลึกในงานราชพิธีรัชดาภิเษกของรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ.2436
แต่ต่อมาตัวสะพานได้ทรุดโทรมลง จนมาในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงได้มีการสร้างขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เมื่อปี พ.ศ.2460 เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กถาวร มีรูปโค้งคันธนูสวยงาม มีเสาเชิงสะพาน 4 เสา บนยอดมีรูปแกะสลักเป็นพวงมาลา เพื่อระลึกถึงรัชกาลที่ 5 และโคนเสา มีรูปครุฑหลวง แสดงตราสัญลักษณ์ของแผ่นดินสยาม และรูปไก่ขาว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำนครลำปาง
นอกจากนี้ยังมีชุมชนตลาดจีน ซึ่งภาษาท้องถิ่นเรียกว่าตลาด "กองต้า" (กองแปลว่าถนน ส่วนต้า แปลว่า ท่าน้ำ) ซึ่งเป็นชุมชนของพ่อค้า หลากหลายสัญชาติทั้งพม่า จีน ไทยใหญ่ และอินเดีย ที่มาตั้งบ้านเรือนเพื่อพักอาศัย ตลอดจนร้านค้าเพื่อค้าขายอยู่บริเวณริมแม่น้ำวัง
ปัจจุบันตลาดกองต้าประกอบด้วยอาคารเก่าแก่สวยงามหลายหลัง
ที่สำคัญ ภายใต้ความเฟื่องฟูเหล่านั้นรถม้าได้กลาย เป็นจักรเฟืองที่สำคัญ เพราะเป็นพาหนะเพียงอย่างเดียวสำหรับการสัญจร และขนส่งสินค้าภายในจังหวัด
รถม้า จึงถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่แสดง ถึงความเฟื่องฟูในอดีตเหล่านี้
การกำหนดเส้นทางวิ่งของรถม้า ตามยุทธศาสตร์รถม้าลำปาง จึงถูกสอดแทรกไว้ด้วยแนวคิดที่จะกระตุ้นให้คนทั้งจากภายใน และภายนอกได้ตระหนักถึงความเฟื่องฟูในอดีต ด้วยการตีเส้นให้รถม้าวิ่งพานักท่องเที่ยวไปชมสถานที่ต่างๆ ที่เป็นเสมือนพยานวัตถุ ซึ่งสามารถบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ได้ดีกว่าคำพูด
(รายละเอียดอ่าน "เส้นทางรื้อฟื้นความเฟื่องฟูในอดีต" ประกอบ)
ยุทธศาสตร์รถม้าลำปาง เริ่มค้นปฏิบัติการอย่างจริง จังมาแล้วประมาณ 4 เดือน ซึ่งนอกจากแผนการต่างๆ ที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว ยังมีการนำรถม้ามาเป็นรถประจำตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองลำปาง รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ของเทศบาล ก็อาศัยรถม้าที่ต่อท้ายเป็นกระบะติดเครื่องเสียง
ปัจจุบันใครที่ได้เดินทางไปยังเมืองลำปาง อาจพบเห็นสายตรวจตำรวจม้าที่ขี่ตระเวนทั่วเมือง ตลอดจนแท็กซี่รถม้า ที่คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา
การนำรถม้ากลับคืนสู่วิถีชีวิตของคนเมืองลำปางอีกครั้ง จึงถือเป็นภารกิจที่สำคัญและต้องใช้เวลา
แต่แนวความคิดที่จะให้ทางสองแพร่งของรถม้าลำปาง ที่แยกระหว่างยานพาหนะที่โดดเด่นด้านการท่องเที่ยวและวิถีชีวิตของชาวบ้าน วกกลับมาบรรจบกันเป็นทางเส้นเดียวกันได้อีกครั้งนั้น จะสามารถเป็นจริงได้เพียงใด
คงต้องให้เวลา ตลอดจนความจริงจังและจริงใจในการทำงานขององค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นเครื่องพิสูจน์
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|