Big Local Player

โดย ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ปี 2549 ที่ผ่านมานับเป็นปีที่ดีที่สุดปีหนึ่งของถิรไทย เพราะนอกจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น mai ได้แล้ว ยังเป็นปีที่มีรายได้สูงที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งมาเลยทีเดียว

ถิรไทยประมาณการรายได้ปีที่ผ่านมาคาดว่าจะทำได้ถึง 1,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ร่วม 70% และยังมีการขยายงาน ทั้งในด้านการส่งออกและเพิ่มสินค้าใหม่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดหม้อแปลงระดับบนของถิรไทยให้สูงขึ้นอีก

อย่างไรก็ตาม ถ้าดูจากความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นถิรไทย (TRT) แล้ว ดูเหมือนว่านักลงทุนยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้มากนัก เพราะตั้งแต่ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2549 เป็นต้นมา ระดับราคาหุ้น TRT ก็เคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำกว่าราคาจองที่ 5.75 บาท มาโดยตลอด แม้จะมีการปรับตัวสูงขึ้นมาบ้างในช่วงที่ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ที่มีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมากก็ตาม

"เราเชื่อว่าเป็นเพราะนักลงทุนยังไม่เข้าใจธุรกิจของเรา เราได้สื่อสารออกไปว่าธุรกิจของเราอย่าดูเปรียบเทียบไตรมาสปีนี้กับปีที่แล้ว เพราะมันไม่แน่นอน ธุรกิจมันมีแกว่งเป็นธรรมชาติ ให้ดูเป็นรายปีจะเหมาะสมกว่า" สัมพันธ์ วงษ์ปาน กรรมการผู้จัดการ ถิรไทย กล่าว

บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นในปี 2530 เพื่อผลิตและจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้า ปัจจุบันเป็นผู้ผลิตหม้อแปลงรายเดียวของไทยที่สามารถผลิตได้ทั้งหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง (Power Transformer) หม้อแปลงระบบจำหน่าย (Distribution Transformer) และหม้อแปลงไฟฟ้าแบบพิเศษสำหรับลูกค้าเฉพาะกลุ่ม โดยในตลาดหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง แข่งขันกับผู้ผลิตหม้อแปลงจากต่างประเทศ ปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาด 30% ส่วนหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายมีส่วนแบ่งตลาด 15%

จุดเริ่มต้นของถิรไทยเริ่มมาจากเวิร์คช็อปเล็กๆ ที่สัมพันธ์และเพื่อนร่วมงานอีก 10 กว่าคน ร่วมกันก่อตั้งขึ้นหลังจากบริษัทหม้อแปลงไฟฟ้าที่ทำงานอยู่ประสบปัญหาทางการเงินจากการลดค่าเงินบาทในยุครัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จนต้องล้มละลายไป ในช่วงแรกถิรไทยผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายเป็นหลัก จนกระทั่งในปี 2536 สามารถประมูลงานหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังขนาดเล็กจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมาได้เกือบ 30 ลูกด้วยกัน

"งานนั้นเป็นงานสำคัญในการที่เราจะก้าวมาทำหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง เพราะเดิมเป็นของนำเข้า 100% พอเราได้งานมาเกือบ 30 ลูก คู่แข่งในต่างประเทศเขาก็สนใจว่า นี่บริษัทอะไร ทำไมถึงมาแข่งกับเขาได้ ช่วงหลังที่เราจะไปซื้อไลเซนส์จากเขาการเจรจาก็ง่าย เพราะเขารู้จักเราอยู่แล้ว" สัมพันธ์เล่าถึงจังหวะก้าวที่สำคัญของถิรไทย

หลังจากงานครั้งนั้น ถิรไทยลงทุนขยายโรงงานแห่งที่ 2 ในนิคมอุตสาหกรรมบางปู พร้อมกับวางแผนเตรียมเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่โรงงานยังไม่ทันจะสร้างเสร็จก็เจอวิกฤติเศรษฐกิจเข้าเสียก่อน แผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ถูกพับไปโดยไม่มีกำหนด การระดมสมองทีมงานเปลี่ยนจากการวางแผนขยายธุรกิจมาเป็นการกู้ฐานะและปรับโครงสร้างหนี้แทน

"ตอนนั้นหนี้เราเพิ่มขึ้นเท่าตัว ตลาดก็หายไปเพราะอัตราการใช้ไฟฟ้าลดลง รายได้หาย หนี้เพิ่ม เราก็ต้องลดสเกล ลดคนงานโดยสมัครใจ สินทรัพย์ที่ไม่จำเป็นก็ตัดขายทิ้งไปก่อน"

หลังจากเจอปัญหาขาดทุน 3 ปีติดต่อกัน ถิรไทยเจรจาปรับโครงสร้างหนี้เสร็จสิ้นในปี 2545 จึงกลับมารุกตลาดได้อีกครั้ง โดยยังไม่ทิ้งเป้าหมายเดิมในการรุกสู่ตลาดหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังและหม้อแปลงพิเศษ ซึ่งเป็นตลาดหม้อแปลงที่มีความซับซ้อนคุณภาพสูงและผู้ผลิตต้องมีมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับอีกด้วย

ปัจจุบันรายได้ของถิรไทยมาจากตลาดภาครัฐ ลูกค้าเอกชนและการส่งออกในสัดส่วนใกล้เคียงกัน โดยลูกค้าเอกชนจะมีทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อาทิ ธุรกิจปิโตรเคมี เหล็กและกระดาษ รวมไปถึงลูกค้ากลุ่มอื่นๆ เช่น โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า นอกเหนือไปจากธุรกิจโรงไฟฟ้าที่จะมีการเปิดประมูลอีกหลายแห่งในปีนี้

สำหรับตลาดต่างประเทศมีการส่งออกไปยังหลายประเทศในเอเชียและในปีนี้จะมุ่งเน้นในตลาดหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังในกลุ่มประเทศที่มีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจดี ซึ่งจะส่งผลให้มีความต้องการใช้หม้อแปลงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เช่น เวียดนาม บรูไน ศรีลังกา มาเลเซีย สิงคโปร์และฟิลิปปินส์

"ตอนนี้เรามองว่าตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอันดับหนึ่ง อันดับสองคือเอเชียใต้ ทั้งอินเดีย ปากีสถาน อัฟกานิสถาน กำลังเริ่มพัฒนาประเทศ แล้วไฟฟ้าเป็นปัจจัยพื้นฐาน เรามองว่าตลาดนี้น่าสนใจมาก"

ถึงแม้ในปี 2549 จะมีอัตราการเติบโตของรายได้สูงถึง 70% แต่ในปีนี้ผู้บริหารถิรไทย กลับประมาณการการเติบโตเอาไว้ที่ระดับ 8-10% เท่านั้น โดยในส่วนนี้จะมาจากการขยายตัวของตลาดในประเทศ 7% และจากการเติบโตของตลาดต่างประเทศ 10-15% ด้วยกัน โดยถิรไทยมีงานที่ได้รับคำสั่งซื้อตั้งแต่ปีที่ผ่านมาเพื่อการส่งมอบในปีนี้มาแล้วประมาณ 500 ล้านบาท เช่น โครงการสร้างโรงงานใหม่ของบริษัท พีทีที ยูทิลิตี้ ในเครือปตท.จำนวน 69.90 ล้านบาท บริษัท สยามคราฟต์อุตสาหกรรม 20.98 ล้านบาท และโครงการ Airport Rail Link ของซีเมนส์ มูลค่า 30 ล้านบาท

เป้าหมายสำคัญอีกประการหนึ่งของถิรไทยในปีนี้คือ การเปิดตลาดหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังขนาด 300 MVA แรงดันไฟฟ้า 230 kV ซึ่งเป็นหม้อแปลงขนาดใหญ่ที่ปัจจุบัน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ในขณะนี้ถิรไทยสามารถผลิตได้แล้วและอยู่ในระหว่างการประมูลงานจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตและการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งหากประสบความสำเร็จจะช่วยเพิ่มช่องทางรายได้ขึ้นอีกและยังจะทำให้การยอมรับในมาตรฐานสินค้าของถิรไทยสูงขึ้นด้วย

"หม้อแปลงระดับนี้ราคาลูกละประมาณ 100 ล้านบาท ถ้าเราได้งานจากการไฟฟ้าก็หมายถึงว่าภาครัฐยอมรับในมาตรฐานของเรา ภาคเอกชนก็จะเดินตามมาเอง ตลาดนี้ถือว่ามีความสำคัญเพราะอุตสาหกรรมหม้อแปลงเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องได้รับความเชื่อถืออย่างสูงจากลูกค้า ถ้าเรามีความสามารถสูงขึ้น และให้บริการที่ดีลูกค้าก็จะไม่ไปไหน"

หากถิรไทยสามารถเปิดตลาดหม้อแปลงตัวนี้ได้ตามที่ตั้งใจ ก็คงจะเป็นก้าวสำคัญในวาระครบรอบ 20 ปีพอดี


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.