|
It's not just renovation
โดย
น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
น้อยคนนักที่มักจะโยงเอาการตกแต่งบ้าน ตกแต่งสถานที่ทำงานให้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างแบรนด์ และน้อยคนนักเช่นกันที่จะยอมลงทุนนับร้อยล้านเพียงต้องการสร้างแบรนด์จากความสวยงามของสำนักงานของตน
ว่ากันว่า ธนินท์ เจียรวนนท์ ถึงกับลงทุนเจียดเวลาเสี้ยวหนึ่งของชีวิตบินข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังประเทศฟินแลนด์ เพื่อเข้าชมบรรยากาศและการตกแต่งสถานที่ทำงานของบริษัทโทรศัพท์มือถือที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างโนเกีย ก่อนที่จะนำแนวความคิดในการปรับ "คอกทำงาน" ของ "ทีเอ" ภายหลังเปลี่ยนชื่อมาเป็น "ทรู" ให้เป็น "ห้องทำงาน" ที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้นด้วย เพราะไม่ต้องการให้การเปลี่ยนแบรนด์เกิดขึ้นแต่เพียงภาพลักษณ์ภายนอกเท่านั้น
แม้จะไม่ได้เป็นข่าวใหญ่โตในหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ผู้บริหารหลายคนที่ดูแลและมีส่วนรับผิดชอบในโครงการเปลี่ยนแบรนด์ของทรูก็รู้กันดีว่าทั้งธนินท์และศุภชัย เจียรวนนท์ ลูกชายวัยกลางคนที่ดูแลกิจการของทรูอยู่ ให้ความสำคัญกับเรื่องการเปลี่ยนโฉมของสภาพที่ทำงานมากแค่ไหน
หลายครั้งธนินท์ถึงกับลงทุนพาแขกของตนเดินชมและแนะนำการตกแต่งในสำนักของทรูด้วยตนเอง พอๆ กับศุภชัยที่ลงมาแก้ไขตรวจงานการออกแบบสำนักงานในแต่ละชั้น แต่ละตึก หรือแต่ละสาขาของทรู ชอป ด้วยตนเอง
ขณะที่ผู้บริหารอีกหลายคนก็ต้องใช้เวลาส่วนหนึ่งไปศึกษาดูงานจากบริษัทชั้นนำที่มีประสบการณ์ในการออกแบบ และตกแต่งห้องทำงานอีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นไอบีเอ็ม ประเทศไทย ที่ให้ความสำคัญในเรื่อง mobile office หรือออฟฟิศที่เปิดโอกาสให้พนักงานทำงานที่ตรงไหนก็ได้ของสำนักงาน ขอเพียงให้มีคอมพิวเตอร์พกพาส่วนตัวของตนเอง เมื่อหย่อนก้นลงเก้าอี้ตรงกลางห้อง ก็ล็อกออนเข้าทำงานได้ทันที
จุดเริ่มต้นของการสร้างความงามให้กับสถานที่ทำงานของทรู เกิดขึ้นจากสิ่งที่เรียกว่า "A book of dream" หรือ "หนังสือแห่งความฝัน" หนังสือคู่มือการรีแบรนด์ที่มีจำนวนหน้าหนาแทบนับไม่ถ้วน ซึ่งผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องคัดกรองออกมาเป็นเล่มเพื่อใช้ในการเปลี่ยนแบรนด์ทรูเมื่อ 3 ปีที่แล้ว
เนื้อในของหนังสือแห่งความฝันที่ว่า เต็มไปด้วยรายละเอียดส่วนประกอบของความฝันชิ้นเล็กชิ้นน้อย เพื่อให้เป็นจิ๊กซอว์ที่ครบถ้วนของการเปลี่ยนชื่อบริษัท ทั้งเรื่องของชื่อใหม่ที่เลือก การยกเลิกเครื่องแบบพนักงานที่ดูอึดอัดและไม่สื่อถึงคอนเซ็ปต์ในการทำงานแบบใหม่ของบริษัท การเปลี่ยนนามบัตร แผนการโฆษณาประชาสัมพันธ์ รวมไปถึงการทยอยตกแต่งพื้นที่แต่ละชั้นบนตึกทรูทาวเวอร์ ตึกในเครือ หรือแม้แต่ร้านสาขาของทรูทั้งหมดที่มีอยู่เดิมและจะเกิดขึ้นใหม่นับจากนั้น
เมื่อการรีแบรนด์เสร็จสิ้นลงด้วยงบประมาณนับร้อยล้านบาท ทรูก็เริ่มทยอยตกแต่งสำนักงานของตนในทันที โดยเริ่มจากอาคารทรู ทาวเวอร์ บนถนนรัชดาภิเษก
ตึก 34 ชั้นที่ได้รับการเปลี่ยนชื่อพร้อมกับบริษัท ได้รับการตกแต่งห่อหุ้มด้วยรูปภาพขนาดยักษ์ด้านข้างแปะจากภาพหน้าของพนักงานหลายพันคน ถูกรวมกันเป็นภาพขนาดใหญ่อวดสีสันสดใส ดึงดูดสายตาผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาย่านดังกล่าว
ชั้นทำงานของพนักงานทั้งหมดได้รับการตกแต่ง โดยเฉพาะส่วนพื้นที่ใช้สอยตรงกลางของชั้นหรือที่เรียกกันว่า ล็อบบี้
จนถึงปัจจุบันยังคงเหลือชั้นที่ทำงานที่ต้องตกแต่งอีกเพียง 3 ชั้น และหากสิ้นสุดภายในกลางปีนี้ก็เท่ากับว่า ทรูจะตกแต่งพื้นที่ส่วนกลางของที่ทำงานรวมแล้วทั้งสิ้น 10 ชั้น ไม่นับรวมพื้นที่ในตึกที่ทรูเป็นเจ้าของบนถนนพัฒนาการ ที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของบริษัทซึ่งทำธุรกิจที่เกี่ยว ข้องกับ call center และ True IPTV
การตกแต่งสำนักงานแต่ละชั้นมาพร้อมกับคอนเซ็ปต์ หลักที่พยายามจะบอกว่า "the true value of life a bring together" หรือการมีตัวตนของทรูที่แท้จริงก็คือการอยู่เพื่อให้คนสองคนมีกันและกัน ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า "lifestyle enabler" ที่ศุภชัยยกให้เป็นหัวใจสำคัญของรูปแบบการดำเนินธุรกิจของทรูนับตั้งแต่เปลี่ยนชื่อเป็นต้นมา
เกษม กรณ์เสรี ผู้อำนวยการด้าน Customer Management ที่คลุกคลีกับการทำงานเปลี่ยนภาพลักษณ์ของสำนักงานมาตั้งแต่ต้นเคยบอกกับ "ผู้จัดการ" ก่อนหน้านี้ว่า
"เราต้องไปคุยกับที่ปรึกษาด้านการสร้างแบรนด์ของไนกี้ในสหรัฐอเมริกา เพื่อเปรียบเทียบกับแบรนด์ทรู โดยทำการคอนซัลท์กับที่นี่ว่าเขาทำอย่างไรถึงรักษาแบรนด์ไนกี้ให้อยู่มาจนถึงปัจจุบัน ต้องทำอะไรบ้าง วันนี้ไนกี้ถึงได้หล่อเหลาอย่างที่เห็น และไนกี้เองต้องเปลี่ยนแปลงหรือปรับเปลี่ยนตัวเองถึงจะหล่อมาได้จนถึงวันนี้ มีการทำเวิร์กช็อป โดยเรียกไดเร็กเตอร์ทุกแผนกมานั่งคุยว่าเราคือใคร และเราจะเปลี่ยนตัวเราอย่างไรบ้างในเวลานั้น และเป็นที่มาของ A book of dream ที่ว่านั่นแหละ"
ภายใต้การทำ office renovation หรือปรับเปลี่ยนสภาพที่คนของทรูเองในขณะนั้นยังเรียกกันจนติดปากว่า คอกทำงาน ให้มาเป็นห้องทำงาน ไม่ได้เป็นเพียงการตกแต่งให้สวยงามตามคอนเซ็ปต์ของการดำเนินธุรกิจทั้งหมดภายใต้ร่มทรูเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการทำให้สำนักงานทำงานได้คล่องตัว และประหยัดเงินตราด้วยในเวลาเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำ mobile office หรือการพยายามจะให้สำนักงานเปิดกว้างให้พนักงานถือเพียงโน้ตบุ๊กหนึ่งเครื่อง และสามารถเลือกเก้าอี้หรือโต๊ะทำงานได้ตามที่ต้องการไป จนถึงการทำ paperless ที่เน้นลดภาระการใช้กระดาษที่กลายเป็นต้นทุนในการดำเนินธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และการทำ document center หรือรวมศูนย์กลางของข้อมูลจากการเป็นกระดาษในแฟ้มหนามาเป็นข้อมูลดิจิตอลทั้งหมด
ต้องยอมรับว่าน้อยนักที่บริษัทจะลงรายละเอียดของการรีแบรนด์ของตนให้พ่วงด้วยการสร้างห้องทำงานที่ทันสมัยสวยงามยิ่งขึ้น วางระบบให้คนใช้กระดาษน้อยลง และรวมศูนย์กลางของข้อมูลทั้งหมดเอาไว้ด้วยกัน แต่สำหรับทรูแล้ว กลับตรงกันข้ามกันอย่างชัดเจน
ที่ชั้น 29 เก้าอี้หนึ่งตัวถูกวางให้เป็นหนึ่ง hot desk การเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถเลือกที่นั่งของตนได้ตามใจชอบในแต่ละวัน ช่วยปลดพันธนาการให้กับองค์กรหรือแม้แต่ตัวพนักงานเองที่เคยคิดว่า โต๊ะนี้เป็นของผมและสถานที่เก็บของใช้ในที่ทำงานของผม หรือของฉัน
มีการจัดโต๊ะชุดหนึ่งให้เพียบพร้อมกับการทำงาน คือ โต๊ะ เก้าอี้ อุปกรณ์ต่อพ่วงเพื่อทำการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ไม่นับรวมกับอินเทอร์เน็ตไร้สายที่กระจายให้สัญญาณทั่วทั้งตึก 34 ชั้น เพื่อเปิดโลกทัศน์ในการทำงานแบบใหม่ที่เรียกว่า mobile office หรือย้ายไปที่ไหนก็นั่งทำงานได้เหมือนกัน เพื่อสอดรับกับแนวทางในการทำงานของทรูที่เป็นผู้ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไร้สาย บริการโซลูชั่นเพื่อการทำงานแบบใหม่อย่าง mobile office แก่ลูกค้าด้วย
การจัดพื้นที่ hot desk จึงเปรียบเสมือนกับการฝังรากลึกในหัวใจของพนักงานให้มองเห็นคุณค่าของการทำงานแบบใหม่ ก่อนที่จะขยับขยายไปให้บริการแก่ลูกค้าของตนในอนาคต
เช่นเดียวกับชั้น 29 และอีกหลายชั้นที่ทยอยได้รับการตกแต่งในเวลาต่อมา ก็ล้วนแล้วแต่แฝงคุณค่าในแง่ของการทำธุรกิจของทรู อาทิ การให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง, ธุรกิจเกมออนไลน์, โทรศัพท์มือถือ, โทรศัพท์บ้าน และธุรกิจอื่นๆ อีกหลายอย่าง พร้อมๆ กับความต้องการสูงสุด คือการให้พนักงานซึมซับคุณค่าของธุรกิจเหล่านั้นเข้าไป เพื่อหวังว่าการซึมซับสิ่งเหล่านั้นเข้าไปจะช่วยให้พนักงานได้เข้าใจธุรกิจของทรูอย่างลึกซึ้ง และให้บริการที่ดีแก่ลูกค้าดังเช่นกับที่บริษัทได้บริการพนักงานด้วยในเวลาเดียวกัน
บ้านสวย คนอยู่รวยความสุข แขกมาเยือนเจ้าบ้านก็มักจะต้อนรับขับสู้เป็นอย่างดี คงเป็นคำพูดที่นำมาเปรียบเทียบกับการเปลี่ยนบ้านให้งามของทรูได้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อคนอยู่ในตึกทรูมีความสุข ผู้บริหารก็หวังว่า ลูกบ้านของตนก็จะ ให้บริการลูกค้าได้อย่างมีความสุข... หวังกันอย่างนั้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|