ระบบเฮลท์แคร์ในสหรัฐอเมริกา

โดย มานิตา เข็มทอง
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ค่ารักษาพยาบาลและค่าประกันสุขภาพในสหรัฐอเมริกามีราคาแพงมาก หากบุคคลใดในสหรัฐอเมริกาที่ไม่มีประกันสุขภาพ แล้วเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา อาจถึงขั้นล้มละลายได้... เป็นสัจธรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศเจริญแล้ว แต่การครอบคลุมเรื่องการให้บริการทางด้านสุขภาพ หรือสาธารณสุข (Health Care) แก่ประชาชนของประเทศนั้นไม่ได้เป็นแบบยูนิเวอร์แซล คือไม่ครอบคลุมทั่วทุกชนชั้น เหมือนประเทศพัฒนาแล้วประเทศอื่นๆ

ปัจจุบันค่าใช้จ่ายด้านเฮลท์แคร์ของสหรัฐอเมริกาถือว่าสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก จากข้อมูลล่าสุดของประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ โออีซีดี พบว่าในปี 2003 ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของสหรัฐฯ สูงถึง 15% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) หรือประมาณ 5,635 เหรียญสหรัฐ เท่ากับประมาณ 2 ล้านบาท และนับตั้งแต่ปี 1998 ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของชาวอเมริกัน มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นต่อไปเรื่อยๆ เฉลี่ยปีละประมาณ 4.6% ต่อคนต่อปี นอกจากนี้ในปี 2003 คนอเมริกันใช้จ่ายค่ายาประมาณ 728 เหรียญต่อคนต่อปี

จากตัวเลขสถิติเหล่านี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ช่วยจ่ายเพียงแค่ 44% ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศพัฒนาประเทศอื่นๆ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจำนวนถึง 37% เป็นการจ่ายผ่านบริษัทประกันเอกชน ถือว่าสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศพัฒนาประเทศอื่นๆ ทำให้ระบบเฮลท์แคร์ของสหรัฐฯ อยู่ในมือของเอกชน โดยที่ประชนชนส่วนใหญ่ต้องแบกภาระเอง แทนที่จะเป็นรัฐบาลที่เป็นผู้จัดหาสวัสดิการด้านนี้ให้ดังเช่นประเทศพัฒนาแล้วประเทศอื่น

อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ มีโครงการช่วยเหลือด้านสุขภาพ ได้แก่ เมดิแคร์ (Medicare) และเมดิเคด (Medicaid) โดยเมดิแคร์ เป็นโครงการที่สนับสนุนโดยรัฐบาลกลางสหรัฐฯ สำหรับผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ผู้ทุพพลภาพและผู้ป่วยโรคไตขั้นสุดท้าย ซึ่งผู้รับบริการจะต้องจ่ายเพิ่มในการครอบคลุมค่ารักษาพยาบาล ค่าแพทย์ ค่าห้องและค่ายา หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับระยะเวลาการทำงานในอดีต ผู้สูงอายุที่มีประวัติการทำงาน 10 ปีขึ้นไป จะได้รับการคุ้มครองทั้งหมด

ส่วนเมดิเคด เป็นการร่วมมือกับรัฐบาลกลางและมลรัฐในการช่วยเหลือผู้ยากจนมีรายได้ต่ำ ซึ่งต้องพิสูจน์ว่าจนจริงๆ โครงการนี้บางรัฐดำเนินการโดยโรงพยาบาลเอกชนหรือกลุ่มแพทย์ที่ต้องการช่วยเหลือผู้ยากไร้เอง นอกจากนั้นยังมีหน่วยงานรัฐอื่น เช่น องค์กรทหารผ่านศึกที่ให้บริการบรรดาเหล่าทหารหาญที่ได้รับบาดเจ็บจากสงคราม ส่วนทหารที่ไม่ได้รับบาดเจ็บจะไม่ได้รับบริการในส่วนนี้บ่อยครั้งนัก

นอกจากนั้น ประชากรส่วนใหญ่ที่มีงานประจำจะได้รับการประกันสุขภาพผ่านบริษัทที่ว่าจ้างทำงาน แต่ก็ถูกหักค่าประกันไปจากเงินเดือนในแต่ละเดือน หรือบางรายซื้อกรมธรรม์ส่วนบุคคลเอง ซึ่งราคาไม่ถูกเลย ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของแต่ละกรมธรรม์ด้วยว่าคุ้มครองครอบคลุมแค่ไหน ตัวอย่างเช่น ประกันสุขภาพของนักเรียนในมหาวิทยาลัยนอร์ทเทิร์น อิลินอยส์ ในมลรัฐอิลินอยส์นั้นอยู่ที่ประมาณ 288 เหรียญ หรือประมาณหมื่นกว่าบาทต่อเทอม ขณะที่ลูกจ้างของมหาวิทยาลัยจะถูกหักค่าประกันสุขภาพประมาณเดือนละ 100 เหรียญ ซึ่งประกันจะจ่ายเป็นวงเงิน 80% ของค่ารักษาพยาบาล ผู้เอาประกันจะจ่ายเพียง 20% เหมือนไม่มาก แต่คิดดูว่า ถ้าค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดประมาณ 10,000 เหรียญต้องควักเนื้อเอง 2,000 เหรียญ นั่นเป็นเงินจำนวนไม่น้อยทีเดียว และการเข้าพบแพทย์แต่ละครั้ง แม้จะมีประกันก็ยังคงต้องเสียค่าใช้จ่ายเบื้องต้นก่อน เรียกว่า ค่าโคเพย์ (copay) ประมาณ 15 เหรียญ แม้ว่าจะยังไม่ได้ตรวจ และนี่ไม่รวมค่ายาและค่าตรวจที่อาจนอกเหนือจากที่ประกันครอบคลุมอีกต่างหาก ซึ่งตัวเลขเหล่านี้แตกต่างกันไปตามแต่ละกรมธรรม์ ไม่แน่นอนตายตัวและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

ในอเมริกามีคนจำนวนกว่า 40 ล้านคน หรือประมาณ 15% ของประชากรทั้งหมดที่ไม่มีประกันสุขภาพ บางบริษัทไม่มีการทำประกันให้ พวกนี้เป็นคนทำงานที่มีรายได้ไม่ต่ำจนสามารถขอเข้าโครงการเมดิเคดได้ แต่ยังไม่เพียงพอที่จะจ่ายซื้อประกันเอง คนเหล่านี้มีความเสี่ยงสูง หากแข็งแรงปลอดภัยดีก็รอดไป แต่ถ้าเกิดเป็นอะไรขึ้นมา อาจถึงขั้นหมดตัวได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น บทสรุปคือ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในสหรัฐฯ สูงมากเกินกว่าที่คนส่วนใหญ่จะสามารถพึ่งพาตนเองได้ นี่เป็นการยืนยันข้อความข้างต้น ซึ่งปัญหานี้เป็นวิกฤติในบ้านที่สหรัฐฯ ไม่อยากให้ใครรู้ ขณะนี้มีนักการเมืองหลายคนเริ่มใช้ประเด็นนี้ออกมาหาเสียงด้วยการปฏิรูประบบเฮลท์แคร์ในอเมริกา ให้เป็นแบบยูนิเวอร์แซล และระหว่างที่ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เป็นแค่เกมการเมือง คนอเมริกันหลายคนเริ่มหันไปใช้บริการสุขภาพในต่างแดนกันมากขึ้น อันเป็นที่มาของทัวร์เพื่อสุขภาพ (เมดิคัล ทัวริซึ่ม) ที่กำลังบูมในประเทศกำลังพัฒนา อย่างไทย อินเดีย และเม็กซิโก เป็นต้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.