โรงพยาบาลกรุงเทพเจาะตลาดอเมริกาด้วยสเต็มเซลล์

โดย ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

โรงพยาบาลกรุงเทพเตรียมรุกตลาดคนไข้ต่างชาติอย่างเข้มข้นจริงจังยิ่งขึ้นในปีนี้ โดยใช้สเต็มเซลล์เป็นหัวหอกในการบุกตลาดอเมริกา พร้อมทั้งชิมลางการขยายออกสู่ต่างประเทศเป็นครั้งแรกที่กัมพูชา

บรรยากาศและการตกแต่งภายในอาคารโรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล อาจทำให้ผู้ป่วยต่างชาติบางคนเผลอคิดไปว่ากำลังเดินอยู่ในโรงพยาบาลในประเทศบ้านเกิดได้ง่ายๆ ผู้ป่วยจากแดนซามูไรอาจบรรเทาอาการคิดถึงบ้านไปได้บ้างเมื่อย่างเท้าเข้าไปในโซนผู้ป่วยญี่ปุ่น เจ้าหน้าที่ในโซนนี้พูดภาษาญี่ปุ่นได้คล่องแคล่ว ระหว่างนั่งรอสามารถเลือกอ่านหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือเอกสารแผ่นพับที่เป็นภาษาญี่ปุ่นไปพลางๆ หรือถ้าติดทีวีก็ยังนั่งชมรายการโทรทัศน์จากญี่ปุ่นได้อีกด้วย

บรรยากาศเช่นนี้มีให้เห็นทั้งในโซนชาติตะวันตกและตะวันออกกลาง ที่ต่างก็มีรูปแบบการตกแต่งเฉพาะตัวเพื่อสร้างความคุ้นเคยและสบายใจให้กับผู้ป่วยมากที่สุด

โรงพยาบาลกรุงเทพจะมีอายุครบ 35 ปีในปีนี้ แต่เพิ่งเริ่มรุกตลาดคนไข้ต่างชาติอย่างจริงจังมาได้เพียง 3 ปีเท่านั้น อย่างไรก็ตาม พื้นฐานด้านการแพทย์ที่แข็งแกร่งบวกกับชื่อเสียงที่เป็นที่รู้จักกันดีในสังคมไทย ประกอบกับเครือข่ายที่มีอยู่ถึง 17 แห่งทั่วประเทศ ทำให้ประสบความสำเร็จในตลาดคนไข้ต่างชาติอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันยอดผู้ป่วยต่างชาติคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของคนไข้ทั้งหมด และยังมีอัตราการเติบโตสูงกว่ายอดผู้ป่วยไทยอีกด้วย ซึ่งผู้บริหารโรงพยาบาลกรุงเทพคาดว่า ภายใน 2 ปี สัดส่วนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 40-50% ได้ไม่ยาก

"ตอนนี้บางโรงพยาบาลในกลุ่มของเรามีสัดส่วนคนไข้ต่างชาติถึง 50% แล้ว ปีที่ผ่านมาคนไข้ต่างชาติมี growth ถึง 70% ซึ่งถือว่าเยอะ เพราะคนไข้ไทยทำได้ 15% ก็ถือว่าเก่งแล้ว" นพ.ชาตรี ดวงเนตร ประธานคณะผู้บริหารศูนย์การแพทย์กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพกล่าว

หลังจากที่กำหนดนโยบายจะรุกตลาดคนไข้ต่างชาติอย่างจริงจังในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลกรุงเทพใช้เงินลงทุนทั้งในการก่อสร้างอาคารแห่งใหม่ ซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือเพิ่มเติม รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรรวมทั้งสิ้นเป็นเงินเกือบ 3 พันล้านบาท

ผู้ป่วยจากสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดที่โรงพยาบาลกรุงเทพให้ความสนใจอย่างมากในขณะนี้ ซึ่งจะมุ่งเน้นไปที่การรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจด้วยสเต็มเซลล์ (Stem Cell) โดยมีความร่วมมือทางด้านการแพทย์กับมหาวิทยาลัยพิตสเบิร์กในสหรัฐอเมริกา

สเต็มเซลล์หรือเซลล์ต้นกำเนิด เป็นการรักษาโรคด้วยการใช้เซลล์ต้นกำเนิดที่ได้จากเลือด หรือไขกระดูกของผู้ป่วยมาซ่อมแซมในส่วนผิดปกติของร่างกาย โดยทั่วไปแล้วจะเน้นไปที่โรคร้ายแรงหรือโรคเรื้อรัง เช่น อัลไซเมอร์ พาร์คินสัน มะเร็ง เบาหวาน และที่ได้ผลมากที่สุดในขณะนี้คือโรคหัวใจ ปัจจุบันสหรัฐอเมริกายังไม่อนุญาตให้ทำการรักษาโดยการใช้สเต็มเซลล์ เนื่องจากปัญหาทางด้านจริยธรรม เพราะนอกจากจะได้จากเลือดและไขกระดูกแล้ว สเต็มเซลล์ยังสามารถสกัดออกมาจากตัวอ่อนของมนุษย์ได้ ด้วยเหตุนี้ ผู้ป่วยที่ต้องการจะรักษาโรคโดยใช้สเต็มเซลล์จึงต้องเดินทางออกมารักษาตัวในต่างประเทศ

"ของเราไม่ได้ใช้เซลล์ตัวอ่อน เราใช้เซลล์ของผู้ป่วยเอง ตอนนี้เราใช้ในการรักษาโรคหัวใจอย่างเดียว แค่ปีเดียวทำไป 90 กว่าราย มีนักร้องรุ่นเก่าชาวฮาวายดังมากอายุ 70 กว่าแล้ว เขาเป็นโรคหัวใจต้องรอเปลี่ยนก็มาทำที่นี่ จากที่เคยร้องเพลงได้ 10 นาที ตอนนี้ร้องได้ 90 นาทีเลย อันนี้คือจุดแข็งของเราที่จะใช้ในตลาดอเมริกากับแคนาดา"

ปัจจุบันโรงพยาบาลกรุงเทพมีสำนักงานตัวแทนกระจายอยู่ในหลายประเทศด้วยกัน เช่น บังกลาเทศ จีน เวียดนาม ซาอุดีอาระเบียและกัมพูชา ซึ่งเป็นชาติที่มีคนไข้มาใช้บริการมากเป็นอันดับต้นๆ แห่งหนึ่ง และในเดือนนี้โรงพยาบาลกรุงเทพจะเปิดดำเนินงานโรงพยาบาลในเครือชื่อรอยัล อังกอร์ ที่เมืองเสียมเรียบ กัมพูชา รวมทั้งกำลังเจรจาเกี่ยวกับการร่วมทุนกับหน่วยงานของดูไบเพื่อเปิดโรงพยาบาลกรุงเทพที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ด้วย

ปีนี้บอกได้เลยว่าเราจะทำเชิงรุก เราจะเปิดโรงพยาบาลที่กัมพูชาแล้วก็จะไปเปิดสำนักงานในต่างประเทศ เอาคนของเราไปประจำการที่นั่นเลย 2 ปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นช่วงลงทุน ตอนนี้เป็นช่วงเก็บเกี่ยวแล้ว" นพ.ชาตรีกล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.