|
Top 10 Nominees in the city
โดย
สุจินดา มหสุภาชัย สมเกียรติ บุญศิริ
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
มีคนบางคนเคยเปรียบเปรยว่า เมื่อมีการจัดตั้งบริษัทขึ้นครั้งแรกในโลก เมื่อนั้นก็เกิดการถือหุ้นแทน (Nominee) ตามมาด้วย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ที่ธุรกิจส่วนใหญ่ในโลกนี้ ต่างมีบริษัทถือหุ้นแทน จนแทบจะกลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว
การมี Nominee ดีหรือไม่ ไม่ใช่คำตอบหรือเหตุผลที่จะมาสรุปกันในตอนนี้ คิดง่ายๆ ในดวงอาทิตย์ที่ส่องแสงอยู่ตลอดเวลา ยังมีจุดดับ การถือหุ้นแทนก็มีทั้งข้อดี และข้อเสีย ขึ้นอยู่กับว่าจะมองในมุมไหน และใครเป็นคนมอง
"ผู้จัดการ" ไม่ได้ตั้งธงว่า ดีหรือไม่ดี เหมาะสมหรือไม่ แต่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลการทำงานของบริษัท Nominee ที่มีอยู่ในบ้านเราขณะนี้ว่ามีใครบ้าง และยิ่งใหญ่ขนาดไหน
แน่นอนว่า เราคงไม่สามารถเสาะหาทุกบริษัทในประเทศไทย จึงตัดสินใจเจาะจงไปที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพราะถือว่าเป็นแหล่งข้อมูลเปิดเผยเป็นทางการ สามารถนำมาใช้อ้างอิง และเป็นหลักฐานทางศาลได้
อีกทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นพื้นที่เหมาะสมในการเจริญเติบโตของบริษัทถือหุ้นแทนเหล่านี้และเติบใหญ่ขึ้นทุกนาที
การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลบริษัทจดทะเบียน 450 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้เห็นภาพของ Nominee ชัดเจนขึ้น และมีความน่าสนใจไม่น้อยทีเดียว
145 Nominees จาก SET 450
จากการสำรวจข้อมูลพบว่า จำนวนรายชื่อบริษัทที่ชี้ได้ว่าน่าจะเข้าข่ายเป็นนอมินีนั้นมีรวมกันประมาณ 145 ราย โดยแบ่งตามประเภทการทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินทั้งในและนอกประเทศ อันประกอบด้วยธนาคารที่มีบริการด้าน Private Banking และการดูแลเก็บรักษาใบหุ้นและสินทรัพย์อื่นๆ ให้แก่นักลงทุนทุกกลุ่มทุกประเภท (Custodian)
บริษัทหลักทรัพย์ ในฐานะที่เป็นโบรกเกอร์ หรือ Custodian และกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) ซึ่งมีธนาคารหรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้บริหารแผนเพิ่มพูนความมั่งคั่งให้แก่พวกเศรษฐีผู้มีอันจะกินด้วย
รวมถึงบริษัทนอมินีทั่วไปในสังกัดธนาคาร และนอมินีจากเมืองผู้ดีที่ถือได้ว่าเป็น Shell Company พันธุ์แท้ เพราะเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในเขตปลอดภาษี 2 ราย คือ Albouys Nominees Limited และ Somers Nominees Limited โดยทั้ง 2 รายนี้ เป็นนอมินีที่ไม่มีการถือหุ้นในประเทศอื่นใด และเป็นบริษัทย่อยของ Bank of Bermuda ที่ตั้งอยู่ในเขตปลอดภาษีด้วยเช่นกัน
สำหรับสัญชาติของกลุ่มนอมินีที่ให้บริการรับจ้างถือหุ้นแก่นักลงทุนในตลาดหุ้นเมืองไทย มีทั้งสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ แคนาดา และลักเซมเบิร์ก
ความหมายโดยนัยสำคัญก็คือ การมีบริษัทถือหุ้นแทนไม่ใช่เรื่องแปลก หรือเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับผู้คนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
การเข้ามาของบริษัทถือหุ้นแทนส่วนใหญ่จะเข้ามาในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งการล่มสลายของเศรษฐกิจไทยครั้งนั้น ทำให้เกิดปรากฏการณ์ผู้ร่วมลงทุนเข้ามาในบริษัทต่างๆ จำนวนมาก และนั่นคือจุดเริ่มต้นของบริษัทถือหุ้นแทนที่ยังดำเนินต่อมาจนถึงทุกวันนี้
7 Nominees Play maker
ในภาพรวมอาจดูเหมือนว่าในบ้านเรามีนอมินีจำนวนมากเข้ามาให้บริการสนองความต้องการแก่กลุ่มคนที่อยากอำพรางการถือครองหุ้นในมือด้วยเหตุผลต่างๆ นานา แต่หากจะว่ากันถึงจำนวนผู้เล่นหลักๆ แล้วน่าจะมีรวมกันแค่เพียง 7 รายคือ
STATE STREET BANK AND TRUST, CHASE, HSBC, BANK OF NEW YORK, MELLON BANK, CITIGROUP, UBS และ DEUTSHE BANK
ถึงจะมีผู้เล่นหลักถึง 7 รายก็ตาม แต่รายใหญ่ในแวดวงนอมินีจริงๆ เห็นจะมีเพียงแค่ 3 ค่าย คือ นอมินีจากค่าย STATE STREET BANK AND TRUST, ค่าย CHASE และค่าย HSBC (ดูตาราง : Top-10 Nominees)
ตัวเลขมูลค่าพอร์ตล่าสุดของ STATE STREE BANK และ CHASE ยังปรับเพิ่มขึ้นอีกกว่าหมื่นล้านเมื่อเทียบจากมูลค่าที่ทั้ง 2 ค่ายเคยมีในช่วงเดือนสิงหาคมปีก่อน ยกเว้นกลุ่ม HSBC ซึ่งมูลค่าพอร์ตอาจหดหายลงไปบ้างคือร่วม 20,000 ล้านบาทเศษๆ จนปล่อยให้ CHASE ทำผลงานแซงหน้าขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 2
ข้อมูลที่ได้มายืนยันว่า บริษัทถือหุ้นแทน 10 อันดับแรกที่รวบรวมได้ มีเงินลงทุนถึง 574,843 ล้านบาท โดยคำนวณจากราคาหุ้น ณ วันที่ 19 มกราคม 2550
มูลค่าขนาดนี้ประมาณเกือบ 50% ของงบประมาณแผ่นดินบ้านเรา
ที่น่าสนใจคือ 3 อันดับแรกของบริษัทถือหุ้นแทนแต่ละรายมีเงินลงทุนรายละกว่า 1 แสนล้านบาท ส่วนอันดับที่ 4 ลงไปอยู่ที่แค่หลักหมื่นล้าน ขนาดการลงทุนของกลุ่มอันดับต้นๆ กับอันดับรองลงมา เป็นสัดส่วนที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
บริษัท Nominee อันดับแรกที่ถือหุ้นมากที่สุด ก็คือ STATE STREET BANK AND TRUST ที่มูลค่าสูงถึง 152,461 ล้านบาท
อันดับสองคือ CHASE บริษัทสัญชาติอเมริกันอีกรายหนึ่ง โดยการลงทุนของบริษัทถือหุ้นแทนตัวนี้มีมูลค่าประมาณ 137,422 ล้านบาท
อันดับ 3 คือ กลุ่ม HSBC ที่ตามมาด้วยมูลค่า 101,744 ล้านบาท
Top 3 Nominees ถือหุ้นอะไร
บทบาทของนอมินีรายใหญ่ในตลาดหุ้นไทย จะมีการถือครองหุ้นในบริษัทมากมายตั้งแต่ 30 แห่งจนถึง 100 แห่ง โดยกระจัดกระจายไปตามหมวดธุรกิจต่างๆ ตั้งแต่หมวดเกษตรจนถึงหมวดขนส่งและลอจิสติกส์ จะเห็นได้ว่านอมินีหลายรายได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1-3 ในกิจการบางแห่ง
เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ที่มี CHASE LIMITED 42 แห่งค่าย CHASE ขึ้นอันดับเป็นผู้ถือหุ้นหมายเลข 1 ของธนาคาร เช่นเดียวกับกรณีของบริษัทอมตะที่ได้ THE BANK OF NEW YORK (NOMINEES) LIMITED มาเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2 รองจากวิกรม กรมดิษฐ์ และบริษัทบ้านปูมี MELLON BANK เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2
ส่วนที่บริษัท อ.ส.ม.ท. หรือ MCOT มี THE GOVERNMENT OF SINGAPORE INVESTMENT CORPORATION C เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 3 และขณะเดียวกัน THE GOVERNMENT OF SINGAPORE INVESTMENT CORPORATION C ก็ยังเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2 ในควอลิตี้เฮ้าส์ หรือ QH ด้วยเช่นกัน
การถือหุ้นในบริษัทต่างๆ ของนอมินี จะเน้นหนักธุรกิจในหมวดธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ พลังงานและสาธารณูปโภค ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์
เคยมีการประเมินภาพรวมสัดส่วนการใช้บริษัทนอมินีถือหุ้นพบว่า หมวดเทคโนโลยี (รวมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์) เป็นกลุ่มที่น่าจะมีการใช้นอมินีถือหุ้นแทนสูงสุดคือ 39.0% ของมูลค่าหุ้นทั้งหมดในหมวด รองลงมาคือธนาคาร 32.0%, หมวดธุรกิจการเงิน 30.27% สุดท้ายหมวดก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ 24.3%
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|