บทบาทของนิตยสารรายเดือน


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ในจำนวนสื่อที่มีอยู่ทั้งหมดในโลกปัจจุบัน สื่อประเภทนิตยสาร ถือเป็นสื่อที่มีความเสียเปรียบสื่ออื่นมากที่สุด หากวัดในแง่ของความรวดเร็วในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารถึงผู้อ่าน

เนื่องจากปัจจุบันการหลั่งไหลของข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ฉับพลัน ทันทีที่มีเหตุการณ์อะไรสำคัญๆ เกิดขึ้น คนทั่วไปสามารถรับรู้เรื่องราวเหล่านั้นได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที

และเหตุการณ์เหล่านี้ยังสามารถถูกนำมาขยายความ หรือเพิ่มเติมเนื้อหาให้มากขึ้นอีกในวันรุ่งขึ้นจากสื่อที่เป็นหนังสือพิมพ์รายวัน

ซึ่งหากเปรียบเทียบในเรื่องความถี่ของการวางแผงของสื่อประเภทนิตยสารแล้ว จะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะนิตยสารส่วนใหญ่มักจะมีโอกาสนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่างๆ เหล่านั้นเพียง 1 สัปดาห์ต่อครั้ง สำหรับนิตยสารรายสัปดาห์ หรือ 15 วันต่อครั้ง สำหรับนิตยสารรายปักษ์ และเพียงแค่เดือนละครั้งเท่านั้นสำหรับนิตยสารรายเดือน

แต่ในความแตกต่างของความถี่ในการสื่อสารระหว่างสื่อเหล่านั้น ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียเช่นกัน

ปัจจุบันเนื่องจากความรวดเร็ว ฉับพลันของการหลั่งไหลของข้อมูลข่าวสาร ทำให้ความสนใจของคนโดยทั่วไป มักจะมุ่งไปให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ สถานการณ์ หรือปรากฏการณ์ประเภทที่ใหม่กว่า หรือเกิดขึ้นล่าสุด ขณะเดียวกันก็ขาดความต่อเนื่องในการเชื่อมโยงข้อมูล ข่าวสาร เหตุการณ์ สถานการณ์ หรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเข้าด้วยกัน

ขณะเดียวกัน ข้อมูลข่าวสารที่หลั่งไหลอย่างรวดเร็วก็เป็นเสมือนกลุ่มฝุ่น กลุ่มควันที่เมื่อฟุ้งขึ้นมาแล้ว จะปกคลุมจนมองไม่เห็นว่าแก่นกลาง ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง (fact) ที่ถือว่าเป็นนัยสำคัญของปรากฏการณ์เหล่านั้น คืออะไร

หากมองในจุดนี้ การทำหน้าที่ของสื่อประเภทนิตยสารถือว่าเป็นมีโอกาสมากกว่า

เพราะเรามีเวลาในการสืบค้นข้อมูล สังเคราะห์ข้อมูล เกี่ยวกับปรากฏการณ์นั้นๆ มากกว่า และสามารถบอกกับคนอ่านของเราได้ว่า ท่ามกลางฝุ่นควันที่ตลบอบอวลอยู่นั้น ข้อเท็จจริง (fact) คืออะไร

เรื่องจากปกของนิตยสาร "ผู้จัดการ"ฉบับนี้ถือเป็นการทำหน้าที่อย่างหนึ่ง ตามบทบาทที่ว่า

ถือเป็นพันธสัญญาที่เราต้องการบอกกับท่านผู้อ่านว่าเราจะดำรงไว้ถึงบทบาทเช่นนี้ตลอดไป

บรรณาธิการ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.